(๑๓)โพธิธรรมทีปนี: โสฬสญาณ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 15 ตุลาคม 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    โสฬสญาณ
    ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ​


    ๒. ปัจจยปริคคหญาณ
    ๓. สัมมสนญาณ

    ๔. อุทยัพพยญาณ​

    ๕. ภังคญาณ​

    ๖. ภยญาณ​

    ๗. อาทีนวญาณ

    ๘. นิพพิทาญาณ​

    ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ

    ๑๐. ปฏิสังขาญาณ​

    ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ

    ๑๒. อนุโลมญาณ​

    ๑๓. โคตรภูญาณ​

    ๑๔. มรรคญาณ​

    ๑๕. ผลญาณ​

    ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ​

    เมื่อบุคคลผู้มีปัญญาเห็นภัยในวัฏสงสาร ปรารถนาจักได้บรรลุธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจธรรม พยายามปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสามารถผ่านสภาวะแห่งวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ที่เรียกตามศัพท์ว่า "โสฬสญาณ" นี้มาตามลำดับด้วยดี เปรียบเหมือนกิริยาที่ไต่บันไดขึ้นมาทีละขั้นตามลำดับแล้ว รับรองว่าเป็นต้องได้เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษ คือพระจตุราริยสัจธรรม ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศเอาไว้เป็นแน่ อย่างไม่ต้องสงสัย

    "เห็นตอนไหน? ที่ว่าจะได้เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจนั้น จักเห็นแจ้งเอาในตอนที่บรรลุถึงวิปัสสนาญาณขั้นไหน? ขอให้บอกมาไวๆ สักหน่อยเถิด เพราะอย่างรู้จุดสำคัญจุดนี้ มานานแล้วบอกได้ไหม?" หากว่าจะมีประโยคคำถามอันทื่อมะลื่อ ขัดคอขึ้นมากลางคันดังนี้ ท่านผู้มีกำลังวิสัชนาอยู่ ก็ย่อมจะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีความจำไม่ค่อยดี! จุดสำคัญที่สามารถเห็นธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจนั้น อันที่จริงก็ได้กล่าวมาแล้ว แต่การที่ท่านถามขึ้นมาเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นการดี เพราะเป็นการให้โอกาสที่จะกล่าวย้ำลงไปให้แจ่มชัดอีกทีหนึ่งว่า มรรคญาณผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อต้องการจักได้บรรลุธรรมวิเศษพระจตุราริยสัจธรรมนั้น เขาจักสามารถเห็นธรรมวิเศษสุด คือพระจตุราริยสัจได้สมตามความปรารถนา ก็ในตอนที่เขาบรรลุถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๔ คือมรรคญาณ! เมื่อมรรคญาณอุบัติขึ้นในสันดานของเขานี่แหละ เขาย่อมมีโอกาสเห็นธรรมวิเศษ คือพระจตุราริยสัจอันประเสริฐได้แน่นอน

    "นึกออกแล้ว! คือค่อยระลึกนึกขึ้นได้ว่า จุดสำคัญคือการเห็นแจ้งแทงตลอดหรือรู้ธรรมวิเศษ ซึ่งได้แก่พระจตุราริยสัจนั้น ท่านได้กล่าวไว้ในตอนที่อธิบายถึงมรรคญาณโน่นแล้ว และบัดนี้ยังมีสติความจำดีระลึกขึ้นได้ต่อไปอีกว่า ในตอนนั้นท่านได้ผัดไว้ว่า จักอธิบายถึงอาการที่รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจ อันเป็นธรรมวิเศษไว้อีกด้วยใช่หรือไม่?"​

    "ใช่แล้ว"​

    "เมื่อใดจะถึงเวลานั้นเล่า?"​

    ถึงแล้ว ! โอกาสที่จักอธิบายอาการที่เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจ อันเป็นโพธิธรรมหรือธรรมวิเศษสุดในพระบวรพุทธศาสนาที่ผัดไว้นั้นได้มาถึงแล้วในบัดนี้ ขอเชิญท่านผู้มีปัญญาจงตั้งใจสดับตรับฟังด้วยดี ดังต่อไปนี้​


    เห็นพระจตุราริยสัจครั้งที่ ๑


    ก่อนที่จักได้ทราบถึงอาการที่เห็นแจ้งแทงตลอด ซึ่งพระจตุราริยสัจธรรมว่าเป็นประการใดนั้น ในเบื้องต้นนี้ เพื่อป้องกันความไขว้เขวสับสน ขอให้พวกเราทุกคนพากันย้อนกลับหลังหันไปตั้งหลักมั่นอยู่ที่มรรคญาณ คือญาณที่ ๑๔ อีกที แล้วค่อยๆ พิจารณาข้อความตามที่จะพรรณนาให้ฟัง ดังต่อไปนี้​


    วุฏฐานคามินีวิปัสสนา



    อันโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อต้องการบรรลุธรรมวิเศษ คือพระจตุราริยสัจนั้น แต่ละท่านแต่ละคนย่อมมีวาสนาบารมี ที่ตนสร้างสมมาแต่อดีตชาติปางก่อนแตกต่างกันไป หาเหมือนไม่ จะมารู้ได้ว่าตนเคยสร้างสมอบรมบารมีมาเพื่อออกจากทุกข์ในวัฏสงสารในทางไหน ก็ย่อมจะมารู้ได้อย่างแจ่มชัดเอาในตอนที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะในขณะที่จะได้บรรลุถึงมรรคญาณนี่เอง คือ
    ๑. สำหรับโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญวิปัสสนาที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า
    คือมีศรัทธาเป็นบุพพาธิการอันตนเคยสร้างสมมาแต่ชาติปางก่อน เป็นกำลังแรงส่งให้ ในขณะที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน โยคีบุคคลผู้นั้นย่อมจะเห็นแจ้งชัดใน "อนิจลักษณ์" มากที่สุด

    เห็นแต่อนิจจลักษณ์เท่านั้น ไม่เห็นพระไตรลักษณ์ข้ออื่นเลยหรือ?



