(๙) กรรมทีปนี: อุปปัชชเวทนียกรรม

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 19 ธันวาคม 2011.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    อุปปัชชเวทนียกรรม

    อุปปฺชเวทนียํ ผลํ เอตสฺสาติ อุปปชฺชเวทนียํ

    "ผลที่จะพึงได้รับในภพที่ ๒ มีอยู่แก่กรรมนั้น
    ฉะนั้น กรรมนั้นจึงชื่อว่า อุปปัชชเวทนียกรรม"

    อุปปัชชเวทนียกรรมนี้ เป็นกรรมที่ให้ผลในชาติที่ ๒ หมายความว่า เมื่อบุคคลทำอุปปัชชเวทนียกรรมนี้เข้าแล้วย่อมจะได้รับผลแห่งกรรมที่ตนทำนั้น ในชาติที่ ๒ คือในชาติหน้าซึ่งต่อจากชาตินี้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องสงสัย

    อะไรคือ อุปปัชชเวทนียกรรม? กรรมที่สัตว์บุคคลจะพึงได้รับในเมื่อขาดใจตายจากปัจจุบันภพ เข้าสู่ภพที่ ๒ ซึ่งใกล้กับปัจจุบันภพ ชื่อว่าอุปปัชชเวทนียกรรม ได้แก่เจตนาที่อยู่ในสัตตมชวนะ คือชวนะดวงที่ ๗

    "งงเต็มทีแล้ว กถาที่ท่านว่ามานี้ทำให้เกิดความงงันเต็มที เพราะท่านกล่าวไว้ไม่แจ่มแจ้ง ไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ คือตัวอุปปัชชเวทนียกรรม?" หากจะมีคำทักท้วงขึ้นมาว่าดังนี้ก็ย่อมจะมีคำวิสัชนาว่า

    "อ้าว! ก็เจตนาที่อยู่ในสัตตมชวนะคือชวนะดวงที่ ๗ นั้นอย่างไรเล่า เป็นตัวอุปปัชชเวทนียกรรม ทำไมรึ?"

    "นี่แหละที่ทำให้งง ความจริงไม่ใช่เพิ่งจะมางุนงงสงสัยเอาในขณะนี้ดอก สงสัยมาตั้งแต่โน่น ตอนที่กล่าวถึงตัวทิฐธรรมเวทนียกรรมโน่นแล้ว ในตอนนั้นท่านกล่าวว่า
    "ทิฐธรรมเวทนียกรรม ได้แก่ เจตนาที่อยู่ในปฐมชวนะ คือชวนะดวงที่ ๑"
    และในตอนนี้ท่านกล่าวว่า

    "อุปปัชชเวทนียกรรม ได้แก่ เจตนาที่อยู่ในสัตตมชวนะ คือชวนะดวงที่ ๗ "

    ก็แล้วอะไรกันเล่า คือ ปฐมชวนะและสัตตมชวนะ ท่านจะกรุณาอธิบายต่อไปอีกได้หรือไม่ เพราะถ้ากล่าวค้างๆ ไว้อย่างนี้ ผู้ฟังย่อมจะไม่มีโอกาสที่จักรู้ได้เลยว่า เจตนาที่สำเร็จเป็นตัวทิฐธรรมเวทนียกรรมและอุปัชชเวทนียกรรมนั้น คืออะไรกันแน่"

    เมื่อมีคำทักท้วงขึ้นดังนี้ ท่านผู้ทำหน้าที่อธิบายเรื่องกรรมก็ย่อมถึงความอ้ำอี้ง พร้อมกับรำพึงอยู่ในใจว่า กรรมตามมาทันถึงตนเข้าแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะว่า เจตนาในการแต่งวรรณกรรมไทยเรื่องกรรมทีปนีนี้ เดิมก็ได้ตั้งจุดหมายไว้ว่า จะพรรณนาให้อ่านให้ฟังกันอย่างง่ายๆ เพื่อให้ท่านทั้งหลายศึกษาไปโดยสบายใจ ตรงไหนยุ่งยากลึกซึ้งเกินไป มีเนื้องความที่รู้สึกว่าจะเข้าใจได้ยาก ถ้าหากหลบได้ก็หลบไปเสียไม่กล่าถึง เรื่องชวนะนี้เป็นเรื่องหนึ่งละที่ได้หลบแวบมาเสียเฉยๆ ตั้งแต่ตอนที่กล่าวถึงทิฐธรรมเวทนียกรรมโน่น นึกว่าจะหลบพ้นแล้วทีเดียวหนา แต่ที่ไหนได้ พออธิบายมาถึงอุปปัชชเวทนียกรรมนี้ กลับมาเจอเข้าอีกถนัดใจและเมื่อนึกไปถึงอนาคต คือเมื่อถึงตอนอธิบายถึงกรรมข้างหน้า อันมีชื่อว่า "อปราปริยเวทนียกรรมก็จำต้องเจอเรื่องชวนะนี้เข้าอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เมื่อหลีกเลี่ยงไม่พ้นแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องตัดสินใจว่าจะลองอธิบายเรื่องชวนนี้ไปตามสมควร เมื่อได้ทำความตกลงใจดังนี้แล้ว จึงกล่าวตอบผู้สงสัยไปว่า

    "ก็ได้! ที่ท่านคาดคั้นจะให้อธิบายถึงเจตนาที่สำเร็จเป็นตัวทิฐธรรมเวทนียกรรมและอุปปัชชเวทนียกรรม ซึ่งได้แก่ปฐมชวนะคือชวนะดวงที่ ๑ และสัตตมชวนะ คือชวนะดวงที่ ๗ นั้นก็ได้ ไม่ขัดข้องอะไร แต่เมื่อกำลังอธบายอยู่นั้น หากว่าทานจะเกิดความอึดอัดใจและเกิดความรำคาญเบื่อหน่าย หรือจะอย่างไรก็แล้วแต ก็ขอให้นึกว่าการที่จำเป็นต้องนำเอาเรื่องชวนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยากมากล่าวไว้ในที่นี้ ก็ด้วยความปรารถนาดีใคร่จะชี้ให้ท่านเห็นตัวทิฐธรรมเวียนกรรมและอุปัชชเวทนียกรรมอย่างเดินชัดเท่านั้น เอาละ... ท่านตั้งสติพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วจงตั้งใจฟังให้ดี" กล่าวตอบด้วยความไม่ค่อยจะโปร่งใจเท่าใดนักฉะนี้แล้ว ก็เริ่มสำรวจใจให้เกิดความผ่องแผ้วขึ้นอีกเล็กน้อย แล้วจึงค่อยบรรยายเรื่องชวนะไปโดยอ้อมๆ ก่อน ดังต่อไปนี้

