เรื่องเด่น จาคานุสสติ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 6 พฤศจิกายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    -จาคานุสสติ.jpg


    เรื่อง..จาคานุสสติ


    ลำดับต่อนี้ไป เป็นโอกาสที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะพากันเจริญพระกรรมฐาน คือ ทรงอารมณ์เป็นสมาธิและใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕ เพื่อผลที่จะพึงได้ ก็คือ โมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความตายหรือว่าพ้นจากความเกิด เพราะอะไร เพราะว่าพระพุทธเจ้ากล่าวว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ อันนี้อาศัยความเกิดตัวเดียว ถ้าเราไม่เกิดเสียแล้ว ความแก่ ความป่วยไข้ไม่สบาย ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจย่อมไม่มีกับเรา

    นี่การที่เราจะไม่เกิดได้ ก็เพราะอาศัยทำจิตให้เป็นปรมัตถจิต เรียกว่าเข้าถึงธรรมก็เป็น ปรมัตถธรรม ถ้าจะเรียกว่าบารมีก็เป็น ปรมัตถบารมี เป็นบารมีอย่างยิ่ง ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็เรียกกันว่า ปรมัตถปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติอย่างยิ่ง คือเป็นการควบคุมใจให้ทรงอยู่ในกุศลธรรม

    วันนี้จะได้พูดถึง จาคานุสสติกรรมฐาน การจะทรงอารมณ์ให้สบาย อันดับแรก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้บรรดาท่านทั้งหลาย กำจัดนิวรณ์เสียก่อน คือว่าเวลาที่เราจะเข้ามาเจริญสมาธิจิต ให้ตัดอารมณ์ที่มีความห่วงใยที่เรียกกันว่า ปลิโพธ คิดเสียว่าเวลานี้เราเป็นบุคคลคนเดียว เราไม่มีเพื่อน เราไม่มีพี่ เราไม่มีน้อง เราไม่มีอะไรทั้งหมด แม้แต่ร่างกายนี่ก็เหมือนกัน เราก็ไม่ถือว่าเป็นสาระเป็นแก่นสาร เป็นร่างกายจริงๆ จังๆ อะไรของเรา เพราะมันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแก่ไปในท่ามกลาง แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด เป็นอันว่าร่างกายนี่ก็ไม่ใช่ภาระของเราที่จะต้องห่วงเกินไป เป็นอันว่าเวลานี้เราเป็นคนไม่มีห่วง เรามีภาระอย่างเดียวคือจับจิตเฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งซึ่งเป็นมหากุศล จะพาตนไปสู่สวรรค์ก็ได้ ไปสู่พรหมโลกก็ได้ ไปสู่พระนิพพานก็ได้ ทำใจตรงให้สบายไม่นึกถึงเรื่องอื่นเข้ามาแทรกแซงใจ ต่อแต่นี้ไปก็ขอได้โปรดศึกษาจาคานุสสติกรรมฐาน

    คำว่า จาคานุสสติกรรมฐาน แปลว่า การตามระลึกนึกถึงความดีในการให้ แต่ว่าจริยาตัวนี้ยังไม่ใช่ตัวให้ แต่ใจเราคิดว่าเราจะให้ แล้วก็พร้อมที่จะให้อยู่เสมอ ถ้าให้ไปแล้วเราก็ไม่ลืม คำว่าไม่ลืมในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปทวงหนี้ ทวงบุญทวงคุณทั้งหลายแก่เขา เราไม่ลืมความดีอันนั้น นี่เป็นที่เกาะใจส่วนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าควรจะทำ ควรจะคิดอยู่ตลอดเวลา

    อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพุทธภาษิตไว้เป็นเครื่องยืนยันว่า “กัมมัง สัตเต วิภัชชติ” กรรมย่อมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ คำว่า กรรม คือการทำด้วยกาย กล่าวด้วยวาจา หรือว่านึกด้วยใจ

    ทำด้วยกายเรียกว่า กายกรรม
    ทางวาจาเรียกว่า วจีกรรม
    ทำด้วยใจเรียกว่า มโนกรรม

