ไม่ค่อยเข้าใจคำว่า มโนกรรม ครับ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย czbz, 19 พฤษภาคม 2011.

  1. czbz

    czbz สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    100
    ค่าพลัง:
    +7
    ได้ยินมาว่า มโนกรรมเป็นกรรมที่บาปที่สุด ยังไงช่วยอธิบายทีครับ

    หมายถึงแค่คิดไม่ดี คิดชั่วก็บาปแล้วหรอครับ ทั้งที่ยังไม่ได้ทำ(แต่เราก็รู้สิ่งที่เราคิดอ่ะมันชั่ว ทำไปอ่ะมันบาป) แล้วมีใครบ้างไหมที่ห้ามความคิดไม่ดีห้ามความคิดชั่วได้??? ผมงงว่าแค่คิดแค่นี้บาปแล้วหรอครับ(แบบนี้แย่เลย ใครห้ามกันได้มั้ง)

    ใครมีความรู้ช่วย แถลงไขทีครับ(deejai)

    จะได้ไม่กังวลกลัวว่าคิดชั่วแล้วมานั่งกลุ้มว่า บาป(ผมเป็นอยู่) เพราะมันห้าไม่ได้สักทีความคิดชั่วความคิดไม่ดีน่ะ.....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 พฤษภาคม 2011
  2. Darkever

    Darkever เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 เมษายน 2011
    โพสต์:
    450
    ค่าพลัง:
    +333
    ถ้าจิตไม่ดีเสียแล้ว ก็จะแสดงออกทางกายไม่ดีตามไปด้วย
    ข้อนี้ แสดงให้เห็นว่า จิตเลว ย่อมจะสั่งกายให้เลวตาม
    และ จิตที่เลว ย่อมหมองเศร้า จิตหมองเศร้า เป็นความเลวอย่างมาก
    เพาะจิตหมองนั้นแหละ เป็นตัวฉุดดึงลงให้ลงภพภูมิที่ไม่ดี

    ถ้าจิตเลว แต่ไม่สั่งกายให้ทำ จิตเลวแต่ไม่ละเมิดศีล
    บาปอกุศลและกรรมชั่ว มันก็จะไม่เกิด เพราะมันยังไม่ได้ทำ

    แต่จิตชั่วสะสมตัว คิดแต่สิ่งไม่ดี ถึงแม้จะไม่ทำเลวทำชั่ว จิตดวงนั้นเอง
    ย่อมดึงลงนรกได้ แม้จะไม่ได้ทำชั่ว แต่คิดชั่วบ่อยๆ
     
  3. Phanudet

    Phanudet เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    8,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +15,646
    มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา

    ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ



    ไม่ว่าเรื่องอะไรหละครับ...ต้องออกมาจากใจก่อน คนจะธรรมชั่วก็ดี จะทำดีก็ดีย่อมออกมาจากใจก่อนครับ....สมกับคำที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั่นหละ....

    ถ้าเราพูดในเรื่องของมโนกรรม มโนกรรมนี่ตัวดีเลยนะครับ...อย่างกับท่านข้างบนบอกไว้นั่นหละครับ...มโนกรรมนี่เห็นชัดอีกอย่างโดยเฉพาะผู้ปฏิบัตินี้ไอ่อาการสถาวะใดก็ตามที่เป็นเครื่องขวางในการปฏิบัติ เช่น ใจปรามาส พื้นฐานมันก็มาจากกรรมตัวนี้หละครับ เคยไปปรามาสท่านผู้ปฏิบัติไว้ด้วยใจ เป็นต้น มารเลยได้ช่องเอาเลย...ถ้าจิตไปจับตรงนั้นก่อนตายก็อบายภูมิทางเดียวหละครับ...

    แค่คิดก็เป็นกรรมแล้วนะครับ.....กายก็ดี วาจาก็ดี ถ้าใจมันไม่มาก่อน มันไม่แสดงหลอกนะ ....ถูกไม....

    ยิ่งถ้าคุณออกมาเป็นคำพูดก็เป็นวจีกรรมไปด้วยอย่างนี้หละ......ทุกอย่างหละครับเป็นเหตุเป็นผลในตัวมันเองหมดหละ....

    จิตนี้ถ้ามันไม่เคยสะสมกรรมชั่วมันจะเอาที่ใหนมาแสดงหละครับ....อันนี้พูดถึงการปฏิบัตินะ.....

    ครูบาอาจารย์ท่านเลยแนะนำให้ขอขมาพระรัตนตรัยบ่อยๆจนเป็นปกตินิสัย....อย่างนี้หละ....

    วิธีการอีกวิธีการหนึ่งคือตามรู้มันไปครับ..จิตมันปรุง...ปรุงดีเราพอใจ ปรุงชั่วเราไม่ชอบอย่างนี้หละเป็นสถาวะธรรม เป็นขอมูลกรรมเก่าในใจ ไม่ว่าทั้งดีและชั่ว เราจะมองมันไปอย่างนี้ก็ได้ ก็จะเห็นว่ามันเกิดดับ อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ดีแบบหนึ่ง เมื่อไรสวดมนต์ก็ขอขมาเพิ่มเป็นปกตินิสัย....