    "เห็น! ทำไมจะไม่เห็น ต้องเห็นพระไตรลักษณ์อย่างชัดเจนทุกข้อไปจึงจะใช้ได้ หากแต่ว่าโยคีบุคคลผู้มีศรัทธาแก่กล้านี้เห็นพระไตรลักษณ์ข้ออื่นไม่แจ่มใสชัดเด่นเท่าอนิจจลักษณ์นี้ เพราะอนิจจลักษณ์มีกำลังแรงกว่า​

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือตัววิปัสสนาที่จะแล่นเข้าไปสู่มรรคญาณกำลังดำเนินไปอยู่นั้น เขาจะเห็นรูปนามหรือขันธ์ ๕ แสดงอนิจจลักษณ์ ความไม่เที่ยงให้ปรากฏอย่างชัดเจน แล้วก็แล่นเข้าไปสู่มรรคเลยทีเดียว ลักษณาการอย่างนี้เรียกชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์ = หลุดพ้นทางอนิจจัง หรือเข้าสู่มรรคทางอนิจจลักษณ์ สมกับคำว่า ที่ว่า​
    ยทิ วุฏฺฐานคามินีวิปสฺสนา อนิจฺจโต
    วิปสฺสติ อนิมิตฺโต วิโมกฺโข นาม โหติ

    "หากว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา เห็นพิเศษ โดยความไม่เที่ยง ย่อมชื่อว่า "อนิมิตตวิโมกข์"



    ๒. สำหรับโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญวิปัสสนาที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้า

    คือ มีสมาธิเป็นบุพพาธิการอันตนเคยสร้างสมมาแต่ชาติปางก่อน เป็นกำลังแรงส่งให้ออกจากองทุกข์ในวัฏสงสาร ในขณะที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานโยคีบุคคลผู้นั้น ย่อมจะเห็นแจ้งชัดใน "ทุกขลักษณ์" มากที่สุด เห็นทุกขลักษณ์นี้แจ่มใสชัดเจนเด่นชัดกว่าพระไตรลักษณ์ข้ออื่น เพราะทุกขลักษณ์มีกำลังแรงกว่า ฉะนั้นเมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังดำเนินไปอยู่นั้นเขาย่อมจะพลันเห็นรูปนามแสดง ทุกขลักษณ์ = ความเป็นทุกข์ให้ปรากฏอย่างชัดเจน แล้วก็แล่นเข้าไปสู่มรรคเลยทีเดียว ลักษณาการอย่างนี้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ = หลุดพ้นทางทุกข์ หรือเข้าสู่มรรคทางทุกขลักษณ์ สมกับคำว่า ที่ว่า
    ยทิ วุฏฺฐานคามินีวิปสฺสนา ทุกฺขโต
    วิปสฺสติ อปฺปณิหิโต วิโกมฺโข นาม โหติ

    "หากว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา เห็นพิเศษโดยความเป็นทุกข์ ย่อมชื่อว่า "อัปปณิหิตวิโมกข์"


    ๓. สำหรับโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญวิปัสสนาที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า
    คือมีปัญญาเป็นบุพพาธิการอันตนเคยสร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อน เป็นกำลังส่งให้ออกจากกองทุกข์ในวัฏฏสงสาร ในขณะที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน โยคีบุคคลผู้นั้นย่อมจะเห็นแจ้งชัดใน "อนัตตลักษณ์" มากที่สุด เห็นอนัตตลักษณ์แจ่มใสชัดเจนเด่นชัดกว่าพระไตรลักษณ์ข้ออื่น เพราะอนัตตลักษณ์นี้มีกำลังแรงกว่า ฉะนั้นเมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังดำเนินไปอยู่นั้น เขาย่อมจะพลันเห็นรูปนามแสดง อนัตตลักษณ์ = ความเป็นอนัตตาให้ปรากฏเห็ฯอย่าชัดเจน เมื่อเห็นอนัตตาปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว วุฏฐานคามินีวิปัสสนานี้ ก็จะแล่นเข้าสู่มรรคเลยทีเดียว ลักษณาการอย่างนี้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์ = หลุดพ้นทางอนัตตา หือเข้าสู่มรรคทางอนัตตลักษณ์ สมกับคำที่ว่า
    ยทิ วุฏฺฐานคามินีวิปสฺสนา อนตฺตโต
    วิปสฺสติ สุญฺญโต วิโมกฺโข นาม โหติ

    "หากว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนา เห็นพิเศษโดยความเป็นอนัตตา ย่อมชื่อว่า "สุญญตวิโมกข์"





    ยังมีต่อ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 ธันวาคม 2010
  2. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงจำไว้ให้มั่นว่า การที่โยคีบุคคลผู้บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา จักเข้าไปถึงจุดสำคัญคือมรรคญาณได้นั้น จะต้องเข้าไปทางพระไตรลักษณ์ คืออนิจจลักษณ์ ทุกขลักษณ์ อนัตตลักษณ์ ต้องเข้าไปตามทางทั้ง ๓ ตามประเภทแห่งวาสนาบารมีที่ตนได้เคยสร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนี้เท่านั้น จะเข้าไปตามทางอื่นไม่ได้อย่างเด็ดขาด การที่โยคีบุคคลจะมารู้แท้แน่แก่ใจตนว่า ตนได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมาทางไหน ก็จะมารู้ได้อย่างแน่นอนเอาในตอนที่วุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังเป็นไปอยู่ โดยแสดงพระไตรลักษณ์ข้อที่มีกำลังแรงมากที่สุดให้ปรากฏเห็นอย่างชัดนี่เอง พระไตรลักษณ์มีข้อใดข้อหนึ่งจะต้องแสดงออกมาปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอน และในเรื่องนี้ โยคีบุคคลผู้ได้บรรลุพระอริยมรรค- อริยผลแล้ว ย่อมจะเห็นแจ้งและทราบชัดอย่างแน่แท้แก่ใจตนทุกคนไป ดังนั้น ในกรณีนี้หากว่าจะมีผู้ใดใครผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ๆ ก็โผล่หน้าออกมาจากป่าแล้วร้องว่า

