บทความให้กำลังใจ(รวยให้เป็น)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    สบายแต่ไร้สุข
    รินใจ
    เป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อผลการสำรวจดัชนีความสุขทั่วโลก ชี้ว่า ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกได้แก่ ประเทศวานูอาตู ซึ่งเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิกฟิกตอนใต้ รองลงมาได้แก่โคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกัน และปานามา

    น่าสังเกตว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่จัดว่าเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา” ซึ่งแปลว่าไม่ร่ำรวย แถมยังมีคนจนเป็นจำนวนมาก ความเป็นอยู่ไม่สะดวกสบายเท่าไรนัก


    แล้วประเทศที่ “พัฒนาแล้ว” หรือประเทศที่ร่ำรวย มีอำนาจทางเศรษฐกิจล่ะ ไปอยู่ที่ไหน?

    คำตอบคืออยู่ในอันดับที่ค่อนข้างไปทางท้าย คือมีความสุขน้อย เช่นญี่ปุ่น อยู่อันดับที่ ๙๕ อังกฤษ อันดับที่ ๑๐๘ ฝรั่งเศส อันดับที่ ๑๒๙ ส่วนประเทศที่รวยที่สุดในโลก คือสหรัฐอเมริกา อยู่อันดับที่ ๑๕๐ !

    ผลการสำรวจดังกล่าวซึ่งครอบคลุมถึง ๑๗๘ ประเทศ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความร่ำรวยไม่ใช่หลักประกันแห่งความสุข ความร่ำรวยซื้อความสะดวกสบายได้ก็จริง แต่ความสะดวกสบายหาใช่ความสุขไม่ คนที่มีชีวิตสะดวกสบาย จำนวนไม่น้อย เต็มไปด้วยความทุกข์ เช่น ทุกข์เพราะลูก ทุกข์เพราะทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน หรือทุกข์เพราะยังรวยไม่พอ

    ความสะดวกสบายนั้น อย่างมากที่สุดก็ให้ความสุขเพียงชั่วคราว ใจฟูฟ่องไปได้สักพัก ไม่นานก็จะปรับตัวลดลงมาเหมือนเดิม ทำนองเดียวกันคนที่ถูกล็อตเตอรี่ แม้แต่รางวัลที่ ๑ ก็ตาม ทีแรกก็จะลิงโลดใจ แต่ผ่านไปสัก ๖ เดือน หรือ ๑ ปี ความรู้สึกก็จะกลับมาสู่ระดับเดียวกับตอนก่อนได้โชค

    ที่สำคัญก็คือ ชีวิตที่สบายเพราะมีสิ่งต่าง ๆ มาอำนวยความสะดวกตลอดเวลานั้น มักทำให้เรามีนิสัยพึ่งพาสิ่งภายนอก และชอบคาดหวังว่าสิ่งรอบตัวจะต้องเป็นไปตามใจเรา ถ้าร้อนก็ต้องเปิดแอร์ ถ้าไกลก็ต้องมีรถมาบริการ ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องมีคนมาสนอง ชีวิตแบบนี้ทำให้เราไม่คิดที่จะปรับตัวปรับใจตัวเองเลย จึงเป็นชีวิตที่ทุกข์ง่าย เพราะในโลกนี้มีอะไรต่ออะไรอีกมากมายที่ไม่สามารถบัญชาให้เป็นไปตามใจเราได้ แม้จะมีเงินมากมายก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกรุงเทพ ฯ เป็นทุกข์กันมากเพียงเพราะรถติด ทั้ง ๆ ที่อยู่ในรถที่แสนเย็นสบาย

    แต่ถ้ารู้จักปรับตัวปรับใจเสียแล้ว ก็จะเป็นสุขได้ง่ายขึ้น ร้อนนักก็ไม่เป็นไร หนาวนักก็ไม่เดือดร้อน รถติดก็รู้จักรอ คนที่จะทำใจแบบนี้ได้เก่ง ใช่หรือไม่ว่า ชีวิตของเขาต้องไม่สะดวก สบายมากเกินไป

    เงินซื้อได้แต่ความสบาย ส่วนความสุขนั้นต้องทำเอง นอกจากทำที่ใจแล้ว ความสุขยังเกิดจากการมีมิตร โดยมีน้ำใจและการแบ่งปันเป็นเครื่องสานสัมพันธ์ การได้อยู่ท่ามกลางหมู่มิตรหรือชุมชนที่คุ้นเคยกัน เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เงินซื้อไม่ได้ และมักจะไม่พบในกลุ่มชนที่ร่ำรวย แต่หาได้ง่ายในประเทศที่ยังไม่ “พัฒนา”มากนัก แน่นอนว่า วานูอาตู เป็นหนึ่งในนั้น

    เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ก็เห็นได้ชัดว่า ประเทศที่ร่ำรวยกว่านั้น ประชาชนมีความสุขน้อยกว่า เช่น สิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ ๑๓๑ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๓๒ แม้กระนั้นคนไทยก็ยังสุขน้อยกว่าคนฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่อันดับที่ ๑๗ และคนอินโดนีเซียซึ่งติดอันดับที่ ๒๓

    ชาวฟิลิปปินส์เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความจริงที่ว่า ความสบายนั้นเป็นคนละเรื่องกับความสุข ใครที่ไปฮ่องกงจะรู้ดีว่ามีชาวฟิลิปปินส์ไปทำงานบ้านที่นั่นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีชีวิตที่ลำบาก มากกว่าครึ่งไม่มีห้องของตัวเอง หลายคนต้องนอนในห้องน้ำ ใต้โต๊ะกินข้าว หรือแม้แต่ในตู้เก็บจาน มิหนำซ้ำยังอาจเป็นที่รองรับอารมณ์ของนายจ้าง ถึงกับถูกทำร้ายร่างกายก็มี

    แต่ทุกวันอาทิตย์ ชาวฟิลิปปินส์นับพันคนจะไปชุมนุมพบปะกัน และเปลี่ยนย่านธุรกิจอันจอแจให้กลายเป็นแหล่งปิคนิค ผู้คนพากันร้องรำทำเพลงกันอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ แม้แต่ชาวต่างชาติที่เดินผ่านไปผ่านมายังถูกชักชวนให้มาร่วมวงกัน หลายคนอดประทับใจไม่ได้ในสีหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสของคนงานฟิลิปปินส์

    คนเหล่านี้มีความสุขได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่เกือบทั้งอาทิตย์เจอแต่ความยากลำบาก คำตอบนั้นอยู่ที่ จิตใจร่าเริง เป็นกันเอง ปล่อยวางง่าย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการได้มาพบปะสังสันท์กัน นอกจากได้สนุกสนานแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนสุขทุกข์กัน ทำให้เกิดกำลังใจที่จะสู้กับความลำบาก

    สีหน้าที่ร่าเริงของสาวใช้ฟิลิปปินส์นั้น ตรงข้ามกับสีหน้าของนายจ้างฮ่องกง ทั้ง ๆ ที่มีชีวิตสะดวกสบายกว่าลูกจ้างมาก แต่หาความสุขได้ยาก อาจเป็นเพราะเขาให้ความสำคัญกับเงินมากเกินไป และต่างคนต่างอยู่ มีเพื่อนไม่มาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ เมื่อมีการสำรวจความเห็นของชาวเอเชียแทบทุกครั้งๆ ผลสรุปออกมาตรงกันว่า ชาวจีนฮ่องกง มีความสุขน้อยที่สุด ส่วนคนที่มีความสุขมากที่สุดอันดับต้น ๆ คือชาวฟิลิปปินส์

    ความสบายกับความสุขนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แล้วคุณล่ะจะเลือกอะไร?
    :- https://visalo.org/article/kidFamily254907.htm

     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    บุญที่ถูกมองข้าม
    พระไพศาล วิสาโล
    สังเวชนียสถาน ๔ แห่งในประเทศอินเดีย เป็นจุดหมายที่ชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยนิยมไปเยือน เพราะถือว่าเป็นการจาริกที่ได้บุญมาก หลายคนนอกจากตั้งใจไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเคยประทับและบำเพ็ญศาสนกิจแล้ว ยังเตรียมเงินไปทำบุญตามรายทาง เช่น ทอดผ้าป่าถวายวัดไทย ถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ และที่ขาดไม่ได้คือ บริจาคเงินแก่ขอทาน ซึ่งต่างนิยมชมชื่นชาวไทยมาก เพราะมีกิตติศัพท์ว่าใจบุญสุนทาน เวลาเจอคณะชาวไทยก็จะพากันรุมล้อม โดยเฉพาะอุบาสิกา ที่มีอายุสักหน่อย วณิพกอินเดียจะเรียกว่า “มหารานี”เลยทีเดียว

    หญิงไทยสูงวัยผู้หนึ่ง ก็เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมคณะ เมื่อเห็นขอทานมารุมล้อม ก็ยื่นเงินรูปีให้คนละ ๑๐ รูปีบ้าง ๒๐ รูปีบ้างด้วยความยินดี อย่างไม่คิดเสียดายเงิน จากนั้นก็เข้าไปสักการะพระเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ เสร็จแล้วก็ออกมาซื้อของที่ระลึก ซึ่งแม่ค้าพากันเอามาขาย ของแต่ละชิ้น ราคาไม่แพง แต่เธอก็ไม่ยอมซื้อง่าย ๆ ต่อแล้วต่ออีก แม้ราคาที่แม่ค้าบอกขายจะต่างจากราคาที่เธอต่อรองเพียงแค่ ๑๐ รูปีเธอก็ไม่ยอม มีโอกาสเมื่อใด เธอจะกดราคาให้ต่ำเท่าที่จะต่ำได้

    พระรูปหนึ่งซึ่งร่วมคณะเดียวกับเธอ สงสารแม่ค้า จึงพูดเตือนสติหญิงไทยผู้นี้ว่า “โยม เวลาเจอขอทาน โยมควักเงินให้เขาทันที แต่พอมีแม่ค้าเอาของมาขาย โยมกลับกดราคาเขา จนเขาแทบไม่ได้กำไรเลย โยมรู้ไหมถ้าเขาเจอแบบนี้บ่อย ๆ เขาคงอยากไปเป็นขอทานมากกว่า เพราะได้เงินง่ายโดยไม่ต้องเหนื่อย”

    คำทักท้วงของพระรูปนี้ไม่ได้เตือนสติหญิงสูงวัยผู้นี้คนเดียว แต่เตือนใจคนไทยที่ไปแสวงบุญที่อินเดียได้เป็นอย่างดี ข้อที่น่าคิดก็คือ ทำไมอุบาสิกาท่านนี้ใจดีกับขอทาน แต่ตระหนี่กับแม่ค้า ทั้ง ๆ ที่สารรูปของทั้ง ๒ คนก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะอุบาสิกาท่านนี้เห็นว่าการให้เงินแก่ขอทาน เป็นการทำบุญ ซึ่งจะมีอานิสงส์ให้ตนประสบโชคลาภ หรือมีความสุขความเจริญในภายภาคหน้า ดังนั้นจึงยินดีให้โดยไม่คิดมาก ส่วนการจ่ายเงินให้แม่ค้านั้น เธอมองว่าเป็นเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยน จึงคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจะเสียเงินให้น้อยที่สุด โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่า การทำเช่นนั้นคือการผลักไสให้คนเหล่านั้นไปเป็นขอทาน

    อันที่จริงถ้าตั้งใจจะทำบุญจริง ๆ การซื้อของจากแม่ค้าในราคาที่สมเหตุสมผล ให้เขาได้กำไรพอสมควร ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งได้เช่นกัน คนที่ควรได้รับเมตตาจากเราไม่ใช่มีแค่ขอทานเท่านั้น พ่อค้าแม่ค้าก็สมควรได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่ยากจน มีฐานะต่ำต้อยกว่าเรา

    พฤติกรรมของหญิงไทยผู้นี้ สะท้อนทัศนะของชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อย ที่มองว่า การทำบุญหมายถึงการให้เงินแก่พระสงฆ์หรือขอทานเท่านั้น ส่วนการช่วยเหลือคนในรูปแบบอื่น เช่น ซื้อสินค้าในราคาที่ช่วยให้เขาอยู่ได้ สามารถประกอบสัมมาอาชีวะได้ต่อไป ไม่ใช่การทำบุญ

    แรงจูงใจอย่างหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการทำบุญของชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ก็คือ อยากได้รับอานิสงส์ที่เป็นความสุขความเจริญ หรือโชคลาภในภายภาคหน้า ดังนั้นเวลาทำบุญ จึงไม่เสียดายเงิน เพราะถือว่าเป็น “การลงทุน”อย่างหนึ่ง แต่หากจ่ายเงินแล้วไม่มีอานิสงส์ดังว่ากลับคืนมา ก็จะคิดแล้วคิดอีก หรือจ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหญิงไทยผู้นี้จึงต่อแล้วต่ออีก แม้แต่ ๑๐ รูปีก็ไม่อยากจ่ายเพิ่ม

    การทำบุญนั้นจุดหมายสำคัญก็เพื่อลดความตระหนี่ บรรเทาความเห็นแก่ตัว หรือลดความยึดติดถือมั่น หากเราทำบุญเพื่อจะได้นั่นได้นี่เพื่อตัวเอง โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางวัตถุ ความโลภหรือความเห็นแก่ตัวจะลดลงได้อย่างไร การทำเพราะนึกถึงผู้อื่น อยากช่วยเหลือผู้อื่น โดยนึกถึงตัวเองแต่น้อย หรือไม่นึกถึงเลยต่างหาก เป็นการทำบุญอย่างแท้จริง

    นี้คือบุญที่เราควรทำอย่างยิ่งเมื่อไปจาริกแสวงบุญไม่ว่าที่สังเวชนียสถานหรือที่ใดก็ตาม และหากทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ก็ยิ่งน่าอนุโมทนา
    :- https://visalo.org/article/secret256009.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    เมื่อสิ่งสามัญกลายเป็นความอัศจรรย์
    พระไพศาล วิสาโล
    ภิกษุฟับดัง ธรรมาจารย์แห่งหมู่บ้านพลัม ไม่คาดคิดมาก่อนว่าตนจะเป็นมะเร็ง จนกระทั่งวันหนึ่งหมอยืนยันว่า นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับท่าน ยิ่งไปกว่านั้นมะเร็งได้ลุกลามถึงระยะที่สามแล้ว หากท่านไม่รับเคมีบำบัด ก็อาจมรณภาพในสามเดือน
    ทีแรกนั้นท่านตกใจมาก รู้สึกกลัวขึ้นมา แต่ก็มีสติรู้ทันความกลัวนั้น แล้วใจก็สงบลง นับแต่นั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับท่าน ท่านรู้สึกถึงมหัศจรรย์ของชีวิตและรับรู้ได้ถึงความงดงามของธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าท้องฟ้าหรือดอกไม้

    “เมื่อรู้ว่าความตายใกล้เข้ามา ฉันให้ความสนใจอย่างมากต่อผีเสื้อ ฉันเบิกบานกับการเฝ้ามองผีเสื้อเพราะนี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันจะได้เห็นผีเสื้อ”

    สำหรับคนจำนวนไม่น้อย คำวินิจฉัยของแพทย์ดังกล่าวเป็นเสมือนคำตัดสินประหารชีวิตที่ทำให้จิตใจตกต่ำย่ำแย่ราวกับตายทั้งเป็น แต่สำหรับท่านฟับดัง มันกลับทำให้ท่านซาบซึ้งในคุณค่าของชีวิตและสรรพสิ่งที่ประสบพบเห็น ทุกสัมผัสที่ดูเหมือนดาษดื่นกลับกลายเป็นสิ่งงดงามและมหัศจรรย์ ทั้งนี้ก็เพราะอาจไม่มีโอกาสได้เห็นหรือได้รับรู้อีก
    นี้เป็นความรู้สึกทำนองเดียวกับวิลโก้ จอนสัน นักดนตรีชื่อดังชาวอังกฤษ ทันทีที่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็ง แทนที่จะรู้สึกแย่ เขากลับเดินออกจากโรงพยาบาลด้วยความรู้สึกตัวเบา ใจฟู “จู่ ๆ ก็รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมา คุณมองต้นไม้ ท้องฟ้า มองทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วรู้สึกว่า “วิเศษ”จริง ๆ”
    เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “สิ่งเล็ก ๆ ทุกอย่างที่เห็น ลมเย็นทุกสายที่สัมผัสใบหน้า อิฐทุกก้อนบนถนน (มันทำให้)คุณรู้สึกเลยว่า ฉันมีชีวิต ฉันมีชีวิต” ก่อนหน้านั้นเขาเป็นโรคซึมเศร้า แต่พอรู้ว่าความตายกำลังรออยู่ไม่ไกล “ผมรู้สึกเหมือนขนนกที่ปลิวไหวไปตามสายลม และลมก็พัดมากระทบผมอย่างเดียวกัน แต่ในใจผมก็ยังรู้สึกถึงความอิสระเสรี เป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมาก”
    ความตายนั้นหมายถึงการสูญเสียพลัดพรากอย่างสิ้นเชิง ใครที่คิดถึงแต่ในแง่นั้น ย่อมอดเศร้าโศกเสียใจไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้เราเห็นคุณค่าของทุกสิ่งที่เรามีหรือสัมผัสรับรู้ มันจะไม่ใช่สิ่งดาษดื่นในความรู้สึกของเราอีกต่อไปเมื่อนึกถึงวันที่เราจะต้องสูญเสียมันไป

