บทความให้กำลังใจ(บริหารชีวิตเพื่อจิตสดใส)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ทุกข์เพราะใจ ใช่ใครทำ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อจีนยาตราทัพเข้ายึดครองธิเบตเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ท่านลาเซ ริมโปเช ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับชาวธิเบตอีกมากมาย ทหารจีนต้องการให้ท่านละทิ้งพุทธศาสนาและหันมาสมาทานลัทธิคอมมิวนิสม์ แต่ท่านปฏิเสธ ท่านจึงถูกคุมขังและทรมานเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปีจนร่างกายพิการ เมื่อได้รับอิสรภาพท่านได้ดั้นด้นข้ามพรมแดนเพื่อมาลี้ภัยในอินเดีย

    เคยมีคนถามท่านว่า ตอนที่ถูกคุมขังในธิเบตนั้นท่านกลัวอะไรมากที่สุด แทนที่ท่านจะพูดถึงการทรมานของทหารจีน ท่านกลับตอบว่า ท่านกลัวว่าจะโกรธคนที่ทำร้ายท่าน

    สำหรับชาวพุทธ ความโกรธเกลียดนั้นน่ากลัวอย่างมากเพราะสามารถผลักดันให้เราทำบาปด้วยการประทุษร้ายผู้อื่น ใครทำร้ายเรา เขาก็ต้องรับกรรมของเขา แต่ถ้าเราทำร้ายคนอื่น บาปนั้นก็จะตามติดเราไปและจะต้องชดใช้เมื่อไรก็ไม่รู้ ใครทำร้ายเราจึงไม่เลวร้ายเท่ากับเราทำร้ายคนอื่น

    แต่ท่านลาเซคงมีเหตุผลมากกว่านั้น เมื่อทหารจีนทรมานท่าน ท่านก็ทุกข์แต่กาย แต่เมื่อใดที่ท่านรู้สึกโกรธคนที่ทำร้ายท่าน ท่านไม่เพียงทุกข์กายเท่านั้น แต่ยังทุกข์ใจด้วยเพราะถูกความโกรธเผาลน ทุกข์กายนั้นยังพอไหว ส่วนทุกข์ใจนั้นสร้างความทรมานอย่างมาก และนั่นคือสิ่งที่ท่านไม่อยากให้เกิดขึ้นกับท่าน

    ท่านลาเซคงอยากจะบอกว่า ทหารจีนนั้นทำได้อย่างมากก็คือทำร้ายร่างกายท่าน แต่ทำให้ท่านทุกข์ใจไม่ได้ แต่เมื่อใดที่ท่านปล่อยให้ความโกรธครอบงำใจ ความทุกข์ทรมานก็จะตามมา ดังนั้นสิ่งที่ท่านพยายามทำก็คือรักษาใจไม่ให้โกรธผู้ที่ทรมานท่าน

    พูดอีกอย่างก็คือ ใครทำร้ายเราเพียงใดก็ไม่ทำให้ทุกข์ได้หากใจไม่ยินยอมหรือร่วมมือด้วย เรียกว่า ตบมือข้างเดียวไม่ดัง อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนใหญ่เมื่อมีความทุกข์ใจก็มักจะโทษสิ่งภายนอก เช่น เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง จราจรที่แน่นขนัด ดินฟ้าอากาศ สภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ลืมมองไปว่าใจเราเองก็มีส่วนร่วมอย่างมาก เช่น ปล่อยให้ความหงุดหงิด โกรธเคือง มารบกวนจิตใจ

    สิ่งภายนอกนั้นทำได้อย่างมากก็คือบีบคั้นร่างกาย พรากของหวงและคนรักไปจากเรา ทำให้การงานสะดุด แต่ไม่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้เลย มันทำได้แค่ชวนให้เราขัดใจ เศร้าโศก กลัดกลุ้ม วิตกกังวล แต่เราไม่รับ “คำชวน”ของมันก็ได้ นั่นหมายความว่า จะทุกข์ใจหรือไม่ อยู่ที่ใจเรา

    สิ่งภายนอกนั้นเราควบคุมได้ยาก จริงอยู่ใจเราก็ควบคุมไม่ได้เช่นกัน แต่เราสามารถดูแลรักษาใจได้มากกว่าสิ่งนอกตัว ดังนั้นเมื่อใดที่มีความทุกข์ใจ แทนที่จะเรียกร้องหรือพยายามบงการให้สิ่งภายนอกเป็นไปตามใจเรา จะไม่ดีกว่าหรือหากเราหันมาจัดการกับใจของเรา เริ่มต้นด้วยการคาดหวังสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ยอมรับทุกสิ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว และมีสติรู้เท่าทันอารมณ์อกุศลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีอะไรมากระทบหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น

    ใครทำอะไรเราก็ไม่เลวร้ายเท่ากับใจที่วางไว้ผิด แต่หากวางใจไว้ถูกแล้ว ไม่ว่าอะไรก็ไม่สามารถยัดเยียดความทุกข์ หรือขโมยความปกติสุขไปจากเราได้

    :- https://visalo.org/article/secret255803.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    พรที่คู่ควรกับชีวิต
    พระไพศาล วิสาโล
    สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก จังหวัดอยุธยา เป็นพระที่มีผู้คนเคารพนับถือมาก หลายคนมาหาท่านเพราะได้ยินกิตติศัพท์ของท่านในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ มีเรื่องเล่าว่า ชายผู้หนึ่งมาบวชที่วัดสะแกอยู่พักใหญ่ เมื่อจะลาสิกขาก็มาหาหลวงปู่เพื่อขอให้ท่านพรมน้ำมนต์และให้พร ขณะที่หลวงปู่พรมน้ำมนต์ให้ พระรูปนั้นตั้งจิตอธิษฐานในใจว่า “ขอความร่ำรวยมหาศาล ขอลาภขอผลพูนทวี มีกินมีใช้ ไม่รู้หมด จะได้แบ่งไปทำบุญมาก ๆ”

    พอท่านอธิษฐานเสร็จ หลวงปู่ก็มองหน้าพร้อมกับพูดว่า “ท่าน...ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะจะตามมาทีหลัง”

    เมื่อพูดถึงพรหรือสิ่งประเสริฐ ผู้คนมักคิดถึงแต่เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ แต่แท้จริงแล้ว มีสิ่งที่ประเสริฐกว่านั้นอีก ซึ่งจะช่วยนำความสุขมาให้แก่ชีวิตอย่างยั่งยืน สิ่งนั้นได้แก่คุณธรรมหรือคุณภาพจิตที่ดีงาม อาทิ วิริยะ ศีล สมาธิ สติ และ ปัญญา หากมีขึ้น นอกจากความสงบเย็นและมั่นคงในจิตใจแล้ว ความสำเร็จทางโลกก็จะตามมา

    ด้วยเหตุนี้พระสุปฏิปันโนซึ่งเปี่ยมด้วยปัญญาอย่างหลวงปู่ดู่จึงเตือนพระรูปนั้นให้นึกถึงสิ่งที่ประเสริฐกว่าความร่ำรวยและโชคลาภ

    เรื่องราวของหลวงปู่ดู่ยังสอดคล้องกับชาดกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าสมัยยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ชื่อกัณหาฤาษี ฤาษีท่านนี้ทำความเพียรและบำเพ็ญคุณธรรมจนท้าวสักกะหรือพระอินทร์ยกย่องนับถือ วันหนึ่งท้าวสักกะเสด็จมาเยี่ยมกัณหาฤาษีเพื่อประทานพร ๔ ประการ แต่แทนที่ฤาษีจะขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ หรือทรัพย์สมบัติ กลับบอกท้าวสักกะว่า “หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา อาตมาหวังเฉพาะความประพฤติของตน คือ อย่ามีความโกรธ อย่ามีโทสะ อย่ามีความโลภ และอย่ามีความเสน่หา ขอพระองค์ทรงประทานพรทั้ง ๔ ประการเหล่านี้แก่อาตมาเถิด”

    ท้าวสักกะคาดไม่ถึงว่าจะเจอคำตอบแบบนี้ แน่นอนว่าพระองค์ไม่สามารถประทานให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นแก่ตนได้

    มีชาดกอีกเรื่องที่คล้าย ๆ กัน อกิตติฤาษีเป็นอีกผู้หนึ่งท้าวสักกะเสด็จมาเพื่อประทานพร ๔ ประการแต่คำตอบที่ได้จากฤาษีก็คือ “ขอให้อาตมาไม่พึงพบเห็นคนพาล ไม่พึงได้ยิน ไม่พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัย และไม่พึงพอใจการเจรจาปราศรัยกับคนพาลเลย” ฤาษีคงรู้ว่าท้าวสักกะประทานพรดังกล่าวให้ไม่ได้ จึงเปลี่ยนใจ ขอพรเพียงแค่ข้อเดียวคือ “ขอมหาบพิตรอย่าเสด็จมาหาอาตมาอีกเลย” ทั้งนี้ท่านให้เหตุผลว่า การเสด็จมาของท้าวสักกะ อาจทำให้ท่านประมาทในการบำเพ็ญเพียร “การพบเห็นมหาบพิตรจะเป็นภัยแก่อาตมา”

    เมื่อได้อ่านเรื่องราวของหลวงปู่ดู่และฤาษีทั้งสองแล้ว ผู้มีปัญญาย่อมตัดสินได้เองว่าอะไรคือพรอันประเสริฐที่ตนควรตั้งจิตปรารถนาให้บังเกิดขึ้นกับตน แน่นอนว่าการตั้งจิตปรารถนาอย่างเดียวย่อมไม่พอ แต่จะต้องลงมือทำด้วยความเพียรของตนด้วย

    ดังนั้นในโอกาสปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ อาตมาขออวยพรให้ผู้อ่านซีเคร็ตทุกท่านมีความเพียรพยายามในการสร้างคุณงามความดีและบ่มเพาะคุณภาพจิตให้เจริญงอกงาม จนพบความสงบเย็นในชีวิต มีปัญญาพาจิตออกจากความทุกข์ เข้าถึงสุขอันเกษมคือพระนิพพานในปัจจุบันชาติด้วยเทอญ
    :- https://visalo.org/article/secret256101.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เป็นสุขเมื่อมองสิ่งที่มี
    พระไพศาล วิสาโล
    หวาง เหม่ย เหลียน เป็นโรคสมองพิการแต่กำเนิด นอกจากมีปัญหาในการเคลื่อนไหวแล้ว เธอยังพูดไม่ได้ แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ พากเพียรมุ่งมั่นจนเรียนจบปริญญาเอก สาขาศิลปศาสตร์ จาก UCLA มหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้น ๆ ของสหรัฐ ฯ

    ที่ไต้หวันอันเป็นบ้านเกิดของเธอ มีการจัดแสดงภาพเขียนของเธอบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันเธอก็ได้รับเชิญให้ไปบรรยาย(ด้วยการเขียน)ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คน ซึ่งมีภาษีดีกว่าเธอมากมาย คราวหนึ่งมีนักเรียนคนหนึ่งถามเธอหลังจากบรรยายเสร็จว่า “ คุณอยู่ในสภาพนี้มาตั้งแต่เกิด คุณไม่รู้สึกน้อยใจหรือ คุณมองตัวเองอย่างไร?”