    วิถีจิต

    การที่เราจะทราบถึงชวนะดวงที่ ๑ และดวงที่ ๗ ซึ่งสำเร็จเป็นทิฐธรรมเวทนียกรรมและอุปปัชชเวทนียกรรมได้นั้นเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องทราบถึงวิถีจิตเสียก่อน เพราะการที่จักเกิดเป็นกรรมคือเป็นกุศลกรรมอกุศลกรรมหรือเป็นบุญเป็นบาปขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็เกิดปฏิหาริย์สำเร็จเป็นกรรมขึ้นมาเอง โดยที่แท้า การที่จักสำเร็จเป็นกรรมขึ้นมาได้นั้นต้องเป็นตามลำดับชั้นแห่งวิถีจิต ก็ความเป็นไปแห่งวิถีจิตนี้มีนัยหลายหลกด้วยกัน ครั้นจักนำมากล่าวให้พิสดารก็เห็นจะเป็นการกล่าวเยิ่นเย้อโดยใช่เหตุ ฉะนั้นจึงจักขอยกเอาวิถีจิตซึ่งเป็นในอติมหันตารมณ์ทางดสตทวาร มากล่าวไว้พอเป็นตัวอย่าง โดารการวางเป็นรูปแผนที่เสียก่อน แล้วจึงจักย้อนอธิบายในภายหลัง ดังต่อไปนี้

    ๑. อตีตภวังค์ ภวังค์อดีต
    ๒. ภวังคจลนะ ภวังค์อดีต
    ๓. ภวังคุปัจเฉทะ ภวังค์ตัดกระแส
    ๔. ปัญจทวาราวัชชนะ เครื่องรับอารมณ์ทางปัญจทวาร
    ๕. โสตวิญญาณ ได้ยิน
    ๖. สัมปฏิจฉนะ รับอารมณ์
    ๗. สันตีรณะ พิจารณาอารมณ์
    ๘.โวฏฐัพพนะ ตัดสินอารมณ์
    ๙. ชวนะ เสพอารมณ์
    ๑๐. ชวนะ เทพอารมณ์
    ๑๑. ชวนะ เสพอารมณ์
    ๑๒. ชวนะ เสพอารมณ์
    ๑๓. ชวนะ เสพอารมณ์
    ๑๔. ชวนะ เสพอารมณ์
    ๑๕. ชวนะ เสพอารมณ์
    ๑๖. ตฑาลัมพนะ รับอารมณ์จากชวนะ
    ๑๗. ตลาลัมพนะ รับจากตทาลัมพนะ

    อธิบาย
    ธรรมดาจิตย่อมเป็นสภาพที่รู้อารมณ์หรือคิดอ่านในอารมณ์ สภาพของจิตก็คือไม่เที่ยง ย่อมเกิดดับอยู่เป็นนิตย์ โดยเหตุที่จิตเกิด- ดับ อยู่เป็นนิตย์นี้เอง จึงนับเปนขณะได้ ๓ ขณะ คือ
    ๑. อุปปาทะ เกิดขึ้น
    ๒. ฐิติ ตั้งอยู่
    ๒. ภังคะ ดับไป

    สภาพของจิตไม่คงที่ มีการเกิดดับอยู่เสมอ โดยตกอยู่ในขณะทั้ง ๒ คือ อุปปาทะ ฐิติและภังคะนี้ ติดต่อกันเรื่อยๆ ไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดสาย มีคำกล่าวไว้ว่า ในชั่วระยะเวลาเพียงสลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิดดับรวดเร็วถึงแสนโกฏิขณะ

    ในขณะที่จิตซึ่งมีสภาพเกิดดับรวดเร็วนี้ยังมิได้รับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นในขณะที่กำลังหลับสนิทอยู่โดยมิได้ฝันในขณะนี้เรียกว่า จิตเป็นภวังค์ ! ซึ่งหมายถึงความมีหรือความเป็นคือจติเป็นอุปปาทะ ฐิติ ภังคะ ติดต่อกันเรื่อยไปไม่ขาดสาย ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้รับอารมณ์จากทวารทั้งหลาย ขณะใดจิตได้รับอารมณ์จากทวารทั้งหลาย จณะนั้นจิตก็พ้นจากภวังค์ เมื่อรับอารมณ์จนสุดวิถีแล้ว จิตก็เป็นภวังค์อีกต่อไป

    ในขณะที่เรายังตื่นอยู่ คือยังมิได้หลับสนิท จิตของเราก็เป็นภวังค์อยู่เสมอ และขึ้นวิถีรับอารมณ์อยู่โดยไม่หยุดหย่อน แต่การที่จิตเป็นภวังค์และขึ้นวิถีรับอารมณ์นี้ มันสลบกันไปรวดเร็วมากจนเราไม่สามารถจะทราบได้ว่า ขณะไหนจิตเป็นภวังค์และขณะไหนจิตขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ แต่จะอย่างไรก็ตาม ขอให้ท่านผู้มีปัญญาพึงทราบซ้ำอีกว่า ตลอดเวลาที่จิตยังมิได้รับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น จิตเป็นภวังค์! ในขณะที่เป็นภวังค์อยู่นี้จิตก็พร้อมที่จะรับอารมณ์ทางทวารทั้งหลายอยู่เสมอ

    เมื่อได้อธิบายให้ทราบถึงความหมายและลักษณาการแห่งจิตโดยทั่วไปอย่างย่อๆ เช่นนี้แล้ว ลำดับนี้ เราควรจักรีบเข้าดูอติมหันตารมณ์ที่ปรากฏทางโสตทวาร ซึ่งคิดว่าจะยกตัวอย่างในเรื่องนี้ต่อไป โดยตั้งเป็นคำถามขึ้นในเบื้องต้นนี้ว่า "ความเป็นไปแห่งจิตในขณะที่ได้ยินเสียงนั้น มีลักษณาการเป็นอย่างไร?" มีคำอธิบายในกรณีนี้ไว้โดยอุปมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ดังต่อไปนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 ธันวาคม 2011
  2. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    แมงมุม เป็นสัตว์ที่หากินแบบเสือนอนกิน คือมันมักเที่ยวขึงใจของมันไว้ตามสถานที่ซึ่งสัตว์ตัวเล็กๆ จะบินผ่าน เมื่อสัตว์แมลงโง่ตัวใดไม่ตูตาม้าตาเรือบินผ่านมาติดกับใยของมันเข้าแล้ว แมงมุมตัวนั้น มันก็จะคลานไปจับเอามากินเป็นอาหารเสีย วิธีหากินของแมงมุมทั้งหลายในโลกเป็นเช่นนี้ ในกรณีแห่งจิตของคนเราก็เหมือนกัน คือจิตของคนเรานั้น คอยจ้องอยู่ตลอดวันตลอดคืนเพื่อหาอารมณ์กิน พยายามหาอารมณ์ต่างๆ จากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าหากได้อารมณ์ที่ดีมากินก็พอใจ แต่ถ้าหากได้อารมณ์ร้ายก็ย่อมไม่พอใจเป็นธรรมดา ทีนี้เราจะว่ากันตามแผนที่ต่อไป