    อีกอันหนึ่งพระพุทธเจ้ากล่าวว่า

    “เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ”
    “ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า การตั้งใจย่อมเป็นบุญ” หรือว่า
    “เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ”ทท่านถือว่าการตั้งใจไว้โดยเฉพาะเป็นบุญ

    วันนี้เรามาศึกษาทางใจกัน ไม่ได้ศึกษาทางวัตถุ

    อันดับแรกก็ให้จิตนึกอยู่เสมอว่า เราจะใช้จาคานุสสตินึกถึงการให้อยู่ตลอดเวลา แต่การให้นี่เราก็ต้องเลือกให้ เพราะว่าถ้าเราเอาพืชพันธุ์ธัญญาหารไปหว่านในที่ดอนเกินไปมันก็จะเสียเพราะไม่มีนํ้าช่วย ไปหว่านในมหาสมุทรนํ้ามากเกินไปมันก็จะจมนํ้าตาย เราต้องหว่านลงในที่อันพอดีพอควร นํ้าไม่มากเกินไป นํ้าไม่น้อยเกินไป ไม่ขาดแคลนอาหารที่ต้นไม้พึงต้องการอาศัยเป็นอาหาร

    ข้อนี้มีอุปมาฉันใด เรานึกไว้เสมอว่าเราจะบริจาคทานเพื่อเป็นการทำลายความโลภในจิตของตน แล้วก็ใคร่ครวญในเขตศาสนาขององค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาว่า จุดไหนหนอที่เป็นนํ้าเป็นแหล่งใหญ่ ที่เราจะอาศัยสร้างความเยือกเย็นได้ดี เราไปทำบุญที่นั่น นี่หมายถึงว่าเรามีเวลาที่จะเลือก อานิสงส์มันก็สมบูรณ์บริบูรณ์ ถ้าไม่มีเวลาที่จะเลือกถึงแม้ว่าคนทุศีลเราก็ให้ได้ แต่ว่าให้ไปแล้วถึงแม้ผลจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ชื่อว่าเรายังได้ให้ ให้ด้วยความเต็มใจ ให้ด้วยความปรารถนาในการสงเคราะห์ มันก็เป็นปัจจัยตัดความโลภเหมือนกัน

    นี่มาตอนเจริญ จาคานุสสติกรรมฐาน เขาเจริญกันยังไง ก็เอาใจเข้าไปจับนึกถึงว่า ตั้งแต่เกิดมานี่เราเคยให้ทานกับคน เคยให้ทานกับสัตว์เดรัจฉาน เคยถวายทานแก่พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยกริยาอย่างใดบ้างที่เราเคยมีมา เอาอารมณ์เข้าไปจับนึกถึงวัตถุทาน นึกถึงกริยาที่เราเคยให้ นึกถึงบุคคลผู้รับ นึกไว้ในใจเสมอว่ากิจนี้เราเคยได้ทำแล้ว