    มันคิดได้ก็อย่าไปสนองมันต่อ ต่อกรรมต่อ ให้ออกมาทางกาย ทางวาจา อย่างนี้ก็ดีแล้วครับ....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 พฤษภาคม 2011
  4. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,900
    ค่าพลัง:
    +7,310
    กรรมโดยการแสดงผล พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรม มี 3 คือ กายกรรรม วจีกรรม มโนกรรม

    ในบรรดากรรม 3 อย่างนั้น กรรมที่ละเอียดอ่อนที่สุดก็ได้แก่ มโนกรรม คือกรรมทางใจ
    กรรมทางใจนอกจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแล้ว ก็เป็นจุดเริ่มด้วย หมายความว่า การกระทำที่จะออกมาเป็นวจีกรรมและเป็นกายกรรมได้ ก็เพราะเกิดขึ้นเป็นมโนกรรมก่อน คนเราต้องคิดก่อน คิดขึ้นมาในใจ คิดชั่ว ทำชั่ว ถ้าพูดชั่วขึ้นเฉย ๆ อาจเป็นเพียงเคยปากหรือใช้คำพูดไม่ถูกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกรรม

    คนจะทำอะไรก็เริ่มจากความนึกคิดในใจ ที่เรียกว่ามโนกรรมในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสโดยทรงเปรียบเทียบกับลัทธินิครนถ์
    ในลัทธินิครนถ์เขาเรียกกรรมว่า ทัณฑะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ และบอกว่ากายทัณฑะสำคัญที่สุด เพราะว่าเพียงลำพังคิดอย่างเดียวไม่ทำให้ตายได้ แต่ถ้าเป็นกายทัณฑะ เอามีดมาฟันคอ ก็ตายแน่ ๆ หรือว่าฉวยปืนมายิงก็ตาย ลำพังคิดไม่ตาย เพราะฉะนั้น ลัทธินิครนถ์ถือว่า กายทัณฑะสำคัญที่สุด

    แต่พระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด เพราะมโนกรรมเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวการใหญ่ เป็นเจ้าของแผนการ บุคคลก็ดี สังคมก็ดี จะเป็นอย่างไรก็ดำเนินไปตามมโนกรรมเป็นใหญ่ มโนกรรมเป็นตัวกำหนดวิถีหรือชี้แนวทางให้แก่แนวคิด ความนิยม ความเชื่อถือ เป็นตัวกำกับการ เช่น คน ๆ หนึ่งมีความชอบอะไร ใฝ่ในอะไร ชีวิตของเขาก็จะดำเนินไปตามวิถีทางที่ชอบที่ใฝ่ฝันนั้น สมมติว่า เด็กคนหนึ่งเกิดชอบบวชพระ ชอบห่มผ้าเหลืองเห็นเณรแล้วก็อยากเป็นเณรบ้าง ความฝักใฝ่พอใจอันนี้ก็มาหล่อหลอมทำให้เขาคิดที่จะบวช ต่อมาเขาก็อาจจะบวชแล้วก็อยู่ในพระศาสนาไป แต่อีกคนหนึ่งจิตใจชอบใฝ่ฝันไปในทางที่อยากได้ของของคนอื่น โดยไม่ต้องทำอะไร ก็อาจจะไปลักขโมย วิถีชีวิตก็จะหันเหไปอีกแบบหนึ่ง นี้ก็คือเรื่องของมโนกรรม ที่มีผลบันดาลชีวิตทั้งชีวิตให้เป็นไปต่าง ๆ กัน ความนิยม ความชอบ ความเชื่อถือต่าง ๆ นี้เป็นเครื่องกำหนดชะตาและสร้างชีวิตของคน พระพุทธศาสนามองในขั้นลึกซึ้งอย่างนี้ จึงถือว่า มโนกรรมสำคัญ

    ................

    จิตสำนึก-จิตไร้สำนึก/ภวังคจิต-วิถีจิต

    สืบเนื่องจากเรื่องมโนกรรมนั้น ก็ทำให้ต้องมาศึกษาเรื่องจิตให้มากขึ้น จิตใจของคนเรานี่คิดนึกอะไรต่าง ๆ สิ่งที่พูดและทำก็เป็นไปตามจิตใจ แต่จิตใจเป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน บางครั้งและในเรื่องบางอย่างเราบอกไม่ถูกด้วยซ้ำว่าตัวเราเองเป็นอย่างไร บางทีเราทำอะไรไปอย่างหนึ่งเราบอกไม่ถูกว่าทำไมเราจึงทำอย่างนั้น เพราะว่าจิตใจมีความสลับซับซ้อนมาก ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น มีการแบ่งจิตเป็น 2 ระดับ คือ จิตระดับวิถี กับจิตระดับภวังค์ จิตระดับภวังค์เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ เป็นระดับที่เราไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าจิตไร้สำนึก ภพจะเป็นอย่างไร ชีวิตแท้ ๆ ที่กรรมออกผลจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่ภวังค์แม้แต่จุติปฏิสนธิก็เป็นภวังคจิต ฉะนั้นเราจะมาพิจารณาเฉพาะจิตในระดับที่เรารู้สำนึกกันนี้ไม่ได้ การพิจารณาเรื่องกรรมนี้ จะต้องลึกลงไปถึงขั้นจิตต่ำกว่าหรือเลยสำนึกไป อย่างที่เราใช้ศัพท์ว่า ภวังค์