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    (ต่อ)
    ใช่หรือไม่ว่า คนเราไม่ค่อยซาบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนมี ต่อเมื่อสูญเสียมันไปแล้วจึงกลับมาเห็นคุณค่าของมัน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ มิตรภาพ หรือแม้แต่คนรัก ผู้คนจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงความจริงข้อนี้เมื่อสายไปแล้ว ข่าวดีก็คือ เราไม่จำต้องรอให้ความสูญเสียเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยเห็นความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ที่เรามี ความตายเป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีให้เราหันมาซาบซึ้งชื่นชมสิ่งเหล่านั้นก่อนที่จะสายเกินไป แม้แต่สิ่งที่ดูธรรมดาสามัญ เช่น ต้นไม้ ท้องฟ้า และสายลม จะกลายเป็นความวิเศษมหัศจรรย์ทันทีเมื่อเราตระหนักว่าอาจจะได้เห็นและสัมผัสมันเป็นครั้งสุดท้าย
    ผู้ป่วยด้วยโรคร้าย(รวมทั้งญาติมิตร)จำนวนมากจมปลักอยู่ในความโศกเศร้าหดหู่ เพราะมัวคิดถึงแต่วันที่จะต้องสูญเสียคนรักและสิ่งทั้งปวงที่มี จนลืมไปว่าวันนี้ชั่วโมงนี้คนรักและของรักทั้งหลายยังอยู่กับเรา ไม่ได้หายไปไหน แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับภาพอนาคตอันเลวร้าย หากหันมาใส่ใจกับปัจจุบัน เขาจะทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น เพราะนอกจากจิตใจจะซาบซึ้งชื่นชมกับทุกสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว เขายังสามารถใช้เวลาที่มีอยู่อย่างมีคุณค่า รวมทั้งปฏิบัติกับทุกคนและทุกสิ่งอย่างดีที่สุด แทนที่คนป่วย(หรือญาติ)จะวิตกกังวลว่าเขาจะอยู่อย่างไร ก็หันมาใส่ใจทำสิ่งดีที่สุดให้กับเขา หรือมีความสุขร่วมกับเขาเสียแต่วันนี้ ไม่ปล่อยให้โอกาสทองผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
    โรคร้ายหรือความตายนั้น ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่นำความหดหู่เศร้าหมองมาให้แก่เราเสมอไป มันสามารถกระตุ้นเตือนใจให้เราเห็นถึงความอัศจรรย์ของชีวิตและความงดงามของสรรพสิ่งได้ ถ้าวางใจเป็น โรคร้ายหรือความตายก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง
    :- https://visalo.org/article/secret255707.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    วางใจผิด ชีวิตเป็นทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล

    “ฉันทำผิดอะไร ถึงต้องมาเป็นอย่างนี้ ?” หญิงชราวัย ๗๕ ตัดพ้อกับหลวงพ่อที่เธอเคารพนับถือ

    หญิงชราผู้นี้จัดว่าเป็นผู้หญิงเก่ง ธุรกิจของเธอประสบความสำเร็จ สร้างความร่ำรวยให้แก่เธออย่างรวดเร็ว แต่แม้อายุล่วงเลยมาถึงปานนี้แล้ว เธอก็ยังคงคร่ำเคร่งกับงาน ทั้ง ๆ ที่ลูกทุกคนขอร้องให้วางมือเสียที อันที่จริงเธอไม่มีภาระใด ๆ ที่ต้องเป็นห่วงเลย ลูกทั้งห้าของเธอล้วนเจริญก้าวหน้าในการงาน มีฐานะดีกันทั้งนั้น หลาน ๆ ก็น่ารักทุกคน เธอมีทุกอย่างที่ใคร ๆ ปรารถนา ยกเว้นอย่างเดียวคือสุขภาพ เธอเป็นโรคพาร์คินสันมาได้ ๕ ปีแล้ว ทุกวันนี้ต้องนั่งรถเข็น พูดไม่ถนัด มือสั่นเกือบตลอดเวลา สร้างความทุกข์ทรมานแก่เธอมาก เธอเฝ้าแต่ถามตนเองว่า เธอทำผิดอะไร ทำไมจึงเจอเคราะห์กรรมแบบนี้ อดคิดไม่ได้ถึงบาปกรรมที่เคยทำในอดีตชาติ

    “ผิดแน่นอน” หลวงพ่อตอบ “โยมผิดที่ไม่ยอมฟังคำเตือนของร่างกาย ก่อนที่โยมจะป่วยเพราะโรคพาร์คินสัน ร่างกายเขาเตือนโยมมาเป็นปี ๆ แล้วว่า ‘หยุดพักบ้าง ฉันเหนื่อยเต็มที’ แต่โยมก็ไม่ฟัง ยังทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ถึงเวลาพักผ่อน โยมก็ยังหมกมุ่นงาน ไม่ปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อนเลย ก่อนหน้านี้โยมคงป่วยด้วยโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นคือสัญญาณเตือนของร่างกายที่ส่งเสียงดังขึ้น แต่โยมก็ไม่ฟังอีก พอหายป่วยก็โหมงานอีก ครั้งแล้วครั้งเล่าที่โยมไม่ฟังเสียงเตือนของร่างกาย ในที่สุดจึงเป็นโรคพาร์คินสัน ที่จริงนี้เป็นคำเตือนอีกระลอกหนึ่งของร่างกาย หากโยมยังดื้อดึง ต่อไปก็จะเจอหนักกว่านี้”
    “โยมรู้ไหมว่า ตอนนี้โยมไม่ได้ป่วยกายเท่านั้น แต่ป่วยใจด้วย” หลวงพ่อพูดต่อ “ที่จริงป่วยกายแล้ว ไม่ป่วยใจก็ได้ แต่น้ำเสียงและสีหน้าของโยมบ่งบอกว่าโยมป่วยทั้งกาย ป่วยทั้งใจ และสาเหตุที่โยมป่วยใจก็เพราะทำผิดอีกข้อหนึ่ง นั่นคือไปยึดมั่นในร่างกายนี้”

    “หมายความว่าอย่างไร ?” หญิงชราสงสัย

    “โยมยึดมั่นในร่างกายนี้ว่ามันต้องเที่ยง ต้องเป็นสุข เคยมีสุขภาพดีอย่างไร ก็ต้องมีสุขภาพดีอย่างนั้นไปตลอด โยมรู้ไหมว่าความคาดหวังของโยมสวนทางกับความจริง เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน ร่างกายนี้ในที่สุดก็ต้องแก่และเจ็บป่วย แต่เนื่องจากโยมวางใจผิด ไม่สอดคล้องกับความจริง โยมจึงทุกข์ใจมากเมื่อร่างกายเจ็บป่วย”

    หญิงชรามีสีหน้าครุ่นคิด เธอสงสัยมาตลอดว่าเธอทำกรรมอะไรในชาติที่แล้วหรือ ชาตินี้จึงล้มป่วยแบบนี้ แต่คำอธิบายของหลวงพ่อ เป็นสิ่งเธอไม่เคยคิดมาก่อน และเถียงได้ยากเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

    “โยมคงสงสัยด้วยใช่ไหมว่า โยมทำดีมาตลอด บุญก็ทำเป็นนิจ ทำไมจึงมาเจอเคราะห์กรรมแบบนี้” หลวงพ่อถามเหมือนจะรู้ใจหญิงชรา

    “โยมคิดว่าโยมเป็นคนโชคร้ายที่มาล้มป่วยแบบนี้ แต่นั่นเป็นเพราะโยมมองเห็นแต่ด้านลบ ชีวิตของโยมทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งดี ๆ มากมาย เช่น มีฐานะร่ำรวย กินอิ่มนอนอุ่น ลูกทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครล้มหายตายจาก หรือล้มป่วยด้วยโรคร้าย เป็นคนดีทุกคน การงานก็มั่นคง ไม่ทำอะไรให้โยมเดือดเนื้อร้อนใจ สามีโยมก็ยังอยู่ โยมอยากไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ไปมาแล้วทั้งนั้น ถ้าสิ่งดี ๆ ในชีวิตมี ๑๐ อย่าง โยมก็ได้มา ๙ อย่างแล้ว ขาดอย่างเดียวคือ สุขภาพดี ถ้าชีวิตของโยมเปรียบกับการสอบ คะแนนเต็ม ๑๐๐ โยมก็สอบได้ ๙๐ คะแนน ชีวิตอย่างนี้ไม่น่าพอใจอีกหรือ”

    หลวงพ่อมองหน้าหญิงชรา ก่อนจะพูดต่อ “สมัยที่โยมเรียนหนังสือ ถ้าโยมสอบได้ ๘๐% โยมก็พอใจแล้วใช่ไหม นี่โยมสอบได้ถึง ๙๐% ทำไมจึงเสียใจ เป็นเพราะโยมมัวเป็นทุกข์กับ ๑๐ คะแนนที่หายไปใช่ไหม อย่าลืมว่าข้อสอบวิชาชีวิตนั้น ไม่มีใครที่สอบได้ ๑๐๐% หรอก ชีวิตนี้ไม่มีใครที่ได้สมปรารถนาในทุกเรื่อง สิ่งสำคัญก็คือ ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ อย่ามัวหมกมุ่นกับสิ่งที่หายไป”

    หญิงชราเริ่มยิ้มได้ เธอเพิ่งตระหนักว่าที่จริงเธอเป็นคนโชคดีมาก แต่เพราะมองไม่เป็น จึงเห็นแต่ทุกข์ คำพูดของหลวงพ่อทำให้เธอได้คิด จากนี้ไปเธอต้องวางใจให้ถูก รวมทั้งรู้จักวางงานลงบ้าง ให้กายและใจได้พักผ่อนจริง ๆ เสียที

    “ขอบคุณหลวงพ่อมาก” หญิงชรากล่าวก่อนที่จะลากลับบ้าน
    :- https://visalo.org/article/secret256005.html
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    พลังแห่งเมตตากรุณา
    พระไพศาล วิสาโล
    อองตวน เดอ แซ็งแตกซูเปรี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เจ้าชายน้อย” เล่าถึงนักบินผู้หนึ่งชื่อ อองรี กีโยเมต์ คราวหนึ่งเครื่องบินของเขาตกลงกลางเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ เป็นเวลาสามวันเต็มที่เขาเดินลุยหิมะท่ามกลางความหนาวเหน็บ ในที่สุดก็สิ้นเรี่ยวแรงจนล้มฟุบ เขารู้ดีว่าหากเขาไม่รีบลุกขึ้นมาเดินต่อเขาจะไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นได้อีก

    แต่หลังจากเดินต่อไปพักใหญ่ เขาก็รู้สึกหมดหวัง เพราะมองเห็นแต่ทิวเขาขาวโพลนด้วยหิมะสุดลูกหูลูกตา ความเหนื่อยล้าแสนสาหัสทำให้เขาตัดสินใจหยุดดิ้นรนและพร้อมที่จะตาย เขากล่าวคำอำลาภรรยาและลูก ๆ ก่อนที่จะสิ้นลม แต่แล้วเขาก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า หากไม่มีใครพบศพเขา ภรรยาของเขาก็จะต้องรอถึง ๔ ปีกว่าจะได้รับเงินประกัน

    ตอนนั้นเองที่อองรีตัดสินใจว่าเขาจะตายตรงนั้นไม่ได้ เมื่อเปิดตาเขาก็เห็นหินก้อนหนึ่งโผล่ขึ้นมากลางหิมะห่างจากจุดที่เขานอนอยู่ราว ๑๐๐ เมตร ด้วยความรักภรรยา เขารวบรวมกำลังครั้งสุดท้ายกระเสือกกระสนไปยังหินก้อนนั้น หวังว่าถ้าเขาตายตรงนั้น คงมีคนพบร่างของเขาในเวลาไม่นาน ปรากฏว่าเขาไม่เพียงเดินไปถึงหินก้อนนั้น หากยังมีเรี่ยวแรงเดินต่อไปอีกเกือบ ๑๐๐ กิโลเมตรจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขารอดตายในที่สุด

    ความรักและความห่วงใยต่อผู้อื่นนั้นสามารถปลุกพลังในใจเราจนสามารถทำสิ่งที่ทำได้ยาก เมื่อคิดถึงผู้อื่น ความทุกข์ของเราจะกลายเป็นเรื่องเล็ก ทำให้เราสามารถอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดกับตนเองได้อย่างคาดไม่ถึง

    คุณหมออมรา มลิลา เล่าถึงชายผู้หนึ่งซึ่งประสบอุบัติเหตุจนมีอาการสาหัส เป็นตายเท่ากัน ช่วงที่เขาโคม่านั้น ใจว้าวุ่นยุ่งเหยิงสับสนมาก แต่หลายครั้งมีความรู้สึกราวกับว่ามีพลังบางอย่างดึงดูดใจของเขาให้กลับมาอยู่กับกาย เมื่อเขาฟื้นจากโคม่า จึงรู้ว่านั่นเป็นเพราะพลังเมตตาจากหัวหน้าพยาบาล ซึ่งทุกครั้งที่ขึ้นเวร จะยื่นมือมาสัมผัสตัวเขาอย่างอ่อนโยน พร้อมทั้งสวดมนต์และแผ่เมตตาให้เขา

    อย่างไรก็ตามแม้ฟื้นจากโคม่า เขาก็ยังไม่พ้นวิกฤต มีช่วงหนึ่งที่เขารู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานมากจนคิดว่าจะไม่รอด อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นตอนดึก ๆ แต่ทุกครั้งที่เขาคิดยอมแพ้และอยากตาย ก็จะนึกถึงหัวหน้าพยาบาลผู้นั้นว่า หากเธอมาพบเตียงเปล่าในวันรุ่งขึ้น เธอคงเสียใจว่าเป็นเพราะเธอดูแลเขาไม่ดีพอเขาจึงตายจากไป ดังนั้นเขาจึงพยายามที่จะอยู่ต่อจนถึงรุ่งเช้า เพื่อบอกเธอว่า เธอทำดีที่สุดแล้ว ถ้าเขาตายก็ไม่ใช่ความผิดของเธอ แต่เป็นเพราะร่างกายของเขาไม่ไหวจริง ๆ

    แต่เมื่อถึงตอนเช้า เขาก็ลืมร่ำลาหัวหน้าพยาบาลผู้นั้น ครั้นตกดึก เขาก็เจ็บปวดทุกข์ทรมานอีก แต่ด้วยความเป็นห่วงหัวหน้าพยาบาล เขาพยายามอดทนจนถึงรุ่งเช้า เพื่ออำลาเธอ แต่แล้วก็ลืมทำเช่นนั้นอีก เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน จนเขามีอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลได้ในที่สุด

    หากคิดถึงแต่ตนเอง ชายทั้งสองคนในเรื่องข้างต้น คงตายไปนานแล้ว แต่เป็นเพราะคิดถึงผู้อื่น ทั้งคู่จึงบังเกิดเรี่ยวแรงและความอดทนจนมีชีวิตรอดต่อไปได้ ความคิดถึงหรือห่วงใยผู้อื่นนั้น เรียกอีกอย่างว่า เมตตากรุณา ไม่เพียงปลุกพลังให้แก่กายและใจเท่านั้น หากยังสามารถเยียวยากายและใจได้ด้วย

    มีการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่ป่วยด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หากมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน โอกาสตายภายในหนึ่งปีมีแค่ ๑ ใน ๖ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง ไม่เพียงกับสัตว์เท่านั้น แม้กระทั่งความผูกพันกับต้นไม้ก็มีผลต่อสุขภาพกายและใจมาก การวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า เพียงแค่การดูแลต้นไม้ เช่น รดน้ำให้ทุกวัน ช่วยลดอัตราการตายของผู้เฒ่าในบ้านพักคนชราได้ถึงครึ่งหนึ่ง

    เมตตากรุณา ไม่เพียงกับคน แม้กระทั่งกับสัตว์และต้นไม้ มีอานุภาพต่อกายและใจของเราอย่างคาดไม่ถึง เป็นธรรมโอสถที่หาได้ง่ายเพราะมีอยู่แล้วในใจเรา ขอเพียงแต่เปิดใจนึกถึงคนอื่นให้มากขึ้นเท่านั้น เมตตากรุณาก็จะเบ่งบานขึ้นในใจเรา
    :- https://visalo.org/article/secret255905.html
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    กลางใจคือชัยภูมิ
    รินใจ
    หนึ่งในบรรดาสถานท่องเที่ยวอันลือชื่อของศรีลังกาคือ“สีคิริยา” ภาพจิตรกรรมประดับเพิงผาของภูเขาสีคิริยาเป็นที่รู้จักทั่วโลกจนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศรีลังกา แม้จะผ่านลมผ่านฝนมานานกว่า ๑,๕๐๐ ปีแต่ภาพนางอัปสรเกือบ ๑๐ ภาพก็ยังคงความงดงามอ่อนช้อยแห่งเส้นและความโชติช่วงแห่งสีไว้เกือบสมบูรณ์ ใครเห็นก็อดทึ่งไม่ได้ที่ศิลปะอันวิเศษสุดมาซ่อนตัวอยู่ในชะง่อนผาอันสูงชันที่ต้องปีนป่ายไปเท่านั้นถึงจะได้เห็น

    ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๕ ศตวรรษที่แล้ว ภาพอันบรรเจิดเหล่านี้มิใช่มีแค่สิบ แต่มีนับร้อยนับพันประดับเรียงรายอยู่รอบภูเขา ทั้งนี้เพราะเวลานั้นสีคิริยาถูกสถาปนาให้เป็นพระราชวังของกษัตริย์ลังกานามกัสสปะ กษัตริย์พระองค์นี้ได้เนรมิตภูเขาทั้งลูกให้เป็นเสมือนวิมานบนพื้นพิภพ

    นอกจากภาพประดับและหินสลักอันงดงามแล้ว ครั้งหนึ่งสีคิริยาเคยขึ้นชื่อว่ามีอุทยานที่ยิ่งใหญ่ตระการตา มีทั้งอุทยานน้ำ อุทยานหิน และอุทยานขั้นบันได จัดวางอย่างเป็นระเบียบแต่ซับซ้อนกินเนื้อที่หลายร้อยไร่หน้าเชิงเขา ใช่แต่เท่านั้นบนยอดสุดของภูเขาซึ่งอยู่สูงถึง ๒๐๐ เมตร ยังมีอุทยานนานาชนิดผสมผสานกัน แต่ขนาดย่อมลงมา

    กล่าวกันว่าในอุทยานน้ำเบื้องล่างนั้นเคยเป็นที่สรงสนานของนางสนมกำนัลใน ใกล้ ๆ เป็นพลับพลาที่พระเจ้ากัสปปะเสด็จมาดูนางสนม และเลือกผู้ที่ทรงพอพระทัยไปปรนนิบัติ หาไม่ก็เสด็จมาเที่ยวชมอุทยานเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ

    อย่างไรก็ตามที่ประทับของพระองค์จริง ๆ แล้วอยู่บนยอดเขาซึ่งสูงชันมาก ภูเขาสีคิริยานั้นมองจากที่ไกลมีลักษณะคล้ายก้อนหินรูปสี่เหลี่ยมตั้งตระหง่านอยู่โดดเดี่ยวบนที่ราบกว้างใหญ่ หน้าผาเป็นหินล้วน ๆ แทบไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย บันไดนั้นต้องสกัดจากหน้าผาซึ่งชันขนาด ๘๐ องศา เพียงแค่เดินตัวเปล่าก็แทบจะไปไม่ถึงยอดแล้ว

    เขาสูงอย่างนี้เหมาะสำหรับการตั้งศาสนสถานมากกว่า แต่เหตุใดพระเจ้ากัสสปะจึงเลือกยอดเขาสีคิริยาเป็นที่ตั้งพระราชวัง ไม่ใช่เพราะว่าทรงต้องการอยู่ใกล้สวรรค์หรือทำตนประหนึ่งเทพดอก สาเหตุที่แท้จริงก็คือทรงต้องการอยู่ในชัยภูมิที่ปลอดภัยจากอริราชศัตรูให้มากที่สุด

    อริราชศัตรูนั้นมิใช่ใครที่ไหน หากเป็นอนุชาของพระองค์ผู้มีนามว่าโมคคัลลานะ พระเจ้ากัสสปะนั้นไม่เพียงแย่งราชสมบัติจากพระอนุชาเท่านั้น หากยังทำสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือสังหารพระราชบิดา พระเจ้าธาตุเสนะนั้นทรงตั้งพระทัยมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าชายโมคคัลลานะซึ่งประสูติจากอัครมเหสี เจ้าชายกัสสปะซึ่งประสูติจากหญิงสามัญชนจึงจับพระราชบิดาขังคุกแล้วโบกปูนปิดทั้งเป็น

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 พฤษภาคม 2025
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    (ต่อ)

    แม้จะได้ราชสมบัติแล้วแต่ก็ยังไม่รู้สึกปลอดภัย เพราะพระอนุชาหนีไปได้ พระเจ้ากัสสปะจึงทรงย้ายราชธานีจากอนุราธปุระมายังสีคิริยา เพราะทรงเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะแก่การป้องกันภัยคุกคามได้ดีที่สุด

    ตลอด ๑๔ ปีที่ครองราชย์ พระเจ้ากัสสปะทรงกริ่งเกรงอยู่ตลอดเวลาว่าพระอนุชาจะมาทวงพระราชบัลลังก์คืน คนที่ต้องระวังตัวระแวงภัยขนาดนี้ แม้มีอุทยานที่งดงามตระการตาเพียงใด น่าสงสัยว่า จะหาความสุขสงบในจิตใจได้หรือ ถึงจะมีนางสนมกำนัลในมาปรนเปรอนับร้อย ก็คงยากที่จะพบกับความสุขที่แท้จริงได้

    สีคิริยานั้นดูเผิน ๆ เหมือนวิมานบนพื้นพิภพ แต่จริง ๆ แล้วมันคือป้อมปราการที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนาที่สุดในยุคนั้น พระเจ้ากัสสปะทรงเลือกจุดที่สูงที่สุด เข้าถึงยากที่สุดด้วยคิดว่าจะให้ความมั่นคงปลอดภัยได้ แต่ในที่สุดก็ทรงพบความจริงว่าป้อมปราการดังกล่าวไม่สามารถคุ้มภัยได้อย่างแท้จริง เมื่อวันที่ทรงกริ่งเกรงมาถึง พระอนุชายาตราทัพมาชิงพระราชบัลลังก์คืน พระเจ้ากัสสปะไม่สามารถต้านทานได้ ครั้นภัยใกล้มาถึงตัวก็ทรงปลงพระชนม์บนยอดเขานั้นเอง นับแต่นั้นสีคิริยาก็ถึงแก่กาลเสื่อมสลาย

    เมื่อได้ทำบาปมหันต์เสียแล้ว แม้แต่ภูเขาสูงที่สุด ปราการที่แน่นหนามากที่สุด หรือกองทัพที่เกรียงไกรที่สุด ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันแห่งความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างแท้จริง ความดีต่าง หากที่ช่วยให้คนเราอยู่อย่างไม่ทุกข์ร้อนและไม่ต้องหวาดระแวงอันตราย ดียิ่งกว่านั้นก็คือการทำใจให้มั่นคง มีสติและปัญญาเป็นเครื่องคุ้มภัย

    ไม่มีปราการใดที่ให้ความมั่นคงปลอดภัยได้ดีเท่ากับปราการในจิตใจ อันตรายจากภายนอกนั้นเราไม่อาจควบคุมป้องกันได้ตลอด บางครั้งเราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้เลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ นั่นคือรักษาใจไม่ให้ทุกข์ เมื่อรู้จักรักษาใจด้วยปราการแห่งธรรมแล้ว แม้แต่ความเจ็บ ความแก่ และความตายก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ นี้ใช่ไหมคือความปลอดภัยที่แท้จริง

    แทนที่จะหลบไปหาชัยภูมิบนภูเขาหรือหลังกำแพงหนา มาแสวงหาชัยภูมิในจิตใจของเรากันมิดีกว่าหรือ
    :- https://visalo.org/article/kidFamily254801.htm


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 พฤษภาคม 2025
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา
    รินใจ
    “ปัญหา”เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็อยากเลี่ยงหลีก แต่ไม่มีใครที่หนีมันพ้นได้ เพราะปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในเมื่อเราไม่มีวันหนีปัญหาพ้น จะไม่ดีกว่าหรือหากเราเตรียมใจให้พร้อมเพื่อต้อนรับมันอยู่เสมอ
    การมองว่า “ปัญหา”เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น เช่นเดียวกับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราเผชิญกับปัญหาได้โดยไม่ทุกข์มากนัก แต่วิธีที่ดีกว่านั้นก็คือการเปลี่ยน “ปัญหา” ให้กลายเป็น “ปัญญา” เพราะนอกจากจะไม่ทุกข์หรือ “ขาดทุน”แล้ว ยังได้ประโยชน์เป็น “กำไร”กลับมาด้วย

    ขอให้สังเกตคำว่า “ปัญหา” กับ “ปัญญา” นั้นมีความใกล้เคียงกันมาก ต่างกันแค่ตัวเดียวคือ “ห” กับ “ญ” ในชีวิตจริง สิ่งที่เรียกว่า “ปัญหา” นั้นก็อยู่ใกล้กับ “ปัญญา” มากเช่นเดียวกัน

    ปัญหาสามารถก่อให้เกิดปัญญาได้หากรู้จักมองหรือใคร่ครวญกับมัน นักเรียนจะเฉลียวฉลาดได้ก็เพราะหมั่นทำการบ้าน การบ้านนั้นคืออะไรหากไม่ใช่ปัญหาหรือโจทย์ที่ต้องขบคิด ถ้าครูไม่ขยันให้โจทย์หรือตั้งคำถามให้นักเรียนขบคิด นักเรียนก็ยากที่จะเกิดปัญญาได้

    คนทั่วไปนั้นเมื่อเจอปัญหาก็จะเป็นทุกข์หรือกลัดกลุ้มไปกับมัน แต่ถ้าลองตั้งสติและพิจารณาให้ดี ปัญหาก็จะกลายเป็นปัญญาได้ไม่ยาก เมื่อ ๘๐ ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษคนหนึ่งได้เพาะเลี้ยงแบคทีเรียไว้ในจานเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องไข้หวัด วันหนึ่งเขาพบว่ามีเชื้อราเข้าไปปนเปื้อนและทำลายแบคทีเรียที่เพาะเอาไว้ นั่นหมายความว่าเขาต้องเพาะแบคทีเรียขึ้นใหม่

    เจ้าเชื้อราตัวนี้สร้างปัญหาให้นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ แต่แทนที่จะโมโห เขากลับฉุกคิดขึ้นมาว่าถ้ามันฆ่าแบคทีเรียที่เพาะในจานได้ มันก็ต้องกำจัดแบคทีเรียที่ในร่างกายคนได้เช่นกัน ปัญญาเกิดขึ้นแก่นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ทันที นำไปสู่การค้นพบเพนนิซิลินหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งในเวลาไม่นานสามารถช่วยชีวิตผู้คนนับร้อยล้านคนทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้คืออเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่งนั่นเอง

    โลกก้าวหน้าได้เพราะเรารู้จักเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา มองให้แคบลงมา ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากประสบวิกฤต บางคนเป็นโรคหัวใจเจียนตาย ภัยร้ายได้บังคับให้เขาต้องหันมาทบทวนชีวิตของตน และพบว่าการหมกมุ่นอยู่กับตนเอง ตัดขาดจากผู้อื่น และจมอยู่กับความหดหู่เศร้าหมอง เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เขามีอาการดังกล่าว เขาจึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เข้าหาผู้คน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น และปล่อยวางความกังวลหม่นหมอง ไม่นานสุขภาพของเขาก็ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เขายอมรับว่า การเป็นโรคหัวใจเป็นสิ่งดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเขา

    เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา แทนที่จะคร่ำครวญหรือตีอกชกหัว ลองใคร่ครวญดูให้ดี จะพบว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าเรามองสัญญาณนี้ออก นั่นแสดงว่าปัญญาได้เกิดแก่เราแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม หรือการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เหมาะสม และชาญฉลาด

    ไม่ควรมองว่าปัญหาคือ “ทางตัน” ถ้ามองให้ดี ในตัวปัญหานั้นก็มี “ทางออก” ด้วยเหมือนกัน อย่าลืมว่า สลักที่ล็อคประตูนั้นก็เป็นสลักอันเดียวกับที่ใช้เปิดประตู สวิตช์ที่ปิดไฟก็เป็นอันเดียวกับที่ใช้เปิดไฟให้สว่าง ฉันใดก็ฉันนั้นในคำถามก็มีคำตอบเฉลยอยู่

    จะว่าไปแล้วปัญหาหรือความทุกข์ทั้งหลายไม่ได้มีไว้ให้เราคร่ำครวญ แต่มีไว้ให้ใคร่ครวญนั่นเอง ในความทุกข์นั้นก็มีทางออกจากความไม่ทุกข์แฝงอยู่เสมอ ในภาพยนตร์เรื่อง Batman Begins เด็กชายบรู๊ซ (ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นมนุษย์ค้างคาว)ได้พลัดตกลงไปในหลุม เมื่อพ่อช่วยขึ้นมาแล้ว ได้ถามลูกว่า “รู้ไหมทำไมคนเราถึงหกล้ม?” ลูกนึกไม่ออก พ่อจึงเฉลยว่า “ก็เพื่อเราจะได้รู้วิธีลุกขึ้นมาไงล่ะ”

    ความทุกข์มีขึ้นก็เพื่อสอนเราให้รู้จักหลุดพ้นจากความทุกข์ ปัญหาเกิดขึ้นก็เพื่อสอนเราให้เกิดปัญญา ด้วยเหตุนี้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากคือครูที่มาสอนให้เราฉลาดขึ้นนั่นเอง

    :- https://visalo.org/article/kidFamily254811.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    ความรักจักเกื้อหนุน
    รินใจ
    หมอเต็มศักดิ์ได้รับเลือกเป็นอาจารย์แพทย์ดีเด่นของมหาวิทยาลัย นับเป็นเกียรติประวัติที่น่าภาคภูมิใจ แต่เขาไม่รู้สึกยินดีเอาเสียเลย เพราะกำลังประสบปัญหารุมเร้าหลายอย่าง ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน เกิดความท้อแท้เหนื่อยหน่ายเป็นกำลังจนต้องขอพักงาน

    เป็นเพราะต้องไปปรากฏตัวในงานแสดงมุทิตาจิตที่โรงพยาบาลจัดให้เขา หมอเต็มศักดิ์จึงแวะไปที่โรงพยาบาลหลังจากลางานไปแล้วนับสิบวัน แห่งแรกที่เขาเข้าไปก็คือตึกผู้ป่วยหญิงเพื่อเยี่ยมคนไข้มะเร็งผู้หนึ่งที่เขาเคยรักษาก่อนพักงาน
    เมื่อเขาเข้าไปในห้องผู้ป่วยคนนั้น ภาพที่ได้เห็นสะกดเขาจนแน่นิ่ง หญิงสาวกำลังนอนอย่างสงบ ข้างเตียงคือแม่ของเธอ สองแม่ลูกกุมมือและสบตากันอย่างเงียบ ๆ ไม่มีถ้อยคำใดเอื้อนเอ่ยออกมา ในห้วงยามอันสงบนั้น เขารู้สึกถึงความรักและความเอื้ออาทรที่แม่ลูกสื่อถึงกันอย่างเต็มเปี่ยม ในยามนั้นไม่ปรากฏร่องรอยแห่งความเจ็บปวดทุรนทุราย ราวกับถูกสยบเอาไว้ให้แน่นิ่ง
    ผู้ป่วยกำลังอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต แต่หมอเต็มศักดิ์ได้ประจักษ์แก่ใจว่า เธอหาได้ต้องการความช่วยเหลือใด ๆ จากเขาหรือหมอคนใดไม่ เธอไม่ต้องการยาหรือเคมีบำบัดใด ๆ อย่างเดียวที่เธอปรารถนาคือความรัก เพียงความรักจากใจของแม่หรือคนใกล้ชิดก็พอแล้วสำหรับเธอ แม้แต่ถ้อยคำก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นด้วยซ้ำ

    อาการนิ่งสงบของสองแม่ลูกได้สะกดความวุ่นวายสับสนในใจของหมอเต็มศักดิ์ที่ยืดเยื้อมานานหลายอาทิตย์ ให้สงบลงไปด้วย เขาได้ตระหนักว่าถึงที่สุดแล้วคนเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความรักและความเอื้ออาทรจากคนใกล้ชิด ยิ่งในวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยแล้ว อะไรเล่าที่จะสำคัญไปกว่าสายตาและสัมผัสที่เปี่ยมด้วยความรักจากคนรู้ใจ

    จิตใจที่เคยหนักอึ้งด้วยความทุกข์กลับโปร่งเบาขึ้นมาทันที ไม่ใช่เพียงเพราะว่าความทุกข์ของเขานั้นเทียบไม่ได้กับความทุกข์ที่สองแม่ลูกกำลังเผชิญ หากยังเป็นเพราะเขามาได้คิดว่าสิ่งที่ทำให้เขาทุกข์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญสำหรับชีวิตเลย ชื่อเสียง ความสำเร็จ หน้าตา เงินทอง และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย หาใช่สิ่งที่คนเราต้องการในส่วนลึกของจิตใจไม่ โดยเฉพาะเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรเลย ถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องการเพียงแค่ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ จากคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

    จะว่าไปแล้วนี้คือบทเรียนสำคัญของชีวิตที่น้อยคนจะตระหนัก สิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตมักเป็นเรื่องพื้น ๆ สามัญจนดูเหมือนไม่มีค่า ผู้คนส่วนใหญ่จึงมองข้ามไป กลับไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่หวือหวาน่าตื่นตาตื่นใจ น้ำ และอากาศ นั้นเป็นสิ่งสามัญที่ทุกชีวิตขาดไม่ได้ แต่ใครบ้างที่เห็นค่า ต่อเมื่อปล่อยปละละเลยจนน้ำขาดแคลน อากาศเป็นพิษ เราถึงมาเห็นคุณค่า