    คำถามนี้สร้างความตกตะลึงแก่ที่ประชุม เพราะเป็นคำถามที่ตรงเกินไป และอาจกระทบจิตใจของเธอ แต่เธอกลับมีอาการปกติ แล้วเขียน ข้อความ “ฉันมองตัวเองอย่างไรหรือ ?” แล้วเธอก็บรรยายเป็นข้อ ๆ ว่า

    ๑.ฉันน่ารักมาก
    ๒.ขาฉันเรียวยาวสวยดี
    ๓.พ่อแม่รักฉันมาก
    ๔.พระเจ้าประทานความรักแก่ฉัน
    ๕.ฉันวาดภาพได้ ฉันแต่งหนังสือได้
    ๖.ฉันมีแมวที่น่ารัก

    แล้วเธอก็สรุปด้วยข้อความว่า “ฉันมองแต่สิ่งที่ฉันมี ไม่มองสิ่งที่ฉันขาด”

    ทันทีที่เธอเขียนประโยคสุดท้ายจบ ผู้คนก็ปรบมือดังสนั่นทั้งห้องประชุม ด้วยความประทับใจอย่างมากในตัวเธอ

    คนอย่างหวาง เหม่ย เหลียน น่าจะเป็นคนอมทุกข์ เพราะสูญเสียสมรรถนะสำคัญหลายอย่างที่มนุษย์ปุถุชนพึงมี แต่เธอไม่มัวจมจ่อมเสียใจกับสิ่งที่ขาดไป หากหันมาชื่นชมใส่ใจกับสิ่งที่เธอมี พอเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้ เธอก็มีความสุขได้ไม่ยาก ใช่แต่เท่านั้นเธอยังนำสิ่งที่มีอยู่นั้นมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ จนประสบความสำเร็จ อย่างที่คนธรรมดาจำนวนมากมายมิอาจทำได้

    มุมมองของสาวไต้หวันผู้นี้ ไม่ต่างจากมุมมองของคนพิการหลายคนที่สามารถทำสิ่งยากให้สำเร็จได้ สว่าง ทองดี นักปั่นจักรยานข้ามประเทศ เล่าว่า เขาประหลาดใจมากที่พบว่ามีคนแขนขาดหรือป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายหลายคนจากหลายชาติ ขี่จักรยานไปถึงเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากแม้กระทั่งสำหรับคนที่มีอวัยวะครบ ๓๒ หลังจากสนทนากับคนเหล่านั้น เขาได้ข้อสรุปว่า

    “ผมเรียนรู้จากคนเหล่านี้ว่า หากคิดจะก้าวไปข้างหน้าแล้ว จงอย่าคิดถึงสิ่งที่เราไม่มีหรือข้อด้อยของตัวเอง แต่ให้มองว่าเรามีสิ่งใดอยู่กับตัวบ้าง การจะทำฝันให้สำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้สิ่งที่เรามีอยู่ได้แค่ไหนต่างหาก”

    ผู้คนเป็นอันมากท้อแท้กับชีวิต ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เพราะมองเห็นแต่สิ่งที่ตนเองไม่มี เช่น เงินทอง พรรคพวก เส้นสาย หรือสถานภาพ แต่กลับข้ามสิ่งที่ตนเองมีอยู่ หรือไม่รู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ หลายคนมัวแต่ก่นด่าชะตากรรมว่า ทำไมฉันถึงไม่มีเหมือนคนอื่นเขา คนเหล่านี้ไม่ต่างจากนักเล่นไพ่ที่เอาแต่บ่นว่าโชคไม่ดีที่จั่วได้ไพ่แต้มต่ำ ๆ แทนที่จะคิดว่า ฉันจะเล่นไพ่ในมือให้ดีที่สุดได้อย่างไร

    แม้มีมากเพียงใด แต่ตราบใดที่มองเห็นแต่สิ่งที่ตนขาด ก็จะไม่มีวันพบความสุขเลย เด็กจำนวนไม่น้อยเป็นทุกข์ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ ทั้ง ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรมากมายอยู่แล้ว ส่วนผู้ใหญ่ก็ทุกข์ที่ไม่มีรถเบนซ์ขับ หรือไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่มีชีวิตสะดวกสบาย มีการงานที่มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น ยังไม่ต้องเอ่ยถึงหญิงสาวที่มีพร้อมทุกอย่าง แต่ก็ยังทุกข์เพราะไม่มีผิวสวยงาม หรือทรวดทรงที่กระชับ

    หากมองเห็นแต่สิ่งที่มี ไม่มองสิ่งที่ขาด นอกจากจะไม่ทุกข์เพราะยังไม่มีนั่นนี่แล้ว เมื่อถึงคราวที่ต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป ก็ไม่ทุกข์ง่าย ๆ เพราะดีใจที่ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย หลายคนสูญเสียทรัพย์สมบัติมากมายจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี ๕๔ แต่เมื่อสำรวจรอบตัวก็พบว่า ยังมีข้าวของมากมายที่หลงเหลืออยู่ ที่สำคัญก็คือ ลูกและคนรัก ยังอยู่กันพร้อมหน้า จึงคลายทุกข์ ไม่จมอยู่กับความอาลัย พร้อมมองไปข้างหน้าและก้าวเดินต่อไป

    โสภณ ฉิมจินดา เป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือเด็กชนบทในถิ่นทุรกันดาร คราวหนึ่งได้ชวนนักศึกษาไปช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในแม่ฮองสอน ขากลับรถได้พลัดตกจากเขา ชั่วขณะนั้นเขาภาวนาขอให้นักศึกษาทุกคนปลอดภัย ปรากฏว่าทุกคนไม่ได้รับอันตราย ยกเว้นเขา หลังถูกกระทบอย่างรุนแรง จนพิการครึ่งตัว หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มีหลายคนพูดกับเขาว่า “นี่ขนาดไปทำบุญยังเกิดอุบัติเหตุ” ราวกับจะตัดพ้อว่า ทำดีแล้วทำไม่ไม่ได้ดี แต่เขาเองกลับไม่รู้สึกเป็นทุกข์เลย เพราะเขามองว่า “เพราะเราไปทำบุญ เราถึงเหลือตั้งเท่านี้”

    แทนที่จะเสียใจเพราะพิการไปครึ่งตัว เขากลับมองว่าตนเองโชคดีที่ร่างกายครึ่งหนึ่งยังเป็นปกติ

    ไม่ว่าจะสูญเสียกี่มากน้อย ประสบการณ์ของบุคคลเหล่านี้ย้ำเตือนเราว่า “พึงมองสิ่งที่มี อย่ามองสิ่งที่ขาด” แล้วเราจะมีพลังในการดำเนินชีวิตอย่างผาสุก
    :- https://visalo.org/article/secret255701.htm
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เสียได้เสียไป ใจไม่ทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    ช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการวางเพลิงเผาทำลายศูนย์การค้าหลายแห่ง ปรากฏว่าร้านอาหารชื่อดังโดนลูกหลงไปด้วย ถูกเผาไปพร้อม ๆ กัน ๔ สาขา ผู้จัดการสาขาและพนักงานทั้งเศร้าเสียใจและโกรธแค้นมาก

    เมื่อผู้จัดการใหญ่ทราบเรื่องก็พูดปลอบใจลูกน้องว่า “ไม่เป็นไร เรายังมีอีกตั้ง ๓๒๐ สาขา” ว่าแล้วก็ยิ้มโดยไม่มีวี่แววแห่งความทุกข์เลย

    ร้านค้า ๔ สาขาถูกเผาไม่ใช่เรื่องธรรมดาก็จริง แต่สำหรับซีอีโอผู้นี้ มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับสาขาที่ยังมีอยู่อีกมากมาย

    เวลาเงินหายหรือทรัพย์สินมีอันเป็นไป คนส่วนใหญ่มักเป็นทุกข์ จนลืมไปว่าตนยังมีทรัพย์สินอีกมากมาย อาจจะมีเป็นจำนวนหลายสิบหลายร้อยเท่าของที่สูญเสียไปด้วยซ้ำ แทนที่จะมัวคร่ำครวญกับสิ่งที่เสียไป ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะหันมาใส่ใจกับสิ่งที่ยังมีอยู่อีกมากมาย

    เศรษฐินีผู้หนึ่งถูกโกงเงินไปหลายสิบล้าน เธอเสียใจอยู่สองสามวัน แต่หลังจากนั้นก็ยิ้มได้ เพื่อนสงสัยว่าทำไมถึงไม่เสียใจแล้ว เธอตอบว่า “ฉันมาคิดได้ว่า ในเมื่อฉันยังมีอาหารที่อร่อยกิน ยังมีบ้านที่อยู่สบาย แล้วจะทุกข์ไปทำไม”

    สิ่งที่สูญเสียไปแล้ว มิใช่อะไรอื่นหากคืออดีต เหตุใดเราจึงหวงแหนยึดติดกับอดีตที่เจ็บปวด แทนที่จะใส่ใจหรือให้คุณค่ากับสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

    เพียงปล่อยวางอดีต หันมาให้คุณค่าหรือชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราก็จะเป็นสุขได้ไม่ยาก

    เราสูญเสียอะไรไปมากเพียงใด ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีอะไรอยู่ในปัจจุบัน หากให้ความสำคัญกับสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็จะพบว่าความสุขมีอยู่รอบตัว ความข้อนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องทรัพย์สมบัติเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพร่างกายด้วย

    กนกวรรณ ศิลป์สุข เป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด จึงมีร่างกายแคระแกร็น กระดูกเปราะ และต้องให้เลือดเป็นประจำ หมอคาดว่าเธอจะมีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี แต่ปัจจุบันก็มีอายุเกือบ ๓๐ ปีแล้ว แม้มีชีวิตไม่เหมือนคนปกติ แต่เธอก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความสุข เธอให้เหตุผลว่า

    “เลือดเราอาจะจาง จะแย่หน่อย แต่เราก็ยังมีตาเอาไว้มองสิ่งที่สวย ๆ มีจมูกไว้ดมกลิ่นหอม ๆ มีปากไว้กินอาหารอร่อย ๆ แล้วก็มีร่างกายที่ยังพอทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะมีความสุข”

    คนพิการเป็นอันมาก มีความสุขได้เพราะเขาไม่มัวเสียใจคร่ำครวญกับแขนขาที่เสียไป(หรือที่ไม่เคยมี) แต่เพราะเขารู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ว่า อวัยวะที่หลงเหลืออยู่ หรือสมองและจิตใจที่ยังทำงานได้เหมือนคนปกติ