    "ตูข้าเป็นผู้สำเร็จแล้วเว้ย! ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ ได้สำเร็จวิปัสสนาแล้ว... ได้วิมุตติธรรมอันสูงสุดของพระพุทธเจ้าแล้ว..." ดังนี้ก็ดี

    หรือมิฉะนั้น หากจะมีผู้ใดใครผู้หนึ่ง ซึ่งแสดงอาการกิริยาให้แปลกว่าคนธรรมดา มีมรรยาทสงบเสงี่ยมเงียบขรึมน่าเลื่อมใส คล้ายกับพระอรหันตอริยบุคคลเพื่อแสดงให้หมู่ชนเข้าใจว่า
    "อันตัวข้านั้นเป็นผู้ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว! ได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจแล้ว! ได้บรรลุมรรค ผล นิพพานในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว" ดังนี้ก็ดี

    หากว่าเขาเหล่าที่กล่าวมานี้ ไม่รู้จักวุฏฐานคามินีวิปัสสนาคือลักษณาการที่จะเข้าไปสู่มรรคทางพระไตรลักษณ์แห่งตน ดังกล่าวมาแล้ว มรรคผลที่เขาเข้าใจเอาเองนั้น ก็ไม่ใช่มรรคผล! ถึงแม้เขาจะคิดทึกทักเอาเองด้วยความโง่เขลาว่าเป็นมรรคผล ก็ต้องนับว่ามิใช่มรรคผลในพระพุทธศาสนา เป็นมรรคผลภายนอกพุทธศาสนา และมีกฎตายตัวอยู่ว่ามรรคผลภายนอกพระพุทธศาสนาไม่มี มรรคผลที่แท้จริงนั้นย่อมมีแต่เฉพาะในพระบวรพุทธศาสนาอันประเสริฐสุดเท่านั้น ฉะนั้นที่เข้าใจว่าได้มรรคผลอันเป็นมรรคภายนอกพระพุทธศาสนา เท่ากับว่าไม่ได้มรรคผล นั่นเอง

    พรรณนาถึงคำว่า "วุฏฐานคามินีวิปัสสนา"มานานแล้ว ยังไม่ได้ชี้ให้ท่านทั้งหลายได้ดูตัวของวุฏฐานคามินีวิปัสสนาเลยว่า ที่ว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนานั้น ได้แก่อะไรกัน?

    วุฏฐานคามินีวิปัสสนา นั้น หมายเอาวิปัสสนาญาณ ๓ ญาณรวมกัน คือ
    ๑. สังขารุเปกขาญาณอย่างแก่ที่สุด
    ๒. อนุโลมญาณ
    ๓. โคตรภูญาณ

    สภาวะแห่งญาณทั้ง ๓ นี้ย่อมเป็นมูลฐาน ยังผู้ปฏิบัติให้ออกจากกองกิเลสแล้วแล่นเข้าสู่มรรคญาณ เพราะในขณะที่จะเข้าไปสู่มรรคหรือพูดอีกทีก็ว่า ในขณะที่มรรคญาณจักอุบัติเกิดขึ้นนั้น จะต้องอาศัยญาณทั้ง ๓ นี้เป็นมูลฐานอันสำคัญยิ่ง ฉะนั้น ญาณทั้ง ๓ นี้ จึงถูกเรียกชื่ออย่างรวมๆ ว่าวุฎฐานคามินี ซึ่งเมื่อแยกศัพท์ออกก็เป็น วุฏฐาน + คามินี วุฏฐาน = พ้น หรือรอด หรือหลุด, คามินี = วิปัสสนาที่ยังผู้ปฏิบัติให้ถึง เมื่อรวมกันเข้าเป็น วุฏฐานคามินีวิปัสสนาก็แปลว่า วิปัสสนาญาณที่ยังผู้ปฏิบัติให้ถึงมรรคญาณ ด้วยการหลุดพ้นจากกองกิเลส

    เอาละ ตอนนี้เราจะได้พูดกันถึงอาการที่ได้เห็นพระจตุราริยสัจ อันเป็นธรรมวิเศษกันเสียที.. คือครั้นวุฏฐานคามินีวิปัสสนาญาณ ดำเนินไปตามวิถีด้วยการแสดงพระไตรลักษณ์ให้ปรากฏอย่างเด่นชัด ตามประเภทแห่งโยคีบุคคลผู้มีวาสนาบารมีอันตนได้สร้างสมอบรมมา และจักได้บรรลุถึงมรรคผลในบัดเดี๊ยวใจนี้ดังกล่าวมานั้น เมื่อผ่านพ้นโคตรภูญาณอันเป็นเขตสุดยอดแห่งโลกิยญาณแล้ว ก็พลันก้าวเข้าเขตโลกุตรญาณ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า มรรคญาณได้อุบัติขึ้นแล้ว

    เมื่อมรรคญาณอุบัติขึ้นแล้ว จักมีอะไรเกิดขึน?
    ก็เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษ คือ พระจตุราริยสัจ กันในตอนนี้เอง!

    ที่ว่าเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจนั้น เห็นแจ้งด้วยอาการอย่างไร! ขอจงอธิบายให้เหมาะๆ ใจสักหน่อย เพราะตรงนี้เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ต้องการจะทราบจริงๆ จะอธิบายได้หรือไม่

    ก็ได้ ! แต่จะอธิบายให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหรือไม่นั้น รู้สึกจะยาก เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง แต่ก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ คือการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจนั้น เป็นการรู้แจ้งโดย อารัมมณปฏิเวธ คือรู้แจ้งแทงตลอดโดยอารมณ์ ก็มรรคญาณที่อุบัติขึ้นนี้ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างสมบูรณ์ อันว่าพระนิพพานซึ่งเป็นอารมณ์แห่งมรรคญาณนั้น จัดเป็นพระอริยสัจธรรมข้อไหน ในบรรดาพระจตุราริยสัจธรรมหรืออริยสัจธรรมทั้ง ๔? ถูกแล้ว... พระนิพพานจัดเป็นนิโรธอริยสัจ เพราะพระนิพพานกับนิโรธอริสัจมีสภาวะเป็นอย่างเดียวกัน หรือพูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็ว่าพระนิพพานกับนิโรธอริยสัจเป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง ครั้นเราเข้าใจในเบื้องต้นนี้ว่า พระนิพพานกับนิโรธอริยสัจเป็นตัวเดียวกันดังนี้แล้ว เมื่อได้พบคำที่กล่าวว่า "มรรคญาณเสวยพระนิพพานเป็นอารมณ์" เราก็ควรเข้าใจต่อไปอีกว่า "มรรคญาณเป็นญาณที่เห็นธรรมวิเศษคือนิโรธอริยสัจ" นั่นเอง!

