จิตอุเบกขา ต่างจาก Anhedonia (ภาวะสิ้นยินดี) อย่างไร

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย มิลินท์, 22 พฤษภาคม 2021.

  1. มิลินท์

    มิลินท์ สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กุมภาพันธ์ 2016
    โพสต์:
    45
    ค่าพลัง:
    +25
    หาผู้รู้อธิบายค่ะ หรือเรากำลังจะป่วยโรคใหม่
     
  2. rachotp

    rachotp เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    1,215
    กระทู้เรื่องเด่น:
    252
    ค่าพลัง:
    +23,820
    ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย _/\_ ด้วยข้อจำกัดทางสติปัญญาในทางโลกและทางธรรม ประกอบกับวัยวุฒิของผมที่ยังอ่อนด้อยอยู่ และ ผมก็ไม่ใช่ ผู้รู้ ผมเป็นเพียงแค่ กัลยาณมิตรธรรมดา คนหนึ่งที่พอจะมีความรู้อยู่บ้างในทางธรรมะ และ เคยศึกษาในเรื่องจิตวิทยา และ จิตเวชศาสตร์มาบ้างพอสมควรครับ (^ ^) ทั้งหมดนี้เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ… ขอให้คุณ @มิลินท์ ลองพิจารณาอ่านแล้วพินิจพิเคราะห์อย่างช้าๆโดยใช้ โยนิโสมนสิการ และ กาลามสูตร ครับ _/|\_

    จิตที่เป็นอุเบกขา คือ จะมีสภาพจิตที่มีใจกลางๆ ไม่ยินดี ยินร้าย เฉยๆ แต่มีความสงบ อบอุ่น ไม่ติดข้องใจใดๆ หากอธิบายในส่วนของจิตที่เป็นอุเบกขาใน พรหมวิหาร 4 ก็คือสภาพจิตที่นิ่ง สงบ อบอุ่น ไม่ติดข้องใจใดๆ มีความวางใจเป็นกลาง ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ มีสภาพจิตที่ไม่ขุ่นเคืองใจ ไม่ขุ่นมัวใจ มีความผ่องใสของจิต ไม่หยิบจับเอาความพอใจยินดี ไม่พอใจยินดีครับ


    ในการเข้าสู่สภาวะของจิต ที่เป็นอุเบกขา นั้น... หากกล่าวสรุปโดยย่อสามารถทำได้ 4 วิธี


    1) การลดหรือไม่ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจต่อสิ่งนั้นๆ (ใช้วิธีลดความสำคัญมั่นหมายของใจในสิ่งนั้นๆเพื่อเข้าสู่ใจกลางๆไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งใดๆ เช่น ความกำหนัดใคร่ได้ ความใคร่ที่จะเสพย์อารมณ์ในกาม ความตั้งหวังปารถนายินดีใคร่ได้ เป็นต้น)

    2) การยอมรับความจริงที่เป็นสัจจะธรรม (ใช้วิธีวางใจกลางๆ เมื่อจิตเราต้องการทะยานอยาก ปารถนาใคร่ได้ ที่เราอยากให้ บุคคล สิ่งของ เป็นไปได้ดั่งที่ใจต้องการ ที่เราตั้งความพอใจยินดีไว้ เป็นต้น)

    3) การเลือกสิ่งที่ควรเสพย์ (ใช้วิธีวางใจกลางๆ เมื่อจิตเราต้องการทะยานอยาก ปารถนาใคร่ได้อย่างแรงที่จะเสพย์สุขจากสิ่งนั้นๆ เช่น สุรา บุหรี่ กาม เป็นต้น)

    4) การเข้าถึงในสภาพปรมัตถธรรม (รู้เห็นตามสภาพจริง ไม่มีตัวตน บุคคล สิ่งของ แยกขาด รูป-นาม หมดไปซึ่ง ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี) ปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปร + อัตถ + ธรรมะ หมายความ ถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนจริงๆ ซึ่งใครจะเรียกอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้ชื่อเรียกอะไรก็ได้ เช่น ลักษณะที่แข็ง ในภาษาอังกฤษจะใช้สมมติบัญญัติว่า hard, stiff แต่ในภาษาไทยใช้ว่าแข็ง เป็นต้น หรืออาจจะไม่เรียกว่าอะไรเลยก็ได้ แต่เวลากระทบสัมผัส ลักษณะแข็งนั้นปรากฏ หมายความถึง สภาพที่มีจริงๆอยู่… การเป็นปรมัตถธรรม ครูบาอาจารย์ท่านจะสอนให้เราสัมผัสกับความจริงที่เป็นปรมัตถ์ มี เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และ เวทนา กล่าวคือมันคือความจริงอีกระดับหนึ่ง คือ ความจริงระดับปรมัตถ์ ไม่ใช่ สมมติบัญญัติ ปรมัตถ์นี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มชน สถานที่ หรือยุคสมัย อดีตนับตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ไฟเคยให้ความร้อนและเผาไหม้อย่างไร? ปัจจุบันและในอนาคตไฟก็ยังคงให้ความร้อนและเผาไหม้ได้อย่างนั้นอยู่… การเข้าถึงในสภาพปรมัตถ์ธรรมให้หมั่นสัมผัสรู้เฉยๆ ในเมื่อเราสัมผัสรู้ตรงนั้น แล้วเราตระหนัก รู้กับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และ เวทนา พอเราตามความรู้สึกตรงๆ นั้นมาก ๆ เข้า อะไรที่มันหายไป? ตัวเรานั้นแหละ ที่หายไป มันเป็นเพียงความรู้สึกของการ สัมผัสรู้ มันเป็นเพียงสภาวะของการรู้เฉยๆ ว่ามีการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และ เวทนา เท่านั้นเอง


    ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ที่มีจริง เสียงมีจริง เสียงเป็นปรมัตถ์ธรรม โลภะ ความโลภความติดข้องเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถ์ธรรม ความโกรธความขุ่นเคืองเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม เมื่อเป็นปรมัตถธรรม ก็หมายความว่า เป็นธรรมะ ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร เพราะว่า โลภะเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป โทสะเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ขณะที่เห็นในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้าไม่มีจักขุปสาท ถ้าเกิดกรรมทำให้จักขุปสาทซึ่งดับไปแล้ว ไม่เกิดอีก ขณะนี้จะตาบอดทันที ไม่มีการเห็นอีกต่อไป

    ฉะนั้นทุกคนมีรูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็มีจิตคือ สภาพรู้ ธาตุรู้ แล้วก็มีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เพราะว่า ปรมัตถธรรมนั้นมี 4 คือ (1) จิต (2) เจตสิก (3) รูป (4) นิพพาน

    หากไม่เรียกชื่อ ผมเอาชื่อของคุณ @มิลินท์ และทุกท่านใน Website พลังจิต นี้ออกไป แต่ก็ยังมีรูปและมีจิตแล้วก็ยังมีเจตสิก ฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็น ปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ นี่เป็นปรมัตถธรรมอย่างย่อ อย่างละเอียดก็จะต้องศึกษาอย่างละเอียด แต่ให้ทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง มีสภาพธรรมลักษณะปรากฏให้รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่ออะไรเลยก็ได้ครับ


    ผมอยากจะขออนุญาตเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยว่าในสายกรรมฐานมัชฌิมาแบบลำดับนั้นแบ่ง เรียนอุเบกขาออกเป็น 10 ประการด้วยครับ

    1. ฉฬงฺคุเปกขา อุเบกขาประกอบด้วย องค์ 6
    2. พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา อุเบกขาในพรหมวิหาร
    3. โพชฺฌงฺคุเปกฺขา อุเบกขาในโพชฌงค์
    4. วิริยุเปกฺขา อุเบกขา คือ วิริยะ
    5. สงฺขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร
    6. เวทนูเปกฺขา อุเบกขาในเวทนา
    7. วิปสฺสนูเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา
    8. ตตฺรมชูฌตฺตุเปกขา อุเบกขาในเจตสิก หรืออุเบกขา ที่ยังธรรมทั้งหลาย ที่เกิดพร้อมกันให้เป็นไปเสมอกัน
    9. ฌานุเปกฺขา อุเบกขาในฌาน
    10. ปาริสุทฺธุเปกฺขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก

    (อ้างอิงที่มาจากในหนังสือ วิสุทธิมรรค 1 /หน้า 84 – 89 /หน้า 473 – 179 ครับ)

    Anhedonia หรือ ภาวะสิ้นยินดี มักพบเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า หากมีอาการนี้ ต้องประเมินว่ามีอาการอื่นๆที่เข้าได้กับโรคซึมเศร้าหรือโรคอื่นๆหรือไม่ และรักษาตามโรคที่เป็นครับ ภาวะสิ้นยินดีหมายถึงไม่สนใจกิจกรรมที่โดยปกติทำแล้วมีความสุข เพลิดเพลิน หรือไม่สามารถเกิดความพึงพอใจในภาวะที่ปกติสามารถสร้างความพึงพอใจได้ครับ Anhedonia เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกทางกายภาพ หากระบบสมองหรือระบบประสาทยังดี จะยังรับความรู้สึกทางกายภาพได้ตามปกติ เช่น ความรู้สึกเผ็ด หรืออาการเจ็บปวดทางกาย จะรู้สึกอยู่ครับ


    ปกติถ้าเราทำกิจกรรมที่สนุกสนานเพลิดเพลิน สมองจะหลั่งสารเคมีแห่งความสุขที่เรียกว่าโดปามีน (Dopamine) ออกมา แต่ในกรณีของผู้ที่ป่วยในภาวะสิ้นยินดี การทำงานของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความคิดนั้นทำงานผิดปกติไปจนนำไปสู่อาการหมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยทำแล้วมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ดนตรี ความสัมพันธ์ การสัมผัส การพูดคุยกับคนอื่น การเข้าสังคม หรือแม้กระทั่งเรื่องทางเพศ ราวกับว่าสมองส่วนที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจของเราได้ปิดตัวเองลงอย่างสิ้นเชิงครับ


    ภาวะสิ้นยินดีมีกี่ประเภท?