    ๑. อตีตภวังค์ แมงมุมเสือนอนกินที่เกาะอยู่กลางใยนอนนิ่งอยู่ เพื่อจะคอยจ้องจับสัตว์โง่ที่บินมาติดใยกินเป็นอาหาร เมื่อมีสัตว์คือแมลงเล็กๆ บินมากระทบกับใยของมันเข้าแล้ว ทันที่ที่แมลงเล็กนั้นบินมากระทบเข้ากับใย แมงมุมนมันก็เกิดความรู้สึกว่ามีสัตว์ที่จะเป็นอาหารมากระทบเข้าแล้ว ขณะนี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๑ คืออตีตภวังค์ หมายความว่า อารมณ์คือเสียงมากระทบเข้ากับประสาทหูและพร้อมกันนี้ก็กระเทือนถึงภวังคจิตด้วยอาการที่มีเสียงมากระทบโสตประสาทคือประสาทหู แล้วกระเทือนถึงภวังคจิตพร้อมกันนนี้ พึงเห็นตัวอย่าง เช่นในกรณีที่เอาผ้าขึงไว้บนปากโอ่ง แล้วมีแมลงวันตัวหนึ่งบินมาเกาะอยู่ที่ข้างหน้าของผ้าที่ขึงนั้น เมื่อเราเอานิ้วเคาระลงไปที่ขอบผ้าอีกข้างหน้าตรงกันข้าม แมลงวันมันก็จะบินหนีไป ทันทีที่นิ้วกระทบผ้า อุปมาข้อนี้เปรียบให้เห็นว่า ทันทีที่เสียงกระทบโสตประสาท ก็ย่อมกระเทือนถึงภวังคจิตด้วยในขณะเดียวกัน

    ๒. ภวังคะจลนะ เมื่อแมงมุมเกิดความรู้สึกว่า มีสัตว์ที่จะเป็นอาหารอันโอชามากระทบเข้ากับใยที่ตนขึงไว้แล้ว ก็ย่อมมีความจำเป็นที่จะขยับเขยื้อนกายออกไปจับแมลงที่มาติดใยนั้นกินตามหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ ตัวแมงมุมจึงมีการเคลื่อนไหว ในขณะนี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๒ คือภวังคลจลนะ หมายความว่า ภวังค์ไหวสะเทือนขึ้น หลังจากการกระทบกันแห่งอารมณ์ คือเสียงและโสตประสาทแล้ว ซึ่งได้แก่จิตเตรียมทิ้งอารมณ์เก่าเพื่อจับอารมณ์ใหม่ที่มากระทบนั่นเอง

    ๓. ภวังคุปัจเฉทะ เมื่อแมงมุมไหวตัวหรือกระเทือนขึ้นแล้วก็เตรียมขยับตัวเพื่อจะไต่ไปหาแมลงที่มาติดใยนั้น ขณะนี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๓ คือ ภวังคุปัจเฉทะ หมายความว่าจิตตัดกระแสภวังค์เก่า จะพ้นจากการเป็นภวังค์ขึ้นสู่วิถีเข้ารับอารมณ์ทางโสตทวารคือทางประตูหูแล้ว แต่ยังมิได้พ้นจากภวังค์เพียงแต่ว่าจะพ้นเท่านั้น

    ๔. ปัญจทวาราวัชชนะ เมื่อแมงมุมเจ้ากรรมตกลงใจว่าจะขยับออกเดินไต่ไป แต่ก็เป็นการจำเป็นที่มันจักต้องทราบเสียก่อนว่า แมงที่บินมากระทบกับใยและใกล้จะเป็นอาหารของตนนั้นอยู่ทางทิศไหน คือเกิดมีการกระเทือนมาจากทิศทางใด กระเทือนมาทิศทางข้าเหนือกระบาล คือหัวแห่งตน หรือกระเทือนมาจากทางข้างใต้ต่ำลงไปทางหาง หรือกระเทือนมาจากทางทิศใดกันแน่ เมื่อทราบแล้วจะได้ไปทางทิศนั้นอาการแห่งแมงมุมขณะนี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๔ คือ ปัญจทวาราวัชชนะ! ปัญจทวาราวัชชนะนี้ทำหน้าที่เป็นนายประตูทั้ง ๕ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย (ยกเว้นใจ) ถ้ามีรูปมากระทบตาก็เป็นประตูรรับอารมณ์ทางตา ถ้าเป็นเสียงมากระทบหู ก็เปิดประตูรับอารมณ์ทางหู จะไม่เปิดประตูทางอื่นเลย เมื่อเปิดแล้วก็หมดหน้าที่ ในกรณีที่เรากลังกล่าวถึงกันอยู่นี้เป็นโสตทวารเพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นนายประตูจึงทำหน้าที่เปิดประตูหูเพราะอารมณ์ที่มากระทบนั้นเป็นเสียง เมื่อเปิดประตูดังนี้แล้วก็หมายความว่าภวังค์ได้ขาดลงแล้ว ต่อจากนี้ไป ก็เป็นจิตที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์ใหม่แล้ว

    ๕. โสตวิญญาณ เมื่อแมงมุมได้ทราบว่า แมลงที่บินมาติดกับใยและใกล้จะเป็นอาหารแห่งตนนั้นอยู่ทางทิศใดแน่แล้ว ก็ตั้งใจจะไต่ตรงไปทางทิศนั้น อาการแห่งแมงมุมในขณะนี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๕ คือโสตวิญญาณ หมายความว่ารู้อารมณ์ทางหู คือได้ทราบเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเสียงเกิดขึ้นทางหู ไม่ใช่ทางอื่นในขั้นนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงรู้เท่านั้น ยังไม่ได้ความอะไร ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรหรือเรื่องอะไรเลย