    ที่นี้ บรรดาอริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือทุกขอริยสัจ ๑ สมุทัยอริยสัจ ๑ นิโรธอริยสัจ ๑ นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ๑ นั้น เมื่อกล่าวตามความเป็นจริงในกรณีนี้ ย่อมเป็นธรรมที่แยกกันไม่ออก โดยนิโรธอริยสัจเป็นตัวหลัก ส่วนอริยสัจอีก ๓ เป็นตัวรอง ถ้าจะเปรียบนิโรธอริยสัจึ่งเป็นตัวหลักก็เปรียบเหมือนกันกับตัวคน ส่วนอริยสัจอีก ๓ คือ ทุกขอริยสจ - สมุทัยอริยสัจ - นิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจซึ่งเป็นตัวรองนั้น ก็เปรียบเหมือนกับเงาคน ตามธรรมดาคนกับเงานั้นย่อมเป็นสภาวะที่แยกกันไม่ออก เมื่อเห็นคนก็ต้องเห็นเงาด้วยและเมื่อไม่เห็นคนก็ย่อมไม่เห็นเงา อุปมานี้ฉันใด

    ในกรณีแห่งการเห็นพระจตุราริยสัจนี้ ก็ย่อมจะเป็นเช่นที่กล่าวมานั้นคือเมื่อมรรคญาณอุบัติ สามารถทำให้เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งนิโรธอริยสัจอันเป็นตัวหลักยืน ซึ่งเปรียบเสมือนตัวคนแล้ว ก็ย่อมจะต้องเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจที่เหลือทั้ง ๓ อันเป็นตัวรอง ซึ่งเปรียบเสมือนเงาคนนั่นไปด้วย โดยไม่ต้องสงสัย

    "ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า อาการที่เห็นพระจตุราริยสัจนี้ เห็นพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๔ อริยสัจเลยหรือ?
    "ใช่แล้ว"

    "เอ๊ะ! พิกลนัก เพราะเคยนึกในใจมานานแล้วว่า การเห็นพระจตุราริยสัจนี้จะต้องเห็นเป็นลำดับไป คือในขั้นแรกต้องเห็นทุกข์ก่อน แล้วจึงเห็นสมุทัย เห็นนิโรธและมรรค เห็นแจ้งแทงตลอดเป็นข้อๆ ไปดังนี้ นี่เคยนึกในใจมาอย่างนี้จริงๆ"

    "นึกให้โง่! คือการนึกเดาเอาว่า การเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจ ต้องมีอาการเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เช่นว่ามานั้นเป็นการนึกให้โง่ไปเปล่าๆ ไม่ถูกดอก เพราะการเห็นพระจตุราริยสัจนั้น มิใช่เป็นวิสัยแห่งสุตมายปัญญา และจินตามยปัญญา คือปัญญาอันเกิดจากการศึกษาและปัญญาอันเกิดจากจินตนาการ โดยที่แท้การเห็นพระจตุราริยสัจนี้เป็นวิสัยแห่งภาวนามยปัญญา คือปัญญาอันเกิดจากภาวนา คือการทำเป็นวิปัสสนาโดยเฉพาะ จะอย่างไรก็ตาม ขอให้จำไว้ง่ายๆ ในที่นี้ว่า อาการที่เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจนั้น ต้องเห็นโดยอารัมมณปฏิเวธ คือเห็นนิโรธอริยสัจ อันเป็นตัวยืน และในขณะที่เห็นนิโรธอริยสัจนั้นเอง ก็ย่อมจะต้องเห็นอริยสัจทั้ง ๓ ที่เหลือ ซึ่งเปรียบเสมือนเงาแห่งนิโรธอริยสัจไปด้วย ต้องเห็นอริยสัจทั้ง ๔ พร้อมเพรียงในขณะเดียวกันอย่างนี้ จึงจะนับว่าเป็นการเห็นพระจตุราริยสัจที่ถูกต้องถ่องแท้ สมตามกระแสพระพุทธฎีกาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสประกาศไว้ใน ควัมปติสูตร โดยใจความดังต่อไปนี้

    "ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นแม้ทุกขสมุทัย, แม้ทุกขนิโรธ, แม้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
    " ผู้ใดเห็นทุกขสมุทัย ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นแม้ทุกข์, แม้ทุกขนิโรธ, แม้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
    "ผู้ใดเห็นทุกขนิโรธ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นแม้ทุกข์, แม้ทุกขสมุทัย, แม้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
    "ผู้ใดเห็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นแม้ทุกข์, แม้ทุกขสมุทัย, แม้ทุกขนิโรธ" ดังนี้​



    ยังมีต่อ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 ธันวาคม 2010
  3. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    เพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งดียิ่งขึ้น ในกรณีแห่งการเห็นแจ้งแทงตลอดพระอริยสัจธรรมทั้้ง ๔ ซึ่งเป็นไปในขณะเดียวกันนี้ พึงพิจารณาอุปมาสาธกที่ท่านกล่าวไว้ ดังต่อไปนี้​


    ประทีป


    อันว่าประทีปน้ำมันที่บุคคลจุดไว้ ย่อมให้สำเร็จกิจ ๔ ประการในขณะเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง! กิจ ๔ ประการที่ว่านี้ คือ
    ๑. ยังเกลียวไส้ให้เกรียมไหม้


