กรรมฐาน คืออะไร ฐานสติและจิตแห่งปัญญา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Dharaya, 13 เมษายน 2024.

  1. Dharaya

    Dharaya ศรัทธาอันประณีต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    166
    ค่าพลัง:
    +53
    กรรมฐาน การเจริญภาวนาจากการฝึกปฏิบัติสมาธิให้จิตมีความสงบ หรือที่เรียกว่า สมถะกรรมฐาน เพราะจิตดั้งเดิม มีความสงบดีแต่เมื่อเกิดมาได้เรียนรู้จากอายตนะทั้งหก ทำให้เกิดความปรุงแต่งต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาวิปัสนากรรมฐาน เมื่อจิตสงบย่อมนำมาสู่การรวมจิตเป็นหนึ่งเดียว หรือ จุดที่เราเคยได้ยินว่า ปฐมฌาน

    สภาพจิต โดยธรรมชาติแล้วมักจะไม่นิ่ง เพราะได้รับรู้ผ่านอายตนะตลอดเวลาได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้รับ แสง สี เสียง สัมผัส กลิ่น รส ตลอดเวลาทำให้การที่จะให้ใจเป็นสมาธินั้นยาก เหมือนลิงที่กระโดดไปมาตลอด เวลานั่งสมาธิก็มักจะรำคาญ อึดอัด คิดโน่นคิดนี่ ไม่สงบ ทำให้การเข้าถึงวิปัสนาเป็นไปได้ยาก

    ดังนั้น พระอาจารย์หลายท่าน มักจะแนะนำการฝึกสมาธิให้เกิดสมถะเสียก่อน เพื่อให้ใจและจิต เกิดความสงบ และมักจะทำควบคู่กับการทำอานาปนะสติ หรือการดูลมหายใจเข้าออกควบคู่กัน

    กรรมฐาน คืออะไร

    (สันสกฤต: karmasthana) หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมจิต หรืออุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิ กรรมฐานจึงเป็นสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด เพื่อให้จิตสงบอยู่ได้ ไม่เที่ยวเตลิดเลื่อนลอยฟุ้งซ่าน ไปอย่างไร้จุดหมาย


    กรรมฐานมีอะไรบ้างในการฝึกสติและสมาธิ
    อานาปานสติ หมายถึง การมีความระลึกรู้ตัวในลมหายใจเข้าออก เมื่อฝึกจนจิตมีความสงบ หรือที่เรียกว่า สมถะกรรมฐาน แล้วโน้มจิตตั้งอยู่ในกองกรรมฐาน



    กรรมฐาน 40 เป็นอุบาย 40 วิธีที่ใช้ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ มีดังนี้

    กสิณ 10

    • ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูป) ได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ
    • วรรณกสิณ 4 ได้แก่ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ
    • กสิณอื่นๆ ได้แก่ อาโลกกสิณ อากาสกสิณ
    อสุภะ 10