    ตัวอย่างที่บรรดาท่านพุทธบริษัทมาสร้าง ศูนย์ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อันนี้ไม่ได้หมายความให้มาสร้างที่นี่ทำที่นี่ถึงจะได้บุญ เราอยู่ใกล้จุดนี้ เราก็คิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เรานั่งกันอยู่นี่ ฝั่งนี้ก็ดี ฝั่งโน้นก็ดีเป็นสมบัติของเรา เป็นสมบัติตรงไหน เพราะการร่วมกันสร้าง สร้างให้เป็นความดี เป็นที่อาศัยสะดวกสบายเกิดขึ้นเวลาที่เจริญพระกรรมฐานจิตสงัด จิตก็จับเอาอารมณ์คือภาพนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราพอใจในเขตนั้นยกขึ้นไปสู่อารมณ์ว่า วัตถุธาตุหรือสถานที่อาศัยทั้งหลายเหล่านี้ นี่เป็นฝีมือของเราผู้ช่วยกันสร้าง ผู้ร่วมกันสร้าง เราถือว่าเป็นสมบัติของเรา การจับภาพอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีความรู้สึกขึ้นในใจอย่างนี้ ท่านเรียกว่า กสิณ ทำ จาคานุสสติกรรมฐาน เป็นกสิณ แล้วมีจิตใคร่ครวญอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งภาพนั้นคลายตัวเป็นสีขาว แล้วก็เป็นแก้ว แล้วก็เป็นประการพรึก มีจิตทรงอยู่ได้ดีอย่างนี้เรียกว่าเอา จาคานุสสติกรรมฐาน เข้ามาเป็นฌาน ๔ เป็นรูปฌาน อันนี้เราทำได้ ถ้าเราต้องการเป็นอรูปฌานก็จับภาพอันนั้นขึ้นมาทรงฌาน ๔ ให้เป็นปกติ มีความแจ่มใสดีก็เพิกอาการอย่างนั้นทิ้งไป ถือว่าภาพที่เรารักษาอยู่ย่อมเป็นปัจจัยของความทุกข์ เพราะยังมีความเกิด เราไม่ต้องการความเกิด เราก็ใช้อรูปฌานแทน จิตทรงฌาน ๔ แล้วพิจารณาของ ๔ อย่าง คือ:-

    อากาสานัญจายตนะ พิจารณาว่าอากาศมีความกว้างขวางหาประมาณมิได้

    วิญญาณัญจายตนะ อารมณ์ของวิญญาณก็กว้างขวางเกินไปหาที่กำหนดหมายไม่ได้

    อากิญจัญญายตนะ สิ่งใดที่มีแล้วเราก็ทำเหมือนว่ามันไม่มี คือไม่มีความสนใจกับวัตถุธาตุ บุคคลและสัตว์อะไรทั้งหมด มีแล้วเหมือนไม่มี อย่างที่ หลวงพ่อกบ วัดถ้ำสาริกา ท่านทำ ใครจะไปใครจะมามากมายยังไงก็ช่าง ท่านทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ คนไปหาท่านบางที ๓ วัน ๔ วัน บางทีไม่ได้พูดสักคำ นี่เรียกว่าใช้ อากิญจัญญายตนฌาน และ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    เมื่อ อากิญจัญญายตนะ เป็นฌาน ๔ แล้ว ก็จับ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มีสัญญาความจำทำเหมือนว่าเราเป็นคนไม่มีสัญญาความจำ ไม่รู้เรื่องอะไรมันเสียเลย นี่ หลวงพ่อกบ วัดถ้ำสาริกา ท่านก็ทำมาแล้วเหมือนกัน มันหนาวมันร้อนยังไงก็ช่าง ท่านนอนเฉย มันหนาวจัดชาวบ้านเขาเอาผ้ามาห่มให้ ขโมยมันก็มาดึงเอาไปท่านก็ไม่ว่าอะไร ท่านนอนเฉย มีความรู้สึกเหมือนกัน แต่ทำใจสบายเหมือนกับเกิความไม่รู้สึก ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

    รูปฌาน หรือ อรูปฌาน นี่ทำให้คนหลงผิดว่าเข้าถึงพระนิพพานเสียมากมายแล้ว นี่เราทำกสิณหรือว่าทำจาคานุสสติกรรมฐานให้เป็นกสิณแล้วก็เป็นอรูปฌาน

    ถ้าเราจะคิดเอา จาคานุสสติกรรมฐาน มาเป็นวิปัสสนาญาณเพื่อเข้าถึงมรรคผลนิพพานมันก็ไม่ยาก เราก็ดูวัตถุทานที่เราให้ พิจารณาคนที่เราให้ ที่รับทานไปจากเรา ขณะที่เขารับอาจจะมีรูปร่างหน้าตาผ่องใส มีความสวยสดงดงาม นานๆ ไปเราจะเห็นว่า ความโทรมมันเกิดขึ้นมาทีละน้อยๆ ปัจจัยของทานที่เราให้ ไม่ใช่ว่าจะช่วยให้เขาหนุ่มสาวอยู่ได้ตลอดเวลา เป็นแต่เพียงว่าเป็นการประทังทุกขเวทนาที่จะเกิดกับเขาเท่านั้น ในกาลบางครั้ง ถ้าหมดปัจจัยเสียแล้วทุกขเวทนามันก็เกิด