    ๒. กำจัดเสียซึ่งอันธการคือความมืด


    ๓. อำนวยแสงสว่างให้มีขึ้น


    ๔. สังหารน้ำมันให้สิ้นไป


    มรรคญาณ ก็เป็นเช่นนั้น คือเมื่ออุบัติขึ้นแล้ว ย่อมให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ ในการเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจธรรม ในขณะเดียวกันไม่ก่อนไม่หลัง กิจ ๔ ประการที่ว่านั้น คือ
    ๑. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คือกำหนดรู้ซึ่งทุกขอริยสัจนั้น เปรียบประดุจดวงประทีปยังเกลียวไส้ให้เกรียมไหม้ไป
    ๒. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คือละเสียซึ่งสมุทัยอริยสัจนั้นเปรียบประดุจดวงประทีป ย่อมกำจัดเสียซึ่งอันธการคือความมืด
    ๓. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คืออำนวยให้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (มัคคังคเจตสิก ๘ ดวง) ให้เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกัน เปรียบประดุจดวงประทีปอำนาวยแสงสว่างให้มีขึ้น
    ๔. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คือกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธอริยสัจสังหารกิเลสให้เหือดแห้งไปนั้น เปรียบประดุจดวงประทีปสังหารน้ำมันให้สิ้นไป



    พระสุริยมณฑล



    อีกอุปมาหนึ่งมีว่า... อันว่าพระสุริยมณฑล คือดวงอาทิตย์ เมื่อแรกอุทัยขึ้นมานั้น ย่อมให้สำเร็จกิจ ๔ ประการในขณะเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกิจ ๔ ประการที่ว่านี้ คือ
    ๑. สำแดงรูปให้ปรากฏแจ้งแก่ตาโลก
    ๒. กำจัดเสียซึ่งอันธการคือความมืด
    ๓. ส่องรัศมีให้สว่างไปในห้วงจักรวาล
    ๔. ดับความหนาวเย็นแห่งสัตว์ ทั้งหลาย


    มรรคญาณ ก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้น คือเมื่ออุบัติขึ้นแล้วย่อมให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ ในการเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจธรรมในขณะเดียวพร้อมกันไม่ก่อนไม่หลัง กิจ ๔ ประการที่ว่านั้นคือ
    ๑. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คือกำหนดรู้ซึ่งทุกขอริยสัจนั้นเปรียบประดุจพระสุริยมณฑลสำแดงรูปให้ปรากฏแจ้งแก่ตาโลก
    ๒. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คือละเสียซึ่งสมุทัยอริยสัจ เปรียบประดุจพระสุริยมณฑลกำจัดเสียซึ่งอันธการคือความมืด
    ๓. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คืออำนวยทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจให้เกิดขึ้นพร้อมเพรียงนั้น เปรียบประดุจพระสุริยมณฑลสำแดงอาการส่องรัศมีให้สว่างไสวไปในห้วงจักรวาล
    ๔. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คือกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธอริยสัจกำจัดกิเลสในสันดานให้ระงับดับไป เปรียบประดุจพระสสุริยมณฑลสำแดงอาการส่องรัศมีให้สว่างไสวไปในห้วงจักรวาล
    ๔. กิริยาที่มรรคญาณสำเร็จกิจ คือกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธอริยสัจกำจัดกิเลสในสันดานให้ระงับดับไป เปรียบประดุจพระสุริยมณฑลให้สำเร็จกิจ กล่าวคือดับความหนาวเย็นสะท้าน ยังความเบิกบานให้แก่สัตว์ทั้งหลาย


    นาวา


    อีกอุปมาหนึ่งมีว่า... อันว่านาวาซึ่งนำสิ่งของต่างๆ ข้ามแม่น้ำ เมื่อถึงฝั่งแล้ว ย่อมให้สำเร็จกิจ ๔ ประการในขณะเดียวพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง กิจ ๔ ประการที่ว่านั้น คือ
    ๑. ละเสียซึ่งฝั่งฟากนี้
    ๒. ตัดกระแสสายน้ำ
    ๓. นำไปซึ่งสิ่งของ
    ๔. ถึงซึ่งฝั่งฟากโน้น


    มรรคญาณ ก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้น คือเมื่ออุบัติขึ้นแล้วย่อมให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ ในการเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจธรรมในขณะเดียวพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง กิจ ๔ ประการที่ว่านั่นคือ
    ๑. พฤติการณ์ที่มีมรรคญาณให้สำเร็จกิจ คือกำหนดรู้ซึ่งทุกขอริยสัจนั้น เปรียบประดุจนาวาให้สำเร็จกิจ กล่าวคือละฝั่งฟากนี้


    ๒.พฤติการณ์ที่มรรคญาณให้สำเร็จกิจ คือละเสียซึ่งสมัยอริยสัจนั้น เปรียบประดุจนาวาให้สำเร็จกิจ กล่าวคือตัดกระแสสายน้ำ



    ๓. พฤติการณ์ที่มรรคญาณให้สำเร็จกิจ คืออำนวยทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจให้เกิดขึ้นพร้อมเพรียงได้นั้น เปรียบประดุจนาวาให้สำเร็จกิจ กล่าวคือนำไปซึ่งสิ่งของได้​


    ๔. พฤติการณ์ที่มรรคญาณให้สำเร็จกิจ คือกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธอริยสัจอันเป็นธรรมที่มีอยู่ในฝั่งพระนิพพานโน้นนั้น เปรียบประดุจนาวาให้สำเร็จกิจถึงฝั่งฟากโน้น

    โดยอุปมาสาธกทั้งหลายที่ยกเอาให้พิจารณานี้ ท่านผู้มีปัญญาก็คงจักทราบได้เป็นอย่างดีแล้วว่า การเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษ คือพระอริยสัจทั้ง ๔ นี้นั้น ย่อมปรากฏมีในขณะเดียวพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง ในกาลที่มรรคญาณอุบัติขึ้นในสันดานแห่งโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้นจึงขอสรุปความลงไว้ในที่นี้อีกทีว่า​