    1. อุทธุมาตกะ ซากศพทีพองขึ้นอืด ท่านสอนเพื่อเป็นที่สบายของบุคคลผู้มีความกำหนัดในทรวดทรง สันฐาน เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ของทรวดทรงสันฐาน ว่ามีสภาพไม่คงที่ ในที่สุดก็ต้องขึ้นอืดพอง เหม็นเน่า เป็นสิ่งโสโครกไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าชอบใจอย่างนี้
    2. วินีลกะ ซากศพที่เขียวคล้ำ มีสีแดง เขียว ขาว ปะปนกันไปตามสภาพ ท่านสอนไว้เพื่อเป็นที่สบายของบุคคลที่มีความพอใจหนักไปทางรักใคร่ผิวพรรณที่ผุดผ่อง เพราะกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ผิวพรรณนั้นไม่ได้สวยจริง ในที่สุดก็จะกลายเป็นผิวพรรณที่มีสีเลอะเทอะ เลอะเลือน แปดเปื้อนไปด้วยสิ่งโสโครกที่ผิวพรรณนั้นหุ้มห่อไว้ จะหลัง่ไหลออกมากลายเป็นของน่าเกลียดโสโครก
    3. วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลเยิ้ม ท่านสอนไว้เป็นที่สบายสำหรับบุคคลที่มีความยินดีในผิวพรรณที่ปรุงด้วยเครื่องหอม เอามาฉาบไว้ อสุภนี้แสดงให้เห็นว่า เครื่องหอมที่ประทินผิวนั้นไม่มีความหมาย ในที่สุดก็ต้านทานสิ่งโสโครกที่อยู่ภายในไม่ได้ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ของโสโครกที่มีอยู่ภายในจะทะลักออกมาทับถมเครื่องหอมให้หายไปตามสภาพที่เป็นอยู่จริง
    4. วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดกลางตัว ท่านสอนไว้เป็นที่สบายสำหรับผู้ที่กำหนัดยินดีในร่างกายที่เป็นแท่งทึบ มีเนื้อล่ำที่พอกพูนนูนออกมา เป็นเครื่องบำรุงราคะของผู้ที่มักมากในเนื้อแท่งที่กำเริบ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า ร่างกายนี้มิใช่แท่งทึบตามที่คิดไว้ ความจริงเป็นโพรงข้างใน เต็มไปด้วยตับ ไต ไส้ ปอด และสิ่งโสโครก
    5. วิกขายิตกะ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน เว้าแหว่ง ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้มีความกำหนัดยินดีในกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกาย กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า ส่วนของกล้ามเนื้อบางช่วงที่ตนใคร่ปรารถนานั้น ในไม่ช้าก็ต้องวิปริตสลายตัวไป และเต็มไปด้วยสิ่งโสโครก ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจในที่สุด
    6. วิกขิตตกะ ซากศพที่มีมือ เท้า ศีรษะขาดหายไป ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้ที่กำหนัดยินดีในลีลา อิริยาบถ มีการย่าง ก้าวไป ถอยกลับ คู้-เหยียดแขนขา ของเพศตรงข้าม หรือ เป็นผู้ใคร่ในอิริยาบถ พอใจกำหนัดยินดีในท่อนกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวนั้น อารมณ์กรรมฐานในข้อนี้แสดงให้เห็นว่า อวัยวะต่างๆที่เคลื่อนไหวอิริยาบถนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่สามารถจะรวมกลุ่มกันได้ตลอดกาล ตลอดสมัย ในที่สุดก็ต้องกระจัดพลัดพราย เป็นท่อนน้อย ท่อนใหญ่ตามที่ปรากฏนี้
    7. หตวิกขิตตกะ ซากศพที่ถูกบั่นเป็นท่อนๆ นำมาวางใกล้ๆกัน (ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ) ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้มีความกำหนัดยินดีในข้อต่อ คือ ร่างกายที่มีอาการ 32 ครบถ้วน คนประเภทนี้รักไม่เลือก ถ้าเห็นว่าเป็นคนที่มีอวัยวะไม่บกพร่องเป็นรักได้ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า การติดต่อของส่วนต่างๆของร่างกายนี้ ไม่จีรังยั่งยืน ในไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากกันตามกฎของธรรมดา
    8. โลหิตกะ ซากศพที่ถูกประหารมีเลือดไหลนอง ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้กำหนัดยินดีในร่างกายที่ตกแต่งด้วยเครื่องประดับ คือบูชาอาภรณ์มากกว่าเนื้อแท้ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าอาภรณ์นั้นไม่สามารถจะรักษาแท่งทึบของก้อนเนื้อที่รองรับเครื่องประดับไว้ได้ ในไม่ช้าสิ่งสกปรกโสโครกภายในจะหลั่งไหลออกมาในที่สุด เครื่องประดับ หรือ อาภรณ์อันเป็นที่เจริญตามิได้มีอำนาจในการต้านทานกฎของธรรมดาไว้ได้เลย
    9. ปุฬุวกะ ซากศพที่เน่าเฟะคลาคล่ำด้วยตัวหนอน ท่านสอนไว้เป็นที่สบายสำหรับผู้กำหนัดยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นของเรา แต่กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้เป็นสาธารณะแก่หมู่หนอนที่กำลังกินอยู่ ถ้าร่างกายนี้เป็นของเราจริง เจ้าของร่างคงไม่ปล่อยให้หนอนกัดกินเป็นอาหารได้
    10. อัฏฐิกะ ซากศพที่เหลือแต่โครงกระดูก ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้มีกำหนัดยินดีในฟันที่ราบเรียบขาวเป็นเงางาม กรรมฐานนี้ชี้ให้เห็นว่า กระดูกและฟันนี้ต้องหลุดถอนเป็นธรรมดา ไม่คงสภาพสวยสดงดงามให้ชมอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยได้ ตัวไม่ทันตายฟันก็หลุดออกก่อนแล้ว ฟันที่ว่านั้นก็ไม่ได้สวยจริง ถ้าปล่อยไว้ไม่ชำระขัดสีเพียงวันเดียว สีขาวไข่มุขนั้นจะกลายเป็นสีเหลืองเพราะสิ่งโสโครกที่ฟันเกาะไว้ แม้ตัวเจ้าของเองก็ไม่อาจทนได้


    อนุสติ 10
    คือ อารมณ์ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ ได้แก่ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ มรณานุสติ กายคตานุสติ อานาปานุสติ อุปสมานุสติ



    อัปปมัญญา 4

    เมตตา คือ ปรารถนาดี มีไมตรีอยากให้มนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย มีความสุขทั่วหน้า
    กรุณา คือ อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์
    มุทิตา คือ พลอยมีใจแช่มชื่นบาน เมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข และเจริญงอกงาม ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป
    อุเบกขา คือ วางจิตเรียบสงบ สม่ำเสมอ เที่ยงตรงดุจตาชั่ง มองเห็นมนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย



    อาหาเร ปฏิกูลสัญญา
    กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร 9 ขั้นตอน ตั้งแต่หยิบจับเข้าปากไปจนออกมากลายเป็นอุจจาระ

    จตุธาตุววัฏฐาน
    กำหนดพิจารณาธาตุ 4 คือ พิจารณาเห็นร่างกายของตน โดยสักว่าเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ

    อรูป 4
    กำหนดสภาวะที่เป็นอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เพ่งกสิณ 9 อย่างแรก แล้วเจริญอากาสกสิณ จนได้จตุตถฌานมาแล้ว แล้วจึงยกจิตขึ้นสู่ กรรมฐานแบบอรูปตามลำดับ มี 4 อย่าง คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
    ขอบคุณข้อมูลเพจจาก
    https://dharayath.com/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 เมษายน 2024

แชร์หน้านี้

Loading...