    ความรักและความเอื้ออาทรก็เช่นกัน ไม่มีชีวิตใดที่ขาดสิ่งนี้ไปได้ แต่เป็นเพราะได้รับจากคนรอบตัวมาตั้งแต่เล็ก เราถึงเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่ไร้ความสำคัญ ร้ายกว่านั้นก็คือไม่สนใจทะนุถนอมความรักที่ได้มา และไม่คิดจะเพิ่มพูนให้มากขึ้น ตรงกันข้ามกลับบั่นทอนทำลายด้วยการแย่งชิงแข่งขัน ทะเลาะวิวาท หรือฉวยประโยชน์จากกันและกัน เพราะเห็นสิ่งอื่นสำคัญกว่า ผลก็คือเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง จึงไม่มีต้นทุนความรักหลงเหลือที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจ กลับต้องอยู่และจากไปอย่างอ้างว้างและแห้งผาก คงไม่มีอะไรที่น่าเศร้าเท่ากับการแวดล้อมด้วยผู้คนแต่ไร้ความรักให้สัมผัส

    ทุกความรักที่ได้รับล้วนมีค่า จึงควรรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณ ขณะเดียวกันก็อย่าลืมทะนุถนอมและบ่มเพาะความรักนั้นให้เจริญงอกงาม ไม่ใช่ในใจของเราเท่านั้น แต่ในใจของผู้ที่ให้ความรักแก่เรา ด้วยการมีน้ำใจให้เขา ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ และทำความดีตอบแทน ที่ขาดไม่ได้คือการให้อภัยและความอดทนอดกลั้น

    ตระเตรียมความรักเป็นทุน ถนอมรักษ์สัมพันธภาพอันงดงามไว้ให้ยั่งยืน แล้วความรักจักเกื้อหนุนให้เราผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี
    :- https://visalo.org/article/kidFamily254806.htm

     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    จะไปสู่สุคติได้อย่างไรเมื่อเป็นอัลไซเมอร์
    พระไพศาล วิสาโล
    แม่ของดิฉินโทรมาเล่าให้ฟังว่า ลูกชายอายุ 5 ขวบ ร้องไห้บอกยายว่า ไม่อยากตาย อยากอยู่นานๆ ดิฉันฟังแล้วไม่สบายใจมาก เด็กพูดแบบนี้ถือว่าแปลกไหมคะ

    เป็นธรรมดาของเด็กที่ยังไม่เข้าใจความตาย หรือยังยอมรับความตายไม่ได้ คุณไม่ควรมองว่าเป็นปัญหามาก อย่างไรก็ตามการที่เด็กมีความรู้สึกเช่นนั้นคงเพราะมีคนพูดเรื่องความตายให้กลายเป็นเรื่องน่ากลัวหรือเลวร้าย หากอยากให้ลูกเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่เล็ก ควรพูดถึงเรื่องความไม่เที่ยงหรือความแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่ง ซึ่งปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวัน เช่น พระอาทิตย์ขึ้นแล้วตก ดอกไม้บานแล้วร่วงโรย หรือใบไม้ที่ผลิแล้วร่วง ต้นไม้เกิดแล้วตาย การปูพื้นในเรื่องนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจความตายได้ง่ายขึ้น

    เคยฟังธรรมมาว่า ถ้าเผชิญความตายด้วยใจสงบหรือวางจิตให้เป็นกุศล จิตก็จะไปสู่สุคติได้ แต่ในกรณีแม่ของดิฉัน ท่านเป็นโรคอัลไซเมอร์ ไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวเองเป็นใคร ท่านจะต้องทำอย่างไรให้ตายด้วยใจสงบได้หรือคะพระอาจารย์

    คนที่เป็นอัลไซเมอร์นั้น ถึงแม้สมองจะบกพร่องจนจำอะไรไม่ได้แม้กระทั่งตัวเอง แต่จิตน่าจะมีความสามารถในการรับรู้อารมณ์อันเป็นกุศลได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ก็ตาม และเป็นไปได้ว่าเขาอาจมีความรู้สึกตัวเป็นพัก ๆ แม้ไม่บ่อยนักก็ตาม มีคนเล่าว่าเคยเห็นแม่ของตนซึ่งเป็นอัลไซเมอร์อย่างหนัก บางช่วงก็ลุกขึ้นมาสวดมนต์เวลาอยู่ลำพังในห้องนอน ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำคือ คุยเรื่องดี ๆ กับท่าน พูดถึงบุญกุศลที่ท่านเคยทำหรือความดีที่ท่านภาคภูมิใจ อ่านหนังสือธรรมะให้ท่านฟัง ชวนท่านสวดมนต์ย่อ ๆ ใจอันเป็นกุศลของคุณสามารถสื่อไปถึงใจของท่านได้ไม่มากก็น้อย คุณควรทำเช่นนี้เป็นประจำแม้ในยามที่ท่านป่วยหนักและใกล้ตาย ความรู้สึกดี ๆ ท่านที่ได้รับจากคุณ หรือจากการทำสิ่งดี ๆ ร่วมกับคุณ จะช่วยให้ท่านพบกับความสงบในวาระสุดท้ายได้

    หนูเป็นคนไม่กลัวความตาย รู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดา แต่พอหนูพยายามบอกแฟนว่า ให้วางแผนชีวิตดีๆ ต่อไปถ้าพ่อเขาตายแล้ว เขาก็จะต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง (พ่อเขายังแข็งแรงดีค่ะ หนูแค่อยากให้เขาพึ่งตัวเองให้ได้)
    ทั้งๆ ที่หนูหวังดี พูดเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นจริง แต่เขากลับโกรธหนู หาว่าหนูไปแช่งพ่อเขา หนูควรต้องทำอย่างไรคะ ถ้าต้องการเตือนสติเขาเรื่องนี้ แต่พูดตรงๆ ไม่ได้


    ควรเตือนเขาทางอ้อม ด้วยการพูดถึงกรณีอื่น เช่น คนที่ตายแบบกะทันหัน ทั้ง ๆ ที่มีสุขภาพดี ทำให้ลูกหลานเป็นทุกข์มาก เพราะไม่ได้เตรียมใจไว้เลยกับเรื่องนี้ หรือเกิดเรื่องวุ่นวายเพราะผู้ตายไม่ได้ทำมรดกไว้เลย หากเป็นกรณีของคนใกล้ตัว หรือคนที่เขารู้จัก หรือเป็นคนดัง ก็น่าจะช่วยให้เขาฉุกคิดหรือเฉลียวใจ ไม่ประมาทกับเรื่องแบบนี้ นอกจากนี้ควรบอกเขาด้วยว่า พุทธศาสนาไม่ได้มองว่าการพูดเรื่องนี้เป็นอัปมงคลหรือเป็นการแช่ง หากเป็นการพูดเพื่อเตือนใจให้ไม่ประมาท ถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นมงคลอย่างยิ่งเลยทีเดียว ดังมีพุทธภาษิตว่า การไม่ประมาทในธรรมทั้งปวง เป็นมงคลอันสูงสุด

    ปู่ของดิฉันเสียชีวิตไป 6 ปีได้แล้ว แต่ดิฉันยังทำใจไม่ได้ ทุกครั้งที่นึกถึงท่าน ดิฉันก็จะร้องไห้ ท่านเลี้ยงดิฉันมาตั้งแต่เด็ก รักและมีพระคุณกับดิฉันมาก แต่ท่านชอบด่าและใส่ร้ายแม่ของดิฉัน ดิฉันจึงโกรธและพูดจาไม่ดีกับท่านมาตลอด กระทั่งท่านเสียชีวิต ดิฉันจึงสำนึกสิ่งที่ทำไม่ดีกับท่าน อยากจะแก้ไขแต่ทำไม่ได้แล้ว พยายามกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล แต่ก็รู้สึกว่าช่วยอะไรไม่ได้ ดิฉันอยากจะทำใจเรื่องนี้ให้ได้ จะต้องทำอย่างไรคะพระอาจารย์

    คุณลองเขียนจดหมายถึงท่าน หรือพูดต่อหน้าภาพถ่ายของท่าน เสมือนว่าท่านนั่งอยู่ข้างหน้าคุณ แล้วเล่าความในใจของคุณให้ท่านฟัง กล่าวคำขอโทษท่าน รวมทั้งขอบคุณที่ท่านดูแลคุณเป็นอย่างดี เวลาคุณนั่งสมาธิแล้วใจสงบ อาจเชิญท่านมาหาคุณในจินตนาการ แล้วพูดทุกอย่างที่คุณอยากพูดกับท่าน วิธีเหล่านี้น่าจะช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกผิดในใจคุณได้
    :- https://visalo.org/article/secret255902.html
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    น้อมธรรมตามรอยในหลวง
    พระไพศาล วิสาโล

    ธรรมบรรยายหลังทำวัตรเย็น วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙
    อาตมาได้พิจารณาถึงเหตุการณ์เมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมา อดคิดไม่ได้ว่ามันมีอะไรหลายอย่างพานพ้องกับเหตุการณ์วันเดียวกันเมื่อ ๔๓ ปีก่อน มันเป็นความพ้องกันโดยบังเอิญในบางแง่ พวกเราหลายคนคงจะจำได้ โดยเฉพาะคนที่อายุ ๖๐ หรือ ๕๐ กว่าปีขึ้นไป เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นกลางกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะที่ถนนราชดำเนิน มีคนล้มตายบาดเจ็บเป็นอันมาก จนถึงเย็นวันที่ ๑๖ ตุลาคม เหตุการณ์จึงสงบ เพราะว่าจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ลี้ภัยไปต่างประเทศ บ้านเมืองจึงคืนสู่ความสงบ และคืนนั้นในหลวงก็มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ เข้าใจว่าเป็นการถ่ายทอดสด ประโยคแรกที่พระองค์ตรัสก็คือ “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค” อาตมาจำได้ชัด ตอนนั้นอายุ ๑๖ ปี ขณะที่ตรัสประโยคนี้พระพักตร์ของพระองค์เศร้าหมองมาก เพราะมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

    เหตุการณ์เมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมา แม้จะไม่มีผู้ใดกล่าวประโยคนี้อย่างที่พระองค์มีพระราชดำรัสเมื่อ ๔๓ ปีก่อน แต่หัวใจของคนไทยทุกคนก็รู้ว่า นี้คือวันมหาวิปโยค ถึงแม้เหตุการณ์ทั้งสองจะแตกต่างกันมาก เหตุการณ์แรกเมี่อ ๔๓ ปีที่แล้ว มีคนตายเกือบร้อยคน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก มีการเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง บ้านเมืองเกิดจลาจลวุ่นวาย แต่ช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมา ไม่ได้มีคนล้มตายมากขนาดนั้น มีเพียงบุคคลเดียวที่จากไป แต่เป็นคนสำคัญของชาติ คือในหลวงของเรา
    แม้จากไปเพียงคนเดียว หรือพระองค์เดียว แต่ผู้คนก็เศร้าโศกเสียใจกันมาก โดยเฉพาะเมื่อวานตอนเย็นวันที่ ๑๔ ตุลา อาตมาดูการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ พิธีเคลื่อนพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราช มายังพระบรมมหาราชวัง สองฝั่งตลอดเส้นทางจากศิริราช สนามหลวงจนถึงพระบรมมหาราชวัง มีผู้คนชุมนุมนับหมื่นนับแสน แต่งชุดดำบ้าง ขาวบ้าง หลายคนน้ำตานองหน้า ไม่มีเสียงดัง ไม่มีเสียงดนตรี มีแต่เสียงรถ แต่ในใจของผู้คนร่ำไห้ โดยเฉพาะที่สนามหลวงหน้าพระบรมมหาราชวัง

    สนามหลวงเมื่อ ๔๓ ปีก่อนมีสภาพเหมือนกับสมรภูมิสงคราม เสียงดังทั้งรถถัง ทั้งปืน หลายคนคงนึกนึกภาพออก มันตรงข้ามกับเหตุการณ์เมื่อวานที่เงียบสงบ จนวังเวง แต่ว่าในใจของผู้คนมีแต่ความ หนักอึ้งและเบาโหวงในเวลาเดียวกัน หนักอึ้งเพราะความเศร้าโศกกดทับ ขณะเดียวกันก็เบาโหวงเพราะว่าบางอย่างที่มีความสำคัญอย่างยิ่งได้สูญหายไปจากจิตใจ จึงพูดได้เต็มปากว่า เมื่อวานต่อเนื่องมาถึงวันนี้เป็น “วันมหาวิปโยค” ถึงแม้ไม่มีใครเอ่ยคำนี้ออกมาเหมือนที่ในหลวงเคยตรัสไว้เมื่อ ๔๓ ปีก่อนก็ตาม

    แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองไม่เหมือนกันเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความเศร้าโศกเสียใจของผู้คน อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าความเศร้าโศกเสียใจหรือความวิปโยคของคนไทยในช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมา อาจใช้เวลาเยียวยานานกว่าเมื่อ ๔๓ ปีที่แล้ว เมื่อปี ๒๕๑๖ นั้นแม้มีคนตายเกือบร้อย แต่หลายคนก็รู้สึกว่าเป็นการสูญเสียที่คุ้มค่า เพราะประชาชนได้ชัยชนะคือประชาธิปไตย ส่วนครอบครัวของผู้สูญเสียชีวิตก็ทำใจได้ เพราะรู้สึกว่าคนรักของเขาไม่ได้ตายเปล่า อีกทั้งได้รับการยกย่องเป็นวีรชน ได้รับพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติที่สนามหลวงในปีถัดมา เพราะฉะนั้นความเศร้าโศกเสียใจจึงได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วพอสมควร แม้จะไม่ได้สมานสนิทก็ตาม แต่ความวิปโยคในช่วงเวลา ๒-๓ วันที่ผ่านมาคงใช้เวลาเยียวยานานพอสมควร เหตุผลสำคัญคือว่า ในหลวงจากไปชั่วนิจนิรันดร์ โดยไม่มีอะไรทดแทนและชดเชยได้ จึงเป็นความสูญเสียอย่างถาวร ซึ่งต้องใช้เวลาในการเยียวยา

    แม้เวลาจะมีส่วนช่วย แต่ถ้าเราอยากเยียวยาจิตใจเราจากความโศกเศร้า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ การนึกถึงน้ำพระทัยและความดีของพระองค์ เวลานึกถึงแล้วจิตใจเราจะเกิดเป็นกุศลขึ้นมา เกิดปีติ เกิดแรงบันดาลใจ ความเศร้าเป็นอกุศลธรรม แต่ปีติ แรงบันดาลใจ เป็นกุศลธรรม สามารถช่วยบรรเทาความเศร้าโศกได้ และถ้าหากว่าเราไม่ได้แค่นึกถึง แต่ลงมือทำด้วย ความโศกเศร้าก็จะบรรเทาลงมาก สิ่งที่จะช่วยเยียวยาความเศร้าโศกที่ดีที่สุดก็คือการดำเนินรอยตามพระองค์ หรือทำตามพระปณิธานของพระองค์

    อย่างไรก็ตาม เราย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า การเดินตามพระองค์ไม่ใช่เรื่องง่าย จะทำได้ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่สำคัญ คือใจ การบำเพ็ญตามพระกรณีกิจแม้เพียงแค่หนึ่งในร้อยของพระองค์ ต้องอาศัยใจเป็นสำคัญ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ” จะทำได้อย่างในหลวงเพียงเศษเสี้ยว ก็ต้องมีใจอย่างพระองค์ หรือว่าพูดอีกอย่างว่า มีธรรมะในใจอย่างที่พระองค์มี ถ้ามีธรรมะดังกล่าวในใจแล้ว การพูดการกระทำก็ออกมาได้ง่ายขึ้น

    ธรรมะหรือความดีงามของพระองค์มีมากมาย แต่ถ้าสรุปอย่างสั้น ๆ ก็รวมลงที่ธรรมะ ๑๐ ข้อ ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม แม้เป็นธรรมะสำหรับผู้ปกครอง แต่ก็เป็นธรรมะที่เราควรน้อมนำมาใส่จิตใจของเราด้วย

    สองข้อแรกเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและทำเป็นประจำอยู่แล้วคือ ทานและศีล ทาน คือการให้ สละสิ่งของ รวมถึงสละเวลา

    ศีล หมายถึงการรักษากายและวาจาของตนให้เป็นปกติ ไม่เบียดเบียนใคร หมายถึงศีล ๕ เป็นอย่างน้อย

    ข้อที่ ๓ ปริจจาคะ คือบริจาค ไม่ใช่บริจาคเงินทอง แต่มากกว่านั้น คือ สละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อันนี้เราเห็นได้ชัดจากพระกรณียกิจของพระองค์ ว่าที่จริงพระองค์สามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระราชามหากษัตริย์ แต่พระองค์ทรงบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่เปิดงานอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่เสด็จพระราชดำเนินไปถึงชนบท ถิ่นทุรกันดาร สมัยก่อนเส้นทางลำบากมาก บางแห่งมีถนน แต่หลายแห่งก็ไม่มีถนน เต็มไปด้วยภูเขา เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน พระองค์ก็เสด็จไป ทรงพระดำเนินด้วยเท้าก็บ่อย อันนี้เราเห็นตัวอย่างได้จากภาพยนต์หรือวิดีโอ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงโดดเด่นในคุณธรรมข้อนี้ ทรงเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อพสกนิกร