    ๖. สัมปฏิจฉนะ เมื่อแมงมุมเดินทางมาจนถึงตัวแมลงเคราะห์ร้ายซึ่งจะกลายเป็นอาหารแห่งตนในไม่ช้านี้ หลังจากที่ได้ทราบว่าอยู่ทางทิศไหนแน่แล้ว แต่ยังมิได้ดูให้ชัดว่าเป็นสัตว์แมลงชนิดใด ในขณะนี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๖ คือสัมปฏิจฉนะ หมายความว่า รับอารมณ์มาแต่โสตวิญญาณ คือสัมปฏิจฉนจิตนี้ มีหน้าที่เป็นเพียงรับอารมณ์จากโสตวิญญาณเพื่อส่งต่อให้สันตีรณะเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อะไรอื่นนอกจากเป็นตัวกลางเป็นพนักงานรับส่ง

    ๗. สันตีรณะ เมื่อแมงมุมเริ่มพิจารณาว่าเป็นตัวอะไร จะกินเป็นอาหารเข้าไปอย่างไรก็ดี หลังจากที่มันได้ไต่เข้ามาถึงตัวแมลงเคราะห์ร้ายนั้นแล้ว อาการที่มันพิจารณาในขณะนี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๗ คือสันตีรณะ หมายความว่าพิจารณาอารมณ์ คือสันตีรณจิตนี้มีหน้าที่พิจารณาเสียงที่มากระทบตามลำดับมานั้นว่า เสียงอะไรกันแน่ เสียงนั้นหมายความว่าอย่างไร ดังนี้เป็นต้น จำไว้ง่ายๆ ว่าจิตดวงนี้มีหน้าที่พิจารณาอารมณ์เท่านั้น


    ๘. โวฎฐัพพนะ การตัดสินใจได้อย่างแน่นอนว่า สัตว์แมลงเคราะห์ร้ายที่บินมาติดใยตนนั้น เป็นอาหารที่ตนสมควรจะกินได้ หลังจากที่เจ้าแมงมุมเสือนอนกินมันพิจารณาเรียบร้อยแล้ว อาการที่มันตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า สมควรจะกินแมลงนั้นได้นี้ตรงกับแผนที่หมายเลข ๘ คือโวฏฐัพพนะ หมายความว่าการตัดสินอารมณ์ คือตัดสินเด็ดขาดว่าเสียที่มากระทบนั้นเป็นเสียงอย่างไร ฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว เป็นเสียงชมเชยสรรเสริญ หรือเป็นเสียงด่า เป็นเสียงที่จะให้จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าจะเปรียบก็เหมือนผู้พิพากษาศาลฎีกาตัดสินคดี เมื่อท่านตัดสินลงไปแล้ว ย่อมเป็นคำตัดสินที่เด็ดขาด โจทย์จำเลยไม่อาจโต้แย้งได้อีกต่อไป คำตัดสินของผู้พิพากษาศาลฎีกาถือเป็นเด็ดขาดแน่นอน

    ๙. ชวนะ คราวนี้ก็ถึงตอนสำคัญ คือเมื่อแมงมุกมเจ้ากรรมนั้น มันตัดสินใจว่าแมลงที่เป็นอาหารซึ่งอยู่ตรงหน้าของมันนั้นสมควรที่จะกินได้แล้ว มันก็เริ่มลงมือกินแมลงนั้นทันที อาการที่แมงมุมกินแมลงที่เป็นอาหารแห่งตนนี้ ตรงกับแผนที่หมายเลข ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๒,๑๓, ๑๔, ๑๕ อันมีชื่อว่าชวนะ ! ชวนะนี้ได้แก่การเสพอารมณ์ หรือพูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็คือกินอารมณ์ ในเมื่องโวฏฐัพพนจิตตัดสินเด็ดขาดเรียบร้อยแล้ว ถ้าอารมณ์คือเสียงนั้น เป็นเสียงที่ดี เช่น เสียงเสียงเยินยอ เสียงชม เสียงสดุดีสรรเสริญก็มีความยินดี แต่ถ้าเป็นเสียงร้าย เช่น เสียงด่า เสียงขู่ เสียงดุ เสียงตวาด เสียงอุบาทว์ ก็มีความยินร้าย เกิดความไม่พอใจ ความยินดียินร้ายอันเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ย่อมเกิดที่ชวนะทั้ง ๗ นี้ บุญบาปหรือกุศลอกุศลก็เกิดขึ้นตรงที่ชวนะทั้ง ๗ นี้เองขอให้จำไว้ให้ดี

    ๑๐. ตทาลัมพนะ ซึ่งได้แก่จิตหมายเลขที่ ๑๖ ย่อมทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากชวนะดวงสุดท้าย ซึ่งได้แก่จิตตามแผนที่หมายเลขที่ ๑๕ และตทาลัมพนะดวงต่อไป อันได้แก่จิตหมายเลขที่ ๑๗ ย่อมทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากตทาลัมพนะดวงแรก อันได้แก่จิตตามแผนที่หมายเลข ๑๖ ถ้าจะพูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็ว่าตทาลัมพนจิต คือจิตดวงที่ ๑๖,๑๗ นี้ย่อมทำหน้าที่เป็นตัวรับอารมณ์ต่อมาจากชวนะ แล้วก็ส่งมอบกันต่อไปจนถึงภวังค์ใหม่ พึงเข้าใจว่าตทาลัพนะนี้เป็นตัวตามเก็บอารมณ์ตามชวนะเพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นอารมณ์แรง ดังนั้นจึงต้องมีตทาลัมพนะยึดหน่วงอารมณ์อีก ๒ ขณะ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับรถที่วิ่งมาด้วยกำลังเร็ว หากจะหยุดลงในทันทันใด ผู้คนที่โดยสารก็จะมีอันเป็นตีลังกาออกนอกรถหมด จำเป็นต้องชะลอให้เบาลงเสียก่อนแล้วจึงจะหยุดสนิทได้ ในเรื่องวิถีจิตนี้ก็มีทำนองเดียวกัน ถ้าอารมณ์นั้นแรง เช่นเสียงดังและตั้งใจมากเป็นต้น ก็เป็นมีตทาลัพนะยึดหน่วงอารมณ์อีก ๒ ขณะแล้วจึงเป็นภวังต่อไป และความยินดียินร้ายอันเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือบุญบาป กุศลอกุศลทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นที่ชวนะทั้ง ๗ นั้น ก็จะถูกเก็บประทับลงไว้ในภวังคจิตดวงใหม่จนหมดสิ้น

