เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 30 พฤษภาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔


     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ มีคำถามของทิดกวาง (นายกำพร พิเชฐสกุล) ที่เป็นพี่เลี้ยงคอยซักซ้อมนาคให้กับวัดท่าขนุนของพวกเรามาหลายปี แต่คราวนี้ดูจากคำถามแล้ว ต้องบอกว่าศึกษาตำรามากจนเกินไปเลยสับสน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

    คำถามมีอยู่ว่า สมุทัยคือเหตุแห่งการเกิดทุกข์ มีตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๓ นี้มีความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงอย่างไรกับราคะ ลาภะ โทสะ โมหะ และสังโยชน์ ๑๐ ? จะว่าไปแล้วแค่ตัวเดียวก็สามารถอธิบายได้ ๑๐ วัน ครึ่งเดือนแล้ว
    เราต้องเข้าใจก่อน คำว่า ตัณหา เป็นคำรวม แปลว่า ความอยาก ความอยากเป็นสาเหตุของความทุกข์ทั้งปวง ไม่ว่าจะอยากในด้านดีหรือว่าไม่ดีก็ตาม

    แต่คราวนี้ในส่วนของกามตัณหา ก็คือ ความอยากในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ทั่ว ๆ ไป

    ภวตัณหา เมื่อได้สมกับความอยากแล้ว ก็ไม่อยากที่จะเสียไป

    วิภวตัณหา สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงไป คำว่า ไม่อยาก ในที่นี้ก็คือ ความอยาก อย่างเช่นว่า ไม่อยากแก่ คือ อยากจะไม่แก่ ไม่อยากตาย คือ อยากจะไม่ตาย เป็นต้น

    กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ล้วนแล้วแต่เป็นราคะ โลภะ คำว่าราคะตัวนี้ก็คือความยินดี ในเมื่อยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เกิดโลภะ คืออยากมีอยากได้ ถ้าหากว่าไม่ได้อย่างที่ตนเองอยาก ก็จะเกิดโทสะ ถ้าเกิดแบบเบา ๆ เรียกว่าปฏิฆะ คือการกระทบกระทั่ง แต่ถ้าเกิดมากก็เป็นโทสะ คือ ความโกรธ พูดง่าย ๆ คือโกรธเพราะไม่ได้ดังใจ


    ทั้งกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานั้นเกิดเพราะโมหะ คือความโง่ หลงผิด คิดว่าสิ่งเหล่านี้คือของดี จึงไปยึดถือ ก็เลยเป็นสาเหตุให้เกิดสังโยชน์ คือเครื่องร้อยรัดตัวเราให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร โดยเฉพาะสังโยชน์ตัวสุดท้ายคืออวิชชา คำว่า อวิชชานี้่ ถ้าแปลตามศัพท์ก็แปลว่าไม่รู้ แต่ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านบอกว่า หลวงปู่โต วัดระฆัง ช่วยแปลให้ว่า รู้ไม่หมด รู้ไม่ครบถ้วน


    อวิชชานี้แยกออกเป็น ๒ ศัพท์ ก็คือ ราคะ เกิดความยินดีขึ้นมา จึงเกิดโลภะ คือความอยากมีอยากได้ ดังนั้น...ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อะไรก็ตาม ถ้าเรายินดีเมื่อไร ก็อยากมีอยากได้เมื่อนั้น เมื่อไม่ได้สมดังใจก็เกิดโทสะ ทั้งหมดนี้มีโมหะ ก็คือความเขลา ไม่รู้จริง เป็นต้นเหตุ อธิบายมากแล้วปวดหัว เอาเท่านี้ก่อนก็แล้วกัน
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    ข้อต่อไปถามว่า วิโมกข์และวิมุติต่างกันอย่างไร ? วิโมกข์เป็นไวพจน์ คือคำที่ใช้แทนคำว่า วิมุติ คือความหลุดพ้น อย่างเช่นว่า พระพุทธเจ้าตั้งใจเสด็จออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น