    สว่าง ทองดี เป็นนักปั่นจักรยานวิบากข้ามประเทศ เล่าถึงประสบการณ์คราวหนึ่งที่ได้ไปเยือนเทือกเขาหิมาลัยและภูเขาเอเวอเรสต์ว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่พบเห็นเพื่อนร่วมทางหลายคนเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย บางคนก็แขนขาดขาดขาด แต่คนเหล่านั้นสามารถบุกบั่นดั้นด้นไปยังดินแดนทุรกันดาร ที่แม้แต่คนธรรมดาก็ทำได้ยาก

    ผู้ป่วยและคนพิการเหล่านั้นทำได้อย่างไร ในที่สุดเขาก็พบคำตอบว่า “หากคิดจะก้าวไปข้างหน้าแล้ว จงอย่าคิดถึงสิ่งที่เราไม่มีหรือข้อด้อยของตัวเอง แต่ให้มองว่าเรามีสิ่งใดอยู่กับตัวบ้าง การจะทำฝันให้สำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้สิ่งที่เรามีอยู่ได้แค่ไหนต่างหาก”

    เมื่อประสบความสูญเสีย อย่ามัวคร่ำครวญอาลัยกับสิ่งที่เสียไป เพราะนั่นจะทำให้เราหลงลืมสิ่งงดงามที่ยังมีอยู่อีกมากมาย และละเลยประโยชน์ที่จะได้รับจากสิ่งเหล่านั้น

    จะว่าไปแล้วยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ที่สามารถเกิดกับเราได้หากไม่จมปลักอยู่ในความคร่ำครวญเสียใจ นั่นคือบทเรียนจากความสูญเสีย

    ความสูญเสียทุกครั้งล้วนบอกแก่เราว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ทุกอย่างมาแล้วก็ไป ความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา

    ความสูญเสียแต่ละครั้งยังเป็นเสมือนสัญญาณเตือนเราว่า จะมีความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เลวร้ายกว่านั้นตามมาอีกในอนาคต ดังนั้นหากเราทำใจไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เราจะรับมือกับความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้อย่างไร

    ใช่หรือไม่ว่า สักวันหนึ่งคนที่เรารักก็ต้องตายจากไป และในที่สุดเราเองก็ต้องละจากโลกนี้ไป หากไม่อยากทุกข์ทรมานเมื่อวันนั้นมาถึง ก็ต้องเตรียมใจฝึกใจขณะที่ยังมีเวลา ความสูญเสียที่ทยอยเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น มิใช่อะไรอื่น หากคือแบบฝึกหัดเพื่อให้เราฝึกทำใจแต่เนิ่น ๆ จะได้มีความพร้อมสำหรับเหตุร้ายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

    เราทุกคนเกิดมาตัวเปล่า เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไปตัวเปล่า อะไรที่ได้มาก็เอาไปไม่ได้สักอย่าง ในเมื่อจะต้องสูญเสียทุกอย่างอยู่แล้ว หากจะต้องสูญเสียวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเมื่อถึงวันนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างกันสักกี่มากน้อย
    :- https://visalo.org/article/secret255311.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    อยู่อย่างไรให้เป็นสุข และตายอย่างไรให้หมดทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    ใช้ชีวิต “เบิกบาน มีความสุข” กับการใช้ชีวิต “เพลิดเพลิน มีความสุข” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

    ตอบ: ใช้ชีวิตให้เบิกบาน หมายถึง การมีจิตใจแจ่มใสสดชื่นไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม อันนี้รวมถึงว่า ในขณะที่คุณเผชิญความทุกข์ยากลำบาก เช่น เจ็บป่วย ยากจน คุณยังยิ้มแย้มแจ่มใสได้ เหมือนอย่าง มหาตมา คานธี แม้ท่านจะถูกจับกุมคุมขัง แต่ท่านก็อยู่ในเรือนจำด้วยความเบิกบาน การใช้ชีวิตแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการใช้ชีวิตแบบเพลิดเพลินนั้นต่างกัน เพลิดเพลินนั้นมีนัยยะของการเสพสุขหรือหาความสุขจากสิ่งเสพ ทีนี้สมมติว่าอาหารไม่อร่อย แดดร้อน ฝนตก คุณยังจะเพลิดเพลินได้อยู่ไหม พึงระลึกเสมอว่าความสุขที่เราเข้าไปเสพเสวยอย่างเพลิดเพลินนั้นมันไม่เที่ยง

    ถ้ารู้สึกท้อแท้กับชีวิต ไม่มีกำลังใจ เราควรทำอย่างไร

    ตอบ: อาตมาชอบที่ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) ให้สัมภาษณ์ เขาเคยไปค้าแข้งที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาไม่เคยได้ลงสนามเลย ได้แต่นั่งเก้าอี้ผู้เล่นสำรอง เขารู้สึกเครียดและทุกข์มาก รู้สึกว่าการไปอังกฤษครั้งนั้นล้มเหลว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ได้คิดว่า การไปอังกฤษครั้งนั้นมีแต่ได้กับได้ คือ ได้รถ ได้บ้าน ได้ภาษา ได้พัฒนาร่างกาย ได้เดินทาง ได้รู้จักผู้คนมากมาย ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ และได้สัมผัสกับลีกที่มีสีสันมากที่สุด เสียอย่างเดียวคือไม่ได้ลงเล่น เมื่อเห็นอย่างนี้ความรู้สึกของเขาก็เปลี่ยนไป เห็นไหมว่า มันอยู่ที่มุมมอง สิ่งดีๆ มีอยู่ แต่ถ้าเรามองไม่เห็น ก็เป็นทุกข์

    สาเหตุที่เราท้อ เป็นเพราะเรามองเห็นแต่ความล้มเหลวและยึดมั่นถือมั่นกับผลสำเร็จมากเกินไป พอไม่ได้อย่างที่ต้องการหรือได้ไม่ถึงเป้าที่เราวางไว้ เราก็เลยทุกข์ อาตมาอยากแนะนำให้วางใจใหม่ คลายความยึดมั่นถือมั่น พยายามมองเห็นสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ และพยายามทำงานอย่างมีความสุข อย่าไปหวังความสุขจากผลสำเร็จ แต่ให้มีความสุขทุกขณะที่ทำ ถ้าคุณมีความสุขเป็นตัวหล่อเลี้ยง คุณจะไม่รู้จักคำว่าท้อ ไม่รู้จักคำว่าล้มเหลว ไม่รู้จักคำว่าหมดแรง มันอยู่ที่ใจและมุมมองมากกว่า

    มรณานุสติมีความหมายใกล้เคียงกับวลี “ทำความดีหรือมีความสุขให้มากๆ เหมือนกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เรามีชีวิตอยู่” หรือไม่

    ตอบ: ใกล้เคียง แต่มรณานุสติไม่ได้กระตุ้นให้เราอยากทำความดีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรารู้จักปล่อยวาง เพราะได้คิดว่าตายไปแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง นอกจากนั้นถ้าเราเจริญมรณานุสติดี เราจะมีความสุขได้ง่าย หลายคนพอรู้ว่าตัวเองจะตาย เขากลับรู้สึกมีความสุข เบิกบานแจ่มใส เหมือนอย่างนักดนตรีชาวอังกฤษชื่อ วิลโก้ จอห์นสัน (Wilko Johnson) วันหนึ่งหมอบอกว่าเขาเป็นมะเร็งตับ มีชีวิตอยู่ได้ 9-10 เดือน เมื่อออกจากโรงพยาบาล แทนที่เขาจะหดหู่ กลับมีชีวิตชีวา แค่ได้เห็นต้นไม้ ท้องฟ้า ก็รู้สึกว่ามันวิเศษมาก เวลามีลมมากระทบ เขารู้สึกเหมือนขนนกที่ปลิวในสายลม คือรู้สึกอิสระเสรี เขาถึงกับบอกว่า อะไรก็ตามที่เคยทำให้เขาเศร้าสร้อย วิตกกังวลหรือรำคาญ มันไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ที่เขารู้สึกอย่างนี้ได้ เป็นเพราะความตายมาเตือนให้ตระหนักว่า สิ่งที่มองเห็นอยู่นั้น ต่อไปจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเขาจึงรู้สึกว่าทุกสิ่งมีคุณค่ามาก

    อาตมาคิดว่าเราควรใช้ความตายที่ใกล้เข้ามากระตุ้นให้เราเห็นความสุขในปัจจุบันขณะ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความเพียรด้วย ความเพียรในที่นี้นอกจากหมายถึงการทำความดีแล้ว ยังรวมถึงการฝึกใจให้เห็นความจริงด้วย นี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญมรณานุสติอยู่ประจำ ดังตรัสว่า “ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้”

    ตอนนี้คิดว่าตัวเราตายไปก็ไม่มีอะไรติดค้างแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าตอนตายจริงๆ จิตจะเป็นอย่างไร มีวิธีฝึกจิตอย่างไร

    ตอบ: การเจริญสติปัฏฐานสี่เป็นหัวใจของกรรมฐานแบบพุทธ ซึ่งอาตมาคิดว่าจำเป็นอย่างมาก ถ้าเราต้องการตายอย่างสงบ เราต้องรู้จักปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ จะทำอย่างนั้นได้ต้องหมั่นเจริญสติ ให้รู้กายและใจอยู่เนือง ๆ เพราะเวลาเราจะตาย เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะมีความรู้สึกหรือความคิดอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราอาจคิดว่าไม่มีอะไรติดค้างใจ แล้ว แต่เมื่อจะตายจริงๆ ความห่วงหาอาลัยหรือความรู้สึกผิดที่เรากดไว้อาจโผล่ขึ้นมาก็ได้ กรณีหลังนั้นเราอาจจะขอขมาใครไม่ทันแล้ว ทำได้อย่างเดียวคือปล่อยวาง แต่จะปล่อยวางได้เราต้องรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่จะทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ก็คือสติ เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานสี่จึงเป็นพื้นฐานสำคัญ

    การเจริญอนุสติ 10 ประการก็มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะ ๔ ประการแรกคือ การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ และความดีที่ได้ทำ การนึกถึงพระรัตนตรัยในเวลาจะตายนั้น ช่วยทำให้จิตใจเรามั่นคง คลายความหวาดวิตก ส่วนการนึกถึงความดีที่ได้ทำ ช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา และมั่นใจว่าจะไปดี ในกรณีที่เกิดทุกขเวทนาหรือความเจ็บปวด การระลึกถึงพระรัตนตรัยหรือบุญกุศลที่ได้ทำ ช่วยให้เราเกิดปีติ ปราโมทย์ ทำให้ทุกขเวทนาลดน้อยลงและทำให้เราสามารถตายอย่างสงบได้
    :- https://visalo.org/article/secret255812.html