    อ่านต่อ ก็ในกรณีแห่งวิถีจิต


    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 ธันวาคม 2011
  3. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ก็ในกรณีแห่งวิถีจิต ซึ่งเป็นไปในอติมหันตารมณ์นี้ ยังมีอุปมากถาที่พระอรรถกถาจารย์ท่านกรุณานำมาแสดง เพื่อให้พวกเราได้จำง่ายๆ ไว้อีกประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ยังมีบุรุษผู้หนึ่งเอาผ้าคลุมศีรษะนอนหลับอยู่ที่โคนต้นมะม่วงซึ่งมีผลสุกแล้ว ได้ยินเสียมะม่วงผลหนึ่ง หล่นลงในที่ใกล้ๆ สถานที่ซึ่งตนนอนหลับอยู่นั้น จึงตื่นขึ้นแล้วเลิกผ้าที่คลุมศีรษะออก ลืมตาแลเห็นผลมะม่วงรู้ซึ่งภาวะแห่งผลมะม่วงนั้นว่าเป็นผลมะม่วงสุกแล้ว จึงถือเอาและลูบคลำทำการผ่าออกซึ่งผลมะม่วงสุกนั้น แล้วจึงบริโภคและกลืนกินมะม่วงลูกที่อยู่ในปากพร้อมด้วยน้ำลายแล้วจึงนอนหลับอยู่ที่โคนต้นมะม่วงนั้นต่อไป


    ในกรณีนี้ มีการเปรียบเทียบกับความเป็นไปแห่งวิถีจิต คือ
    กาลที่เป็นอตีตภวังค์ ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่นอนหลับแห่งบุรุษในสถานที่นั้น

    กาลที่อารมณ์กระทบประสาท ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่หล่นลงแห่งผลมะม่วง

    กาลเป็นที่เกิดขึ้นแห่งอาวัชชนจิต ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่ตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียงแห่งมะม่วง

    กาลที่เป็นไปแห่งวิญญาณทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นต้น ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่ลืมตาแล้วจึงเห็นผละมะม่วงหล่นถึงพื้น

    กาลเป็นที่เกิดขึ้นแห่งสัมปฏิจฉนจิต ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่ถือเอาผลมะม่วง

    กาลเป็นที่เกิดขึ้นแห่งสันตีรณจิต ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่ลูบคลำผลมะม่วงแห่งบุรุษนั้น

    กาลเป็นที่เกิดแห่งโวฏฐัพพนจิต ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่ปอกผ่าผลมะม่วงแห่งบุรุษนั้น

    กาลเป็นที่เกิดขึ้นแห่งชวนจิตทั้งหลาย ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่บริโภคผลมะม่วงแห่งบุรุษนั้น

    กาลเป็นที่เกิดขึ้นตทาลัมพนจิต ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่กลืนผลมะม่วงที่อยู่ในปากพร้อมทั้งน้ำลาย

    กาลเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภวังค์ใหม่ ประดุจหนึ่งว่ากาลเป็นที่นอนหลับต่อไปอีก

    เห็นอะไรบ้างแล้วหรือยัง ท่านผู้ฟังซึ่งมีปัญญาทั้งหลาย เท่าที่ได้อุตส่าห์ติดตามเรื่องิวถีจิตมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ มีอะไรซึ่งเป็นสิ่งที่เราใคร่จะทราบมานานปรากฏให้เห็นบ้างแล้วหรือไม่? ใช่แล้ว... สิ่งที่เราต้องการและปรารถนาอยากจะเห็นมานาน จนถึงกับต้องลงทุนมาเขียนมาอ่านเรื่องวิถีจิตอยู่นี้ ก็คือ ชวนะทั้ง ๗ นั่นเอง

    เราอยากจะเห็นอยากจะทราบชวนทั้ง ๗ นี้เอาไปทำไม?

    อ้าว! แล้วกัน... กลับเป็นเช่นนั้นไป ก็ก่อนหน้าที่เราจะได้กล่าวกันถึงเรื่องวิถีจิตซึ่งมีชวนะเป็นตัวการสำคัญรวมอยู่ด้วยนี้ เรามีปัญหาค้างใจเรื่องอะไร? เรื่องตัวทิฐธรรมเวทนียกรรมและอุปัชชเวทนียกรรมใช่ไหมเล่า คือเราอยากจะทราบว่า ตัวทิฐธรรมเวทนียกรรมและอุปปัชชเวทนียกรรมนั้นอยู่ตรงไหนแน่ แต่บัดนี้ขอเราพักเรื่องกรรมไว้ก่อนแล้วหันมาพูดถึงเรื่องวิถีจิต จนเกิดความเข้าใจในชวนะทั้ง ๗ ซึ่งเปรียบได้กับขณะที่บุรุษกำลังบริโภคมะม่วงอย่างเอร็ดอร่อยตามอุปมาหลัง และเปรียบได้กับแมงมุมกำลังดูดกินเจ้าตัวแมลงเคราะห์ร้าย ซึ่งเป็นอาหารของมันอย่างโอชารสตามอุปมาก่อน จนเข้าใจในชวนะทั้ง ๗ นี้อย่างแจ่มแจ้งดีแล้ ต่อไปนี้ถ้าหากจะได้กถาที่ท่านกล่าวว่า "ทิฐธรรมเวทนียกรรมได้แก่เจตนาที่อยู่ในชวนะดวงที่ ๑ และอุปปัชชเวทนียกรรมได้แก่เจตนาที่อยู่ในชวนะดวงที่ ๗" ดังนี้ เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ได้ในทันทีว่า

    "เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนะดวงที่ ๑ ซึ่งตรงกับแผนที่หมายเลข ๙แห่งวิถีจิตนั่นเอง เป็นตัวทิฐธรรมเวทนียกรรม

    "เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนะดวงที่ ๗ ซึ่งตรงกับแผนที่หมายเลข ๑๕ แห่งวิถีจิตนั่นเอง เป็นตัวอุปปัชชเวทนียกรรม"

    ก็แล้วชวนะที่เหลือจากนั้น คือชวนะดวงที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งตรงกับแผนที่หมายเลข ๑๐ ถึง ๑๔ เหล่านั้นเล่า จะปล่อยไว้ไม่อธิบายหรืออย่างไร เพราะสภาวะสำคัญกล่าวคือบุญบาปหรือกุศลอกุศลย่อมเกิดขึ้นที่ชวนะนี้มิใช่หรือ เมื่อเกิดขึ้นที่ชวนเหล่านี้แล้ว ชวนะที่เหลือเหล่านั้นก็น่าจะเป็นกรรมด้วย จึงอยากจะทราบว่า ชวนะเหล่านั้นเป็นกรรมหรือเปล่า? และหากว่าเป็นกรรมแล้ว มีชื่อว่ากรรมอะไร?