    ดังนั้น..ไม่ว่าจะ วิโมกข์ วิมุติ สันติ นิพพาน เป็นคำที่ใช้แทนกันได้หมด ใช้แทนกันได้อย่างไร ? อย่างเช่นว่าสันติคือความสงบ ถ้าสงบถึงที่สุด กิเลสอะไรเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือนิพพาน คำว่า นิพพาน ตามรากศัพท์แปลว่า ธรรมชาติหาความเสียดแทงไม่ได้ ก็คือไม่มี รัก โลภ โกรธ หลง มากระทบกระทั่งได้

    ปัญหาต่อไป เขาถามว่าวิมุติยังแบ่งออกเป็นเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจของฌานสมาบัติ ซึ่งเป็นการหลุดพ้นเพียงชั่วคราวใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ครับ หลุดพ้นก็คือหลุดพ้น

    อันนี้เอาไปปะปนกับวิมุติ ๕ การหลุดพ้นจากกิเลสโดยเจโตวิมุติ คือการใช้กำลังฌานสมาบัติข่มกิเลสไว้..ลำบากมากครับ แต่ถ้าสามารถข่มได้ยาวนานเพียงพอ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดไม่ได้ ก็จะหมดสภาพไปเอง ส่วนปัญญาวิมุตินั้น เป็นการพินิจพิจารณาเห็นโทษของกิเลสทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ราคะ โลภะ โทสะ หรือ โมหะ แล้วเกิดความเบื่อหน่าย ถอนจิตออกมาจากสิ่งทั้งหลายที่ยึดมั่นถือมั่น ทำให้หลุดพ้นได้

    ทั้งสองประการนี้ ความจริงแล้วต้องปฏิบัติด้วยกัน เพราะว่าเจโตวิมุติเน้นเรื่องสมาธิภาวนา ปัญญาวิมุติเน้นในเรื่องการรู้แจ้งเห็นจริง ก็คือเน้นในด้านปัญญา ดังนั้น..ในส่วนของเจโตวิมุติ ก็เหมือนกับคนที่เพาะสร้างกำลังของตนเองให้มีกำลังที่แข็งแรงมาก ส่วนปัญญาวิมุตินั้นเป็นการใช้ปัญญา ซึ่งเปรียบเหมือนอาวุธที่มีความคมกล้า คนแข็งแรงถ้าไม่มีอาวุธ จะไปตัดไปฟันกิเลส ถ้าเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ก็คงจะลำบาก คนที่มีอาวุธคมกล้า แต่มีกำลังไม่เพียงพอที่จะยกอาวุธนั้นไปตัดฟัน ก็ไม่สามารถที่จะตัดกิเลสได้เช่นกัน
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    ดังนั้น..วิธีการที่เหมาะสมที่สุดก็คือ เจริญภาวนาจนกระทั่งเกิดกำลังแล้ว ก็ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา เหมือนกับการที่คนเราโดนผูกขาติดกัน ต้องผลัดกันก้าวไปทีละข้าง ภาวนาแล้วก้าวไปข้างหน้า ถ้าไม่พิจารณาตาม ก็ไม่สามารถที่จะก้าวต่อไปได้

    เมื่อพิจารณาแล้ว ก้าวไปข้างหน้า กำลังในการพินิจพิจารณาก็ทำให้สมาธิหมดลง คลายตัวลง ถ้าไม่ภาวนาต่อ ก็ไปไม่ได้ ดังนั้น..การที่จะเน้นอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ยากสุด ๆ

    เรื่องของเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติจึงควรที่จะปฏิบัติด้วยกัน เพื่อที่จะได้เข้าถึงได้เร็วขึ้น คำว่า เข้าถึง ในที่นี้ก็คือ เข้าถึงความสงบระงับจากกิเลส โดยเฉพาะสงบระงับถึงที่สุด คือพระนิพพาน


    คำถามต่อไป คือ ปัญญาวิมุติคือการหลุดพ้นอย่างแท้จริง สืบเนื่องจากการทำวิปัสสนาจนรู้แจ้งแทงตลอดใช่หรือไม่ ? เป็นการหลุดพ้นอย่างถาวร คือ เป็นพระอรหันต์ใช่หรือไม่ ?