     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    พุทธศาสนากับวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้
    พระไพศาล วิสาโล
    ปัจจุบันในสังคมไทยได้เกิดวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ๆ ที่ขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความละโมบกำลังไหลบ่าอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการเติบใหญ่ของบริโภคนิยม ส่วนวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังเกิดจากความยึดติดคลั่งไคล้ในอุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา ทำให้เห็นคนที่ต่างจากตนเป็นศัตรู เกิดความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายกันจนสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ

    เวลานี้ขันติธรรมในทางการเมืองมีน้อยมาก มีความโกรธเกลียดกันอย่างรุนแรง มีการใส่ร้ายป้ายสี ตีตรากันอย่างสาดเสียเทเสีย ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือการเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้เพื่อมาทัดทานวัฒนธรรมสองกระแสนี้ พุทธศาสนามีความสำคัญในสภาพเช่นนี้เพราะพุทธศาสนายังมีพลังในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ได้อยู่

    วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยคุณธรรมพื้นฐาน คุณธรรมพื้นฐานได้แก่ การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค หรือรวยทางลัด ซึ่งนำไปสู่การเล่นหวย การพนัน การคอร์รัปชั่น หรืออาชญากรรม ทั้งหมดนี้คือวิธีรวยลัดของคนจำนวนไม่น้อย

    คุณธรรมพื้นฐานยังหมายถึง การไม่ยึดติดกับความสุขทางวัตถุ สามารถเข้าถึงความสุขจากแหล่งอื่นที่ประเสริฐกว่า เช่นความสุขจากการทำดี ความสุขจากการให้ทาน ความสุขจากการบำเพ็ญภาวนา และความสุขจากการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเพียรของตัว สามประการนี้เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งสังคมไทยกำลังต้องการเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ เพราะเป็นบันไดไปสู่ความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณจนถึงขั้นปรมัตถธรรมได้

    ในสภาพเช่นนี้ วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้ พุทธศาสนาจะต้องมีบทบาทสอง ประการคือ ๑. ทำให้ผู้คนกลับมามีความลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ ๒. ส่งเสริมให้ผู้คนพร้อมที่จะออกไปสร้างสรรค์สังคม เพื่อฟื้นฟูคุณธรรมพื้นฐานให้กลับมา ทุกวันนี้มีผู้คนจำนวนมากหันมาปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญภาวนามากขึ้น แต่การออกไปสร้างสรรค์สังคมยังมีน้อยอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิบัติธรรมที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ จะต้องก่อให้เกิดความลุ่มลึกทางจิตใจ นั่นคือรู้เท่าทันตนเองจนถึงขั้นเห็นมายาภาพของตัวตน ลดละความเห็นแก่ตัว ไม่ยึดติดหลงใหลในวัตถุ เพราะสามารถเข้าถึงความสุขที่ประณีต นี่เป็นบทบาทในเชิงลึก แต่เท่านั้นยังไม่พอชาวพุทธต้องมีบทบาทในเชิงกว้าง นั่นคือช่วยทำให้สังคมนี้ดีขึ้น เกิดสันติสุข และเกื้อกูลต่อการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม ส่งเสริมคุณธรรมของผู้คน
    พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อพุทธศาสนามีบทบาทสอง ประการคือ
    ๑. ส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพภายใน พ้นจากบีบคั้นของตัวตนอันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเอง
    ๒. ส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพภายนอก คือพ้นจาก บีบคั้นทางสังคม หรือการเอาเปรียบจากผู้คน

    อันที่จริงพุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อโลกยุคใหม่ไม่ได้เลยหากขาดบทบาทส่วนใดส่วนหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันผู้คนมีความทุกข์และความเครียดมาก แม้จะมีวัตถุมีเงินทองมากมาย ขณะเดียวกันจำนวนไม่น้อยก็ถูกบีบคั้นจากกลไกทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีการเอารัดเอาเปรียบ การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และการเมือง

    ศาสนาใดก็ตามจะมีความหมายต่อโลกยุคใหม่ได้ต้องส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพทั้งสองประการ จะเน้นอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้ ในด้านหนึ่งก็ต้องส่งเสริมคนให้เข้าถึงอิสรภาพภายใน ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมมีหลักประกันทางด้านสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม มีประชาธิปไตย หรือมีสำนึกต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมเพราะเวลานี้ สิ่งแวดล้อมกำลังจะแปรปรวนและกลายเป็นปัจจัยที่บีบคั้นผู้คนอย่างรุนแรง ดังภัยธรรมชาติที่เกิดกับพม่าและจีนจนคนตายเป็นแสน ภัยธรรมชาติแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง

    ดังนั้นพุทธศาสนาจะต้องส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความงอกงามทางจิต และความงอกงามทางสังคมไปในเวลาเดียวกัน ต้องทำให้ชีวิตภายในลุ่มลึกและทำให้ชีวิตสาธารณะเกื้อกูลต่อสังคม นี้คือการทำให้มิติพุทธศาสนาในทางสังคมเป็นจริงขึ้นมา ไม่ใช่เป็นแค่ความคิด หรือว่าความปรารถนาเท่านั้น

    จะทำเช่นนั้นได้ กระบวนการทางด้านสังคมเป็นเรื่องสำคัญ เวลาพูดว่าต้องทำให้คนมีศีลธรรม เรามักจะเน้นว่าต้องชวนคนเข้าวัดฟังเทศน์มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มวิชาศีลธรรม แต่เท่านี้คงไม่พอ ทุกวันนี้น่าสังเกตว่ากระบวนการเพื่อส่งเสริมความตื่นรู้ในทางจิตใจ ยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือใส่ใจเท่าที่ควร ขณะที่การสอนศีลธรรมแบบเดิมๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงยากที่จะทำให้เกิดอิสรภาพและความตื่นรู้ทั้งสองระดับ

    ปัจจัยประการหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้สำหรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกทางคุณธรรมและสังคมได้แก่ชุมชน ชุมชนมีความสำคัญอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ ๑.ช่วยบ่มเพาะความเจริญส่วนบุคคล อันนี้คือบทบาทของสังฆะหรือคณะสงฆ์โดยตรง อารามหรือวัดเป็นชุมชนที่พระพุทธองค์ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อให้พระในฐานะปัจเจกบุคคลความเจริญงอกงามในธรรมวินัยจนกระทั่งถึงขั้นบรรลุธรรมได้ ๒.ชุมชนยังทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างการทำงานภายในกับการทำงานภายนอกได้ด้วย ทำให้อิสรภาพทางใจกับอิสรภาพทางสังคมไม่แยกจากกัน

    บทบาทสองประการที่พุทธศาสนาน่าจะมี อัน ได้แก่การส่งเสริมอิสรภาพภายใน และการส่งเสริมอิสรภาพภายนอก ไม่ได้มีความสำคัญในแง่ของการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ เพื่อทำให้สังคมปลอดภัยจากวัฒนธรรมแห่งความละโมบและวัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียดเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อพุทธศาสนาเองด้วย คือช่วยให้พุทธศาสนายังมีความหมายต่อโลกปัจจุบัน หากพุทธศาสนาละเลยการเข้าไปมีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคม เพื่อส่งเสริมอิสรภาพภายนอก แม้จะยังทำงานส่งเสริมอิสรภาพภายในอยู่ ก็อาจมีปัญหาต่อพุทธศาสนาเองได้

    ในเรื่องนี้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้เตือนชาวพุทธไทยมา ๒๐ กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังแก่การสดับตรับฟังและนำไปปฏิบัติให้เกิดผล

    “หากชาวพุทธปล่อยให้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจปรุงแต่งและแรงกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างอื่น ๆ โดยที่พุทธศาสนาแทบไม่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ควบคุมด้วยเลย และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา สภาพเช่นนั้นก็จะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจเป็นไปถึงขั้นที่การปฏิบัติตามหลักการของพุทธศาสนาไม่อาจเป็นไปได้เลย”

    แม้จะไม่ถึงขั้นนั้น แต่อย่างต่ำ ๆ ก็อาจเกิดสภาพต่อไปนี้คือ “เขตแดนแห่งการปฏิบัติตามหลักการของพุทธศาสนาหรือวงการดำเนินชีวิตแบบพุทธจะรัดตัวแคบเข้า และจะเป็นแต่ฝ่ายรับ ไม่ได้เป็นฝ่ายรุกเลย ทำให้ชุมชนชาวพุทธถอยร่นห่างออกไปจากสังคมมนุษย์ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชุมชนอื่น”
    :- https://visalo.org/article/PosttoDay255110.htm

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    VsakDay.jpg
    สำนึกพื้นฐานของศีลธรรมสมัยใหม่

    พระไพศาล วิสาโล
    ปัจจุบันมีการพูดกันมากถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูศีลธรรม คำถามประการหนึ่งที่ต้องคิดกันก็คือ จิตสำนึก ค่านิยม หรือพฤติกรรมอย่างไร ที่ควรปลูกฝังหรือเสริมสร้างให้เกิดมีขึ้น แน่นอนว่าศีล ๕ หรือเบญจศีล เบญจธรรม หรือเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ กามสังวร สัมมาอาชีวะ และสติ เป็นธรรมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต้องปลูกฝังให้เกิดมีขึ้น แต่สำหรับสังคมสมัยใหม่ การอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม ต้องอาศัยจิตสำนึก ค่านิยม และพฤติกรรมอีกหลายประการ อาทิ การเคารพสิทธิของผู้อื่น การยอมรับความหลากหลายและเคารพความเห็นที่แตกต่าง การเชื่อมั่นในความเพียรของตนเอง ใฝ่รู้ใฝ่ทำ รู้จักพึ่งตนและรับผิดชอบการกระทำของตน การรู้จักคิดหรือคิดเป็นคิดชอบ คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้คนในยุคบัจจุบัน ซึ่งมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้นทุกที

    ปัจเจกชนเหล่านี้เป็นอิสระจากข้อผูกมัดและการกำกับควบคุมของครอบครัว ชุมชน และกฏเกณฑ์ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับผู้คนสมัยที่ยังอยู่หมู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่จะมีอิทธิพลในการกำกับพฤติกรรมของเขาได้มากที่สุด คือจิตสำนึกจากภายใน การพยายามปลูกฝังศีลธรรมแบบหมู่บ้าน หรือการสอนให้เชื่อฟังพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ หรือผู้ใหญ่ จึงไม่ได้ผลสำหรับคนสมัยใหม่ แม้จะได้ผลกับชุมชนสมัยก่อนก็ตาม