    เมื่อผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ต้องการที่จักได้เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษกล่าวคือพระจตุราริยสัจ เพื่อกำจัดอวิชชาอันมีฤทธิ์ร้าย ได้อุตสาหะบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นโดยลำดับ นับตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๔-๑๕-๑๖ ดังกล่าวมาแล้ว ย่อมจักมีใจผ่องแผ้วเกิดดวงปัญญา สามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษ คือพระจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาอันมีฤทธิ์ร้ายได้สมตามความปรารถนาโดยไม่ต้องสงสัย และในกรณีแห่งการปฏิบัติเพื่อให้เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ขอให้ท่านผู้มีปัญญาพึงทราบว่า เป็นปฏิบัติการขั้นที่หนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้ผู้ปฎิบัติเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจได้เป็นครั้งที่ ๑ และอวิชชาอันมีฤทธิ์ร้ายได้ถูกทำลายกำจัดลงเป็นครั้งที่ ๑ เท่านั้น​










     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 ธันวาคม 2010
  4. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    เห็นพระจตุราริยสัจครั้งที่ ๒



    เมื่อท่านผู้มีวาสนาบารมีที่ตนได้เคยสั่งสมอบรมมา ได้บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมวิเศษได้เป็นครั้งที่ ๑ แล้ว หากปรารถนาจักยังจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วยิ่งขึ้นไป ก็จำต้องมีปฏิบัติการโดยพยายามบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานให้ยิ่งขึ้น เมื่อมีปฏิบัติการอันถูกต้องตามแนววิปัสสนา โดยมีอินทรีย์ได้ส่วนสมดุลกันเป็นอันดี และตนก็มีวาสนาเพียงพอเพื่อจะได้บรรลุธรรมวิเศษเบื้องสูงต่อไปแล้ว สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณอันสุขุมประณีตกว่าครั้งที่ ๑ ก็จะอุบัติขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ดังนี้
    ๑. อุทยัพพยญาณ


    ๒. ภังคญาณ


    ๓. อาทีนวญาณ


    ๔. นิพพิทาญาณ


    ๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ


    ๗. ปฏิสังขาญาณ


    ๘.สังขารุเปกขาญาณ


    ๙. อนุโลมญาณ


    ๑๐ โวทานะ​

    โวทานะนี้ แทนโคตรภูญาณ เพราะท่านผู้ปฏิบัติิวิปัสสนากรรมฐานขั้นนี้ ท่านเป็นพระอริยบุคคลแล้ว มิใช่เป็นปุถุชน เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่ตัดโคตรปุถุชนคือโคตรภูญาณ จึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นอีก
    ๑๑. สกิทาคามิมรรคญาณ


    ๑๒. สกิทาามิผลญาณ


    ๑๓. ปัจจเวกขณญาณ​

    ครั้นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งบรรลุถึงสกิทาคามิมรรคญาณ คือญาณหมายเลขที่ ๑๑ ได้อย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ในขณะที่บรรลุถึงสกิทาคามิมรรคญาณนี่เอง ท่านย่อมจักสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวิเศษ คือพระจตุราริยสัจได้เป็นครั้งที่ ๒ และอวิชชาอันมีฤทธิ์ร้ายกาจหนักหนา ก็ได้ถูกกำจัดทำลายลงอีกเป็นครั้งที่ ๒ ด้วยประการฉะนี้​




    เห็นพระจตุราริยสัจครั้งที่ ๓


    เมื่อท่านผู้มีวาสนาบารมีที่ตนได้เคยอบรมสั่งสมมา ได้บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา จนสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจอันเป็นธรรมวิเศษได้เป็นครั้งที่ ๒ กำจัดอวิชชาซึ่งหมักดองอยู่ในสันดานมานานได้เป็นครั้งที่ ๒ ดังกล่าวมา หากมีความปรารถนาจักยังจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วยิ่งขึ้นไปแล้ว ก็จำต้องมีปฏิบัติการ โดยพยายามบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีปฏิบัติการอันถูกต้องตามแนววิปัสสนาโดยมีอินทรีย์สม่ำเสมอได้ส่วนสมดุลกันเป็นอันดี และตนก็มีวาสนาบารมีเพียงพอเพื่อจะได้บรรลุธรรมวิเศษเบื้องสูงต่อไปแล้ว สถาวะแห่งวิปัสสนาญาณก็จะอุบัติขึ้นเรื่อยไปตามลำดับ นับตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จนกระทั่งถึง สังขารุเปกขาญาณ แต่ว่าสภาวญาณเหล่านี้ จะปรากฏชัดเจนละเอียดแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่ตนเคยได้ผ่านมาแล้วในการปฏิบัติวิปัสสนาครั้งก่อนๆ ต่อจากนั้น อนุโลมญาณ ก็จะอุบัติขึ้น ตามติดมาด้วยโวทานะ และแล้ว อนาคามิมรรคญาณ ก็จะพลันอุบัติขึ้นในทันทีทันใดนั้น​



    ครั้งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งบรรลุถึงอนาคามิมรรคญาณได้โดยเรียบร้อยดังนี้แล้ว ก็ในขณะที่บรรลุถึงอนาคามิมรรคญาณนี้เอง ท่านย่อมจักสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจธรรม ซึ่งเป็นธรรมวิเศษได้เป็นครั้งที่ ๓ และอวิชชาที่มีฤทธิ์ร้ายกาจนักหนา ก็ย่อมเป็นอันได้ถูกกำจัดทำลายลงอีกเป็นครั้งที่ ๓ ด้วยประการฉะนี้​



    อ่านต่อ




     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 ธันวาคม 2010
  5. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    เห็นพระจตุราริยสัจครั้งที่ ๔