     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    (ต่อ)
    หลายคนตั้งใจรักษาศีล แต่ถ้าหากต้องละทิ้งความสุขส่วนตัว เช่นมาอยู่วัด ก็กลัวลำบาก เลยปฏิเสธ ไม่ยอมมา จะให้ทานหรือรักษาศีลที่บ้านก็ยังไหว แต่จะให้มาวัดไม่เอา เพราะมันลำบาก บางคนอยากช่วยเหลือคนชนบท แต่พอรู้ว่ามีความลำบากรออยู่ ก็ปฏิเสธทันที อย่างนี้เรียกว่ายังไม่มีปริจจาคะ ยังหวงแหนความสุขส่วนตัว ซึ่งในหลวงของเราไม่มีอันนี้

    ข้อที่ ๔ อาชชวะ คือความซื่อตรง มีความหมายคล้าย ๆ สัจจะ อันนี้เป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของพระมหากษัตริย์ ดังคำกล่าวว่า “กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” ในหลวงของเราตั้งแต่ครองราชย์ใหม่ ๆ ได้มีปฐมพระราชดำรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นี้เป็นเสมือนคำสัญญาซึ่งพระองค์ทรงรักษาตลอดพระชนม์ชีพ ถ้าเราทำได้แม้เพียงส่วนเสี้ยวของพระองค์คือมีความซื่อตรง มีความสัตย์จริง พูดคำไหนเป็นคำนั้น ก็ถือว่าเราได้บำเพ็ญธรรมข้อนี้แล้ว

    ข้อที่ ๕ มัททวะ คือความอ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เจ้ายศเจ้าอย่างหรือถือตัว อันนี้ก็เป็นธรรมะที่เราเห็นได้จากพระองค์ เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหนโดยเฉพาะชนบท บางทีก็ประทับนั่งในกระท่อมมีพระราชดำรัสกับชาวบ้าน ไม่มีอาสนะ ไม่มีเบาะรองรับ บางทีก็ประทับนั่งอยู่บนถนน ทอดพระเนตรแผนที่ ท่ามกลางข้าราชบริพาร นี้คือมัททวะ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เคยเล่าว่า เวลาพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังชนบทถิ่นทุรกันดาร บ่อยครั้งพระองค์ก็ทรงขับรถพระที่นั่งเอง ไม่ได้มีมหาดเล็กขับให้ พอถึงที่หมายพระองค์ก็ทรงงานเลย ตรัสสนทนากับชาวบ้าน เสด็จไปดูสถานที่ต่างๆ บางแห่งก็ต้องทรงพระดำเนินเป็นระยะทางไกล ๆ พอเสร็จภารกิจก็ทรงขับรถกลับ มหาดเล็กหรือเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ข้างหลัง บางทีก็ได้หลับพักเหนื่อยไปด้วย แต่ในหลวงไม่ได้พัก อันนี้แสดงถึงความไม่ถือตนของพระองค์ ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง

    บางคนไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นแค่พ่อแม่ ก็ถือตัวกับลูกแล้ว บางคนเป็นครูก็แสดงความเจ้ายศเจ้าอย่างกับนักเรียน บางคนเป็นครูใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ก็แสดงอำนาจบาตรใหญ่กับครูน้อยหรือภารโรง บางคนเป็นแค่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอก็มีพิธีรีตองมากมายกับชาวบ้าน อันนี้เรียกว่าขาด มัททวะ ถ้าหากประชาชนและข้าราชการมีมัททวะ ก็สามารถทำประโยชน์ได้มากมาย และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ราบรื่นได้ มัททวะไม่ได้หมายถึงการคลุกคลีตีโมง แต่หมายถึงการไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำการงานก็ไม่ติดที่พิธีรีตอง ไม่ให้พิธีรีตองมาเป็นเครื่องขัดขวางโดยเฉพาะการใกล้ชิดพสกนิกรของพระองค์

    ธรรมะ ๕ ข้อแรก ให้สังเกตว่าเป็นธรรมะฝ่ายบวก เน้นที่การทำสิ่งดี ๆ ให้มากขึ้น ส่วน ๕ ข้อหลังเน้นธรรมะฝ่ายลบ หมายถึงการควบคุมสิ่งไม่ดี ไม่ให้มีอิทธิพลต่อจิตใจ หรือละเว้นการกระทำที่ไม่ดี

    ข้อที่ ๖ ตปะ หรือตบะ คือการข่มใจ ไม่หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญหรือการปรนเปรอตนพูดง่าย ๆ คือ ข่มใจไม่ให้เพลิดเพลินหลงใหลในวัตถุรวมทั้งสิ่งเย้ายวนใจ ธรรมดาของผู้ที่เป็นใหญ่มีอำนาจมักมีคนมาปรนเปรอ ทั้งวัตถุและคำสรรเสริญ ผู้ใหญ่ที่ทรงธรรมจำเป็นต้องมีตบะ รู้จักข่มใจไม่ให้เพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านี้ หาไม่แล้วก็จะเสียผู้เสียคน ไม่เป็นอันทำงาน หรือใช้อำนาจในทางมิชอบได้

    ลองถามตัวเราเองว่า เราเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า หรือว่าพอมีความเราสุขสบาย เราก็เพลินหลงใหลไปกับมัน ลองถามตัวเราเองว่าเราติดสบายหรือเปล่า จะไปนอนที่ไหนก็ต้องมีห้องติดแอร์ มีคนคอยบริการ พอมาอยู่วัดก็เลยอยู่ไม่ได้ อย่างนี้แล้วเราจะดำเนินตามรอยพระองค์ได้อย่างไร เราต้องรู้จักข่มใจไม่เพลิดเพลินกับความสุข ความสะดวกสบายมีก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีแล้วติดมันก็จะหน่วงเหนี่ยวให้เราทำความดีได้ยาก ไม่ว่าการปฏิบัติธรรมหรือการช่วยเหลือผู้อื่น

    ข้อที่ ๗ ขันติ คือความอดทน ข้อนี้ดูเผิน ๆ คล้ายกับข้อที่ ๖ คือ ตบะหรือความข่มใจ แต่ที่จริงแตกต่างกัน ตบะนั้นเป็นการข่มใจต่อสิ่งที่น่ายินดีหรือให้ความสุขแก่เรา ส่วนขันตินั้นคือความอดทนต่อสิ่งที่ไม่น่ายินดีหรือสิ่งที่เป็นลบ เช่น อดทนต่องานที่ตรากตรำ ยากลำบากอย่างไรก็ไม่ท้อถอย แม้ถูกด่าทอต่อว่าถากถางอย่างไรก็ไม่เสียกำลังใจ ยังทำงานต่อไปได้ ถามตัวเราเองว่าเรามีธรรมะข้อนี้ไหม ถ้าไม่มีก็ควรสร้างขึ้นมา

    ข้อที่ ๘ อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ อันนี้ยากหน่อย แต่ถ้าเราฝึกสองข้อหลังที่กล่าวมาได้ คือ ตบะกับขันติ ก็จะทำให้เรามีจิตใจเข้มแข็ง เจออะไรก็ไม่รู้สึกขัดอกขัดใจง่าย ๆ คนที่ติดสบายพอเจอสถานที่ไม่สบายก็รู้สึกขัดใจแล้ว ทำไมไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม ไม่มีน้ำแข็ง ถ้าไม่มีขันติ พอเจอความยากลำบาก เจออุปสรรค ก็เกิดความขุ่นเคืองใจแล้วกลายเป็นความโกรธในที่สุด

    อักโกธะ หรือความไม่โกรธนั้น เราฝึกได้ด้วยการหมั่นรู้ทันความโกรธ ไม่ต้องข่มความโกรธ แค่รู้ทัน ความโกรธก็บรรเทาเบาบาง เมื่อไม่มีความโกรธแล้วก็บำเพ็ญข้อต่อไปได้ง่าย

    ข้อที่ ๙ อวิหิงสา คือการไม่เบียดเบียน อักโกธะกับอวิหิงสาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้มีอำนาจ เริ่มจากพ่อแม่ พ่อแม่มีอำนาจเหนือลูก หัวหน้ามีอำนาจเหนือลูกน้อง ผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือผู้ใต้บังคับบัญชา พอมีอำนาจก็มักจะระบายความโกรธและเบียดเบียนเขาได้ง่าย เช่น ถากถางด้วยคำพูด บางทีก็ถึงกับใช้กำลัง เช่น ตบหัว บางคนทำอย่างนี้กับลูก หรือกับลูกน้องเป็นอาจิณ เราควรเรียนจากในหลวงในข้อนี้ด้วย

    ข้อสุดท้ายเป็นบทสรุปของธรรมะ ๙ ข้อก่อนหน้านี้ ได้แก่ อวิโรธนะ คือความไม่คลาดเคลื่อนในธรรม หรือตั้งมั่นในธรรมนั่นเอง เริ่มตั้งแต่ในใจ คือไม่ยินดียินร้าย เจอสิ่งสบาย เช่น โลกธรรมฝ่ายบวก ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับคำสรรเสริญ หรือสุข ก็ไม่ยินดีกับมันจนกระทั่งลุ่มหลงประมาท หรือยอมผิดศีลผิดธรรมเพื่อให้ได้มันมา การทำความชั่ว เช่น คอรัปชั่นเกิดขึ้นได้ก็เพราะจิตใจไม่มั่นคงในธรรม เจอสิ่งล่อเร้าเย้ายวน เช่น กามสุข เงินทอง หรือมีโอกาสที่จะคดโกง ใจก็โอนเอนแล้ว ในทำนองเดียวกันพอเจอคำต่อว่าด่าทอ หรือเจอโลกธรรมฝ่ายลบ แม้กระทั่งเวลาเจออาหารไม่อร่อยก็เกิดความยินร้าย แล้วปล่อยใจให้ความยินร้ายครอบงำ อย่างนี้เรียกว่าคลาดเคลื่อนจากธรรมแล้ว

    แต่ถ้าเราหมั่นเจริญสติ การเจริญอวิโรธะก็ทำได้ง่าย สติทำให้เราวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ยินร้ายในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ อารมณ์ในที่นี้คือ รูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส และรวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจ มีความโกรธเกิดขึ้นในใจก็ไม่รู้สึกยินร้ายอยากผลักไส แค่รู้เฉย ๆ เรียกว่ารู้ซื่อ ๆ มีความยินดีเกิดขึ้นในใจ ก็ไม่ได้หลงใหลเคลิ้มคล้อยไปกับมัน รู้เฉย ๆ เช่นกัน

    ถ้าเราน้อมนำเอาธรรมะ ๑๐ นี้มาใช้ ชีวิตเราจะมีความสุขและเจริญงอกงาม ทำให้การดำเนินตามรอยพระยุคลบาทเป็นไปได้ง่าย หรือเป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่น้อมนำธรรมะเหล่านี้มาไว้ในใจเรา ทำอย่างไรก็ไม่สามารถดำเนินตามพระองค์ได้ จะเดินตามได้ ใจก็
    ต้องเริ่มก่อน ถ้าใจไม่เริ่ม เท้าก็ไม่เดินหรอก

    บางคนอาจจะคิดว่า ธรรมทั้ง ๑๐ เป็นเรื่องของพระราชาหรือผู้ปกครอง เราไม่ใช่พระราชา ทศพิธราชธรรมไม่เกี่ยวกับเรา จริงอยู่เราไม่ใช่ราชา ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่แทบทุกคนก็ต้องมีคนในปกครอง อย่างน้อยก็ลูก กว้างออกไปก็ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ที่สำคัญก็คือเราต้องครองตนให้ได้ด้วย บางคนไม่มีลูก ไม่มีลูกน้อง แต่เราก็ต้องรู้จักครองตน ครองใจไม่ให้กิเลสครอบงำ
    ทศพิธราชธรรม เป็นธรรมที่เราเอามาใช้ครองใจไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำ ไม่ให้มันฉวยโอกาสเข้ามาบงการเราให้ทำสิ่งชั่วร้าย ผิดศีลผิดธรรม ซึ่งสุดท้ายก็จะนำความทุกข์มาให้เรา

    เพราะฉะนั้นในเวลาเช่นนี้ นอกจากความเศร้าโศกเสียใจแล้ว ขอให้เราระลึกถึงคุณความดีของพระองค์ มุ่งมั่นที่จะทำความดี เจริญรอยตามพระองค์ สิ่งแรกที่เราทำได้เลยคือ น้อมนำธรรมะที่พระองค์ทรงปฏิบัติ มาใช้กับตัวเราตั้งแต่เดี๋ยวนี้ วันนี้ ไม่ว่าทาน ศีล ปริจจาคะ อาชชวะ มัททวะ ตบะ ขันติ อักโกธะ อวิหิงสา และอวิโรธนะ อย่างน้อย ๆ ก็พยายามทำ ๕ ข้อแรกให้ได้ แล้ว ๕ ข้อหลังก็จะทำได้ง่ายขึ้น

    :- https://visalo.org/article/normDham.html
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    รักษากาย ฟื้นฟูใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    วันหนึ่งป้าชวนน้องโยซึ่งเป็นหลานชายวัย ๗ ขวบซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เข้าไปในเมือง แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุ มีรถเข้ามาพุ่งชน ปรากฏว่าป้าแขนหัก ส่วนน้องโยขาเละไปข้างหนึ่ง ทั้งสองถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนครปฐมอย่างเร่งด่วน เมื่อมาถึงห้องผ่าตัด หมอสังเกตว่าน้องโยเงียบสนิท ขณะที่ป้าร้องโอดโอยอยู่ใกล้ ๆ หลังจากผ่าตัดเสร็จ หมอจึงถามน้องโยว่า ทำไมไม่ร้องเลย น้องโยตอบสั้น ๆ ว่า “ผมกลัวป้าเสียใจครับ”

    นงค์ป่วยเป็นโรคพุ่มพวง ไตวายเพราะแพ้ภูมิคุ้มกันของตัวเองตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ เธอมีประสบการณ์ไม่ดีกับการรักษา คือถูกเจาะไขสันหลังแล้วรู้สึกเจ็บมาก จึงเกลียดหมอและกลัวเข็มฉีดยาเป็นที่สุด ทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลเธอจะด่าหมอแล้วร้องกรี๊ดจนชัก หลายครั้งก็เกร็งจนหมดสติไป แต่ต่อมาเธอได้รู้จักหมอที่เข้าใจปัญหาของเธอ หมอให้เธอเล่าถึงความรู้สึกของเธอ เช่นโกรธใครบ้าง เครียดเรื่องอะไร บางทีหมอก็แนะให้เธอเขียนเล่าฝันร้ายของเธอให้หมออ่าน ไม่นานความเครียดของเธอก็ลดลง

    เมื่อเธอโตขึ้นหมอก็แนะนำให้เธอเดินจงกรมอย่างมีสติ แล้วชวนเธอไปเข้าคอร์สกรรมฐาน หลังจากนั้นเธอก็ไม่กลัวเข็มฉีดยาอีกเลย เวลาฟอกไต เธอจะนิ่งมาก จ้องมองเข็ม กำหนดลมหายใจแล้วก็หลับไป วันที่เธอผ่าตัดเปลี่ยนไต เธอแพ้ยาแก้ปวดจนอาเจียน แผลระบม หมอไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร แต่เธอบอกว่าขอพารา ฯเม็ดเดียว พอกินเสร็จ เธอก็กำหนดลมหายใจเข้าออกจนหลับไป ไม่ส่งเสียงร้องเจ็บเลยแม้แต่น้อย จนหมอแปลกใจมาก

    น้องโยกับนงค์เป็นตัวอย่างของคนไข้ที่ถูกความทุกข์ทางกายบีบคั้นอย่างรุนแรง แต่ก็สามารถเผชิญกับทุกขเวทนาดังกล่าวได้อย่างนิ่งสงบเป็นที่น่าอัศจรรย์ ทั้งสองไม่ได้สงบด้วยยา แต่สงบเพราะใจเป็นสำคัญ คนหนึ่งไม่ปริปากร้องเพราะเป็นห่วงป้า ไม่อยากให้ป้าทุกข์มากกว่านี้ อีกคนหนึ่งนิ่งได้เพราะอาศัยสติและสมาธิ แม้ว่าการวางใจของทั้งสองคนจะต่างกัน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตใจนั้นมีพลังมหาศาล สามารถช่วยให้คนเราทนสิ่งที่ทนได้ยาก และทำสิ่งที่ทำได้ยาก

    ในการเยียวยารักษาพยาบาล ใจมักจะถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย สิ่งที่ได้รับความสำคัญมากกว่าคือยา อุปกรณ์การแพทย์ หมอ พยาบาล รวมถึงระเบียบข้อบังคับของสถานพยาบาล แม้ว่าในระยะหลังจะให้ความสำคัญกับบทบาทของคนไข้มากขึ้น แต่ก็มักเน้นบทบาทในส่วนที่เป็นพฤติกรรมทางกายภาพ เช่น การกิน การออกกำลังกาย ในขณะที่จิตใจของคนไข้ไม่ได้รับการเยียวยา ฟื้นฟู หรือกระตุ้นเพื่อหนุนเสริมร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ หรืออย่างน้อยก็ให้สามารถอยู่กับความทุกข์ทางกายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำให้ทุกขเวทนาไม่ลุกลามไปเป็นความทุกข์ทรมาน