    ในจิตวิทยาสมัยนี้ก็มีหลายสาขา หลายสำนัก ซึ่งมีกลุ่มสำคัญที่เขาศึกษาเรื่องจิตแบบนี้เหมือนกัน เขาแบ่งจิตเป็น จิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก จิตสำนึกก็คือจิตที่รู้ตัว ที่พูดสิ่งต่าง ๆ ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ แต่มีจิตอีกส่วนหนึ่งเป็นจิตไร้สำนึก ไม่รู้ตัว จิตที่ไร้สำนึกนี้เป็นจิตส่วนใหญ่ของเรา เขาเทียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ในน้ำ น้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำมีมากกว่า และมากกว่าเยอะแยะด้วย ส่วนที่โผล่มามีนิดเดียว คือจิตสำนึกที่เรารู้ตัวกันอยู่ พูดจาทำอะไรกันอยู่นี่ แต่ส่วนที่ไม่รู้สำนึกหรือไร้สำนึกนั้น เหมือนก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้พื้นน้ำซึ่งมีมากกว่าเยอะแยะ เป็นจิตส่วนใหญ่ของเรา

    การศึกษาเรื่องจิตนั้นจะต้องศึกษาไปถึงขั้นจิตไร้สำนึก ที่เป็นจิตส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะรู้เรื่องจิตนิดเดียวเท่านั้น การพิจารณาเรื่องกรรมก็จะต้องเข้าไปให้ถึงจุดนี้
    ในเรื่องจิตไร้สำนึกนี้ มีแง่ที่เราควรรู้อะไรบ้าง แง่ควรรู้ที่หนึ่งคือที่บอกว่า สิ่งที่เราได้รับรู้เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้ จิตจะบันทึกเก็บไว้หมดไม่มีลืมเลย
    ตามที่เข้าใจกัน ตามธรรมดานี้ สิ่งทั้งหลายที่ได้ประสบนั้นเราลืมแทบทั้งหมด จำได้นิดเดียวเท่านั้น นี่เป็นเรื่องของจิตสำนึก แต่ตามความเป็นจริง ความจำเหล่านั้นยังคงอยู่ในจิตไร้สำนึก สิ่งที่ประสบทราบคิดนึกทุกอย่างตั้งแต่เกิดมา มันจำไว้หมด แล้วถ้ารู้จักการสะกดจิตมาก เพราะเหตุผลหลายอย่าง เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือเมื่อสะกดจิตแล้วสามารถทำให้คนนั้นระลึกเรื่องราวเก่าๆ สมัยเด็ก เช่น เมื่อ 1 ขวบ 2 ขวบ เอาออกมาได้ ซึ่งแสดงว่าประสบการณ์เหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่หมด นี้เป็นแง่หนึ่ง

    จิตไร้สำนึก: จุดเริ่มแห่งการให้ผลของกรรม

    ที่ว่ามานี้มีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับกรรม ความหมายก็คือ มันแสดงว่าสิ่งที่เราทำไว้ทั้งหมด สิ่งที่เราคิด เรานึก ทุกอย่างไม่ได้หายไปไหนเลย ยังคงอยู่ในจิตใจของเราทั้งหมด เพียงแต่เราไม่รู้ตัวและระลึกออกมาโดยจิตสำนึกไม่ได้เท่านั้น เราสามารถเอาวิชาการสมัยใหม่ที่เขาศึกษา วิจัย วิเคราะห์กันทีหลังนี้มาประกอบการศึกษาเรื่องกรรมได้ด้วย ทำให้เห็นว่าวิธีการสมัยใหม่ในยุคหลังนี้ก็เป็นเครื่องช่วยย้ำสนับสนุนให้คนปัจจุบันเข้าใจหลักความจริงของจิตที่ท่านสอนไว้ว่าเป็นอย่างไร

    ก. จิตสะสมประสบการณ์ทุกอย่าง และปรุงแต่งชีวิตเรา
    ที่ว่ามานี้มีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับกรรม ความหมายก็คือ มันแสดงว่าสิ่งที่เราทำไว้ทั้งหมด สิ่งที่เราคิด เรานึก ทุกอย่าง เมื่อสั่งสมแล้วก็ไม่ได้สั่งสมไว้เฉย ๆ มันมีผลต่อตัวเราทั้งหมดด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว สภาพจิตส่วนที่ปรุงแต่งชีวิตของเรานี้ ส่วนมากเป็นจิตที่ไม่รู้ตัว
    ตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเรามีจิตโกรธบ่อย ๆ เป็นคนฉุนเฉียว พบอะไรขัดใจนิดก็เกิดโทสะ และแสดงความเกรี้ยวกราดออกมาให้จิตกำเริบอยู่เสมอ ต่อไปถ้าสั่งสมสภาพจิตอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย ทำให้เป็นคนมักโกรธ ความโกรธง่ายจะเป็นลักษณะจิตใจ เป็นนิสัย ต่อมาสภาพจิตก็แสดงออกทางหน้าตา หน้านิ้วคิ้วขมวดอยู่เสมอ กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าบุคลิกภาพและออกมามีผลทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น คนที่พบเห็นก็ไม่อยากคบ ไม่อยากพูดด้วย เขาอยากจะหลีกเลี่ยง กลัวจะเกิดเรื่อง อะไรทำนองนี้ แล้วก็กลับมามีผลต่อชีวิตของตนเอง รวมความว่าเรื่องก็ดำเนินไปในลักษณะที่ว่า จากความคิดจิตใจ ก็ออกมาเป็นลักษณะนิสัย เป็นบุคลิกภาพ แล้วก็เป็นวิถีชีวิตของคนนั้น และความมีนิสัยอย่างนี้ หรือมีความโน้มเอียงอย่างนี้ ก็ชักจูงเขาเอง ชวนให้ไปพบกับประสบการณ์ต่าง ๆ และสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอย่างนั้นขึ้นมา
    ส่วนทางตรงข้าม คนที่มีจิตเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใสคิดเรื่องดี ๆ เสมอ เวลาพบอะไร จิตใจก็มองไปในแง่ดี สบายใจ ยิ้ม แจ่มใส ต่อมา หน้าก็เป็นหน้าตาที่ยิ้มแย้ม เป็นคนมีเสน่ห์ น่ารัก น่าชม ชวนให้คบหา แล้วทั้งหมดนั้น ก็ออกมาเป็นผลต่อวิถีชีวิตของเขาต่อไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องของการสั่งสม