    เมื่อท่านผู้มีวาสนาบารมีที่ตนได้เคยอบรมสั่งสมมา ได้บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา จนสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุรารยิสัจธรรมอันเป็นธรรมวิเศษได้เป็นครั้งที่ ๓ กำจัดอวิชชาซึ่งหมักดองอยู่ในสันดานได้เป็นครั้งที่ ๓ ดังกล่าวมา หากมีความปรารถนาจักยังจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วขึ้นไปจนถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องมีปฏิบัติการ โดยพยายามบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไปอีกตามพระโอวาทานุสาสนี โดยมีอินทรีย์สม่ำเสมอได้ส่วนสมดุลกันเป็นอันดี และตนมีวาสนาบารมีเพียงพอเพื่อที่จักได้บรรลุธรรมเวิศษชั้นสูงสุดต่อไปแล้ว สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณก็จะอุบัติขึ้นเรื่อยไปตามลำดับ นับตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จนกระทั่งถึง สังขารุเปกขาญาณ แต่ว่าสภาวญาณเหล่านี้จะปรากฏชัดเจนจนละเอียดแจ่มแจ้งเป็นที่สุด ต่อจากนั้นอนุโลมญาณก็จะอุบัติขขึ้น ตามคิดมาด้วยโวทานะและแล้วในขณะต่อจากนั้น อรหัตมรรคญาณอันเป็นโลกุตรญาณขั้นประเสริฐสูงสุด ก็จักพลันอุบัติผุดขึ้นทันใด


    ในกรณีแห่งการบรรลุมรรคญาณแต่ละขั้นที่พรรณนามานี้ ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่จะกระทำได้ง่ายๆ แต่ความจริงไม่ใช่! เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้โดยยากนักหนา โดยมีกฎเกณฑ์ที่สำคัญ ซึ่งควรจะนำมากล่าวแทรกเอาไว้ในที่นี้ ดังต่อไปนี้


    ๑. ท่านผู้สามารถที่จะปฏิบัติให้บรรลุโลกุตรญาณชั้นโสตาปัตติมรรคญาณ - สกิทาคามิมรรคญาณ เพื่อการเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจธรรม อันเป็นธรรมวิเศษและกำจัดอวิชชาได้เป็นครั้งที่ ๑-๒ นั้นจักต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์เป็นอย่างยิ่ง มีศีลสมบูรณ์ที่สุด เพราะมีกฏตายตัวอยู่ว่าจะบรรลุพระโสตาปัตติมรรคและพระสกิทาคามิมรรคได้ด้วย "อธิศีล" คือศีลชั้นยอดเยี่ยมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง

    ๒. ท่านผู้สามารถที่จะปฏิบัติให้บรรลุถึงโลกุตรญาณชั้นอนาคามิมรรคญาณ เพื่อการเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจธรรมอันเป็นธรรมวิเศษ และกำจัดอวิชชาได้เป็นครั้งที่ ๓ นั้น จักต้องเป็นผู้มีสมาธิชั้นยอดเยี่ยม มีสมาธิเต็มเปี่ยมสมบูรณ์เป็นที่สุด เพราะมีกฎตายตัวอยู่ว่า จะบรรลุพระอนาคามิมรรคได้ด้วย "อธิจิต" คือสมาธิขั้นยอดเยี่ยมเปี่ยมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

    ๓. ท่านผู้ที่สามารถจะปฏิบัติให้บรรลุถึงโลกุตรญาณขั้นสูงสุดกล่าวคือ "อรหัตมรรคญาณ" เพื่อการเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจธรรมอันเป็นธรรมวิเศษ และกำจัดอวิชชาได้เป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายนั้นจักต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาชั้นยอดเยี่ยม มีปัญญาเต็มเปี่ยมสมบูรณ์เป็นที่สุด เพราะมีกฏตายตัวอยู่ว่าจะบรรลุพระอรหัตมรรคญาณได้ด้วย "อธิปัญญา" คือปัญญาชั้นยอดเยี่ยมเต็มเปี่ยมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

    จากกฏเกณฑ์สำคัญที่กล่าวมานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจะเห็นได้แล้วว่า ในพระบวรพุทธศาสนาอันเป็นที่สุดเคารพสุดบูชาของพวกเรา ชาวพุทธบริษัทนี้ ย่อมเป็นพระศาสนาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยหลักใหญ่อย่างครบถ้วน ๓ ประการ คือ ศีล- สมาธิ - ปัญญาอย่างยอดเยี่ยม เพราะการบรรลุพระอริยมรรคพระอริยผลอันประเสริฐสุดเป็นธรรมวิเศษนี้ จักต้องบรรลุด้วยหลัก ๓ ประการเป็นขั้นๆ ไป จะบกพร่องประการใดประการหนึ่งไม่ได้อย่างเด็ดขาด! ก็เพราะเหตุที่การปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุธรรมวิเศษคือพระอริยมรรคพระอริยผล แต่ละขั้นจะต้องปฏิบัติให้สมบูรณ์ตามกฏเกณฑ์อันสำคัญ โดยมิได้บกพร่องได้ดังกล่าวมานี่เอง จึงปรากฏว่าการบรรลุธรรมวิเศษแต่ละขั้นจำต้องมีปฏิบัติการอันยากนักหนา พูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็ว่า ธรรมวิเศษคือมรรคผลนิพพานนั้น มิใช่สิ่งที่จะบรรลุเอากันง่ายๆ ความจริงบรรลุได้โดยยากมาก แม้ว่าธรรมวิเศษเป็นสิ่งที่บรรลุได้โดยยากดังกล่าวมา หากท่านผ้มีปัญญาเห็นคุณานิสงส์แห่งการบรรลุธรรมวิเศษแล้ว ก็ไม่ควรจะมีใจย่นย่อท้อถอย เพราะการบรรลุธรรมวิเศษนี้มีคุณานิสงส์มากมายสุดที่จักนับจักประมาณได้ แต่จะมีประการใดบ้างนั้นต้องขอผัดไว้ก่อน จะพรรณนาให้ฟังข้างหน้า ตอนนี้ขอกลับไปพูดถึงเรื่องการเห็นพระจตุราริยสัจครั้งที่ ๔ ซึ่งกล่าวค้างไว้เมื่อตะกี้นี้ต่อไปเสียก่อนคือ