    คำว่า วิมุติ หมายเอามรรคผลตั้งแต่ระดับต้น คือโสดาปัตติผลขึ้นไป เป็นการหลุดพ้นเป็นชั้น ๆ ไป คราวนี้ถ้าเราสับสน เอาไปปนกับวิมุติ ๕ เข้า ก็จะมั่ว ๆ หน่อย

    วิมุติ ๕ ที่อรรถกถาจารย์ท่านแยกเอาไว้ประกอบไปด้วย วิกขัมภนวิมุติ เป็นการหลุดพ้นชั่วคราว เพราะใช้กำลังใจข่มไว้ ก็คือด้านเจโตวิมุตินั่นแหละ พอมีฌานสมาบัติแล้วก็กดกิเลส ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ดับลงชั่วคราว เผลอเมื่อไรก็กำเริบอีก

    วิมุติอย่างที่สองเรียกว่า ตทังควิมุติ เป็นการหลุดพ้นด้วยองค์นั้น ๆ คำว่า องค์นั้น ๆ อย่างเช่นว่า ความโลภ เราสามารถสลัดออกหลุดพ้นไปด้วยการให้ทาน แต่ไม่สามารถที่จะตัดขาดอย่างเด็ดขาดได้ เพราะว่าถ้าไปเจอสิ่งที่ชอบใจก็อยากได้อีก ก็ต้องสละออกใหม่ เป็นต้น หรือว่าเกิดโทสะ แผ่เมตตาก็สามารถระงับได้ชั่วคราว ถึงเวลาถ้ากำลังของเมตตาพรหมวิหารลดลง โทสะก็เกิดอีก

    อย่างที่สามเรียกว่า สมุจเฉทวิมุติ เป็นการหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด บางท่านอธิบายว่าเป็นการหลุดพ้นด้วยอำนาจของมรรค อย่างเช่นว่า โสดาปัตติมรรค หลุดพ้นจากวิจิกิจฉาอย่างเด็ดขาด ก็คือ เห็นคุณของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริงแล้ว ไม่สงสัยในพระรัตนตรัยอีก เป็นต้น

    ข้อต่อไปคือ ปฏิปัสสัทธิวิมุติ หลุดพ้นด้วยความสงบระงับ ที่บางท่านอธิบายว่าเป็นการหลุดพ้นด้วยผล ก็คือเข้าถึงแล้ว จึงไม่กำเริบอีก

    วิมุตติข้อสุดท้าย คือ นิสสรณวิมุติ หลุดพ้นด้วยการสละออก ก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง อะไรก็ไม่เอาแล้ว ถอนกำลังใจออกมา เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษแล้ว ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็สามารถหลุดพ้นไปได้

    คราวนี้ถ้าหากว่าเราไปเอาเรื่องพวกนี้มาปนกับเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ ก็ต้องแยกให้ออกด้วยว่า เจโตวิมุตติส่วนใหญ่แล้วก็คือวิกขัมภนวิมุตติ จนกว่าที่คุณจะสามารถกดกิเลสได้นานพอแล้วกิเลสดับไปเอง ถ้าอย่างนั้นก็จะเป็นสมุจเฉทวิมุติ
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    ข้อต่อไปถามว่า คำศัพท์ว่า ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่าย ถุลลัจจัย แปลว่า อาบัติอ้วน อาบัติหยาบ สังฆาทิเสสมีคำแปลว่าอะไร ? ไหน ๆ ก็ แปลแล้ว ก็เอาให้หมดไปเลย