    ยังไม่บอก! ความจริงจะบอกเสียในตอนนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา จึงขอปิดไว้ก่อน ถ้าอยากจะทราบจริงๆ ว่าชวนะที่เหลือเหล่านั้นจัดเป็นกรรมหรือไม่? และถ้าเป็นกรรม มีชื่อว่ากรรมอะไร? ท่านผู้มีปัญญาทั้งลายพยายามติดตามเรื่องกรรมนี้ต่อไป ก็คงจักทราบได้อย่างแน่นอนในโอกาสข้างหน้า แต่ขณะนี้ เราหันมาว่ากันถึงเรื่องอุปปัชชเวทนียกรรมที่กล่าวค้างไว้ให้เสร็จๆ ไปก่อนดีกว่า

    อุปปัชชเวทนียกรรมนี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็ได้ทราบแล้วว่าได้แก่เจตนาที่อยู่ในชวนะดวงที่ ๗ ก็เจตนาที่อยู่ในชวนะดวงที่ ๗ นี้ เมื่อว่ากันตามสภาวะที่เป็นริงแล้ว ย่อมเป็นเจตนาที่มีกำลังพิเศษสามารถให้สำเร็จกิจและเป็นเจตนาที่ประกอบไปด้วยอำนาจพิเศษในการส่งผล ฉะนั้นเจตนาที่อยู่ในชวนดวงที่ ๗ อันเป็นชวนดวงสุดท้ายนี้ จึงมีชื่อว่าอุปัชชเวทนียกรรม ซึ่งหมายถึงกรรมที่มีการให้ผลในภพที่ ๒ คือในชาติหน้า แก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของกรรมอย่างแน่นอน เมื่อจะแบ่งออกเป็นฝ่ายใหญ่ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย อุปปัชชเวทนียกรรมนี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายด้วยกัน คืออุปปัชชเวทนียกรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ๑ อุปปัชชเวทนียกรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ๑ ในบรรดาอุปปัชชเวทนียกรรมทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น อุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลก็ได้แก่บาปชนิดหนักซึ่งเป็นปัญจานันตริยกรรม คือ อนันตริยกรรมทั้ง ๕ และนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมนั่นเอง ส่วนอุปปัชชเวทนียกรรมฝายกุศลนั้นก็ได้แก่บุญชนิดหนัก คือมหัคคตกุศลตามที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องครุกรรมนั่นเอง

    ในการให้ผลแห่งอุปปัชชเวทนียกรรมนั้น อุปปัชชเวทนียกรรมทั้ง ๒ ฝ่ายย่อมมีการให้ผลตามลำดับหนักเบา คือ เมื่อบุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้าประกอบกรรมอันสำเร็จเป็นอุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลไว้หลายประการด้วยกัน ครั้นเขาขาดใจตายไปจากมนุษย์โลกเรานี้แล้ว อกุศลอุปปัชชเวทนียกรรมชนิดที่หนักที่สุด ย่อมให้ผลคือชักนำให้บุคคลผู้นั้นไปปฏิสนธิเสวยทุกขโทษอย่างแสนสาหัสในนรกทันที เมื่ออกุศลอุปปัชชเวทนียกรรมชนิดหนักที่สุดนี้ให้ผลแล้ว อกุศลชนิดเบารองลงมาเป็นอโหสิกรรม ยกตัวอย่าง เช่นคนที่ประกอบอนันตริยกรรม ๕ ประการ คือ มาตุฆาต ๑ ปิตุฆาต ๑ อรหันตฆาต ๑ โลหิตุปบาท ๑ สังฆเภท ๑ เมื่อเขาตายไปแล้ว สังฆเภทซึ่งเป็นกรรมที่มีโทษหนักที่สุดย่อมให้ผลชักนำให้บุคคลผู้นั้นไปเกิดในนรกทันที ส่วนอนันตริยกรรมที่เหลือก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป จะได้มีโอกาสตกแต่งปฏิสนธิให้แก่เขาก็หามิได้ แม้ในกรณีแห่งอุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน คือ เมื่อพระโยคาวจรกุลบุตรผู้มีอภินิหารอุตสาหะบำเพ็ญสมถกรรมฐานจนได้สำเร็จฌานจำเริญฌานได้ชำนิชำนาญ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตราบเท่าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ถึงกาลเมื่อจุติไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษ ด้วยอำนาจแห่งฌานชั้นสูงสุดคือเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อฌานกุศลชั้นสูงสุดตกแต่งปฏิสนธิให้ดังนี้แล้ว ฌานกุศลซึ่งมีกำลังต่ำลงมากก็กลายเป็นอโหสิกรรมไปอีกเช่นกัน ฉะนั้นขอให้ท่านผู้มีปัญญาพึงทราบว่าอุปปัชชเวทนียกรรมนี้มีการให้ผลตามลำดับหนักเบาแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของกรรมในชาติหน้าเป็นคำรบ ๒ รองจากชาติปัจจุบัน ครั้นกรรมหนักที่มีกำลังมากให้ผลแล้ว กรรมที่เบากว่าก็ไม่สามารถที่จะให้ผลในชาติหน้าได้ เมื่อไม่สามารถที่จะให้ผลในชาติหน้าได้ กรรมนั้นก็ย่อมกลายเป็นอโหสิกรรมไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเปรียบเทียบการให้ผลแห่งอุปัชชเวทนียกรรมนี้ไว้ด้วย มิคลุททโกปมา โดยเปรียบว่า

    พรานมฤคที่ยิงลูกธนูไป ถ้าถูกเนื้อก็ได้เนื้อมาขายเลี้ยงดูบุตรภรรยา ถ้ายิงผิดไม่ถูกเนื้อ ก็เสียทีขาดประโยชน์ไม่ได้เนื้อไปขายเลี้ยงชีวิตบุตรภรรยาสมความปรารถนาแห่งตน การให้ผลแห่งอุปปัชชเวทนียกรรมก็เหมือนกัน เมื่อกรรมที่มีกำลังแรงกว่าให้ผลอยู่ก็ดี อย่างนี้ก็เปรียบเหมือนนายพรานมฤคยิงถูกเนื้อ แต่เมื่อกรรมที่มีกำลังแรงกว่าให้โอกาสที่จักให้ผลในชาติที่ ๒ นั้นได้ อย่างนี้ก็เปรียบเหมือนนายพรานมฤคยิงพลาดไม่ถูกเนื้อ