    กายกับใจนั้นสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก บุคลากรทางสาธารณสุขจึงไม่ควรละเลยมิติด้านจิตใจ แม้ว่างานที่ทำนั้นจะวัดความสำเร็จกันที่สุขภาพกายก็ตาม นั่นหมายความว่าเมื่อเขามาหาเราเพราะความเจ็บป่วย ในการวินิจฉัยก็ควรมองให้ครอบคลุมถึงสภาพทางจิตใจของเขาด้วยว่ามีส่วนทำให้ร่างกายของเขาเจ็บป่วยด้วยหรือไม่ หรือว่าแท้จริงแล้วกายไม่ได้มีอะไรผิดปกติเลย แต่เป็นความเจ็บป่วยด้วยสาเหตุทางใจล้วน ๆ (แม้จะแสดงออกมาที่กายก็ตาม)

    ในทำนองเดียวกันเมื่อจะเยียวยารักษาเขา นอกจากการฟื้นฟูร่างกายด้วยยาหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว ควรส่งเสริมให้เขาวางใจอย่างถูกต้อง หรือเสริมสร้างพลังใจให้มาช่วยกายในการต่อสู้กับความเจ็บป่วย หรืออยู่กับความเจ็บป่วยได้อย่างไม่ทุกข์ทรมาน
    แต่เท่านี้ยังไม่น่าจะพอ เพราะเป็นการทำงานแบบตั้งรับในสถานพยาบาล ในการออกไปทำงานกับชุมชน นอกจากการส่งเสริมสุขภาพกายแล้ว บุคลากรทางสาธารณสุขควรร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพใจของชาวบ้าน ตรงจุดนี้เองที่ความสัมพันธ์ภายในชุมชน ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีมีบทบาทสำคัญ เพราะความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกลมเกลียวย่อมช่วยให้ชุมชนมีสุขภาพจิตดี มีความแช่มชื่นเบิกบาน ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยวัฒนธรรมและประเพณีที่มีอยู่แล้วในชุมชน ทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    (ต่อ)
    การส่งเสริมสุขภาพใจไม่จำต้องแยกออกจากการส่งเสริมสุขภาพกายของชุมชน ถึงแม้จะรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู หรือโรคเอดส์ หากทำโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและอาศัยกระบวนการกลุ่ม โดยอาจอิงวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นไปด้วย ก็จะสามารถส่งเสริมสุขภาพจิตของชุมชนไปได้พร้อม ๆ กัน วิธีการดังกล่าวแม้ใช้เวลามากกว่าการส่งคนมาบรรยายให้ชาวบ้านฟังที่ศาลากลางบ้านแบบม้วนเดียวจบ แต่ผลที่ได้จะยั่งยืนกว่า และให้ผลไม่เฉพาะสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพใจของชุมชนด้วย เพราะทำให้ชุมชนมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและกลมเกลียวกันมากขึ้น

    ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องมิติทางจิตใจของชาวบ้านหรือผู้ป่วย แต่ก็อย่าลืมว่ามิติทางจิตใจของบุคลากรสาธารณสุขก็สำคัญ ในการทำงานไม่ว่าที่สถานพยาบาลหรือในชุมชน เราต้องเรียนรู้ที่จะฟื้นฟูหรือหล่อเลี้ยงจิตใจของตนให้มีพลัง และนำพลังนั้นมาหนุนเสริมการทำงานให้เป็นไปได้อย่างยั่งยืน ใจที่รักษาไว้ดีสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเอาชนะทุกขเวทนาได้ฉันใด จิตที่วางไว้อย่างถูกต้องย่อมช่วยให้เราเอาชนะความเครียดและเหนื่อยล้าได้ฉันนั้น จะว่าไปแล้วบ่อยครั้งความทุกข์ของบุคลากรสาธารณสุขมิใช่ความทุกข์กาย แต่เป็นความทุกข์ใจ เช่น ท้อแท้ มองไม่เห็นความสำเร็จ เหนื่อยหน่ายผู้บังคับบัญชา น้อยใจที่ถูกตำหนิอยู่เสมอ ไม่มีใครมองเห็นความดี ฯลฯ ความทุกข์ใจดังกล่าวอาจบั่นทอนตัวเองยิ่งกว่าความเหนื่อยล้าจากการทำงานด้วยซ้ำ

    การนึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเองอย่างน้องโยอาจช่วยให้เราอดทนได้มากขึ้น การรักษาใจด้วยสติ หรือมีสมาธิตั้งมั่นอย่างนงค์สามารถช่วยให้เราสงบเย็นได้แม้อุปสรรคจะรุมเร้า กรณีทั้งสองยังชี้ให้เห็นด้วยว่าคนไข้สามารถเป็นครูสอนใจให้แก่เราได้เป็นอย่างดี การรักษาพยาบาลจึงเป็นกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ไม่ใช่ผู้คนไข้เท่านั้นที่เป็นฝ่ายได้รับความช่วยเหลือจากเรา

    เราสามารถได้กำลังใจและบทเรียนสอนใจอันล้ำค่าจากคนไข้ หากว่าเราเปิดใจที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ จะทำเช่นนั้นได้เราต้องมีความใส่ใจในตัวเขา ฟังเขาอย่างตั้งใจ รับรู้มิใช่แค่ความคิดแต่รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของเขา ไม่ปฏิบัติกับเขาดังกลไกหรือทำตามความเคยชินโดยอัตโนมัติ การเปิดใจรับฟังเขาอย่างมีสติ จะช่วยให้เราเห็นเขาในฐานะมนุษย์มากขึ้น คือมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก มีครอบครัวคนรักที่เขาผูกพัน มีความใฝ่ฝัน มีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งหมดนี้ในที่สุดจะช่วยหล่อเลี้ยงและรักษาความเป็นมนุษย์ของเราเอาไว้ ไม่ให้กลายเป็นเครื่องจักรที่ไร้อารมณ์ และหากเราหันมาฟื้นฟูใจของตนเองให้มีพลัง ดูแลรักษาจิตไม่ให้พลัดหลงไปกับอารมณ์ที่มารุมเร้า รู้จักปล่อยวางอดีตและอนาคต ไม่เพียงเราจะมีพลังในการทำงานมากขึ้นเท่านั้น หากความเป็นมนุษย์ของเราก็จะรุ่มรวยลุ่มลึกมากขึ้น สามารถเข้าถึงต้นธารแห่งความสุขภายในและนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง

    การเยียวยารักษากาย ที่คลอบคลุมไปถึงการฟื้นฟูใจของผู้คน ใช่ว่าจะบั่นทอนกำลังของเราก็หาไม่ หากวางใจอย่างถูกต้อง ก็สามารถส่งผลย้อนกลับมาหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเรา และพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเราให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปพร้อมกัน
    :- https://visalo.org/article/healthRaksakay.htm


     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    ธรรมเพื่อสุขภาวะบนวิถีความพอเพียง
    พระไพศาล วิสาโล
    คำว่า “สุขภาวะ” ได้เปิดมิติมุมมองจากเดิมที่เราให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพในความหมายที่เป็นเพียง “การดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ” ให้กว้างขวางขึ้น

    “สุขภาพ” ในความหมายที่ขยายคลุมไปถึง “สุขภาวะ” นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมิติอื่นๆ ของชีวิตอีกด้วย

    ดังที่ทุกท่านได้ทราบกันดีว่าปัจจุบัน คำว่า “สุขภาวะ” ได้มีการจำแนกออกไปเป็นหลายด้าน ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางจิตและสุขภาวะทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ

    สุขภาวะทางกาย หมายถึง การที่มีสุขภาพทางกายดี มีปัจจัยสี่พอเพียงแก่การดำเนินชีวิต ไม่เป็นโรคขาดอาหาร ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยใดๆ มีสวัสดิภาพในชีวิต ตลอดจนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คือ ปราศจากมลภาวะ เป็นต้น

    สุขภาวะทางสังคม หมายถึง การมีสวัสดิภาพที่ราบรื่น กลมกลืนทั้งในระดับครอบครัว ในระดับชุมชนไปจนถึงสังคม ได้รับการเคารพ ได้รับการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีการช่วยเหลือเจือจุนกัน เรียกว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่งเชื่อมโยงกับสุขภาวะทางจิต

    สุขภาวะทางจิต หมายถึง การที่มีจิตปลอดพ้นจากความทุกข์ ไม่เครียด มีอารมณ์ในเชิงบวก เช่น ความเมตตา ความผาสุก ปลอดพ้นจากโรคจิต หรือว่าโรคประสาท หรือความบีบคั้นทางจิตใจ
    สุขภาวะทางปัญญา หมายถึง การที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต สามารถวางจิต วางใจได้อย่างถูกต้อง คิดดี คิดเป็นและเห็นตรง จนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาชีวิต หรือแก้ปัญหาการทำงานได้ด้วยตัวเอง

    ทั้งสี่ประการนี้ นอกจากจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ผู้คนได้มีความสุข ความสบาย มีความสงบร่มเย็นแล้ว ยังจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญให้สังคมมีความอยู่เย็นเป็นสุข

    นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าสุขภาวะทั้งสี่ประการนี้ เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” มาก เพราะการที่คนเราจะมีสุขภาพกายดีได้ตั้งแต่เริ่มต้นนั้น ไม่เพียงแต่ว่าเรามีปัจจัยสี่พอเพียงแค่ไหน หากแต่ว่าเราสามารถที่จะบริโภคอย่างรู้จักประมาณด้วย
    สุขภาวะทางกาย: “บริโภคนิยม” สู่ “โรคจากการบริโภค”

    ปัจจุบัน เป็นยุคแห่งความล้นเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นกลาง พูดให้ชัดก็คือ เป็น “ยุคบริโภคนิยม” การที่คนจะมีสุขภาพกายที่สมดุลกับการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สังคมไทยได้เคลื่อนจากสภาวะที่มีเด็กขาดอาหารเป็นจำนวนนับล้านคน เมื่อ 30 – 40 ปีก่อน แต่ขณะนี้เรามีปัญหาใหม่ คือเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินถึงร้อยละ 30 -40 พูดง่ายๆ ก็คือ เรากำลังเดินตามสังคมอเมริกา หรือสังคมยุโรป ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการที่เราไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุล คือ “บริโภคมากและออกกำลังกายน้อยเกินไป”

    หลายท่านก็คงได้ทราบข่าวว่าในช่วงปิดเทอม 2-3 เดือนที่ผ่านมา ปรากฎว่าเด็กจำนวนไม่น้อยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 4-5 กิโลกรัม เพราะเด็กจะเอาแต่นั่งดูโทรทัศน์ แล้วก็ไม่ได้นั่งดูเฉยๆ แต่จะหาของขบเคี้ยวกินไปด้วย หรือไม่ก็นั่งแช่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เล่นเกมออนไลน์ต่างๆ นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยในปัจจุบันและกับผู้ใหญ่ด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้คนตายด้วยโรคขาดอาหารมีน้อยลง แต่ว่าคนที่ตายเพราะโรคขี้เกียจมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขถึงกับรณรงค์ให้มีการออกกำลังกายกันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละครึ่งชั่วโมง เนื่องจากทุกวันนี้มีคนตายเพราะโรคขี้เกียจชั่วโมงละ 9 คน โรคขี้เกียจ ก็คือ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากการอยู่อย่างสบายเกินไป ทุกวันนี้ “ต้องอยู่พอดีกินพอดี” เพราะถ้า”อยู่ดีกินดี”ก็จะลงเอยอย่างที่ว่าคือ“อ้วน” แล้วก็เจ็บป่วยง่าย

    ทุกวันนี้ เราเอาความสะดวกสบายเป็นพระเจ้า จะไปปากซอยซึ่งอยู่ห่างแค่ 200 เมตรก็ไม่เดิน แต่ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม้แต่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านชนบทก็ไม่ค่อยอยากจะเดินกันแล้ว มีรถยนต์ มีมอเตอร์ไซค์ก็ใช้กัน จะเห็นได้ว่าแม้ว่าสุขภาวะทางกายซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน สังคมไทยก็มีปัญหาอันเนื่องมาจากการบริโภคเกินและการถือเอาความสะดวกสบายเป็นเกณฑ์ โดยเราไม่เคยคิดว่าความสะดวกสบายมันมีโทษอย่างไรบ้าง พ่อแม่บางคนเพื่อความสะดวกสบายของลูก แม่ไม่อยู่บ้าน พ่อไม่อยู่บ้าน ก็จะเอาขนมขบเคี้ยวสะสมไว้ในตู้เย็นให้ลูกกินได้ตลอดเวลา นี่คือวิธีฆ่าลูกแบบผ่อนส่งในยุคบริโภคนิยม

    นอกจากนั้น ยังมีปัญหามลภาวะที่เกิดจากการที่เราใช้สิ่งแวดล้อม เอาเปรียบทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินพอดี เกินจากขอบเขตของวิถีพอเพียง ทั้งหมดนี้ไปโยงเรื่องของสุขภาวะทางสังคม
    สุขภาวะทางสังคม:
    ชุมชนล่มสลาย ความรุนแรงและอาชญากรรมแพร่กระจาย!


    ด้าน “สุขภาวะทางสังคม” จะเห็นได้ว่าเมื่อครอบครัวเริ่มอ่อนแอ ชุมชนก็เริ่มแตกสลาย(ที่จริงไม่ได้เพิ่งเริ่มแต่เป็นมานานแล้ว หรืออาจจะแตกสลายเรียบร้อยไปนานแล้วในหลายชุมชน)

    ทุกวันนี้ เรามีเวลาให้กับคนอีกซีกโลกหนึ่งผ่านอินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีเวลาให้แม้แต่กับสมาชิกในครอบครัว ทั้งกับพ่อแม่หรือว่าลูกๆ ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน

    เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่า แม่คนหนึ่ง เป็นห่วงลูกซึ่งเอาแต่เล่นเกมออนไลน์ และอินเตอร์เน็ตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง จึงเตือนลูก แต่ลูกไม่ฟังก็ต่อว่า เลยมีการโต้เถียงกัน สุดท้ายลูกก็เลยไม่คุยกับแม่ เพราะลูกจะขอเล่นเกมออนไลน์ แช็ททางอินเตอร์เน็ตจนกระทั่งไม่เป็นอันเรียน ไม่เป็นอันนอน ไม่เป็นอันกินข้าว...ลูกไม่มีเวลาคุยกับแม่ แต่ลูกมีเวลาคุยกับเพื่อนทางอินเตอร์เน็ตได้หลายชั่วโมง สุดท้ายแม่ก็ยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่คุยกับแม่ แม่จะฆ่าตัวตาย ลูกก็ใจเด็ดไม่คุยกับแม่จริงๆ แม่น้อยใจก็เลยไปที่ระเบียงโดดลงมาตาย...

    นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของ “สุขภาวะทางสังคม” ที่เปราะบาง ผู้คนเริ่มเหินห่างจากกัน

    นอกจากนั้น เรื่องสุขภาวะทางสังคม ยังสะท้อนจากปัญหาการข่มเหงทำร้ายหรือปัญหาอาชญากรรม ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีความปลอดภัยแม้แต่ในบ้าน สามีกับภรรยาทะเลาะเบาะแว้งทุบตีกัน

    ความรุนแรงในครอบครัว กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในสังคมไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงในกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ใน 3 บอกว่าเคยถูกสามีใช้ความรุนแรง ความรุนแรงนี้ยังเกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือว่าการกระทำชำเราโดยคนในครอบครัว นี่คือจุดเล็กๆ ที่สะท้อนถึง “สุขภาวะทางสังคมที่อ่อนแอ”

    มีโฆษณาบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ไม่สนใจลูกจนกระทั่งลูกเขียนข้อความติดจดหมายน้อยว่า “พ่อไม่เป็นห่วงลูกไม่เป็นไรแต่ขอให้พ่อเป็นห่วงตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองก็แล้วกัน”
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    (ต่อ)
    บริษัทโทรศัพท์มือถือรายหนึ่ง พยายามโฆษณาว่า “ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อนี้จะทำให้ลูกรักพ่อ และใกล้ชิดกันมากขึ้น” ซึ่งความจริงอาจจะตรงกันข้าม เพราะว่า เมื่อมีโทรศัพท์มือถือแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพบหน้ากันก็ได้ ใช้วิธีเลี้ยงลูกกันทางโทรศัพท์...พ่อแม่ทำงานไปก็โทรศัพท์ไปถามลูก บางทีโทรฯ ถามทุกชั่วโมงเลย...รายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง แม่คนหนึ่งเล่าว่าโทรศัพท์ไปถามลูกว่า “กินข้าวหรือยัง?” ลูกวัยรุ่น เป็นนักเรียนมัธยมรำคาญก็เลยตอบกลับมาว่า “แม่นี่มันบ่ายสามโมงแล้วนะ ถ้าผมยังไม่แดกอะไร ป่านนี้ก็ตายไปนานแล้ว” ใช้คำนี้เลยนะ คือเด็กรำคาญ แต่มันสะท้อนถึงความเหินห่างของแม่กับลูก

    ปัญหาอาชญากรรมยิ่งไม่ต้องพูดถึง เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอาชญากรรม ติดอันดับหนึ่ง อันดับสอง คือ”แอฟริกาใต้” นอกจากนั้นไทยยังได้ชื่อว่ามีโจร ขโมยชุกชุมมากอันดับสอง แอฟริกาใต้ติดอันดับหน
    สุขภาวะทางจิต: คิดให้ (อภัย) เป็น
    ด้าน “สุขภาวะทางจิต” ปัจจุบัน ปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตมีมากขึ้น คนที่มีปัญหาทางจิตเวลานี้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ฆ่าตัวตายประมาณ 7.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงมาก ...ความเครียด ความกดดันอาจมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยที่ชุมชนสังคม ครอบครัวเปราะบาง ลูกขาดความอบอุ่น ครอบครัวทะเลาะกัน

    จากสถิติด้านครอบครัว พบว่า 1 ใน 4 ของพ่อแม่แยกทางกัน เด็กในชนบทประมาณร้อยละ 30 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ครบหน้า แต่ว่าอยู่กับยายหรืออยู่กับ “พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว” ทั้งหมดนำไปสู่ปัญหาทางจิต ซึ่งสะท้อนได้จากปัญหายาเสพติด หรือการใช้ยาคลายเครียดมากขึ้น ปัจจุบันปรากฏว่าประมาณ 1 ใน 4 ของใบสั่งยาในโรงพยาบาลชุมชน เป็นยาเกี่ยวกับการคลายเครียด หรือยาระงับประสาท บางคนมีอาการแปลกๆ พวกใจสั่น หายใจไม่เต็มที่ แน่นหน้าอก พวกนี้เมื่อสาวไปจริงๆ สาเหตุมักเกิดจากความเครียด เกิดจากความโกรธ โกรธพ่อโกรธแม่ บางคนโกรธพี่สาว ทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ

    มีเรื่องเล่าว่า คนไข้รายหนึ่ง เป็นความดันโลหิตสูงและปวดหัวเรื้อรังมาเป็นปี หมอรักษาไม่หาย ตรวจสุขภาพแล้วก็ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่พอสืบประวัติคนไข้ ก็พบว่า เมื่อพูดถึงพี่สาวเธอจะโกรธมาก เพราะพี่สาวไม่สนใจเธอ เลยทำให้รู้เลยว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความโกรธ หมอจึงแนะนำว่าวิธีที่จะช่วยให้เธอหายได้คือ “ให้อภัยพี่สาว” แต่เธอไม่เชื่อ...หลายปีต่อมาเธอเขียนจดหมายมาว่า หายแล้วเพราะให้อภัยพี่สาว

    นี่คือปัญหาทางจิต ที่นำไปสู่สุขภาวะทางกาย ซึ่งเวลานี้เป็นเรื่องใหญ่...