    คราวนี้เราไปดูตึกรามบ้านช่อง ตั้งแต่สมัยโบราณ สร้างด้วยศิลาแลง เป็นของใหญ่แข็งแรงมากไม่น่าจะพัง ของตั้งแต่สมัยอยุธยา สุโขทัย มันพังไปจนเกือบจะหมดแล้วไม่มีอะไรปรากฏ เหลือซากก็แสนจะทุเรศ ไม่สามารถจะทำอะไรขึ้นมาให้ดีขึ้นมาได้ นี่เราก็เห็นว่าอาคารสถานที่เราสร้างไว้ถวายแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา มันก็ต้องมีสภาพอย่างนั้น

    เมื่อสภาวะความเปลี่ยนแปลงการทำลายตัวปรากฏขึ้น เราไม่หนักใจปล่อยมันตามสบาย ทำได้ซ่อมได้ก็ซ่อมไป ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็แล้วไป ไม่มีทุนไม่มีรอนก็แล้วไป ในเมื่อวัตถุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นของแข็งมันยังเก่าแก่ครํ่าคร่า แล้วก็ผุพังในที่สุดได้

    คราวนี้มาเปรียบเทียบกับร่างกายของเรา ร่างกายของเรามันไม่แข็งอย่างนั้น มันอ่อนนุ่มนิ่มปวกเปียกไปหมด แต่ว่าในที่สุดเราก็มาพิจารณาว่าเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นทรงอยู่ไม่ได้ ร่างกายของเรามันก็ทรงอยู่ไม่ได้ ความจริงเราต้องการให้ร่างกายมันทรงอยู่ แต่มันทรงไม่ได้ ก็เพราะว่าเป็นเรื่องของกฎธรรมดาที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

    การที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแนะนำให้เราพิจารณาเห็นว่า ร่างกายนี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เหล่านี้เป็นของจริง นี่เราก็ยังเอาวัตถุทาน คืออาคารสถานที่ของใช้ต่างๆ มันมีความแข็งแรงขึ้นมาเปรียบเทียบว่าสร้างแล้วมันก็เก่า มันก็ทรุดโทรม ร่างกายเราจะทรงอยู่ได้ที่ไหน ในเมื่อร่างกายมันทรงอยู่ไม่ได้ ก็เป็นปัจจัยที่จะต้องหาความเกิดต่อไป แล้วมันเกิดได้ยังไงล่ะ ปัจจัยที่จะทำให้เราเกิด คือว่าถ้าเราไปเกิดจะไปเกิดที่ไหน ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์มันก็มีความลำบากอย่างนี้ เกิดเป็นเทวดาหรือพรหมหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องหล่นลงมาเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสัตว์นรกไป ไม่แน่นัก แต่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการ นั่นก็คือ พระนิพพาน จิตจับเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อจิตจับเฉพาะนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว เราจะไปพระนิพพานได้ยังไง เราก็มานั่งดูซิ การที่จะไปพระนิพพานทำตรงไหน
    ๑. โลภะ ตัดความโลภ
    ๒. โทสะ ตัดความโกรธ
    ๓. โมหะ ตัดความหลง

    ทั้ง ๓ ประการนี้เราตัดตรงไหน? เขาตัดกันที่ สักกายทิฏฐิ การพิจารณาร่างกายว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ใช้ปัญญาพิจารณาว่าร่างกายนี้มันเป็นเพียงธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกัน มีเครื่องหล่อลื่นให้มีการทรงตัวไว้ ได้แก่อาหาร และสิ่งใดที่เป็นการเกินวิสัยที่จะรักษาไว้ได้ มันเป็นของเสีย มันก็ทำลายโยนทิ้งไป เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำหนอง เหงื่อไคล เป็นต้น