    การเสริมสร้างปัจเจกชนที่มีศีลธรรมนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในยุคที่เน้นปัจเจกนิยมอย่างสุดโต่ง จนมีการใช้เสรีภาพอย่างเกินเลย จนก่อผลเสียทั้งต่อตนเองและสังคม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย หรือในลำดับถัดไปก็คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับส่วนรวม ทั้งนี้เพราะแต่ละคนนั้นมีคุณสมบัติหรือธรรมชาติ ๒ ประการคือ ความเป็นบุคคล และการเป็นสมาชิกของส่วนรวม ซึ่งมีหลายระดับ เริ่มจากครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงประเทศชาติ และโลก การทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความเป็นสมาชิกของส่วนรวม หรือการนำเขากลับเข้าไปมีความสัมพันธ์กับส่วนรวม โดยยังคงปัจเจกภาพไว้ได้นั้น เป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดสภาพปัจเจกชนแบบสุดโต่งได้ ดังนั้นหลักธรรมที่ควรปลูกฝัง คือ การมีสำนึกทางสังคม ความเอาใจใส่ในสมบัติและทรัพยากรสาธารณะ ไม่นิ่งดูดายกับการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือการยักยอกสมบัติของหลวง การปกป้องกฏเกณฑ์หรือหลักการที่สังคมยึดถือร่วมกัน

    การมีสำนึกต่อส่วนรวม ย่อมป้องกันมิให้บุคคลกลายเป็นปัจเจกชนอย่างสุดโต่ง หรือถูกครอบงำด้วยอัตตาธิปไตย คือการถือเอาความเห็นและความต้องการของตนเป็นใหญ่ ขณะเดียวกัน การเป็นปัจเจกชนที่มีคุณธรรม ก็ป้องกันมิให้ถูกพัดพาไปตามกระแสสังคมในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือถูกครอบงำด้วยโลกาธิปไตย คือการถือเอาความเห็นของผู้คนทั้งหลายเป็นใหญ่ กล่าวอีกนัยหนึ่งการมีสำนึกต่อส่วนรวมควบคู่กับการเป็นปัจเจกชนที่มีคุณธรรม ย่อมช่วยให้ดำรงตนอยู่ในหลักธรรมาธิปไตย คือการถือเอาธรรมะหรือความถูกต้องเป็นใหญ่

    จิตสำนึกและพฤติกรรมดังกล่าว ไม่อาจแยกออกจากกระบวนทัศน์ ได้แก่ทัศนะหรือความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตและโลก กระบวนทัศน์ที่เอื้อเฟื้อต่อศีลธรรม คือ การตระหนักถึงความเป็นจริงว่าเราทุกคนอยู่ในเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงชีวิต สังคม และธรรมชาติเข้าด้วยกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราทั้งหลายต่างพึ่งพาอาศัยกันและมีผลกระทบต่อกันและกัน สุขภาวะของเราไม่อาจแยกจากสุขภาวะของผู้อื่น หรือสุขภาวะในสังคมและธรรมชาติได้ การเอารัดเอาเปรียบเพื่อประโยชน์ส่วนตนย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมและย้อนกลับมายังตนเองในที่สุด ดังนั้นการร่วมมือกันจึงดีกว่าการแข่งขันกัน การใช้ความรุนแรงต่อกันย่อมส่งผลเสียต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ อีกทั้งยังย้อนกลับมาที่ตัวเราด้วย ดังนั้นจึงควรที่จะใช้สันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง

     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)
    กระบวนทัศน์ดังกล่าวไม่เพียงแต่สวนทางกับแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังระบบทุนนิยมและระบบอำนาจนิยมเท่านั้น หากยังสวนทางกับวิชาหรือศาสตร์ต่าง ๆ ที่สอนกันอยู่ในสถาบันการศึกราต่าง ๆ นั่นหมายความว่าในการเสริมสร้างกระบวนทัศน์ที่เกื้อกูลต่อศีลธรรม จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาวิชาการหรือศาสตร์ต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกันด้วย อาทิ เศรษฐศาสตร์แบบพอเพียง นิเวศวิทยาแนวลึก แพทยศาสตร์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ รวมทั้งสันติศึกษา และที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ พุทธศาสตร์ที่มีโลกุตตรธรรมเป็นแกนกลาง เพราะทุกวันนี้พุทธศาสตร์ที่สอนกันล้วนจำกัดอยู่ในเรื่องโลกิยธรรม โดยความสำเร็จทางโลกเป็นหลัก (หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์ปัจจุบัน) เช่น การมีทรัพย์ มีสุขภาพ มีครอบครัวและความเป็นอยู่ที่ดี แม้สิ่งเหล่านี้จะสำคัญ แต่ก็ยังไม่ทำให้คนมีชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่ใช่หลักประกันทางศีลธรรมที่แน่นแฟ้น หากจำเป็นต้องมีโลกุตตรธรรมเป็นพื้นฐาน นั่นคือการมีจิตอิสระและสงบเย็น เพราะมีปัญญาเท่าทันความผันผวนปรวนแปรของชีวิตและโลก และไม่ติดยึดสิ่งใดว่าเป็นตัวกูของกู พุทธศาสตร์ที่มีโลกุตตรธรรมเป็นแกนกลาง นั้น ถูกละเลยไปนานแล้ว (ส่วนหนึ่งก็เพราะความพยายามที่จะทำให้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันฟื้นกลับมาให้มีความหมายกับสังคมสมัยใหม่ ดังท่านพุทธทาสภิกขุได้เป็นสดมภ์หลักในเรื่องนี้มากว่า ๗ ทศวรรษแล้ว

    ควรกล่าวย้ำในที่นี้ว่า โลกุตตรธรรมนั้นมิใช่เป็นเรื่องไกลตัว จำเพาะนักบวชเท่านั้นที่พึงใส่ใจ แท้ที่จริงโลกุตตรธรรมมีความสำคัญกับคนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ต้องการมีชีวิตอย่างปุถุชน เพราะไม่ว่าจะประสบความสำเร็จทางโลกเพียงใด ก็หนีไม่พ้นความพลัดพรากสูญเสีย ตลอดจนความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย ไปได้ หากไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงเหล่านี้ ปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้ความผันผวนปรวนแปรดังกล่าว ชีวิตย่อมเต็มไปด้วยความทุกข์ ขณะเดียวกันเมื่อประสบความสำเร็จทางโลก ได้ทรัพย์และชื่อเสียงเกียรติยศมาแล้ว กลับปล่อยใจให้สยบมัวเมา ยึดมั่นสำคัญหมายอย่างไม่รู้เท่าทันโทษของมัน ในที่สุดก็จะกลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น แทนที่มันจะเป็น “ของเรา” เราต่างหากที่กลายเป็น “ของมัน” จนอาจยอมตายเพื่อมันได้ ชีวิตเช่นนี้ย่อมหาความสุขได้ยาก แม้จะเป็นแค่ความสุขแบบ “โลก ๆ ” ก็ตาม เพราะนอกจากจะทำให้สุขภาพกายและใจเสื่อมโทรมเพราะความเครียดแล้ว ยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานแม้กับคนในครอบครัว หรือยิ่งกว่านั้นก็คือเกิดการเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ และทำร้ายกัน เพื่อแย่งชิงสิ่งเหล่านี้มาอยู่ในครอบครองให้ได้มากที่สุด

    โลกุตตรธรรมช่วยให้เรารู้เท่าทันโลกธรรมหรือความสำเร็จทางโลก ตระหนักถึงความไม่เที่ยงหรือความผันผวนเสื่อมสลาย(อนิจจัง ทุกขัง)อันเป็นธรรมชาติของมัน รู้ว่ามันไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราได้ และไม่มีทางที่จะยึดมันไว้ให้เป็นของเราอย่างแท้จริง(อนัตตา) ปัญญาดังกล่าวช่วยให้จิตเป็นอิสระจากความยึดมั่นสำคัญหมายในสิ่งเหล่านี้ และดังนั้นจึงเป็นนายของมันอย่างแท้จริง คือใช้มันให้เกิดประโยชน์ โดยไม่เผลอเข้าไปเป็นทุกข์หรือถูกมัน “กัด” สภาวะดังกล่าวอยู่ในวิสัยปุถุชนจะเข้าถึงได้ แม้จะไม่สมบูรณ์พร้อมก็ตาม และอันที่จริงเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำสำหรับปุถุชนคนทั่วไปที่มีชีวิตท่ามกลางความไม่สมหวังและการกระทบกระทั่งจากทุกสารทิศ การมีโลกุตตรธรรมเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตถึงที่สุดแล้วย่อมช่วยลดความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู” ดังนั้นจึงทำให้ไม่ตกอยู่ในอำนาจของบริโภคนิยมหรือความทะยานอยาก ขณะเดียวกันก็ไม่เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ลุกแก่โทสะหรือหมายมุ่งบังคับใครให้อยู่ในอำนาจของตน โลกุตตรธรรมจึงเป็นพื้นฐานที่หนักแน่นมั่นคงของศีลธรรมในสังคม ด้วยเหตุนี้โลกุตตรธรรมจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์ทางศีลธรรมที่ควรปลูกฝังหรือเสริมสร้างให้มีขึ้นแก่คนทั่วไปในสังคม
    :- https://visalo.org/article/PosttoDay254908.htm
    . . เปิดดูไฟล์ 6384531

     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เส้นที่ต้องก้าวข้าม
    พระไพศาล วิสาโล
    เลิกเรียนแล้ว แต่นักเรียนกลุ่มหนึ่งยังไม่กลับบ้าน ตกลงกันว่าเล่นสนุกสักพักก่อนจะแยกย้ายกันไป แล้วเส้น ๑ เส้นก็ถูกขีดบนพื้นดิน นักเรียนแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มยืนอยู่คนละด้านของเส้น ทันทีที่เกม “ตี่จับ”เริ่มขึ้น กลุ่มแรกก็ส่งตัวแทนข้ามเส้นไปจับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง พร้อมกับร้อง “ตี่” อย่างต่อเนื่อง ขณะที่คนในกลุ่มนั้นก็ต้องจับตัวคนที่ล้ำเส้นเข้ามาให้ได้ การยื้อยุดฉุดกระชากจะจบลงต่อเมื่อเสียงตี่เงียบลง ถ้าคนร้องยังอยู่ในเขตแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นเชลยของฝ่ายนั้น แต่ถ้าลากคนของอีกฝ่ายหนึ่งข้ามเส้นเข้ามาในแดนของของตนได้ คนนั้นก็ตกเป็นเชลย ฝ่ายไหนกลายเป็นเชลยหมด ฝ่ายนั้นก็แพ้ไป