    อาบัติ คือ สิ่งที่พระเราล่วงละเมิดในข้อห้ามของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดเป็นโทษ มีหนักสุดตั้งแต่ปาราชิก ขาดความเป็นพระไปเลย ซึ่งตัวนี้ก็แปลว่าผู้พ่าย คือพ่ายแพ้ต่อกิเลส ไม่สามารถที่จะระงับยับยั้งใจตนเองได้ ก็เลยไปละเมิดกิเลสใหญ่เข้า

    สังฆาทิเสส แปลว่า อาบัติที่เริ่มต้นด้วยสงฆ์ลงท้ายด้วยสงฆ์ ก็คือเมื่อต้องอาบัติแล้ว เราจะต้องแจ้งต่อคณะสงฆ์ว่าต้องอาบัติอย่างนี้ เพื่อที่จะได้อยู่ปริวาส เมื่อคณะสงฆ์จัดให้อยู่ปริวาส กำหนดเขตใดเขตหนึ่งจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีการสวดเพื่อที่จะยกกลับคืนเข้าสู่หมู่อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น..เมื่อเริ่มต้น..ก็ต้องเริ่มต้นด้วยสงฆ์ ลงท้าย..ก็ต้องลงท้ายด้วยสงฆ์ ถึงได้เรียกว่าสังฆาทิเสส ก็คือ อาทิ เบื้องต้น เสสะ เบื้องท้าย หรือเศษที่เหลือ

    ถุลลัจจัยก็คืออาบัติอ้วน อาบัติหยาบ เป็นอาบัติที่ไม่มีข้อล่วงละเมิดโดยตรง แต่ว่าเป็นส่วนที่หลงเหลือมาจากปาราชิกหรือสังฆาทิเสส อย่างเช่นว่า ภิกษุตั้งใจฆ่ามนุษย์ให้ตาย แต่ฆ่าไม่สำเร็จ ได้แค่บาดเจ็บสาหัส ต้องอาบัติถุลลัจจัย ก็คือไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะว่าไม่ตาย

    หรือว่าอย่างอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพยายามยุสงฆ์ให้แตกกัน สงฆ์ประกาศเพื่อให้ยกเลิกการกระทำนั้น ถ้าไม่ยกเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็แปลว่าการสวดประกาศนั้น ซึ่งกำหนดเอาไว้ ๓ วาระ คือประกาศ ๓ ครั้ง ถ้าอยู่ภายในครั้งที่ ๒ ต้องอาบัติถุลลัจจัย จนกว่าจะถึงครั้งที่ ๓ แล้วยังดื้อไม่ทำตามอีก ถึงจะโดนอาบัติสังฆาทิเสส

    ดังนั้น..อาบัติถุลลัจจัยตัวนี้จะไม่มีข้อล่วงละเมิดโดยเฉพาะของตนเอง แต่เป็นส่วนที่เหลือมาจากอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส

    อาบัติปาจิตตีย์แบ่งออกเป็นหลายอย่างด้วยกัน คำว่า ปาจิตตีย์ ก็คือ จิตเป็นบาป จิตชั่ว มีสุทธิกปาจิตตีย์ ต้องอาบัติโดยตรงเลย อย่างเช่นว่า ภิกษุดื่มน้ำเมา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

    นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ เมื่อต้องอาบัติแล้วต้องสละสิ่งของนั้น ๆ ออก อย่างเช่นว่า ภิกษุเก็บเภสัช ๕ เอาไว้เกิน ๗ วัน ถ้าไม่สละทิ้ง ไม่สามารถที่จะแสดงคืนอาบัติได้ ก็คือความชั่วยังติดตัวอยู่ ก็ต้องสละทิ้งไปก่อน

    เฉทนกปาจิตตีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แล้วต้องตัดให้ได้ประมาณ ถึงจะแสดงคืนอาบัติคืนได้ อย่างเช่นว่า ทำจีวรเท่าจีวรพระสุคต ต้องตัดให้ได้ประมาณ ก็คือได้ขนาดของตัวเอง ไม่ใช่ได้เท่าขนาดของพระพุทธเจ้า ถึงจะแสดงคืนได้