    เมื่อมันหลั่งไหลออกมาแล้วเป็นที่สกปรกเราก็โยนทิ้งไป ไม่สนใจกับสภาวะอย่างนั้น แม้แต่ร่างกายเราเอง เราก็ไม่สนใจเป็นยังไงก็ช่าง ป่วยไข้ไม่สบายรักษาถ้าหายก็หายไม่หายก็ช่างมัน จิตใจเราตั้งไว้เฉพาะอย่างเดียวคือ พระนิพพาน เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเราแล้ว เราก็สร้างให้มันเป็นสาระประโยชน์เป็นแก่นสาร คิดไว้ในใจว่าคนที่เขาจะไปนิพพานได้

    ๑. ตัดความโลภ เราจะตัดยังไง นี่เรานั่งคิดกัน ใคร่ครวญกัน ตัดความโลภด้วยการให้ มันอยากได้จึงดึงเข้ามา แต่การให้มันผลักออกไป ถ้าเราให้ทานได้บ่อยเท่าไร มีใจสบายเท่าไร ก็แสดงว่าบารมีของเราก็ถึงระดับนั้น ถ้าจิตใจของเราทุกวันนี้ เราพร้อมในการสงเคราะห์ละก็ เวลานี้จิตของท่านเป็น ปรมัตถจิต แล้ว

    ประการที่ ๒ นี่มาถึงอีกก้าวหนึ่งที่เราจะเข้าถึงนิพพาน เราก้าวเข้าไปแล้ว ๓ ก้าวเท่านั้น

    ข้อที่ ๒ ตัดความโกรธ ก็มานั่งเจริญพระกรรมฐานระงับเหตุระงับผล แผ่เมตตาจิตไปในทิศทั้งปวงว่า เราจะไม่มีเวร ไม่มีภัยต่อใคร แล้วก็ตั้งใจทรงอารมณ์สมาธิ คือ เมตตา พรหมวิหาร ๔ ห้เป็นปกติ อย่างนี้ก็จะทำลายความโกรธ ความพยาบาทลงไปได้

    ๓. สำหรับความหลงนั้นไม่ต้องอะไรมาก เมื่อพิจารณากายว่ามันมีสภาวะต้องพัง ไม่จีรังยั่งยืนไม่ถาวร ใจมันก็เริ่มสบาย คิดว่าร่างกายของเรา เรายังไม่สามารถจะนำไปได้ สำมหาอะไรกับทรัพย์สมบัติส่วนอื่นภายนอก เมื่อตายแล้วจะเอาไปได้

    แต่ว่าความดีที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้นี่มีประโยชน์มาก คือเราเชื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเราจะเข้าสู่พระนิพพานในชาตินี้แล้ว แล้วหลังจากนั้น ก็ตั้งหน้าตั้งตาสร้างความดีในเรื่อง จาคานุสสติกรรมฐาน ใส่บาตรกับพระหน้าบ้านบ้าง เอาของไปถวายกับพระที่วัดบ้าง คนยากจนเข็ญใจมีมา มีอะไร พอจะแบ่งจะปันให้ เราก็แบ่งปันให้ตามสมควร ใจมันก็เริ่มสบาย จิตมีความสุข อาศัย ทานบารมี หรือ จาคานุสสติ นี่เป็นพื้นฐานที่นำตนให้เข้าถึงพระนิพพาน หรือด้วยฌาน ๔ ฌาน ๘ ก็ได้ อันนี้เป็นการศึกษากันไว้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายไม่ศึกษาไว้ให้หมดทั้ง ๔๐ ประการ มันจะมีความลำบาก…

    โพสโดย: achaya
    ภาพจากคุณสุพัฒน์


    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 พฤศจิกายน 2017
  2. นรวร มั่นมโนธรรม

    นรวร มั่นมโนธรรม สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2017
    โพสต์:
    188
    ค่าพลัง:
    +113
    สาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...