    เพื่อให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายเกิดความเข้าใจในการให้ผลแห่งอุปปัชชเวทนียกรรมนี้ดียิ่งขึ้น จะได้นำชีวประวัติของบุคคลผู้ได้รับผลแห่งอุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลมาเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 ธันวาคม 2011
  4. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,254
    โมทนา สาธุ ๆ
    ในบุญกุศลที่ได้
    เผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยครับ
    นิพพานัง ปัจจโย โหตุ<!-- google_ad_section_end -->
     
  5. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
  6. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ผลแห่งปิติฆาต*
    * ชาตกัฏฐกถา อัฏฐมภาค หน้า ๑๒๒



    อดีตกาลนานมาแล้ว ณ เมืองพาราณสี มีพระราชกุมารพระองค์หนึ่งทรงนามว่า พรหมทัตกุมาร เจ้าพรหมทัตกุมารผู้นี้ มีสหายสนิทคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรของปุโรหิตแห่งเมืองพาราณสี มีนามว่า สังกิจจกุมาร ทั้งสองเจริญวัยวัฒนาการในราชสำนักด้วยกันมา แม้คนหนึ่งจะเป็นข้าและอีกคนหนึ่งจะเป็นเจ้า แต่ก็หาได้ทำให้เขาคลายความรักใคร่สนิทสนมกันไม่ เมื่อเติบโตพอสมควรแล้ว กุมารทั้งสองเดินทางไปตักสศิลานคร เพื่อศึกษาศิลปวิทยาการ ครั้นสำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว เจ้าพรหมทัตกุมารก็ทรงได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระราชบิดาให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอุปราชแห่งพาราณสีมหานคร ส่วนเจ้าสังกิจจกุมารนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอำมาตย์คนสนิทแห่งเจ้าอุปราชผู้เป็นสหายของตนนั้น

    วันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอุปราชพรหมทัตกุมาร ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระราชาธิบดีผู้เป็นพระบิดา เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชอุทยานด้วยพระอิสริยศอันยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงบังเกิดโลภจิตรำพึงในพระทัยว่า

    "สมเด็จพระราชบิดาของเรา ยังทรงเป็นหนุ่มไม่แก่เฒ่าตั้งอยู่ในวัยคล้ายกับว่าเป็นพี่ชายของเราเท่านั้นเอง นี่หากว่าจักรอเอาราชสมบัติจนถึงวันที่พระองค์เสด็จสวรรคตแล้วไซร้ เราก็จักได้เป็นกษัตริย์ในกาลที่เข้าวัยชราแล้วเป็นแม่นมั่น อันการที่ได้ครอบครองสมบัติในคราวแก่เป็นกษัตริย์เฒ่านั้น ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรกี่มากน้อย ทางที่ดีเราควรจะจัดการปลงพระชนม์สมเด็จพระราชบิดา แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตรยิ์เสียในเร็ววันนี้จะเหมาะกว่า"

    ทรงดำริฉะนี้แล้ว ก็ทรงนำเอาความคิดอันหยาบช้านั้นไปปรึกษากับเจ้าสังกิจจกุมารผู้เป็นสหายรักและเป็นทหารคนสนิท พอเจ้าสังกิจจกุมารได้สดับการใหญ่ดังนั้น ก็พลันตกใจและห้ามปราม แต่เจ้าอุปราชผู้ทรงมีความคิดอุบาทว์จักได้เชื่อฟังก็หามิได้ ในที่สุดเจ้าสังกิจจกุมารจึงตัดินใจกล่าวเตือนไปโดยฐานะสหายว่า

    "ข้าแต่สหายรัก! ขึ้นชื่อว่าปิตุฆาตกรรม คือการฆ่าบิดานั้น เป็นกรรมนัก เป็นมรรคาไปสู่นรกอย่างเที่ยงแท้ คนในโลกนี้น้อยคนนักที่จักกระทำได้ นอกจากจะเป็นคนใจบาปหยาบช้าจริงๆ เพราะฉะนั้น ขอสหายของเราอย่าได้ประกอบกรรมอันลามกเป็นปานนี้เลย จงเลิกล้มความคิดนี้เสียเถิด"

    กล่าวอ้อนวอนดังนี้เป็นหลายครั้ง แต่พระราชกุมารจักได้เชื่อฟังก็หามิได้ กลับไม่พอพระทัยขู่ตะคอกตัดมิตรตัดสหายโดยประการต่างๆ พร้อมกันนั้น ก็ทรงซ่อมสุมผู้คนคิดการกบฎอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าสุดที่ตนจักทัดทานได้แล้ว เจ้าสังกิจจกุมารทหารใหญ่ผู้ไม่ปรารถนาเป็นกบฎต่อสมเด็จพระราชาธิบดี และไม่ปรารถนาที่จักเห็นการกระทำอันน่าบัดสีแห่งลูกอกตัญญูผู้ฆ่าบิดาต่อหน้าตนได้ ในราตรีหนึ่ง จึงลอบหนีออกจากเมืองเดินทางมุ่งหน้าไปสู่ป่าใหญ่หิมวันต์แล้วก็บวชเป็นฤาษี อุตสาหะเจริญภาวนาจนได้สำเร็จฌานอภิญญาสามารถที่จักแสดงฤทธิ์ได้โดยประการต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีความรู้นอกเหนือวิสัยคนธรรมดาสามัญ ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งอภิญญาที่ตนไปบรรลุนั่นเอง

    ฝ่ายเจ้าอุปราชผู้มีความคิดอุบาทว์น้ำใจชั่ว เมื่อรวบรวมสมัครพรรคพวกตัวได้พอประมาณแล้วจึงจัดการปลงพระชนมชีพสมเด็จพระราชบิดาแล้วก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ครอบราชบัลลังก์แห่งกรุงพาราณสี การกระทำของพระองค์ครั้งนี้เป็นกรรมบัดสีหยาบช้าต้องปิตุฆาตกรรมสำเร็จเป็นอกุศลอุปปัชชเวทนียกรรมอันสามารถจักนำพระองค์ให้ตรงดิ่งไปสู่นรกอย่างแน่นอน ตอนแรกเมื่อทรงทำการกบฏได้สำเร็จก็ทรงยินดีปรีดาไปชั่วระยะเวลาเพียงเล็กน้อย แต่แล้วกาลต่่อมา สมเด็จพระบรมกษัตริย์อกตัญญูก็ให้ทรงหดหู่สังเวชพระทัยในกรรมชั่วช้าที่ทรงกระทำไว้ ปิตุฆาตกรรมเข้ากระทำให้ทรงเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนพระทัยหวั่นเกรงภัยในนรกเสียเป็นที่สุด เมื่อไม่ทรงสามารถจะหันหน้าไปปรึกษากับผู้ใดได้แล้วจึงทรงเที่ยวไปในที่ต่างๆ เพื่อจะทรงรักษาพระอารมณ์หลอนและลืมบาปกรรม แต่ก็ไม่สามารถที่จะยังความวิปฏิสารนั้นให้เคลื่อนคลายถอยออกไปจากพระหฤทัย ในที่สุดจึงทรงนึกถึงปิยสหายขึ้นได้แล้วทรงรำพึงไปว่า