    ข. จิตส่วนใหญ่และขุมพลังแท้ อยู่ที่จิตไร้สำนึก
    แง่ต่อไปคือ เมื่อจิตไร้สำนึกนี้เป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นส่วนที่มีกำลังมาก จิตของเรานี้เราเอามาใช้งานนิดหน่อยเท่านั้น ความจริงมันมีพลังมากมายที่เราไม่รู้ตัวและยังไม่รู้จักดึงเอามาใช้ แต่เราจะเห็นตัวอย่างได้ว่า จิตมีกำลังขนาดไหน ในเมื่อมีเหตุการณ์ที่บังคับตัวไม่ได้ เช่นในเวลาไฟไหม้ขึ้น บางคนยกตุ่มน้ำได้ หรือวิ่งหนีด้วยความตกใจ มาถึงรั้วแห่งหนึ่งซึ่งสูง ปรกติแล้วกระโดดข้ามไม่ได้ แต่ด้วยความกลัวหนีภัยมานั้น สามารถกระโจนข้ามไปได้ เรื่องอย่างนี้เราได้ยินกันบ่อย ๆ แสดงให้เห็นว่า ที่จริงจิตของเรานั้นมีความสามารถอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน แต่ตามปกติ เราไม่รู้จักใช้มัน มันก็เลยไม่เป็นประโยชน์ ความสามารถอยู่ที่ไหน ก็อยู่จิตไร้สำนึกนั้น ตอนที่เราหนีภัยด้วยวามตกใจก็ดี ตอนที่แบกตุ่มน้ำหรือของหนักไปได้เวลาไฟไหม้ก็ดี ตอนนั้นเราคุมสติไม่อยู่ จิตสำนึกของเราไม่ทำงาน แต่ถูกจิตไร้สำนึกกำกับการออกมาแสดงบทบาททำให้เราทำอะไรได้แปลก ๆ พิเศษออกไป หรืออย่างในเวลาสะกดจิต ทำให้เอาเข็มแทงไม่เจ็บ ตลอดจนสามารถสะกดจิตแล้วผ่าตัดบางอย่างได้ ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย นี้เป็นเรื่องของจิตใจซึ่งมีส่วนที่เราไม่รู้จักอีกมาก พวกนักจิตวิเคราะห์ก็หันมาศึกษากัน นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญ ชื่อนายซิกมุนด์ ฟรอยด์ (sigmund Freud) ได้ศึกษาเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกนี้มาก ที่ว่าจิตเป็นตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์นั้น จิตสำนึกได้แต่คิดปรุงแต่งเบื้องต้นเท่านั้น ตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์แท้จริงที่สร้างผลออกมาแก่ชีวิตส่วนใหญ่ เป็นนิสัย เป็นบุคลิกภาพ ตลอดจนเป็นชะตากรรมของชีวิตนั้น อยู่ที่จิตไร้สำนึกที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา

    จะขอซักตัวอย่างหนึ่งมาแสดงให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องกรรมซึ่งอาจจะช่วยให้เห็นทางเป็นไปได้มากขึ้น ว่าวิธีศึกษาแบบสมัยใหม่จะมาสนับสนุนการอธิบายเรื่องกรรมอย่างไร
    นายซิกมุนด์ พรอยด์ เล่าให้ฟังถึงกรณีหนึ่งว่า เด็กผู้หญิงอายุ 17 ปี ชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านกับผู้ชายคนหนึ่ง พ่อไม่พอใจมาก วันหนึ่งก็ทะเลาะกับพ่อ พ่อโกรธมากก็ทุบหน้าเด็กหญิงคนนี้ เด็กคนนี้เจ็บก็โกรธมาก อารมณ์วูบขึ้นมาก็เงื้อแขนขวาขึ้นมาจะทุบพ่อบ้าง พอเงื้อมขึ้นไปแล้วจะทุบลงมา ก็ชะงักเงื้อค้าง นึกขึ้นได้ว่านี่เป็นพ่อของเรา เราไม่ควรจะทำร้าย ก็ยั้งไว้ได้ แต่ก็ยังถือว่าตัวทำถูก ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ พ่อก็โกรธไม่ยอมพูดด้วย ต่อมาเช้าวันหนึ่ง อยู่ดี ๆ เด็กคนนี้ยกแขนขวาไม่ขึ้น แขนที่จะใช้ตีพ่อนั้นขยับไม่ได้เลย เรียกว่า ใช้ไม่ได้ เหมือนเป็นอัมพาต หมอทางกายตรวจดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติเลย แขนก็แข็งแรง เส้นเอ็นประสาทอะไรก็ไม่บกพร่องเสียหาย (ลองนึกเทียบกับคนที่ไปฟังผลสอบ พอรู้ว่าสอบตกก็เข่าอ่อน ยืนไม่อยู่ ทั้งที่ร่างกายกำยำล่ำสัน หรือคนที่ได้ยินศาลตัดสินประหารชีวิต อะไรจำพวกนี้) เรื่องนี้ถ้าเราอธิบายแบบหักขาไก่แล้วต่อมาตัวเองขาหัก ก็เรียกว่าเป็นกรรมสนองแล้ว แต่ในกรณีนี้เขาเอาเรื่องจริงมาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ และพยายามอธิบายตามแบบนักจิตวิเคราะห์ ศึกษาไปได้ความแล้ว เขาก็อธิบายว่า จิตไร้สำนึกของเด็กคนนี้แสดงตัวออกมาทำงาน ในเวลาที่จิตไร้สำนึกทำงานแล้วจิตสำนึกสู้ไม่ได้ ต้องอยู่ใต้อำนาจของมัน