    ทีแรกทุกคนก็เล่นอย่างสนุกสนานและถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ยิ่งเล่นไป ก็ชักแรงขึ้น จนถึงกับทุบตีและเตะต่อยคนที่ล้ำแดนเข้ามา มีการด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคาย ความสนิทสนมกลมเกลียวไม่หลงเหลือให้เห็น แม้จะมีการเปลี่ยนข้างสลับฝ่ายกัน ด้วยความหวังว่าความรุนแรงจะเพลาลง แต่ก็ไม่เป็นผล ครั้นปะทะกันจนเหนื่อย ก็หมดแรงเล่น ทุกคนนั่งพักด้วยอาการเหนื่อยหอบ มองหน้ากันโดยไม่พูดคุยกันเลย แต่ พอหายเหนื่อยก็เริ่มคุยกันใหม่ มีการหยอกล้อกัน เสียงหัวเราะดังขึ้น แล้วทุกคนก็ลุกขึ้นเดินเกาะกลุ่มกันกลับบ้าน ความสนิทสนมกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งขณะที่อาทิตย์ใกล้จะลับฟ้า

    นี้คือเนื้อหาของหนังเรื่องเพียงความธรรมดาของเส้น ซึ่งเป็น ๑ ใน ๑๒ หนังสั้นที่ฉายในเทศกาลหนังสั้น “ใต้ร่มเงาสมานฉันท์” ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื้อหาของหนังเรื่องนี้ดูเหมือนธรรมดา เพราะเป็นเรื่องของเด็ก ๘ คนที่เล่นสนุก ๆ กัน แต่ที่จริงแล้วหนังได้ชี้ให้เห็นถึงอานุภาพของ “เส้น” แม้มีเพียง ๑ เส้น แต่ทันทีที่ขีดแบ่งนักเรียนออกเป็น ๒ กลุ่ม เพื่อนที่คุ้นเคยกันก็กลายเป็นคนละฝ่าย จากเดิมที่เคยกลมเกลียวก็แปรเปลี่ยนเป็นปฏิปักษ์กัน จนถึงขั้นลงมือลงไม้กัน

    คำถามที่น่าคิดก็คือ มีแต่เด็กนักเรียนเท่านั้นหรือที่ขีดเส้นแบ่งกันเป็น ๒ ฝ่าย ใช่หรือไม่ว่าทุกหนแห่งในโลก เส้นได้ถูกขีดขึ้นเพื่อแบ่งคนออกเป็น ๒ ฝ่าย และมิได้แบ่งเวลาเล่นเกมกีฬาเท่านั้น แต่ยังแบ่งกันในชีวิตจริง เป็นแต่ว่ามิใช่เส้นที่ขีดบนบนดิน หากขีดขึ้นในใจของผู้คน อาทิ เส้นแบ่งทางศาสนา เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ เส้นแบ่งเหล่านี้เดิมอาจมีขึ้นเพื่อบ่งบอกว่าใครเป็นใคร มีอัตลักษณ์ต่างกันอย่างไร เช่น ฉันเป็นพุทธ เธอไม่ใช่พุทธ แต่ไม่ช้าไม่นานมันทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายขึ้นและกลายเป็นปฏิปักษ์กันในที่สุด ใครที่อยู่ฝั่งเดียวกันก็เป็น “พวกเรา” ใครที่อยู่อีกฝั่งก็เป็น “พวกมัน” ทั้ง ๆ ที่ก่อนที่จะมีเส้นแบ่ง ทุกคนก็ล้วนเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น หรืออาจเป็นญาติพี่น้องร่วมสายเลือดด้วยซ้ำ

    น่าแปลกก็คือ เราชอบขีดเส้นแบ่งซอยเพื่อกันผู้คนออกไปอยู่ฝายตรงข้ามกับตัวอย่างไม่หยุดหย่อน เริ่มจากแบ่งเป็นไทยและไม่ใช่ไทย ครั้นอยู่ในหมู่คนไทยด้วยกัน ก็แบ่งออกเป็นพุทธและไม่ใช่พุทธ ในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน ก็แบ่งเป็นอีสาน เหนือ ใต้ กลาง กทม. ในหมู่คนกทม.ก็อาจแบ่งเป็น พวกทักษิณ กับพวกไม่เอาทักษิณ หรือแบ่งเป็นประชาชน ทหาร ตำรวจ ในหมู่ทหารด้วยกัน ก็ยังแบ่งเป็นคนละพวกหากอยู่คนละหน่วย หรือจบจากต่างสถาบัน แม้จบจากสถาบันเดียวกัน ก็ยังแบ่งเป็นคนละพวกเพราะจบคนละรุ่น

    ในทำนองเดียวกัน ในหมู่คนมุสลิมด้วยกัน ก็ยังมีเส้นแบ่งระหว่างมุสลิมมลายูกับมุสลิมที่มิใช่มลายู ในหมู่มุสลิมมลายูด้วยกัน ก็มีเส้นแบ่งเพื่อแยกสุหนี่กับชีอะห์ออกจากกัน เส้นแบ่งนี้จะหายไปก็ต่อเมื่อมีเส้นแบ่งอันใหม่เกิดขึ้นแทน คือเส้นแบ่งระหว่างคนมุสลิมกับคนที่มิใช่มุสลิม แต่หากเส้นแบ่งดังกล่าวหายไปเมื่อไร เส้นแบ่งระหว่างนิกาย หรือระหว่างชาติพันธุ์ก็ถูกขีดขึ้นมาใหม่ ผลคือความเป็นพวกเดียวกันหายไป ความเป็นปฏิปักษ์เกิดขึ้นมาแทนที่
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)
    เส้นแบ่งนั้นไม่ได้มีมาแต่กำเนิดหรือเมื่อเกิดมีมนุษย์ขึ้นมาในโลก หากเกิดจากฝีมือของมนุษย์ เราขีดเส้นเหล่านี้ขึ้นมาเอง แต่แล้วกลับตกอยู่ในอำนาจของเส้นเหล่านี้ นอกจากจะปล่อยให้เส้นดังกล่าวกลายเป็นกรอบจำกัดมุมมองของเราแล้ว เรายังพากันทำร้ายกันเพราะเส้นแบ่งดังกล่าว โดยไม่เคยเฉลียวใจเลยว่าแท้จริงเราทุกคนถ้าไม่ใช่พี่น้องก็เป็นเพื่อนร่วมโลก

    สิ่งหนึ่งที่ท้าทายความเป็นมนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คือ การเอาชนะเส้นแบ่งเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ดูแลให้มันอยู่ในที่ทางของมัน คือทำหน้าที่บ่งบอกอัตลักษณ์ที่ต่างกันเท่านั้น แต่ไม่ถึงกับกีดกันผู้คนออกเป็นฝักฝ่ายหรือศัตรูกัน ถึงแม้จะเป็นพุทธ มุสลิม และคริสต์ ก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ จะทำเช่นนั้นได้เราต้องกล้าที่จะข้ามเส้นแบ่งเพื่อไปสัมผัสสัมพันธ์กับคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง และเปิดใจรับฟังเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง บางทีเราจะพบว่าเขาก็ไม่ได้ต่างจากเรา แท้จริงแล้วเขากับเรามีความเหมือนมากกว่าความต่าง คือ รักสุข เกลียดทุกข์ มีพ่อแม่ รักครอบครัว และมีน้ำจิตน้ำใจ เช่นเดียวกับเรา

    นี้คือประเด็นที่หนังสั้นหลายเรื่องในเทศกาล “ใต้ร่มเงาสมานฉันท์” พยายามถ่ายทอด ในเรื่อง “ฉันมิตร” พระภิกษุกับครูสอนศาสนาได้มาพบกันโดยบังเอิญ เหตุไม่คาดฝันทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายได้แสดงน้ำใจออกมาให้แก่กันและกัน ทีแรกก็ทำอย่างกระอักกระอ่วน แต่ความเอื้ออาทรก็ได้เป็นสะพานเชื่อมทั้งสองให้เป็นมิตรกัน รวมทั้งเรียนรู้จากกันและกัน ฝ่ายหนึ่งได้เรียนรู้ถึงการปล่อยวาง ขณะที่อีกฝ่ายได้รับกำลังใจจากเพื่อนต่างศาสนา ดังนั้นจึงเกิดความเคารพในศาสนาของกันและกันมากขึ้น

    ส่วนหนังเรื่อง “ Good Morning “ พูดถึงความหมางเมินระหว่างหนุ่มชาวสวนยางกับทหาร ซึ่งคลี่คลายมาเป็นมิตรภาพ หลังจากเฝ้าดูกันด้วยความระแวงติดต่อกันหลายวัน แม้เรื่องนี้จะจบลงด้วยคำถาม แต่ก็ชวนให้คิดต่อว่าระหว่างหน้าที่กับมิตรภาพ อะไรสำคัญกว่ากัน และเราสามารถประสานสองอย่างเข้าด้วยกันได้หรือไม่

    ทุกวันนี้เราเน้นความต่างของกันและกันมากเกินไป และตอกย้ำเส้นแบ่งราวกับว่ามันคือความจริงสูงสุดหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องศิโรราบ สิ่งที่เรายังขาดอยู่ก็คือสะพานที่จะพาเราก้าวข้ามเส้นแบ่งเหล่านี้เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ โดยเคารพความแตกต่างทางอัตลักษณ์ สะพานดังกล่าวที่สำคัญก็คือสื่อมวลชนซึ่งสามารถเปิดเผยให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังอัตลักษณ์ดังกล่าว หนังสั้น “ใต้ร่มเงาสมานฉันท์” เป็นหนึ่งในบรรดาสะพานดังกล่าวที่สังคมไทยต้องการอย่างมาก แม้หนังสั้นดังกล่าวจะไม่ได้ให้คำตอบแก่เราในทุกเรื่อง แต่ก็ช่วยตั้งคำถามที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนความคิดเดิม ๆ ที่ติดอยู่ในใจเรา

    เทศกาลหนังสั้น “ใต้ร่มเงาสมานฉันท์” เป็นความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ นิตยสาร Bioscope องค์กร Action Aid โครงการจัดตั้งมูลนิธิสื่อสาธารณะ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กลุ่มสื่อเมือง นอกจากการจัดที่กรุงเทพ ฯ แล้ว เทศกาลหนังสั้นดังกล่าวมีกำหนดจัดในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังมีการถ่ายทอดหนังสั้นผ่านเว็บไซต์ www.filmforpeace.net วันละ ๒ เรื่อง รวมทั้งจัดทำเป็นดีวีดีแจกแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป ความคืบหน้าสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว
    :- https://visalo.org/article/PosttoDay254905.htm
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เปลี่ยนได้ด้วยไมตรี
    พระไพศาล วิสาโล
    ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้คนผิวดำในสหรัฐอเมริกาไม่สามารถกินอาหาร ใช้ห้องน้ำหรือเรียนร่วมกับคนผิวขาวได้ แต่ต่อมาการแบ่งผิวได้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้กระนั้นความรังเกียจเหยียดผิวก็ยังคงดำรงอยู่ คอเร็ตตา เป็นนักศึกษาผิวดำคนแรกและคนเดียวของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของสหรัฐ เธอถูกกำหนดให้นั่งหน้าห้อง จึงกลายเป็นเป้านิ่งสำหรับคนขาวที่รังเกียจเธอ ผลไม้เช่นมะเขือเทศขว้างมาถูกเธอเป็นประจำจนโดนเต็มหน้าก็มี ที่ร้ายกว่านั้นบางครั้งผลไม้ที่โยนมายังมีเหล็กยัดไว้ข้างใน ทำให้เธอเจ็บปวดมาก เวลานักเรียนทั้งชั้นหัวเราะขณะที่เธอเช็คคราบผลไม้ตามใบหน้า เธออยากจะคลานออกจากห้องแล้วไม่กลับมาอีก แต่เธอก็กลับมา