    สุขภาวะทางปัญญา: ความสุขที่เกิดจากความพอเพียงและการให้

    ความร้าวฉาน การไม่รู้จักการให้อภัย การแข่งดีชิงเด่นกัน ครอบครัวที่ไม่อบอุ่นเพราะผู้คนต่างสนใจเรื่องของตัวเอง ทุกคนต่างสนใจแต่การหาเงินหาทอง จน “เงินกลายเป็นพระเจ้า”หลายคนอ้างว่าต้องหาเงินเพื่อ “ความอยู่รอด” แต่ความอยู่รอดของเขา คือ การมีบ้านหลังใหญ่ มีที่ดิน มีเครื่องเพชร เครื่องประดับ ทรัพย์สิน มีเงินหลายล้าน ความอยู่รอดของเขาไม่ใช่แค่การมีกินมีใช้ แต่มันเกินเลย “ความพอเพียง” ไปแล้ว นี่คือข้ออ้างของคนจำนวนมากที่ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว

    ทั้งหมดนี้สะท้อนถึง “สุขภาวะทางปัญญา” คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตที่ไม่ถูกต้อง มีคนพูดเอาไว้ว่า “ปัญหาของคนเราเกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องเงินและความไม่เข้าใจในเรื่องชีวิต” คือ ไปคิดเอาว่าเงินจะเป็นคำตอบในชีวิตได้ คิดว่าเงินสามารถซื้อทุกอย่างได้ หรือคิดว่า “ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีเงินมาก”

    แต่ มิจฉาทิฐิหรือความหลงเกี่ยวกับเงินและวัตถุที่ทำให้สุข ทำให้เกิด “สุขภาวะทางปัญญา”ไม่ได้ ซ้ำจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาวะทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางกาย

    บางคนไม่เข้าใจคิดว่าต้องมีการบริโภคจึงจะมีความสุข ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งมีความสุขมาก เหล่านี้คือความหลง เพราะพบว่า บางครั้งคนที่มีเงินมากก็ไม่มีความสุข บางคนมีธุรกิจเป็นหมื่นล้าน แต่ก็ไม่มีความสุข

    มีนักธุรกิจคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเคยทำธุรกิจ กอบกู้ธุรกิจของครอบครัวจากหนี้สินเป็นหมื่นล้านในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำปี 2540 จนกระทั่งหมดหนี้ และสามารถทำให้ธุรกิจก่อสร้างของพ่อ เจริญเติบโตจนมีทรัพย์สินประมาณหมื่นล้าน ฟังดูแล้วนักธุรกิจคนนี้น่าจะมีความสุข

    แต่วันหนึ่ง เขากลับยอมรับว่า ทุกวันนี้เขาไม่มีความสุขในชีวิตเลย เขาเป็นแค่เศรษฐีหมื่นล้านคนหนึ่ง ที่เมืองไทยมีตั้ง 500 คน ก็เลยขยับตัวเองเข้าไปสู่วงการเมือง กลายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหนึ่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ...เขาบอกว่าวันที่ทางพรรคติดต่อให้เขาเป็นรัฐมนตรี เขามีความสุขที่สุดในชีวิต แต่ต่อมาเขาก็ไม่มีความสุขอีก เพราะอยากเป็นรัฐมนตรีว่าการบ้าง จะเห็นไดว่าคนเรามักจะไม่มีความพอเพียง พยายามไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าจะพบกับความสุขในสถานภาพใหม่ๆ...

    แต่ว่าแท้ที่จริงแล้ว ความสุขมาจากการเสียสละ จากการทำความดี ตอนนี้มีทัศนะคติที่ผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องของความสุข เพราะไปเข้าใจว่า “ยิ่งมีมากยิ่งมีความสุขมาก” แต่ไม่ได้ตระหนักว่า “ความพอเพียง” ก็สามารถทำให้คนเรามีความสุขได้

    “ความพอเพียง” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อหาได้พอเพียงกับการบริโภคแล้วก็หยุดแค่นั้น เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ “พอเพียง”หมายความว่ากินน้อยใช้น้อยแต่ยังขยันอยู่ และที่หามาได้เกินความต้องการ ก็ไม่ใช่เพื่อการบริโภคส่วนตัว แต่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อนำเอาส่วนเกินไปช่วยเหลือสังคม เหมือนคนไทยสมัยก่อนมักจะบริโภคน้อย บ้านก็หลังเล็กๆ แต่ขยันทำงานเพื่อที่จะเอาเงินที่ได้มาไปช่วยเหลือสังคม เช่น ช่วยสร้างวัด ช่วยเหลือคนยากคนจน

    นี่คือความคิดเรื่อง เศรษฐีในสมัยพุทธกาล ซึ่งก็ได้รับการสืบทอดมาในสังคมพุทธมาเป็นลำดับ คือ “บริโภคพอเพียง แต่ว่าทำงานเต็มที่” พอเพียงไม่ได้หมายความว่าทำแบบตำข้าวสารกรอกหม้อ ฉันกินข้าวเท่านี้ฉันก็ตำเท่านี้ มีบางคนวันหนึ่งทำงาน ๘ ชั่วโมงได้ 30 บาท ก็พอดีกับที่ต้องการ แต่วันดีคืนดีปรากฏว่าค่าแรงมันขึ้นจากได้วันละ 30 บาท ก็ได้มาเป็นวันละ 45 บาท เขาก็เลยทำแค่ 3 ใน 4 ของวัน ก็คือ 6 ชั่วโมง ก็เพราะว่าทำ 6 ชั่วโมงก็ได้ ๓๐ บาท เท่ากับที่ฉันต้องการ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าวิถีพอเพียง
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    (ต่อ)
    ความพอเพียงก็คือว่า คุณยังต้องทำเหมือนเดิม ทำ 1 วัน คุณได้มา 45 บาท คุณใช้ 30 ที่เหลืออีก15 บาท คุณไม่ได้เอามาใช้ในการบริโภคเพิ่มเติม แต่ว่าเอาไปใช้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม เอาไปให้วัดให้วา ทำบุญทำกุศลหรือว่าช่วยเหลือคนที่เดือนร้อน นี่คือ “วิถีชีวิตพอเพียง” ในความหมายของหลักพุทธศาสนาคือ บริโภคน้อยแต่ทำมาก มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาช่วยเหลือสังคมด้วยและก็มีเวลาอยู่กับตัวเองในการปฏิบัติธรรม

    ทัศนคติพื้นฐานเพื่อพัฒนาสุขภาวะ : ปัจจัยกำหนดสุขภาวะ
    ทัศนะคติพื้นฐานที่นำไปสู่สุขภาวะทั้ง 4 ประการ ได้แก่
    หนึ่ง คิดถึงส่วนรวม คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง เวลานี้คนไทยคิดถึงตัวเองมากกว่าคนอื่น จะทำอะไรก็จะถามว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร ไม่เคยถามว่าทำแล้วสังคมจะได้อะไร การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยากลำบากมาก เพราะรณรงค์สิ่งแวดล้อมต้องทำให้คนคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว ทำไมไม่ควรใช้โฟม หรือเปิดแอร์เต็มที่ ก็เพราะมันก่อปัญหาแก่ส่วนรวม คนเราจะไม่ใช้โฟมหรือไม่เปิดแอร์ฟุ่มเฟือยก็ต่อเมื่อคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว แต่คนไทยตอนนี้คิดถึงตัวเองมากกว่าส่วนรวม คิดถึงตนเองมากกว่าคนอื่น คิดถึงตัวเองมากกว่าลูก คิดถึงตัวเองมากกว่าผัวหรือเมียด้วยซ้ำ

    สอง เห็นว่าความสุขไม่ได้เกิดจากวัตถุอย่างเดียวแต่มาจากที่อื่นด้วย ตอนนี้มีการรณรงค์ “ไม่ซื้อก็สุขได้” คนมักจะคิดว่ามีความสุขจากการซื้อ แต่อาตมาคิดว่าไม่พอ ต้องบอกว่า “สุขได้เพราะไม่ซื้อ” ซื้อแล้วทุกข์ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ที่ไหน ไม่รู้จะเที่ยวที่ไหนเพราะมีเงินมากเหลือเกิน ทุกข์เพราะซื้อมากเหลือเกิน บางคนมีเสื้อมากไม่รู้จะใส่ตัวไหน มีรองเท้าเป็นพันคู่เครียดไม่รู้จะใส่คู่ไหน แต่ที่จริง ความสุขหาได้จากการทำงานและเสียสละ เช่น โครงการจิตอาสา ชวนคนทำความดี มีความสุขได้โดยทำความดี มีคนหนึ่งเขาไปนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด (เป็นเด็กกำพร้า กล้ามเนื้อลีบเพราะไม่มีใครอุ้ม) 2-3 ครั้งทุกสัปดาห์ เดิมเขาเป็นไมเกรน แต่การทำเช่นนี้ทำให้เขาหายไมเกรน ลืมกินยาไปเลย เด็กให้ความสุขแก่เขามาก ไม่ใช่เขาไปให้ความสุขแก่เด็กเท่านั้น กรณีนี้เป็นตัวอย่างการได้รับความสุขที่ไม่ได้มาจากการบริโภคเพียงอย่างเดียว

    ตอนนี้คนไทยวัยรุ่น หนุ่มสาวไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อเขาได้ทำเขาจะรู้ได้และพบว่า ความสุขเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นสิ่งที่เงินทองซื้อไม่ได้

    สาม พึ่งพาน้ำพักน้ำแรงและความเพียรพยายามของตนเอง ไม่หวังลาภลอยคอยโชคและรวยลัด เช่น เล่นการพนัน เล่นหวย หวังพึ่งแต่จตุคามรามเทพ (ซึ่งแม้ทุกวันนี้จะตกสมัยแล้วสิ่งศักดิ์สิทธิอื่นก็มาแทนที่) การโกงข้อสอบ การคอรัปชั่น เป็นผลมาจากความคิดว่าทำอย่างไรจะรวยโดยไม่ต้องเหนื่อย นักศึกษาก็คิดว่าทำอย่างไรจะเรียนดีได้โดยไม่ต้องเหนื่อย ทำอย่างไรจะได้คะแนนดีโดยไม่ต้องสอบ ถ้าไม่โกงก็ไปขอคะแนนจากอาจารย์ โดยการให้บริการพิเศษแก่อาจารย์เพื่อที่จะได้คะแนนดี

    สี่ คิดดี คิดเป็น เห็นตรง ไม่คิดเอาแต่ใจตนเอง คือ รู้จักคิด คิดเกื้อกูลคิดเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เอาความถูกต้องเป็นหลัก ความถูกใจเป็นรอง

    นี่คือทัศนคติที่จะนำไปสู่สุขภาวะ 4 ประการ

    สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมถอย: อุปสรรคของการเกิดทัศนคติพื้นฐาน

    อยากจะย้ำว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ปัจจัยส่วนบุคคล เมื่อกล่าวถึงสุขภาวะไม่ว่าของคนหรือสังคมมี 2 ด้านที่จะพิจารณาคือ “ทัศนคติ และสิ่งแวดล้อม” ทัศนคตินี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ สิ่งแวดล้อม ระบบการศึกษา สื่อสารมวลชน อาศัยสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลด้วย แต่ปัจจุบันทัศนคติพื้นฐานเกิดขึ้นได้ยากเพราะสิ่งแวดล้อมชักนำไปในทางไม่ดีหรือไม่เกื้อกูล

    ยกตัวอย่างง่าย ๆ อิทธิพลของพื้นที่เสี่ยง หมายถึง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยง มีงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเยาวชน พบว่า มีความสัมพันธ์อย่างมากกับจำนวนพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่จังหวัดระยองมีพื้นที่เสี่ยงอยู่ประมาณ 340 แห่งต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมีสูงมากถึง 40 เท่า ของอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่มี 29 แห่งต่อประชากร 100,000 พื้นที่เสี่ยงเหล่านี้จะไปสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็กเยาวชนในจังหวัดระยองที่มีปัญหาสูงมาก เช่น เด็กอยู่ในสถานพินิจ 119 ต่อ 100,000 คน เป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ อัตราผู้ขอรับการบำบัดยาเสพติด 802 ต่อ 100,000 คน เป็น 10 เท่าของอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ เยาวชนตั้งครรภ์ก่อนอายุ 14 ปี อัตราเฉลี่ย 90 คนต่อ 100,000 คน คือสูงเกือบ 4 เท่าของอัตราเฉลี่ย ส่วนการทำแท้งไม่มีตัวเลข แต่จำนวนเด็กคลอดก่อนอายุ 19 ปี มีถึง 2,772 คน หรือคิดเป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศ เด็กถูกละเมิดทางเพศที่อายุไม่เกิน 18 ปี คิดเป็น 22 คนต่อ 100,000 คน นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับ 6 คนต่อ ๑๐๐,๐๐ ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ

    จึงสังเกตได้ว่าจังหวัดระยองมีอัตราเสียงที่เกิดจากพื้นที่เสียงสูงมากสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็ก และถ้าเทียบกับจังหวัดตราดที่มีพื้นที่เสี่ยง 37 แห่งต่อประชากร 100,000 คน (เกือบเท่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ 29 แห่ง) พื้นที่ดี (เช่น วัด ห้องสมุด สนามกีฬา) 130 แห่งต่อประชากร 100,000 คน จังหวัดตราดจึงมีปัญหาพฤติกรรมเยาวชนต่างจากระยองมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระยองเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาสูง

    เทียบตัวชี้วัดตัวนี้ตัวเดียว จะเห็นว่าสุขภาวะทางสังคมอยู่ในภาวะที่แย่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม คือ พื้นที่เสี่ยง ยังไม่ได้พูดถึงสื่อมวลชน ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ระบบการศึกษา
    ระบบการศึกษาหรือโรงเรียนตอนนี้ก็ล้มเหลว ไม่อาจทำหน้าที่ให้การศึกษากับเยาวชนได้ อาจกล่าวได้ว่า บางทีอยู่โรงเรียนเสี่ยงเจ็บตัวกว่าอยู่ข้างนอก จะถูกซ้อมเมื่อไหร่ก็ได้ มีการตบตี เพราะมีขาใหญ่ แม่เล้า ที่สามารถชักจูงเพื่อนๆ ไปขายตัว โดยครูอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือ ไม่ต้องพูดถึงช่วงรับน้องใหม่ ซึ่งเสี่ยงที่จะตายได้ หรือเจ็บตัวได้ ระบบโรงเรียนเวลานี้ไม่ทำงานเช่นเดียวกับครอบครัว ระบบการศึกษามักส่งเสริมทัศนคติเรื่องการบริโภค สอนให้รู้จักทางลัดใครรู้จักประจบประแจงครูก็ได้เกรดดี สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสูตรแอบแฝง หลักสูตรทางการนี้สวยงาม ส่วนหลักสูตรแอบแฝงคนละเรื่อง แต่มีอิทธิพลต่อเด็กมากกว่าหลักสูตรทางการหรือหลักสูตรปกติ

    ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ทั้งหมดนี้ก็เชื่อมโยงไปถึงนโยบายทางสังคม นโยบายการศึกษา รวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนเห็นว่า ความขยันหมั่นเพียรไม่มีประโยชน์ สู้ใช้เส้นทางลัด สู้วิธีการคอร์รัปชั่นไม่ได้ เช่น นายทุนท้องถิ่นมักทำให้คนคิดว่าการรวยทางลัดดีกว่าการพึ่งพาน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจที่บ่มเพาะทัศนคติแบบนี้ขึ้นมา คนเลยคิดว่าวิถีชีวิตพอเพียงเป็นเรื่องตลก เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เห็นใครพอเพียงสักคน และไม่คิดว่าความพอเพียงอาจจะเป็นทางออกของชีวิตได้ ความหลงผิดเกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง และความสุข จึงหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
    ธรรม สุขภาวะ กับนโยบายสาธารณะ
    ปัญหาเรื่องความเชื่อมโยงของปัจจัยทางสังคม มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะแต่ละด้านมาก เช่น เรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องสุขภาวะทางกาย
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    (ต่อ)
    เมืองไทยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ซึ่งพบว่ามันเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวกับปริมาณถนน ผิวถนน คุณภาพถนน แต่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมาย เช่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อเริ่มรณรงค์ให้เคารพกฎจารจร และใช้หมวกกันน็อก ปรากฏว่าสามารถลดอุบัติเหตุได้มาก นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น ให้สัมภาษณ์บอกว่า

    “ผมผ่าตัดคนไข้มาทั้งชีวิต ยังช่วยคนได้น้อยมากถ้าเทียบกับการรณรงค์ให้คนใส่หมวกกันน็อกแค่ 6 เดือนก่อนหน้านั้น”
    หมวกกันน็อก จึงเป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะ ซึ่งสัมพันธ์กับสุขภาวะโดยตรง เมื่อเราพูดถึงเรื่องยาเสพติด เรื่องโรคเอดส์ ก็เป็นเรื่องสุขภาวะทางกาย แต่มันก็มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมอื่นๆ มากมาย เช่น ความไม่รู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ การส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งมีอุตสาหกรรมทางเพศมาเกี่ยวข้อง ทำให้โรคเอดส์ระบาด การมีผู้หญิงมาทำงานทางเพศเพราะยากจน เชื่อมโยงกับนโยบายที่ไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เกิดระบบเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบ นโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุล การศึกษาที่ไม่พัฒนาคน พอจบ ม.6 ม.3 ก็ไม่มีงานทำ ไม่มีความสามารถ คนจำนวนไม่น้อยจึงเลือกมาทำงานบริการทางเพศ ขายตัว แล้วก็เกิดปัญหาโรคเอดส์ รวมทั้งค่านิยมที่ผลักภาระให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ เกี่ยวกับครอบครัว ศาสนาด้วย
    ปัญหาสุขภาวะ ไม่ได้มีแค่ทัศนคติรักนวลสงวนตัวอย่างเดียว หากแต่เชื่อมกับสิ่งแวดล้อม นโยบายเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา นโยบายการพัฒนา บทบาทสถาบันศาสนาด้วย หากไม่จัดการแก้ไขให้ดี มันก็จะเกิดปัญหาโรคเอดส์อยู่วันยังค่ำ ไม่อาจแก้ได้ตลอด รอดฝั่ง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขภาวะทางกายนี้เชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณะของสังคมมากทีเดียว
    ปัญหาสิ่งเสพติด เช่นเหล้า มีคนดื่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเหล้าหาซื้อง่าย มีคนทำวิจัยว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทุกหนแห่งทั่วประเทศ คนไทยสามารถหาซื้อเหล้าได้ภายในเวลา 7 นาที ในเมืองก็มีร้านสะดวกซื้อ ในหมู่บ้านก็ร้านเหล้าทั่วไป เดินหรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปเพียง 7 นาที ก็ซื้อได้ ดังนั้น ปัญหาสิ่งเสพติดต่างๆ ไม่ใช่มาจากเรื่องทัศนคติอย่างเดียว แต่มาจากการเข้าถึงง่ายด้วย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการควบคุมแหล่งที่มาหรือการเข้าถึง รวมทั้งสัมพันธ์กับนโยบายทางสังคมด้วย ไม่ได้มีแต่เรื่องสำนึกทางศาสนา ว่าต้องมีศีลห้าอย่างเดียว

    ถึงที่สุดแล้วสุขภาวะทั้ง 4 ประการนี้ เราต้องมองให้เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับกลไกลทางสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ด้วยนโยบายสาธารณะ และนโยบายถ้าจัดการดีๆ มันช่วยแก้ปัญหาและเป็นวิธีการที่ถูกมาก เช่น กรณีคุณหมอวิทยาที่ต้องผ่าตัดช่วยชีวิตคนประสบอุบัติเหตุ ท่านบอกว่าผ่าตัดทั้งชีวิตก็ไม่เท่ารณรงค์เรื่องใส่หมวกกันน็อก มันเป็นนโยบายป้องกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้มาก ได้เร็วขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานศึกษาเรื่องผู้ป่วยในห้องไอซียู ที่มักติดเชื้อปอดบวมและเสียชีวิต ถามว่าเชื้อมาจากไหน ศึกษากันตั้งนาน จึงพบว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหามาจากท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยมีการติดเชื้อ หมอและพยาบาลช่วยผู้ป่วยหนักให้ฟื้นขึ้นมา แต่กลับมาตายเพราะโรคติดเชื้อที่มาจากท่อที่หมอใส่ให้ วิธีการแก้ไขจึงง่ายมาก ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอสำหรับหมอและพยาบาลในห้องไอซียูของโรงพยาบาล 5 ประการ คือ ล้างมือด้วยสบู่ ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วย เอาผ้าคลุมร่างผู้ป่วย สวมหน้ากาก หมวก และ ถุงมือ เอาผ้าปลอดเชื้อปิดทับท่อบริเวณที่ใส่เข้าไปในร่างกาย ที่ผ่านมาโรงพยาบาลไม่ได้ทำ ๕ประการอย่างครบถ้วน ก็รณรงค์ให้พยาบาลตรวจเช็ค ระยะแรกหมอจะไม่ยอมให้พยาบาลเช็คตัวเอง แต่ที่สุดก็ยอม ปรากฏว่าการตายจากภาวะติดเชื้อลดลงจากร้อยละ 11 จนเป็นศูนย์ ภายในเวลา 10 วัน สามารถช่วยชีวิตคนได้หลายสิบคนในช่วง 3 เดือน นอกจากนั้นยังสามารถประหยัดงบประมาณได้หลายล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีคนเชื่อว่าทำแค่ 5 อย่างนี้เอง จึงมีการรณรงค์เรื่องนี้กับโรงพยาบาลของรัฐที่รัฐมิชิแกน ซึ่งมีอัตราการตายในห้องไอซียูสูง ให้ผู้อำนวยการตรวจตราดูว่ามีสบู่ครบไหม บางโรงพยาบาลสบู่ไม่พอ แต่พอทำแล้วปรากฏว่า 3 เดือนแรก อัตราการตายเพราะติดเชื้อลดลงร้อยละ 66 แค่ 18 เดือนแรกประหยัดงบประมาณไป 175 ล้านเหรียญฯ รวมทั้งสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 1,500 กว่าราย

    ที่กล่าวมานี้ พยายามชี้ว่าวิธีการแก้ปัญหา อาจสามารถทำเรื่องง่ายๆ 4 - 5 เรื่อง ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตคนได้มากกว่าการค้นคิดผลิตเทคโนโลยีมากมาย คุณช่วยเหลือผู้ป่วยสมองกะโหลกร้าวซึ่งเป็นโรคที่รักษายากได้จนเกือบจะรอดแล้ว แต่ต้องมาตายเพราะติดเชื้อจากท่อหรือสายยาง

    การใช้มาตรการบางอย่างแลดูเหมือนง่าย แต่มีพลังในการช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพมาก หากเราหันมาให้ความสนใจคิดเรื่องนี้ พยายามคิดนโยบายที่ดูมันไม่ยากมาช่วยแก้ปัญหา อย่าไปดูถูกเรื่องที่ง่ายไม่ซับซ้อน เหมือนอย่างกรณีที่คิดว่าเราอาจควบคุมพื้นที่เสี่ยงได้ โดยไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว แต่ด้วยวิธีอื่นด้วย อาทิ การนำเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ไข ถ้าลดพื้นที่เสี่ยงได้ เชื่อว่าเราจะลดปัญหาเยาวชนได้เป็นจำนวนมาก เพราะบางอย่างมันมีผลเชื่อมโยงกันอย่างที่เรานึกไม่ถึง

    ทั้งหมดนี้ จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง สิ่งที่เรียกว่า ธรรม สุขภาวะ และนโยบายสาธารณะ ที่จะเข้ามาเสริมช่วยให้เกิดความเกื้อกูลให้เกิดสุขภาวะทั้ง 4 ประการอย่างครบถ้วน ทั้งในระดับบุคคล และสังคม
    :- https://visalo.org/article/healthDhamperSukapawa.htm
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,425
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,086
    พุทธศาสนาในโลกกว้าง
    เลียบแม่น้ำ ข้ามขุนเขา ธุดงค์ในญี่ปุ่น
    พระไพศาล วิสาโล
    ต้นเดือนพฤษภาคมในญี่ปุ่น เป็นช่วงที่เรียกว่า golden week เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันคล้ายๆเทศกาลสงกรานต์ตรงที่คนญี่ปุ่นนิยมเดินทางไกลจึงไม่สะดวกที่เราจะเดินทางไปไหนมาไหนเพราะรถไฟจะแน่นขนัดไปด้วยผู้คน และจะมีธุระไปหาใครก็ไม่เหมาะเพราะเขาจะไปเที่ยวกันเป็นส่วนใหญ่ เราจึงคิดเดินธุดงค์ในช่วงนี้แทน ดังที่ได้บอกแล้วว่า เดิมตั้งใจจะธุดงค์ไปเมืองกามากูระ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนาเมื่อ ๗๐๐ – ๘๐๐ ปีก่อน ร่วมสมัยกับยุคสุโขทัย แต่ก็มีคนแนะนำว่าตลอดเส้นทางจะเนืองแน่นไปด้วยรถ ทัศนียภาพไม่เหมาะแก่การเดินเท้า กอปรกับมีคนไทยที่จังหวัดนากาโน่อยากให้เราไปเยือน จึงเปลี่ยนแผนไปธุดงค์ที่นากาโน่แทน

    ยกเว้นเรื่องอากาศที่หนาวพิเศษกว่าภาคอื่นๆ แล้ว นากาโน่นับเป็นสถานที่เหมาะแก่การธุดงค์มาก เพราะรู้จักคนญี่ปุ่นหลายคนที่สนใจช่วยเหลือคนไทย อีกทั้งเมืองต่างๆ ตามรายทางก็มีคนไทยอยู่กันมาก เราตกลงว่าจะเริ่มต้นที่หมู่บ้านโยชิโห เมืองซากุ อันเป็นบ้านของหมอเดอูร่าซึ่งเอื้อเฟื้อพวกเราตั้งแต่มาถึงญี่ปุ่นใหม่ๆ จุดหมายคือวัดเซนโกจิแห่งเมืองนากาโน่ อันเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปสุโขทัยประดิษฐานตั้งแต่ ๖๐ ปีที่แล้ว

    ข้าพเจ้า พระยูกิ และปรีดา ออกเดินทางไปนากาโน่ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พร้อมกับชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งเป็นคนนำทางและพาเราสำรวจเส้นทางธุดงค์ ที่จริงเราต้องการที่จะธุดงค์แบบง่ายๆ คือไม่ต้องมีการวางแผนมาก เพียงแค่มีแผนที่ก็พอ กับเตรียมที่พักตามรายทางไว้บ้าง รวมทั้งแจ้งคนไทยตามเมืองต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ มีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ๆ คนญี่ปุ่นหลายต่อหลายคนถูกดึงเข้ามาร่วม มีการติดต่อประสานงานกับคนหลายฝ่าย รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เรียกว่างานนี้มีกองสนับสนุนที่ใช้คนมากทีเดียว ทั้งๆที่คนเดินธุดงค์มีเพียงไม่กี่คน เปรียบเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ยอดออกมานิดเดียว แต่ข้างล่างนั้นเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมา นี้อาจเป็นวิธีการทำงานแบบคนญี่ปุ่นก็ได้

    ยังไม่ทันจะออกธุดงค์ก็มีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ทันทีที่ถึงบ้านพักของหมอเดอูร่า มีโทรทัศน์ ๑ ช่อง หนังสือพิมพ์ ๒ ฉบับ ทุกคนมาเพราะรู้ว่าการธุดงค์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือคนไทย ซึ่งมีอยู่หลายพันที่จังหวัดนี้ (แม้ตัวเลขทางการจะมีแค่ ๘๐๐ คนเศษ) แต่เขาอยากรู้มากกว่านั้นว่าเราจะมาทำอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งเข้าสนใจรูปแบบการธุดงค์ด้วยว่า จะมีความหมายต่อคนไทยที่นี่อย่างไร

    ธุดงค์วันแรกก็มีอุปสรรคเพราะฝนตกตั้งแต่เช้า แต่เราก็ไม่เปลี่ยนแผน โดยเริ่มจากการทำกิจวัตรประจำวันได้แก่บิณฑบาต การบิณฑบาตของพระไทยเป็นเรื่องแปลกสำหรับที่นี่อย่างไม่ต้องสงสัย เท่าที่รู้ เคยมีพระจากเมืองไทยมาธุดงค์และบิณฑบาตที่นี่ แต่เป็นพระญี่ปุ่นที่ไปอยู่กับหลวงพ่อชา ชะดีชะร้ายข้าพเจ้าอาจจะเป็นพระไทยคนแรกที่มาบิณฑบาตที่ญี่ปุ่นก็ได้

    บิณฑบาตวันแรกก็ได้อาหารจากทางบ้านของหมอเดอูร่า เช้านั้นมีคนไทยนำอาหารมาถวายด้วย แต่มาไม่ทัน เมื่อได้เวลา ๘.๓๐ น. ก็ออกเดินทาง วันนี้เราจะต้องเดินทาง ๓ ชั่วโมงเพราะจุดหมายคือเมืองนากาโกมิ ซึ่งอยู่ห่างไป ๑๒ กิโลเมตร ที่นั่นญาติโยมคนไทยรอถวายเพลอยู่

    ฝนตกตลอดเช้า แต่ก็หยุดหรือพักนานไม่ได้ เราถึงที่หมายทันกำหนด มีคนไทยเรารวมกันที่ร้านอาหารวีนัสประมาณ ๒๐ คนเศษ หลังจากฉันแล้วก็สวดพุทธมนต์ ก่อนจะพรมน้ำมนต์ก็แสดงธรรมโดยเน้นเรื่องความสามัคคีและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กับให้ห่างจากอบายมุขและการพนัน จากนั้นก็มีการเจิมร้านของคนไทย ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแบบแผนทางด้านพิธีกรรมของเราตลอด ๗ วันที่ธุดงค์ โดยมีการยักเยื้องเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย

    บ่ายครึ่งก็เดินทางต่อ ลืมบอกไปว่าวันแรกนอกจากพระ ๒ คนไทย ๑ แล้ว ยังมีคนญี่ปุ่นร่วมเดินอีก ๑ คน คือคุณคาวามูระซึ่งเป็นมัคคุเทศก์นำทางเราตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน เขาสนใจการธุดงค์ และขอเข้าร่วมด้วย คุณคาวามูระได้ร่วมเดินทางกับเรารวม ๓ วัน และได้กลายเป็นเพื่อนที่มีความหมายมากกว่าเพื่อนร่วมทาง นิสัยใจคอที่ซื่อและมีอารมณ์ขันทำให้ธุดงค์ครั้งนี้มีชีวิตชีวาและน่าประทับใจ ความคุ้นเคยในช่วงไม่กี่วันทำให้เขาสนใจที่จะมาเมืองไทยภายในปีนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปรีดีรับปากว่าจะหาแฟนให้เขาที่เมืองไทยก็ได้

    ช่วงบ่ายเดินได้ไม่ถึง ๒ ชั่วโมงก็ต้องหยุด เพราะ ๔โมงเย็นมีกิจนิมนต์ต้องไปสวดมนต์เย็นให้คนไทยคนหนึ่งที่เพิ่งเสียภรรยาไปเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์ นี่เป็นรายที่ ๒ ที่เราต้องไปสวดบังสุกุลให้เพราะคนขับเมาไม่ได้สติจนพาคนไปตาย ทั้งสองรายเป็นหญิงบริการอายุยังไม่ถึง ๓๐ คนขับเป็นแขกชาวญี่ปุ่นทั้งคู่
    ทุกวันเราจะเดินจนถึง ๔ โมงเย็นเท่านั้น จากนั้นก็จะเข้าที่พัก โดยมีรถพาไปส่ง วันรุ่งขึ้นรถก็จะมาส่งตรงจุดที่รถมารับวันก่อนนั้น เป็นการธุดงค์แบบประยุกต์เพราะที่นี่มีปัญหาเรื่องที่พัก จะใช้วิธีค่ำไหนนอนนั่นแบบที่เมืองไทยทำได้ยาก อากาศที่นี่ตอนกลางคืนหนาวพอดูจนไม่อาจจะกางเต็นท์หรือพึ่งถุงนอนได้
     

แชร์หน้านี้

Loading...