    "โอ!... สังกิจจะปิยสหายแห่งเรากล่าวห้ามเราเป็นนักเป็นหนาว่าปิตุฆาตกรรมเป็นบาปหนัก บัดนี้เราก็เห็นสมจริงตามคำกล่าวนั้นทุกประการแล้ว แต่ตัวยังไม่ตายเรายังได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสโดยไม่ต้องสงสัย นี่หากว่า สังกิจจะปิยสหายเราไม่หนีหายไปไหนเสีย เขาคงจักคอยขัดขวางห้ามปรามไม่ให้เรากระทำกรรมอันหยาบช้าลามกนี้เป็นแน่ แต่จะทำอย่างไรได้เล่า เพราะบัดนี้ปิตุฆาตกรรมเราก็ได้กระทำแล้ว จักได้รับทุกขเวทนาในชาติหน้าเป็นอย่างไร ก็สุดแต่กรรมจักชักนำให้เป็นเปไปเถิด แต่ว่าในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ หากเราได้พบสังกิจจะสหายผู้เป็นบัณฑิตได้ฟังคำปลอบโยน ได้สารภาพความผิดที่เราได้กระทำลงไป บางทีอาจจะทำให้คลายจากวิปฏิสารความเดือดร้อนในเรื่องนี้ได้บ้างเป็นแน่ แต่ว่าเราจักได้มีโอกาสพบสังกิจจะเป็นผู้สหายที่ไหนหนอ"

    สมเด็จพระราชาธิบดีผู้สำนึกในบาป ทรงรำพึงรำพันดังนี้แล้ว จึงทรงมีพระราชโองการสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งหลายเที่ยวสืบเสาะค้นหาตัวสัจกิจจบัณฑิตไปในที่ต่างๆเป็นเวลานานหลายปี แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจักพบตัวแต่ประการใด วันหนึ่งเป็นเพลาอรุณสมัย สังกิจจฟาษีผู้มีฤทธิ์กล้าได้สำเร็จฌานและอภิญญา เมื่อกำหนดจิตพิจารณาดูเหตุการณ์ทางเมืองพาราณสีที่ตนจากมานานก็ได้ทราบว่าเพลานี้สมเด็จพระราชาธิบดีสหายเก่าถูกปิตุฆาตกรรมเข้าย่่ำยีดวงหฟทัย ให้มีความกระวนกระวายเดือดร้อนเพราะบาปใหญ่นั้นเป็นที่ยิ่งและทรงมีพระราชประสงค์ใคร่จักได้พบตนเป็นหนักหนา จึงรีบเข้าฌานอธิษฐานอภิญญาเหาะมาจากหิมวันตประเทศโดยไว ครั้นถึงเมืองพาราณสีแล้วก็เข้าไปในพระราชอุทยานนั่งลงบนแผ่นศิลาซึ่งตั้งอยู่ ณ เบื้องสูงแห่งหนึ่ง

    "ท่านเป็นใคร?" เจ้าพนักงานผู้รักษาดูแลพระราชอุทยานถามขึ้นด้วยความแปลกใจ ในขณะที่เดินตรวจเขตพระราชอุทยานและมาพบท่านฤาษีเข้าอย่างไม่คาดฝัน

    "เรามีนามว่าสังกิจจกุมาร เมื่อก่อนโน้นเคยเป็นสหายของพระเจ้าอยู่หัวของเจ้า" ฤาษีตอบแล้วก็นิ่งเฉยอยู่ตามวิสัยของนักพรต

    พนักงานผู้นั้นเป็นคนเก่า เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าดังนั้น จึงพิจารณาดูรูปร่างลักษณะฤาษี ครั้นจำได้ว่าเป็นสังกิจจบัณฑิตแน่แล้วก็ดีใจ จึงเข้าไปน้อมกายถวายนมัสการที่บาททั้งสองแล้วอาราธนาว่า

    "ข้าแต่ท่านฤาษี! ขอท่านจงยับยั้งอยู่ ณ ที่นี่ก่อน ข้าพเจ้าจักไปกราบทูลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ด้วยว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้านั้นได้มีพระบรมราชโองการสั่งให้เที่ยวค้นหาตัวท่านมาเป็นเวลานานหลายปี ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงมีความทุกข์อย่างหนักอยู่ในพระทัยและมีพระราชประสงค์ใคร่จักให้ท่านเป็นผู้ไถ่ถอนความทุกข์นั้น"

    อาราธนาท่านฤาษีให้ยับยั้งอยู่ในที่นั้นก่อนดังนี้แล้ว พนักงานรักษาพระราชอุทยานนั้นก็พลันรีบด่วนเข้าไปยังพระบรมมหาราชวัง กราบบังคมทูลข่าวดีที่ทรงรอคอยอยู่ด้วยความหวังมานานให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าพรหมทัตราชาธิบดีเมื่อได้ทรงสดับข่าวนั้นแล้วก็ทรงปีติยินดียิ่งนัก รีบเสด็จออกจากพระบรมหมาราชวังพร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารเป็นอันมาก ครั้นถึงประตูพระราชอุทยานแล้วก็รีบเสด็จลงจากพระราชยานทรงดำเนินด้วยพระบาทเปล่าเข้าไปยังแทนศิลาที่ท่านฤาษีนั่งอยู่ ถวายนมัสการแล้ว ด้วยความอั้นตันพระทัยมานาน จึงทรงมีพระราชปุจฉาขึ้นว่า


    อ่านต่อ
     
  7. linake119

    linake119 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    237
    ค่าพลัง:
    +578
    ขอบพระคุณอย่างมากที่อธิบายได้แจ่มแจ้งอย่างมาก อนุโมทนา สาธุ ทำให้เรากลัวการให้จิตเข้าเสพในอารมณ์ใดๆ ที่เป็นกุศลและอกุศลได้เลยทันที เพราะต้องได้รับผลของการที่จิตนั้นเสพเข้าไป น่ากลัวมากๆ ครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...