    เภทนกปาจิตตีย์ ต้องอาบัติแล้ว ต้องทุบต้องต่อยสิ่งของนั้นให้แตกเสียก่อน พูดง่าย ๆ ก็คือทุบทิ้งไปเลย ถึงจะแสดงคืนอาบัติได้ อย่างเช่นว่าทำกล่องเข็มด้วยเขา ด้วยงาสัตว์ เป็นต้น
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    ปาฏิเทสนียะ มีอยู่แค่ ๔ ข้อ ส่วนใหญ่ก็คือเรื่องของนางภิกษุณีที่ไปยุ่งไปเกี่ยวกับเรื่องการกินการอยู่ของพระ ปาฏิเทสนียะบอกตรง ๆ ว่า พูดปฏิเสธให้เป็น ก็คือเขาว่าอะไรมา ก็หัดบอกไปเสียบ้างว่าอันนี้ไม่ใช่

    อย่างวันก่อน ร้านโยมจีไลถวายมะม่วงสุกมาถุงเบ้อเร่อ บอกว่า "หนูรู้ว่าหลวงพ่อชอบมะม่วงสุก" ผมยังสงสัยเลยว่า..กูไปชอบตั้งแต่เมื่อไร ? แสดงว่าอาจจะมีใครสักคนหนึ่งไปปากหมาพูดถึง..! แล้วผมก็อาจจะต้องทนฉันมะม่วงสุกไปอีกหลายสิบปี ก็คือให้รู้จักกล่าวปฏิเสธเสียบ้าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ตามไป ๆ แล้วแต่เขาจะบอกจะกล่าว ก็ทำให้นางภิกษุณีนั้น ถ้าไม่ใช่ใหญ่คับครัวไปเลย ก็อาจจะทำให้พระนั้นต้องทุกข์ทรมานไปฉันไปกินในส่วนที่ตนเองนั้นไม่ชอบเข้า หรือไม่ก็..ได้ไปฉันไปใช้ในส่วนที่ตัวเองชอบ แล้วเกิดกิเลสกำเริบขึ้น

    อาบัติต่อไปก็คือ อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน ตรงนี้เขาปรับตามที่พระรับ อย่างเช่นว่า ภิกษุอยู่กับผู้หญิงสองต่อสอง ถ้ามีผู้มาโจทย์ด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ ภิกษุรับอย่างไรให้ปรับอาบัติตามนั้น

    คราวนี้ผู้ที่จะมาโจทย์นั้น ท่านใช้คำว่า ต้องเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ ซึ่งตรงจุดนี้หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า บุคคลที่เชื่อถือได้ต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ก็กลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้น..สมัยนี้คุณต้องบันทึกคลิป จะเป็นภาพหรือเป็นเสียงก็ได้ แล้วค่อยไปโจทย์คนอื่น ไม่อย่างนั้นแล้วถ้าไม่มีหลักฐานเราจะโดนอาบัติเอง จำได้ไหมครับ ? โจทย์ผู้อื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล เราต้องอาบัติสังฆาทิเสส โจทย์อาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล เราต้องอาบัติปาจิตตีย์


    ข้อต่อไปคืออาบัติทุกกฏ คำว่า ทุกกฏ ก็คือ ชั่ว ยาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นการละเมิดในเสขิยวัตรทั้ง ๗๕ ประการ หรือว่าละเมิดในส่วนของอภิสมาจาร คือ ศีลที่มานอกพระปาฏิโมกข์