    ภาวะสิ้นยินดียังแบ่งออกเป็นภาวะย่อยๆ ได้อีกหลายประเภทครับ ส่วนใหญ่จะส่งผลให้ขาดความสุขและความพึงพอใจต่อการทำกิจกรรม งานอดิเรก และการใช้ชีวิตประจำวันในหลายด้าน แบ่งได้ดังนี้ครับ

    1) Sexual Anhedonia หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า Ejaculatory Anhedonia คืออาการที่ไม่รู้สึกมีความสุขเมื่อถึงจุดสุดยอดนั่นเองครับ อาการนี้มักเกิดกับผู้ที่ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า รวมถึงอาจเกิดจากสภาวะสารเคมีและฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลก็ได้ครับ


    2) Social Anhedonia คืออาการของที่ทำให้ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพราะการพูดคุยกับคนอื่นไม่มีผลต่อความรู้สึกเลย อาการที่ว่านี้อาจเชื่อมโยงกับสภาวะของสมองที่ทำงานบกพร่องจนทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่เข้าใจถึงการแสดงสีหน้าทางอารมณ์ของผู้ร่วมสนทนาครับ


    3) Musical Anhedonia คืออาการของผู้ที่ไม่สามารถมีความสุขหรือเพลิดเพลินกับการฟังเพลง อาการนี้เกิดจากระบบประสาทสัมผัสส่วนการได้ยินกับส่วนศูนย์สุขี (Reward Centers) ในสมองทำงานไม่เชื่อมโยงกัน และนั่นทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดความรู้สึกใดๆ เมื่อฟังเพลงครับ


    แนวทางการรักษา

    ถ้าเราสงสัยว่าเราอาจจะมีแนวโน้ม ทางที่ดีควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆนะครับ ซึ่งแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือใช้การบำบัดและใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นอกจากนี้การกินยาเพื่อปรับกระบวนการการทำงานของสมองส่วน Brain Reward System ให้เกิดความสมดุลก็ช่วยได้อีกทางหนึ่งเช่นกันครับ

    แต่ต้องบอกว่าในปัจจุบันนั้นยังไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะนี้ได้โดยตรง แต่จะเป็นชนิดยาที่ใช้ร่วมกับการรักษาโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว ฯลฯ โดยยาต้านอาการซึมเศร้าในกลุ่ม SSRIs จะเป็นกลุ่มยาที่จิตแพทย์นำมาใช้รักษาบ่อยที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคนด้วยว่าถูกกับยาชนิดไหนมากที่สุดครับ


    หลังการเข้ารับการรักษาและบำบัดแล้วผู้ป่วยบางรายอาจพบว่ามีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของพวกเค้าเปลี่ยนไป เช่น มีสมาธิมากขึ้น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลงไป บริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น ฯลฯ ซึ่งจะเพิ่มความสุขและความพึงพอใจในชีวิตให้มากขึ้นตามไปด้วยครับ [^ ^]


    … ที่ผมโพสต์ตอบคุณ @มิลินท์ มาทั้งหมดนี้ ผมขออนุญาตเรียนซ้ำย้ำอีกครั้งหนึ่งนะครับว่าผมนั้นไม่ใช่ ผู้รู้ ผมเป็นแค่ กัลยาณมิตรธรรมดา คนหนึ่งที่พอจะมีความรู้อยู่บ้างในทางธรรมะ และ เคยศึกษาเล่าเรียนในเรื่องจิตวิทยา และ จิตเวชศาสตร์มาบ้างพอสมควรครับ (^ ^) ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ (^__^) ขอให้คุณ @มิลินท์ ลองพิจารณาอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์โดยใช้ โยนิโสมนสิการ และ กาลามสูตร ครับ _/|\_ ฝากข้อคิดสะกิดใจทิ้งท้ายไว้ว่า อย่าไว้ใจสัตว์หน้าขน คนมีหนวด” ผมโกนหนวดวันเว้นวันครับ (^__^)


    บุญรักษาผู้รู้ กัลยาณมิตรธรรมดา และ คนมีหนวด ทุกๆท่านครับ
    _/\_
     
  3. มิลินท์

    มิลินท์ สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กุมภาพันธ์ 2016
    โพสต์:
    45
    ค่าพลัง:
    +25
    ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้มากมาย

    อย่าไว้ใจสัตว์หน้าขน - โดนแมวกัดแต่ต้องฉีดพิษสุนัขบ้าค่ะ

    คนมีหนวด - ถ้าบวชแล้วถือศีลก็คงพอให้อภัยได้อยู่ค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...