    จิตไร้สำนึกทำงานเพราะอะไร ด้วยเหตุผลอะไร เหตุผลคือ ความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้น เด็กนั้นรู้ว่าการตีพ่อนี้ไม่ดี ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทุบตีจริง แต่เขาก็เงื้อแขนขึ้นกำลังจะทำอาการนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่อาจยอมรับผิดได้ เพราะเขาถือว่าเรื่องที่เขาทะเลาะกับพ่อนั้นเขาไม่ผิด จิตสานึกแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ ความรู้สึกขัดแย้งก็หนักหน่วงท่วมทับฝังลึกลงไป ในที่สุด การที่เขาเกิดอาการแขนขยับเขยื้อนไม่ได้นั้น เป็นด้วย
    1. จิตไร้สำนึกต้องการขอความเห็นใจจากพ่อ ด้วยอาการที่เขาขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ เขาเกิดไม่สบาย มีอาการผิดปกติไปแล้ว มันจะช่วยให้พ่อเห็นใจเขาได้ เหมือนกับยกโทษให้โดยอ้อมโดยไม่ต้องพูดขอโทษ ( และก็ไม่ต้องบอกว่ายกโทษ) แต่ที่แสดงออกมาอย่างนี้ จิตสำนึกไม่รู้ตัว จิตไร้สำนึกเป็นผู้ทำงาน และ
    2. เป็นการชดเชยความรู้สึกที่ว่าได้ทำผิด เหมือนว่าได้ลงโทษตัวเอง มีการลงโทษเสร็จไปแล้ว เพราะความคิดภายนอกถือว่าตัวทำถูกแล้ว ไม่ยอมไปขอโทษพ่อ ยังไปคบผู้ชาย ยังออกไปนอกบ้านตามเดิม แต่ในจิตส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่าที่ได้ทะเลาะกับพ่อ แสดงกับพ่ออย่างนั้นเป็นความผิด แล้วความรู้สึกขัดแย้งนี้ก็ลงลึกไปอยู่ในจิตไร้สำนึก แล้วก็ชดเชยออกมา โดยแสดงอาการให้เห็นว่ามันได้ถูกลงโทษแล้ว เป็นอันว่าฉันได้ชดเชยความผิดนั้นแล้ว จะได้พ้นความรู้สึกขัดแย้งนี้ไปได้

    ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ เด็กนั้นก็เลยขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีโรคหรือความผิดปรกติทางร่างกายเลยสักนิดเดียวแพทย์ค้นหาเหตุแล้วไม่พบ
    ปัจจุบันก็มีเหตุอย่างนี้บ่อย ๆ คนที่เป็นโรคทางกาย มีอาการปวดศีรษะ หาเหตุไม่พบต่าง ๆ เหล่านี้ จิตแพทย์ที่ชำนาญจะต้องค้นหาเหตุทางจิตใจ นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามองเผิน ๆ หรือมองช่วงยาวข้ามขั้นตอน ก็พูดถึงเหตุและแค่ว่า จะตีพ่อ ต่อมาแขนที่จะตีพ่อก็เสียใช้ไม่ได้

    ค. จิตทำงานตลอดเวลา และนำพาชีวิตไป

    รวมความว่า จิตไร้สำนึกของเราทำงานอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้วมันไม่ลืม ถ้าได้ทำความชั่วอะไรสักอย่าง จิตก็ไปพัวพันอยู่ แล้วไปปรุงแต่งอยู่ข้างใน เช่น ชักพาให้จิตโน้มเอียงไปหาสภาพอย่างนี้อยู่เรื่อย หรือปรุงแต่งความคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องแบบนั้น สมมติว่าไปหักขาไก่ไว้ จิตก็สะสมความรู้สึกและภาพนี้ไว้ในจิตไร้สำนึก แล้วมันก็ปรุงแต่งของมันวนเวียนอยู่นั่นเอง ออกไปไม่ได้ จิตครุ่นคิดแต่เรื่องขาหัก ๆ ๆ แล้วจิตไร้สำนึกนั้นก็คอยโอกาสชักพาตัวเองไปหาเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การที่ตัวเองจะต้องขาหักหรือต่อไประยะยาวเมื่อไปเกิดใหม่มันก็เลยปรุงแต่งขาตัวเองให้พิการไปเลย เป็นต้น นี้เป็นการอธิบายรวบรัดให้เห็นทางเป็นไปได้ต่าง ๆ ซึ่งในทางจิตวิทยาสมัยใหม่ก็เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ แต่ผลที่สุดมันเป็นเรื่องเหตุปัจจัยในกระบวนการของจิต เป็นเรื่องของกรรมนี้เอง นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นอย่างผิวเผิน ขณะที่เราท่องจิตนี้เรายังจะต้องศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป ไม่ควรผลีผลามเอาความคิดเหตุผลอย่างง่าย ๆ ของตนไปตัดสินเหตุผลที่อยู่ในวิสัยอีกระดับหนึ่งที่เลยขึ้นไป หรือสรุปเอาเรื่องที่สลับซับซ้อนลงไปอย่างง่าย ๆ