    ส่วนสุดท้าย ก็คือ ทุพภาษิต แปลตรง ๆ ว่า วาจาชั่ว ดังนั้น..ไม่ว่าจะเป็นการพูดคำหยาบก็ดี พูดส่อเสียดก็ดี พูดในสิ่งที่เพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ก็ดี จัดเป็นอาบัติในส่วนของทุพภาษิตทั้งหมด ในเมื่ออยากจะแปลก็แปลให้เต็มที่ไปเลย...!
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    ข้อต่อไป ในระหว่างการฝึกสมาธิ เราจะเจออุปสรรค ๓ หมวดต่อไปนี้คือมาร ๕ นิวรณ์ ๕ ปีติ ๕ แต่ในส่วนของวิปัสสนา เราต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง ? จะมีอุปกิเลส ๑๖ อนุสัย ๗ หรืออย่างอื่นอีกหรือไม่ ?

    ข้อนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า อุปสรรคใหญ่ในการฝึกสมาธิคือนิวรณ์ ๕ ส่วน มาร ๕ นี่เราเจอตลอดทั้งชีวิตชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป ถ้าไม่สามารถหลุดพ้นได้ ส่วนปีติไม่ใช่อุปสรรคในการฝึกสมาธิ แต่เป็นอุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ ดังนั้น..ตรงจุดนี้ถ้าเอามาปนกันจะมั่วไปหมด ต้องแยกให้ดีครับ

    ในส่วนของการทำวิปัสสนานั้น อุปสรรคใหญ่ที่สุดเลยก็คือสมาธิไม่พอ ทำให้ปัญญามีกำลังไม่พอที่จะตัดกิเลส นี่พูดกันแบบง่ายที่สุด ไม่เอาตามตำรา เพราะว่าถ้าสมาธิเราไม่พอ จิตไม่สงบไม่นิ่ง ไม่ได้ระดับ ปัญญาก็ไม่เกิด หรือเกิด ก็ไม่พอที่จะตัดกิเลส


    ในเบื้องต้นถ้าหากว่าท่านได้สมาธิ ก็คือปฐมฌานละเอียด จะมีกำลังตัดกิเลสได้แค่ระดับพระโสดาบัน และถ้าละเอียดจริง ๆ ตัดได้ถึงระดับสกทาคามี แต่ถ้าระดับอนาคามีขึ้นไปต้องฌาน ๔ ละเอียดครับ ไม่อย่างนั้นแล้วกำลังจะไม่พอตัดกิเลส

    ในส่วนนี้พวกเราก็เลยต้องมาทำความเข้าใจว่า อุปสรรคของวิปัสสนา ส่วนใหญ่แล้วก็คือ พวกเราเคยชินกับภาวนาแล้วไม่ยอมพิจารณา เมื่อพิจารณา สมาธิก็ไม่พอใช้งาน ปัญญาก็เลยไม่เพียงพอที่จะตัดกิเลส ต้องเอาง่าย ๆ อย่างนี้ ถ้าว่ากันตามตำรามากไป เดี๋ยวปวดหัว..เครียดอีกต่างหาก


    คราวนี้ในส่วนของอุปกิเลสนั้น ถ้ารู้ไว้บ้างก็ดี คำว่า อุป แปลว่า เข้าไปใกล้ อุปกิเลส ใกล้จะเป็นกิเลสครับ ยังไม่ใช่กิเลสโดยตรง จนกว่าเราจะไปยึดมั่นถือมั่นตรงนั้นเมื่อไรถึงจะเป็นกิเลส ประกอบไปด้วยโอภาส เกิดแสงสว่างขึ้นในระหว่างที่เราปฏิบัติภาวนา บางสำนักที่เขาเรียกผู้นำว่า "พ่อท่าน..ท่านพ่อ" นั่นแหละ ผู้นำของเขาบอกว่ายืนปัสสาวะอยู่ เกิดแสงสว่างทั่วไปหมด ก็เลยมั่นใจว่าตัวเองบรรลุแล้ว อย่างนี้ก็กลายเป็นกิเลส