    เมื่อท่านผู้มีวาสนาบารมีสูงสุด ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งบรรลุถึงอรหัตมรรคญาณ อันเป็นโลกุตรญาณขั้นสูงสุดแล้ว และในขณะที่ท่านบรรลุถึงอรหัตมรรคญาณนี่เอง ท่านก็ย่อมจักสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจธรรม อันเป็นธรรมวิเศษได้เป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นการเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งที่สุดเป็นครั้งสุดท้าย ให้ตายขาดออกไปจากขันธสันดานจนหมดสิ้น ด้วยประการฉะนี้

    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย การเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจเพื่อกำจัดอวิชชาอันมีฤทธิ์ร้าย ให้ตายขาดออกไปจากขันธสันดานจนหมดสิ้นนั้น ต้องมีการเห็นแจ้งแทงตลอดจนครบทั้ง ๔ ครั้ง ดังกล่าวมานี่จึงจะสามารถกำจัดอวิชชา ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมูลรากเป็นที่รวมแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายนี้ได้อย่างเด็ดขาด ถ้ายังไม่มีการเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจจนครบทั้ง ๔ ครั้งแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถที่จะกำจัดทำลายอวิชชาอันมีฤทธิ์ร้ายนี้ได้เลย

    ในกรณีนี้ หากจะมีปัญหาว่า
    "เอ๊ะ! อย่างไรกันไม่เข้าใจ คือให้มีความสงสัยว่า อวิชชาอันเป็นยอดแห่งอกุศลธรรมนี้ ทำไมจึงยังเหลืออยู่ให้กำจัดทำลายถึง ๔ ครั้ง? เพราะเมื่อพระอริยมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ คือพระโสดาปัตตมรรค พระสกิทาคามิมรรค และพระอนาคามิมรรคอุบัติขึ้นนั้น ก็ปรากฏว่ามีการเห็นแจ้งแทงตลอดพระจตุราริยสัจ สามารถกำจัดทำลายล้างอวิชชานี้ได้ทุกครั้งไป ฉะนั้นอวิชชานี้ก็น่าที่จะต้องถูกทำลายให้ตายขาดออกไปจากขันธสันดานได้ตั้งนานแล้ว โน่นน่ะ... ตั้งแต่พระอริยมรรคที่ ๑ คือพระโสดาปัตติมรรคอุบัติขึ้นโน่นแน่ะ อวิชชามันก็น่าจะตายขาดไปเสียตั้งแต่นอนนั้นแล้วไม่จำเป็นต้องยืนยงคงอยู่ได้มาจนถึงพระสกิทาคามิมรรค - อนาคามิมรรค อุบัติขึ้นเสียด้วยซ้ำ อย่างนี้ใช่ไหมเล่า? แต่นี่เหตุไฉน อวิชชามันจึงยังยืนยงคงอยู่คอยรอให้พระอริยมรรคขั้นสูงสุด คือพระอรหัตมรรคทำลายล้างได้น่าแปลกใจนัก?"

    "อย่่าแปลกใจอะไรเลย! ทั้งนี้ก็เพราะพระอริยมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ นั้น เมื่อพลันอุบัติขึ้นย่อมสามารถเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งพระจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาได้ทุกมรรคก็จริง แต่ว่าพระอริยมรรคเหล่านี้ มีสภาพเป็น"วิชชูปมธรรม" ฉะนั้นจึงไม่สามารถกำจัดอวิชชาได้อย่างเด็ดขาด ส่วนพระอริยมรรคเบื้องสูงสุด คือพระอรหัตมรรคนั้นมีสภาพเป็น "วชิรูปมธรรม" ฉะนั้นจึงสามารถที่จะกำจัดอวิชชาอันมีฤทธิ์ร้ายเหลือได้อย่างเด็ดขาดเข้าใจไหมเล่า?"

    "ไม่เข้าใจ! ก็ใครจะไปเข้าได้เล่า เพราะกล่าวรวบรัดเกินไป กล่าวให้แจ้งชัดกว่านี้อีกสักหน่อยไม่ได้หรือ? ที่สำคัญก็คือ "วิชชูปมธรรม - วฃิรูปมธรรม" ที่พึมพำออกมาเมื่อตะกี้นี้น่ะคืออะไรกัน จงเร่งอธิบายให้ทันใจสักหน่อยเถิด จะคอยฟัง..."

    "ดีแล้ว! เมื่อว่าจะคอยฟังก็จงตั้งใจฟังให้ดี อย่ามีใจเบื่อหน่ายเสียก็แล้วกัน เพราะปัญหานี้ก็มีความสำคัญ ซึ่งพวกเราผู้อุตส่าห์ติดตามเรื่องพระจตุราริยสัจนี้มานาน ควรจักได้ทราบเอาไว้เป็นอย่างยิ่งอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นพึงตั้งสดับด้วยดี ดังต่อไปนี้"





     
  6. สังวรคุณ

    สังวรคุณ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    148
    ค่าพลัง:
    +765
    นาวา



    อีกอุปมาหนึ่งมีว่า... อันว่านาวาซึ่งนำสิ่งของต่างๆ ข้ามแม่น้ำ เมื่อถึงฝั่งแล้ว ย่อมให้สำเร็จกิจ ๔ ประการในขณะเดียวพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง กิจ ๔ ประการที่ว่านั้น คือ
    ๑. ละเสียซึ่งฝั่งฟากนี้
    ๒. ตัดกระแสสายน้ำ
    ๓. นำไปซึ่งสิ่งของ
    ๔. ถึงซึ่งฝั่งฟากโน้น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 ธันวาคม 2010
  7. สังวรคุณ

    สังวรคุณ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    148
    ค่าพลัง:
    +765
    ๑. ละเสียซึ่งฝั่งฟากนี้


    ๔. ถึงซึ่งฝั่งฟากโน้น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 ธันวาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...