    เธอตั้งใจมั่นที่จะไม่ยอมแพ้แม้จะถูกกระทำเพียงใดก็ตาม ขณะเดียวกันก็พยายามควบคุมอารมณ์ไว้ตามที่ได้รับการฝึกฝนมา แต่เธอก็เกรงว่าการอยู่นิ่ง ๆ จะทำให้วัยรุ่นคนขาวคิดว่าเธอไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนพวกเขา หรือคิดไปว่าเธอกลัวคนเหล่านั้น

    แล้ววันหนึ่งเธอก็โดนผลไม้ขว้างใส่อีก คราวนี้เธอไม่ยอมนิ่งเฉยแล้ว เธอก้มลงเก็บผลไม้ที่ตกอยู่บนพื้น เดินเข้าไปหาคนที่ขว้างเธอแล้ววางมันต่อหน้าเขาด้วยท่าทีที่มั่นคงหนักแน่น เธอยิ้มให้เขาแล้วพูดว่า “นี่ของคุณใช่ไหม ?” จากนั้นเธอก็กลับไปนั่งที่เดิม คราวนี้ทั้งชั้นมีเสียงโห่ฮาขึ้นมาทันที แต่มิใช่โห่เธอ หากโห่คนที่ขว้างเธอ ซึ่งรู้สึกเสียหน้าอย่างแรง นับแต่วันนั้นก็ไม่มีใครขว้างอะไรใส่เธออีกต่อไป

    คนทั่วไปเมื่อถูกรังแกอย่างในเรื่องข้างต้น มักจะนึกถึงทางออกเพียงสองทาง คือยอมจำนน หรือไม่ก็ใช้ความรุนแรงตอบโต้ ถ้าไม่ด่ากลับไปก็หาของที่หนักกว่าเช่นก้อนหินขว้างกลับไป แต่ที่จริงยังมีทางเลือกที่สาม นั่นคือสันติวิธี คอเร็ตตาเลือกใช้วิธีนี้และสามารถสยบผู้ที่รังแกเธอได้ในที่สุด

    สันติวิธีนั้นมีพลัง แต่ไม่ใช่พลังที่เกิดจากอาวุธหรือพลกำลังที่เหนือกว่า หากเป็นพลังทางใจ ความกล้าหาญและใจที่ให้อภัยนั้นมีพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ทำให้ผู้ที่คิดประทุษร้ายเกิดความละอายใจหรืออับอายในการกระทำของตน หรืออย่างน้อยก็ขาดความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงต่อไป คนเรามักมีข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น เช่น เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนเลว เป็นมนุษย์ชั้นต่ำ หรือมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าตัว แต่เมื่ออีกฝ่ายแสดงออกซึ่งคุณธรรมที่เหนือกว่า สถานการณ์ก็พลิกกลับ นอกจากข้ออ้างหรือความชอบธรรมในการทำร้ายเขาจะหมดไปแล้ว การไปทำร้ายเขายังเท่ากับเป็นประจานตัวเองว่าเป็นคนเลวและต่ำทราม

    สันติวิธีนั้นมีพลังที่สามารถชนะใจคู่กรณีได้ โดยเฉพาะเมื่อมีความปรารถนาดีและน้ำใจไมตรีเป็นพี้นฐาน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคุณธรรมดังกล่าวสามารถดึงเอาความดีในจิตใจของคู่กรณีออกมาจากส่วนลึก ความดีดังกล่าวหากถูกดึงออกมาได้มากพอย่อมสามารถสยบความโกรธ หรือความชั่วร้ายในใจเขาจนไม่มีพลังพอที่จะแสดงความรุนแรงออกมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งสันติวิธีช่วยให้ความดีในจิตใจของคู่กรณีสามารถเอาชนะความชั่วในใจเขาได้ ยิ่งเราทำดีกับใครมากเท่าไร เราก็ช่วยเสริมสร้างพลังความดีในจิตใจของเขาให้เข้มแข็งมากขึ้นจนปิดโอกาสไม่ให้ความเลวร้ายครอบงำใจเขาได้ จากจุดนี้เองที่ความก้าวร้าวและความเป็นปฏิปักษ์จะเปลี่ยนมาเป็นความเอื้อเฟื้อและความเป็นมิตร ด้วยเหตุนี้การใช้สันติวิธีจึงไม่เพียงสามารถทำให้อีกฝ่ายยุติความรุนแรงได้ เท่านั้น หากยังทำให้เขากลับมาเป็นมิตรกับผู้ใช้สันติวิธีได้ด้วย

    ความก้าวร้าวรุนแรงนั้นแม้จะเป็นการใช้พลกำลังที่เหนือกว่า แต่มักออกมาจากจิตใจที่อ่อนแอ อ่อนแอทั้งในแง่ที่ไม่สามารถต้านทานอารมณ์ดำมืดหรือความเลวร้ายภายในจิตใจได้ เช่น ความโกรธเกลียด เคียดแค้น หรือความโลภ อีกด้านหนึ่งก็อ่อนแอเพราะถูกความทุกข์ทับถมกดดัน หรืออ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไรก็ตาม ก็ล้วนเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและควรให้ความช่วยเหลือ

    บนรถไฟขบวนหนึ่งชานกรุงโตเกียว เมื่อประตูรถเปิดรับผู้โดยสาร ก็มีชายร่างใหญ่เดินโซซัดโซเซเข้ามาพร้อมกับส่งเสียงดังลั่น หญิงแม่ลูกอ่อนเห็นท่าไม่ดีก็เตรียมจะหลบ แต่กลับถูกผลักกระเด็นไปปะทะผัวเมียวัยชราที่กำลังนั่งอยู่ พอผู้เฒ่าทั้งสองลุกขึ้นด้วยความตระหนก ชายผู้นั้นก็ยกเท้าเตะหลังหญิงแก่ แต่เธอเอี้ยวหลบ เมื่อเขาเดินตรงเข้าไปในกลุ่มผู้โดยสาร ผู้คนก็แตกฮือ

    ในระหว่างนั้นเองก็มีชายแก่วัยเจ็ดสิบกวักมือเรียกเขาพร้อมกับยิ้มอย่างเป็นมิตร ชายร่างใหญ่เดินไปหาชายแก่พร้อมกับตวาดใส่ แต่ชายแก่ไม่สนใจกลับถามว่า “ไปดื่มอะไรมาเหรอ” “ฉันไปกินสาเกมา” ชายขี้เมาตอบแล้วกระแทกเสียงกลับไปว่า “แล้วมันเรื่องอะไรของแกล่ะ”

    ชายแก่ชวนคุยต่อว่า “ฉันก็ชอบสาเกเหมือนกัน” แล้วก็เล่าว่าทุก ๆ เย็นเขากับภรรยาจะไปนั่งดื่มสาเกในสวน ชื่นชมธรมชาติ ระหว่างที่พูดชายขี้เมาก็มีท่าท่าอ่อนลง กำปั้นเริ่มคลายออก ถึงตรงนี้ชายแก่ก็ถามถึงภรรยาของเขา

    “เมียฉันตายไปแล้ว” ชายขี้เมาตอบ แล้วก็เริ่มสะอึกสะอื้น “ฉันไม่มีเมีย ไม่มีบ้าน ไม่มีอาชีพอะไรเลย รู้สึกอับอายเหลือเกิน” ชายแก่ชวนเขานั่งลง เขาก็ทำตามอย่างคนว่าง่าย ชายแก่พูดปลอบใจเขาด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน สักพักเขาก็เอาหัวซุกกับตักของชายชรา ไม่มีพิษสงใด ๆ เหลืออยู่อีกเลย จากอันธพาลเกเรกลับกลายเป็นลูกแมวที่แสนเชื่อง

    สาเหตุที่คนเราสร้างความทุกข์ให้แก่กันและกัน ส่วนใหญ่ก็เพราะแต่ละคนมีความทุกข์ท่วมท้นใจ จึงอดไม่ได้ที่จะระบายใส่คนอื่น เมื่อใดก็ตามที่เราตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ความเห็นใจก็จะเกิดขึ้นตามมา เราจะมองเขาอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น พร้อมกับปฏิบัติกับเขาอย่างมนุษย์ด้วย คือ มีน้ำใจไมตรี มีความปรารถนาดี และเชื่อว่าเขามีคุณงามความดีอยู่ในจิตใจ การที่เขามีพฤติกรรมที่เลวร้าย นั่นก็เพราะคุณงามความดีดังกล่าวอ่อนแรง ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนชั่วโดยสันดาน เราสามารถช่วยเขาได้ด้วยการเสริมสร้างความดีในใจเขาให้มีพลังจนสามารถเอาชนะความชั่วได้

    สันติวิธีไม่เพียงแต่ช่วยให้ความดีเอาชนะความชั่วได้ในใจเขาเท่านั้น หากยังช่วยให้ความดีในจิตใจของเรางอกงามด้วย ในทางตรงกันข้ามยิ่งเราใช้ความรุนแรงมากเท่าไร ความดีและความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเสื่อมถอยลง จนความชั่วร้ายและภาวะอมนุษย์ครอบงำในที่สุด

    กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วเราจะเป็นมนุษย์แค่ไหนขึ้นอยู่ว่าเราเลือกวิธีอะไรในการแก้ปัญหา
    :- https://visalo.org/article/PosttoDay254901.htm
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    วิถีสู่สังคมคุณธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    ๒๕๔๙ เป็นปีที่มีการพูดถึงคุณธรรมและจริยธรรมมากที่สุดปีหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการที่ท่านพุทธทาสภิกขุมีชาตกาลครบหนึ่งศตวรรษ และไม่ได้เกิดจากความห่วงกังวลที่เยาวชนไทยมีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำลง แต่สาเหตุสำคัญเกิดจากความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณซึ่งอ้าง ๑๙ ล้านเสียงอยู่เป็นอาจิณ เมื่อฝ่ายหนึ่งอ้างความชอบธรรมจากระบอบประชาธิปไตย เป็นธรรมดาอยู่เองที่อีกฝ่ายจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมตามหลักคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นจุดอ่อนอย่างฉกรรจ์ของรัฐบาลทักษิณ ยิ่งเมื่อมีการใช้กำลังทหารโค่นล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความชอบธรรมอย่างหนึ่งที่ใช้อ้างในการรักษาระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็คือ เพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม (สองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร ทำไมจึงใช้ควบกัน จะยังไม่ขออภิปรายในที่นี้ แต่ขอใช้คู่กันตามสมัยนิยมไปพลาง ๆ ก่อน)