    ปีติ เกิดความอิ่มอกอิ่มใจอยากจะปฏิบัติไม่เบื่อไม่หน่าย ตรงจุดนี้่ดีครับ เสริมการปฏิบัติ แต่ต้องรู้จักมัชฌิมาปฏิปทา ก็คือความพอเหมาะพอควร ไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้ามากจนเกินไป ร่างกายไม่ไหว ก็กรรมฐานแตก สมาธิตกได้ง่าย ๆ

    ปัสสัทธิ ความสงบระงับ รัก โลภ โกรธ หลง หายเงียบไปเลย หลายรายเข้าใจว่าตัวเองบรรลุแล้ว ตัวอย่างก็คือทิดโจ๊กกับลูกเกด ที่มานั่งเถียงกับผมว่า คนเป็นพระอรหันต์ไม่เห็นจำเป็นจะต้องตายภายใน ๗ วันเลย เพราะว่าเขาสองคนก็เป็นแล้ว รัก โลภ โกรธ หลง ไม่มีมาเป็นเดือน ๆ แล้ว ปัจจุบันนี้ก็เลยเลี้ยงลูกไป ๕ คน..! ความสงบระงับเราต้องระมัดวังนะครับ ไม่อย่างนั้นจะไปเข้าใจผิดว่าเราบรรลุแล้ว

    สุข คำว่าสุขในที่นี้ ก็คือความสุขที่ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นไฟใหญ่ ๔ กองดับลงชั่วคราว ทำให้เย็นกายเย็นใจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลายท่านก็ไปเข้าใจว่าบรรลุแล้วเช่นกัน แล้วก็ไม่ทำต่อ ทำให้เสียประโยชน์เอง
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    ข้อต่อไป อันตรายมากครับ ญาณ คือ เครื่องรู้บังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะคิดจะตรองอะไร เป็นเหตุเป็นผลไปหมดครับ พวกนี้ถ้าหากว่าเป็นนักการศึกษา นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์จะดีมาก จะคิดยานอวกาศวาร์ปไปดาวอื่นก็คิดได้

    แต่เราต้องรู้จักสังเกตว่าญาณที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราใช้ผิดทาง ก็คือไม่เอามาใช้ในวิปัสสนาญาณ ก็จะพาให้เราคิดไปเรื่อยครับ มีแต่เรื่องสมเหตุสมผลไปหมด แต่ไม่มีเรื่องของการตัดกิเลสเลย ถ้าเราพลาด
    ก็จะโดนจูงจมูกไกลไปเรื่อย คิดอะไรก็ใช่ แต่ว่าไม่ช่วยให้ตัดกิเลสเลย

    อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ เมื่อการปฏิบัติเริ่มมีผล ก็ประเภทมอบกายถวายชีวิต ลักษณะนี้น่ากลัวครับ อธิโมกขศรัทธา เป็นการเชื่อโดยไม่มีปัญญาประกอบ ถ้าจะเชื่อต้องเชื่ออย่างพระสารีบุตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "ธรรมที่ตถาคตกล่าวมานี้ เธอเชื่อหรือไม่ ?" พระสารีบุตรทูลตอบว่า "ยังก่อนพระเจ้าข้า" พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "เพราะเหตุใด ?" พระสารีบุตรทูลตอบว่า "ต้องปฏิบัติตามแล้วเกิดผล ถึงจะเชื่อพระเจ้าข้า"

    ไม่อย่างนั้นแล้วอธิโมกขศรัทธานี่พังครับ มีเท่าไรก็ประเภทควักไปถวายเขาหมด เขาบอกว่าอยากเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชต้องให้ทาน อยากเป็นชั้นดาวดึงส์ต้องให้ทานยิ่งไปกว่านี้ อยากเป็นชั้นยามา ต้องให้ทานยิ่งกว่าชั้นดาวดึงส์ ก็หมดเนื้อหมดตัว เดือดร้อนกันมาเยอะแล้ว เพราะอธิโมกขศรัทธา คือ ศรัทธาโดยปราศจากปัญญาประกอบ

    อุปกิเลสข้อต่อไป ปัคคาหะ ความเพียรกล้า ขยันครับ แต่เป็นการขยันที่ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา อย่างทิดชาติชาย สมัยที่บวชอยู่ เดินจงกรมภาวนา ๒ เดือนต่อเนื่องกัน ไม่กินไม่นอน ถ้าไม่มีกำลังฌานหนุนอยู่ก็ตายไปนานแล้ว จนกระทั่งในที่สุดก็สติแตก โดนจับส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา..!