    พร้อมกันนั้นก็ให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า วิชาการสมัยใหม่บางอย่างอาจจะมาช่วยอธิบายสนับสนุนให้คนสมัยนี้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี และเดี๋ยวนี้นักจิตวิทยาสมัยใหม่อย่างนักจิตวิเคราะห์หลายคน ก็มาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา แล้วเอาไปใช้ในการศึกษาเรื่องจิตใจและแก้ปัญหาโรคจิต
    เท่าที่พูดแทรกเข้ามาในตอนนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตของคน หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมก็ทำงานสัมพันธ์กับจิตใจนั่นเอง คือสัมพันธ์กับจิตตนิยาม จิตตนิยามกับกรรมนิยาม ต้องไปด้วยกันต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ในที่นี้เป็นเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอำนาจเร้นลับมหัศจรรย์นั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดานี่เองซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความสัมพันธ์สืบเนื่องโยงกันอยู่ให้เห็นได้ เป็นแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะเหตุปัจจัยนั้นออกมาให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเอง

    เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้อย่างนี้ พอให้เห็นแนวทางแล้ว ถ้าท่านสนใจก็อาจจะศึกษาต่อไป เป็นเรื่องของการค้นคว้า เราอาจจะโยงหลักอภิธรรม เรื่องของจิต ทั้งเรื่องวิถีจิตและภวังคจิต กับเรื่องจิตสำนึกและไร้สำนึกของจิตวิทยาสมัยใหม่ เอามาเทียบเคียงกัน อันไหนเสริมกันก็จะได้นำมาช่วยประกอบการอธิบายแก่คนยุคนี้ให้ดียิ่งขึ้นไป ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อน.

    คัดตัดตอนมาจากหนังสือ เชื่อกรรม-รู้กรรม -แก้กรรม โดยพระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต)

    ที่มา:
    http://www.budpage.c...t.pl?b=1&t=1271

    เครดิต
    มโนกรรมและสิ่งสำคัญที่ควรรับรู้ไว้ - ลานธรรมเสวนา
     
  5. bluebaby2

    bluebaby2 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2010
    โพสต์:
    2,471
    ค่าพลัง:
    +4,288
    คือช่องทางการทำกรรมมันมี ทาง กาย วาจา ใจ ใช่ไหม แต่ตัวที่ส่งผลหนักกว่า
    นี่เป็นทางกาย และทางวาจา อย่างอนันตริยกรรม กรรมหนักสุดฝ่ายอกุศลนี่มันมี
    แต่การกระทำทางกาย กับทางวาจาใช่ไหม ถ้าคิดอย่างเดียวไม่ลงมือทำออกไป
    มันไม่บาปเท่ากับลงมือกระทำ แต่ถ้าเราลงมือกระทำแล้วบาปมากน้อย ก็ขึ้นกับ
    เจตนาอีกเพราะ ใจนี่เป็นประธาน ถ้าเรามีเจตนามากผลของการกระทำมันก็ย้อน
    กลับมามาก มันก็เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นแค่คิดอย่างเดียวแล้วไม่ลงมือกระทำมันก็ไม่
    บาปมากเท่ากับเราทำลงไปหรอกครับ
     
  6. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,337
    ค่าพลัง:
    +6,846
    มโนกรรม ก็คือ กรรมทางความคิด
    กรรมคือเจตนา

    ถ้าเจตนาคิดดี ผลก็คือ ผลดี

    ถ้าเจตนาคิดชั่ว ผลก็คือ ผลชั่ว

    จึงมีคำกล่าวว่า คิดบวกได้บวก

    แต่ในการภาวนา มี ความคิดที่ไม่ได้เจตนาคิดก็มี
    ความคิดที่ไม่ได้เจตนาคิดนี่ ก็มีทั้ง คิดในกุศลและคิดในอกุศลและคิดในแบบกลางๆ
    ในส่วนตรงนี้ ลองไปทำความเข้าใจในกัณเทศน์หลวงปู่พุธ ฐานิโย
    เรื่อง จิตภาวนาเพิ่มเติม หลวงปู่ท่านจะอธิบายละเอียด
     
  7. สปาต้า

    สปาต้า Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    242
    ค่าพลัง:
    +46
    การถือศีล ทำให้เราล้อมกรอบ กาย วาจา แม้เราจะคิดโกรธแค้นในใจ
    แต่อาศัยที่เรามีศีล ไฟแค้นในใจเราย่อมเผาเฉพาะตัวเรา ไม่ไปเผาทำลายผู้อื่น


    ในกรณีที่ว่า มโนกรรมเป็นกรรมที่หนักที่สุด นั้นเปรียบ ถ้าเราใช้มีดไล่ฆ่าฟันผู้คน
    ทั้งวันทั้งคืน ก็คงฆ่าได้ไม่มากนัก เท่ากับถ้าเรามีอภิญญา ถ้าเพียงคิดแล้วสำเร็จด้วยใจ
    เพียงชั่วพริบตา หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านก็ถูกเผาได้ไม่เหลือซาก