    ความเพียรเกิดขึ้น ต้องรู้จักความพอเหมาะพอดี ต้องมีการพักผ่อนบ้าง อย่างน้อยสักวันละ ๒ ชั่วโมงก็ยังดี ก็ต้องมีฉันอาหารฉันน้ำบ้าง ไม่ใช่ลุยยาวโดยไม่กินไม่นอน เพราะว่ามรรคผลอยู่แค่เอื้อม..มรรคผลอยู่แค่เอื้อม..กูต้องเอาตอนนี้ให้ได้..! ดูอย่างพระอานนท์สิครับ เดินจงกรมทั้งคืนแต่ไม่ได้อะไร พอเอนตัวลง ยังไม่ทันจะนอน ก็บรรลุตอนนั้นเลย
     
  9. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    อุปัฏฐาน กำลังใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขาที่เป็นศิลาทึบทั้งแท่ง ลมแรงแค่ไหนก็ไม่รู้สึกรู้สา คนมักจะไปเข้าใจว่าบรรลุแล้ว แต่ความจริงแล้วเป็นแค่อำนาจของฌานสมาบัติกดเอาไว้

    อุเบกขา ปล่อยวาง แต่เป็นการวางที่ปราศจากปัญญา แบบที่ลูกศิษย์หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง ลมพัดตีเอาหลังคากุฏิเปิดเปิงไป ท่านก็ประเภทนั่งสมาธิกลางแดดกลางฝน หลวงปู่ชาต้องไปเตือนว่า "คุณ..ซ่อมหลังคาเสียหน่อยสิ" ท่านบอกว่า "ผมปล่อยวางแล้วครับ" หลวงปู่ชาต้องเตือนสติว่า "การปล่อยวางแบบคุณ เขาเรียกว่าวางแบบควาย ควายมันทนแดดทนฝนได้มากกว่าคุณอีก..! เป็นคนมีปัญญา ต้องแก้ไขเต็มสติกำลังก่อน ถ้าไม่ไหวจริง ๆ แล้วค่อยวาง"

    ข้อสุดท้าย นิกันติ ถ้าหากว่าตามรากศัพท์ ก็แปลว่าความใคร่น้อย..น้อยมากครับ น้อยชนิดที่ถ้าหากว่าไม่ไปคิดถึงนี่..ไม่เกิดเลย ก็เลยทำให้คนเราไปเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุแล้ว

    ดังนั้น..ในส่วนนี้ก็เลยทำให้เรื่องยาว ญาติโยมอยู่ทางบ้าน ถ้าหากว่าฟังแล้วไม่เข้าใจศัพท์ทางธรรมหรือภาษาบาลี ก็อาจจะปวดหัวบ้าง แต่ว่าพวกเราถ้าหากว่าไม่เข้าใจตรงจุดนี้ ก็อาจจะปฏิบัติผิดได้ พลาดได้ ดังตัวอย่างที่ได้ยกมา

    วันนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องยาวเป็นพิเศษ เพราะว่าคำถามนี้จำเป็นต้องตอบ เนื่องจากว่าผู้ถามก็คือพี่เลี้ยงของนาคที่บวชของวัดท่าขนุนทุกรูป ถ้าพี่เลี้ยงยังเข้าใจผิด เดี๋ยวพานาคเข้าป่าเข้าดงไป ก็ขอเจริญพรต่อญาติโยมทั้งหลายที่อุตส่าห์ทนฟังมาจนจบแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...