    ของทุกอย่างล้วนมีสองด้าน เป็นกรณีๆไป
     
  8. Ongsathit

    Ongsathit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    625
    ค่าพลัง:
    +572
    -บาปอย่างละเอียด และ บุญอย่างละเอียด เกิดที่ มโนกรรม
    -บาปอย่างกลาง และ บุญอย่างกลาง เกิดที่ วจีกรรม
    -บาปอย่างหยาบ และ บุญอย่างหยาบ เกิดที่ กายกรรม
     
  9. czbz

    czbz สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    100
    ค่าพลัง:
    +7
    สาธุครับ ประมาทจริงๆเล้ยเราเนี่ย จิตเศร้าหมองแบบนี้แย่แน่อบายภูมิแน่

    มิน่าละครับข้อ 3 ถึงได้สำคัญที่สุด

    พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมานั้น ล้วนทรงสอนหัวใจพระพุทธศาสนา เหมือนกันหมดดังนี้ คือ

    ๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
    ๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
    ๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
    เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์

    อ้างอิงจากกระทู้ http://palungjit.org/threads/เดินตามรอยพระบาท-โอวาท-ในวันวิสาขบูชา.292193/

    ผมเข้าใจผลที่ตามมาจากจิตคิดชั่วแล้วครับคือ มันเศร้าหมอง แล้วถ้าเราตายตอนนั้นล่ะ อบายภูมิเป็นอันหวังได้..... เพราะฉนั้นต้องพยายามทำใจให้"จิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้วผ่องแผ้ว"(deejai)
    สาธุ อนุโมทนากับทุกท่านด้วยครับ.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 พฤษภาคม 2011
  10. ขมิ้นชัน

    ขมิ้นชัน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 เมษายน 2008
    โพสต์:
    508
    ค่าพลัง:
    +141
    ตัวกรรมตัวผลอยู่ที่เจตนาหรือความตั้งใจนี่แหละครับ จิตคิดก็ปล่อยให้คิดไป เป็นธรรมชาติของเค้า เพื่อดำรงตัวตนอยู่ เหมือนเราต้องกินข้าวเพื่อบำรุงปรนเปรอธาตุสี่ คือร่างกายนี้ จิตก็อาศัยการคิดการปรุงเพื่อดำรงสภาวะของเค้า เหมือนกองไฟหลังจากจุดขึ้นมีอุณหภูมิที่เอื้อแก่การลุกไหม้แล้ว ก็ต้องมีเชื้อมีฟืนมีอากาศปรุงรวมกับอุณหภูมิที่สูงพอแก่การลุกไหม้โดยเหตุและปัจจัยเอื้อแก่กันเพื่อดำรงสภาพของเปลวไฟนั้น จึงกล่าวแบบเทียบเคียงได้ว่า ความคิดคือกระบวนการปรุงแต่งของจิต เกิดเป็นมโนอารมย์ เป็นห้วง คือกายสังขาร เมื่อไม่เข้าไปยึดไปใส่เจตนาไปปรุงแต่งเพิ่มมาเป็นของตนก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นการสร้างภพสร้างภูมิต่อไป....ที่รับรู้วาระจิตได้เป็นเรื่องที่ประเสริฐ นั่นคือการเกิดสติ เมื่อสติควบคุมจิตได้คือรู้เท่าทัน ไม่ปรุงต่อ ไม่เข้าไปถือครองเป็นของตน กรรมก็ไม่เกิดแก่ตน...การคิดอกุศลกรรมบ่อยๆเกิดจากกรรมเก่าๆที่ทำมาในอดีต เป็นทุกข์สัญญา เป็นอนุสัยของกิเลส การมองเห็นย่อมเกิดจากการหมั่นดูจิตตัวเองบ่อยๆ การที่ท่านกลัวบาปและรู้สึกผิดจึงเป็นนิมิตหมายที่ดี เพื่อการเรียนรู้พัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป ขอเป็นกำลังใจให้ครับ อย่าวิตกกังวลให้มากจนเป็นทุกข์มาก ในเมื่อไม่มีใครเดือดร้อนเราไม่เดือดร้อนก็โอเชละเนาะ ก็ลองหาทางลดความคิดอกุศลกรรมเหล่านั้นลงเรื่อยๆ โดยใช้ธรรมของคู่ที่เป็นด้านตรงกันข้ามมาใช้เพื่อลดความคิดด้านลบให้อ่อนแรงลงไป สังเกตุว่าสิ่งที่ใช้ได้ผลคือการแผ่เมตตาและพรหมวิหารสี่ อาจมีทางเลือกอื่นอีกมาก แต่ที่ได้ผลแน่ๆคือการใช้วิปัสนากรรมฐานให้เกิดวิปัสนาญานและสมถะสมาธิควบคู่กันโดยเติมอัตตราส่วนให้พอเหมาะ ลองค้นหาดูครับ แค่ความเห็นเล็กๆของคนมีกิเลสผิดถูกอย่างไรโปรดพิจารณาอาจขาดๆเกินๆไปหน่อยและผมยืมคำของท่านอื่นมาครับ.....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 พฤษภาคม 2011
  11. ฟางว่าน

    ฟางว่าน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    1,080
    ค่าพลัง:
    +968
    การกู้จิตหดหู่

    หลายท่านตอบมาแล้วผมกล่าวในอีกแง่หนึ่งนะครับ คือเวลาที่จิตตกหรือใจเป็นทุกข์ ถ้าเราแก้ปัญหาทางโลกโดยใช้วิชาการต่างๆ มีฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ สังคม เป็นต้น อันนั้นเป้นการแก้ปัญหาทางโลก ทีนี้ปัญหาทางธรรมผมหมายถึงธรรมะโอสถ ใครที่จิตตก หดหู่ ใจเศร้าหมอง สับสน หรือโกรธแล้วอยากระบาย เป้นต้น ก็ให้ภาวนาพุทธ-โธ กำหนดสติอยู่กับพุทธ-โธ หายใจเข้าภาวนาพุทธ หายใจออกภาวนาโธ ให้ใช้สติตามดูลมหายใจไม่วอกแวกไปเรื่องอื่น เอาพุทธ-โธให้หายจากปัญหาทางจิตใจให้ได้ วิธีนี้ผมเคยใช้ ใช้ได้ดีทีเดียวจึงนำมาแบ่งปัน เช่น ถ้าใครกำลังขาดกำลังใจเพราะอกหัก ก้ลองอาบน้ำเย็นๆสบายๆใจ นุ่งผ้าใหม่ สวดมนต์ แล้วภาวนาพุทธ-โธ คิดว่าประมาณ 20-30 นาทีก็จะสามารถกู้จิตกลับคืนมาได้แล้วล่ะ อย่าลืมพุทธ-โธ นะครับ เป็นการภาวนาที่ทำให้จิตใจเป็นสมาธิ แล้วจะทำให้เกิดปัญญา เราก็จะแก้ปัญหาได้ในที่สุด..........
     
  12. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,900
    ค่าพลัง:
    +7,310
    อ่านแร้ว เข้าใจ ดี นะ

    [​IMG]
     
  13. naroksong

    naroksong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    412
    ค่าพลัง:
    +1,135
    การคิดชั่วก็เป็นบาปแล้วครับ
    บาปอกุศล คือ การกระทำด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง บาปอกุศล มีผลเป็นทุกข์

    ไม่ต้องคิดไกลถึงชาติหน้า
    ตัวอย่างเช่น คนคิดชั่ว เจ้าคิดเจ้าแค้นแต่ไม่แสดงออก เก็บกดไว้มากๆก็อาจทำให้เป็นมะเร็ง ความดัน เส้นเลือดในสมองแตกได้ นี้เป็นผลเห็นชัดในชาติปัจจุบัน เป็นต้น

    แต่มโนกรรมที่มีโทษมากที่สุดคงเป็น มิจฉาทิฐิ(การเชื่อว่า บุญ บาป นรก สวรรค์ คุณมารดาบิดา ไม่มี สมณะผู้ประพฤติธรรมไม่มี เป็นต้น)
    -------------------------------------------------
    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่ง
    จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
    ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศล
    ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง ฯ"

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่ง
    เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อม
    เสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความ
    เห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
    ย่อมเสื่อมไป ฯ"

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่ง
    เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต
    นรก เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วย
    มิจฉาทิฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ"

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ ๑
    วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ ๑
    เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด
    ธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ
    ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฐิเลวทราม
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขม
    ก็ดี บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไป
    เพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
    พืชเลว ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ ๑
    วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ ๑
    เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด
    ธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ
    ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฐิเลวทราม
    ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ"
    ------------------------------------------------
    นิตยมิจฉาทิฐิ(การยึดถือมิจฉาทิฐิไว้ตลอดชีวิต)มีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม(การฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์ ทำพระพุทธเจ้าให้ช่ำเลือด ทำสงฆ์ให้แตกกัน)ซะอีก เพราะผู้มีมิจฉาทิฐิจะไม่สามารถสร้างปัจจัยที่เป็นบุญเป็นกุศลได้เลย

    ยกตัวอย่าง

    พระเจ้าอชาติศัตรูกับพระเทวทัต แม้จะกระทำอนันตริยกรรมแต่ก็ได้สร้างปัจจัยที่เป็นกุศล ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ท่าน สามารถบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ แต่ผู้เป็นมิจฉาทิฐิจะไม่มีปัจจัยที่เป็นกุศลเลย(แม้ผู้เป็นมิจฉาทิฐิจะได้ทำความดีบ้าง แต่เพราะทิฐิชั่วจะทำให้สำเร็จเป็นบุญเป็นกุศลไม่ได้เลย)

    ผิดพลาดอย่างไรขออภัยด้วย

    ขอให้เจริญในธรรมครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 20 พฤษภาคม 2011
  14. banana603

    banana603 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    62
    ค่าพลัง:
    +17
    ถามได้เป็นประโยชน์ดีนะ
    จะสุข จะทุกข์ ก็อยู่ที่ใจ บาป บุญ ก็ที่ใจ
    สวรรค์ นรก ก็ที่ใจอีกเช่นกัน
    ที่ใด ๆ หนอ ใจมันก็พาไป อย่าคิดว่า สุข ทุกข์ อยู่ภายนอก
    อย่าคิดว่า บุญบาป อยู่ภายนอกที่จะคอยพาไป นรก สวรรค์
     
  15. czbz

    czbz สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    100
    ค่าพลัง:
    +7
  16. ดูงาน

    ดูงาน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    569
    ค่าพลัง:
    +2,670
    ในภาพให้ความรู้สึกพึ่งลงมาจากเขาเลย นะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...