    มองเผิน ๆ การที่รัฐบาลทักษิณถูกโค่นล้ม นับเป็นชัยชนะของคุณธรรมและจริยธรรม แต่อันที่จริง นั่นอาจเป็นความพ่ายแพ้ของคุณธรรมและจริยธรรมก็ได้ หากว่าคุณธรรมและจริยธรรมถูกใช้เป็นเพียงข้ออ้างในการยึดอำนาจเท่านั้น ว่ากันโดยหลักการแล้ว การใช้กำลังอาวุธเพื่อแก้ปัญหา ทางการเมือง แทนที่จะใช้สันติวิธีนั้น เป็นสิ่งที่สวนทางกับหลักคุณธรรม แม้จะแก้ปัญหาได้แต่ก็ชั่วคราว และจะสร้างปัญหาอื่นมาแทนที่ ขณะเดียวกันก็จะเป็นเยี่ยงอย่างให้มีการใช้กำลังอาวุธเป็นทางออกอยู่เสมอ

    หลังจากที่มีการยึดอำนาจแล้ว ก็มีการพยายามนำเอาคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประเทศ ขณะเดียวกันก็มีเสียงขานรับจากหลายแวดวง ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น ควบคู่กับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตามคุณธรรมและจริยธรรมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการเทศน์หรือการสอนเท่านั้น ถ้าทำเพียงเท่านั้นก็ไม่มีวันสำเร็จ คุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยบูรณาการในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และเทคโนโลยีจนกลายเป็นวัฒนธรรม ครอบคลุมถึงวิถีชีวิต โลกทัศน์ และค่านิยม ไม่มีรัฐบาลใดสามารถทำเช่นนี้ได้สำเร็จ แต่ต้องมีการขับเคลื่อนในระดับประเทศ และมีการวางแผนระยะยาว ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยควรยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ

    กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว คุณธรรมและจริยธรรมของคนไทยในปัจจุบันเสื่อมถอยลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะปัจจัยพื้นฐานสองประการคือ วัตถุนิยม และ อำนาจนิยม ทั้งสองปัจจัยได้สถาปนาตัวเองจนฝังลึกอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศไทยอย่างมั่นคงแน่นหนา และได้กลายเป็นวัฒนธรรม หรือวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของคนไทยในทุกระดับ
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)
    วัตถุนิยมนั้นเติบโตมากับระบบทุนนิยม ซึ่งมีความเชื่อว่าการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวหรือความโลภนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ คำพูดที่สะท้อนความเชื่อดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คือ “greed is good” ทุนนิยมได้ทำให้เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญ เป็นทั้งเป้าหมายของชีวิตและของประเทศ ดังเห็นได้จากการถือเอาการเติบโตของจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ)เป็นเป้าหมายหลักของแทบทุกประเทศ ขณะที่ความร่ำรวยเป็นเป้าหมายในชีวิตของคนส่วนใหญ่ ( “บ้านนี้อยู่แล้วรวย”จึงเป็นพรยอดปรารถนาที่ใคร ๆ ก็อยากได้จากหลวงพ่อคูณ)

    ภายใต้ระบบทุนนิยม เงินกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง อะไรที่วัดเป็นเงินไม่ได้ ย่อมไร้คุณค่า อะไรที่ให้ประโยชน์เป็นเม็ดเงินได้มากที่สุด ย่อมถือว่ามีคุณค่ามาก แม้จะต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม (นากุ้งจึงมีคุณค่ามากกว่าป่าชายเลน เช่นเดียวกับศูนย์การค้ามีคุณค่ามากกว่าโรงเรียน) ผลที่ตามมาคีอเงินกลายเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์ทุกมิติ พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกด้วยการให้เงินและวัตถุ ครูกับนักเรียน หมอกับคนไข้ สัมพันธ์กันโดยมีเงิน(ค่าจ้าง)เป็นสื่อกลาง แม้แต่ฆราวาสก็เข้าหาพระเพราะหวังโชค ขณะที่พระก็ปรารถนาเงินบริจาคจากฆราวาส

    ทั้งหมดนี้นำไปสู่การขยายตัวและหยั่งลึกของวัตถุนิยมทั้งในระดับทัศนคติและโครงสร้าง ผู้คนเห็นว่าความสุขเกิดจากการเสพ จึงพยายามแสวงหาวัตถุสิ่งเสพมาปรนเปรออย่างไม่หยุดหย่อน ในขณะที่สื่อมวลชน ระบบการศึกษา และระบบเศรษฐกิจก็กระตุ้นการบริโภคอย่างเต็มที่ เมื่อประกอบกับวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมความขยันหมั่นเพียร และระบบยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาคือปัญหาหนี้สิน การพนัน คอร์รัปชั่น การลักขโมย และปล้นฆ่า อย่างไม่เคยมีมาก่อน

    ควบคู่กับวัตถุนิยมคืออำนาจนิยม การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำให้รัฐมีอำนาจในการกำหนดทุกอย่าง ทั้งภาษา ศาสนา การศึกษา การปกครอง อีกทั้งยังสามารถแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในทุกพื้นที่ จนชุมชนอ่อนแอในขณะที่ประชาชนต้องพึ่งพิงรัฐมากขึ้น และถูกกำหนดโดยรัฐอยู่ฝ่ายเดียว จนเกิดความสัมพันธ์แบบอำนาจนิยม

    กลไกสำคัญในการแผ่ขยายวัฒนธรรมอำนาจนิยม ได้แก่ระบบราชการ ซึ่งไม่เพียงสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรโดยอาศัยอำนาจ(หรือคำสั่ง)ยิ่งกว่าคุณธรรมหรือความรู้ หากยังทำให้ข้าราชการสัมพันธ์กับประชาชนในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่าระบบราชการแพร่หลายไปถึงไหน วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็ระบาดไปถึงนั่น ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียน ดังเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน จนเกิดเหตุการณ์ข่มขู่คุกคามและตบตีกันอยู่เป็นประจำ

    อำนาจนิยมและวัตถุนิยมนั้น เป็นตัวการส่งเสริมอกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ โดยตรง ดังนั้นจึงนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ การเบียดเบียน การผิดศีล และการละเมิดกฎหมาย นับเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณธรรมและจริยธรรมโดยตรง ยิ่งอำนาจนิยมและวัตถุนิยมฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างและวัฒนธรรมของผู้คนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ห่างไกลจากคุณธรรมและจริยธรรมมากเท่านั้น

    การสร้างสังคมที่มีคุณธรรมและจริยธรรม จึงต้องทำมากกว่าการเทศน์หรือการรณรงค์ด้วยคำขวัญ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ออกจากโครงสร้างวัตถุนิยมและอำนาจนิยม ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปอย่างรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา สื่อมวลชน และระบบยุติธรรม

    การปฏิรูปดังกล่าวไม่อาจเนรมิตได้ด้วยอำนาจ หากต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้นใครก็ตามแม้มีอำนาจเบ็ดเสร็จก็ไม่สามารถผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรมและจริยธรรมได้ อันที่จริงการมีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการมีแนวโน้มจะพาสังคมไทยถอยห่างจากคุณธรรมและจริยธรรมด้วยซ้ำ เพราะอำนาจนั้นมักเป็นปฏิปักษ์กับคุณธรรม ดังคำกล่าวอันลือชื่อของลอร์ดแอคตันว่า “อำนาจมีแนวโน้มที่จะฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จย่อมทำให้เกิดความฉ้อฉลอย่างยิ่ง”

    การรัฐประหารโดยคมช.นั้น แม้จะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหลุดจากอำนาจ และไม่อาจสร้างปัญหาให้แก่สังคมไทยได้ดังแต่ก่อน แต่ก็ได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาหลายประการ โดยเฉพาะการตอกย้ำวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วยอำนาจ สันติวิธีถูกเมินข้ามมากขึ้น ผลก็คือทุกฝ่ายก็หันมาใช้อำนาจหรือความรุนแรงเพื่อเอาชนะคะคานกัน การวางระเบิด ๘-๙ จุดในวันส่งท้ายปีเก่าคือผลพวงของทัศนคติดังกล่าว ซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยสู่ความตกต่ำยิ่งขึ้น

    ด้วยเหตุนี้เงื่อนไขประการต้นของการสร้างสังคมคุณธรรม ก็คือการพาสังคมการเมืองไทยออกจากกับดักแห่งอำนาจนิยมที่คณะรัฐประหารได้สร้างเอาไว้โดยเร็วที่สุด นั่นคือการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในปีนี้ให้จงได้ จะว่าไปแล้วการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยให้กลับมาหยั่งรากลึกและทำงานได้ เป็นบททดสอบที่สำคัญว่าสังคมไทยจะก้าวหน้าไปสู่วิถีแห่งคุณธรรมและจริยธรรมได้หรือไม่ หากประชาธิปไตยของไทยยังล้มลุกคลุกคลาน หรือมีแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยอาศัยกำลังทหารค้ำยัน(หรือครอบงำ) นั่นก็หมายความว่า เรายังห่างไกลจากสังคมคุณธรรม เพราะยังถือคติ “อำนาจคือความถูกต้อง”

    ต่อเมื่อ “ความถูกต้องคืออำนาจ” นั่นแหละคือเครื่องชี้ว่าสังคมไทยคือสังคมคุณธรรม ในสังคมเช่นนี้ ประชาธิปไตยย่อมสถาปนาอย่างมั่นคง และปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายย่อมแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี หาใช่กำลังอาวุธไม่

    อย่างไรก็ตามพร้อม ๆ ไปกับการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เวทีแห่งการต่อสู้โดยสันติวิธีบังเกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ออกจากโครงสร้างแห่งอำนาจนิยมและวัตถุนิยม ควบคู่กับการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างรอบด้านดังกล่าวข้างต้น จะว่าไปแล้วการปฏิรูปอย่างรอบด้านนี้เองที่จะเป็นหลักประกันให้เกิดประชาธิปไตยอย่างตั้งมั่น ในทำนองเดียวกับที่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งจะส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างที่เอื้อต่อคุณธรรมและจริยธรรมอย่างแท้จริง

    ๒๕๕๐ เป็นปีที่เราจะต้องเลือก ระหว่าง “อำนาจคือความถูกต้อง” หรือ “ความถูกต้องคืออำนาจ” ต่อเมื่อเราเลือกประการหลังเท่านั้น สังคมคุณธรรมจึงจะมีหวังเป็นจริงขึ้นได้บนแผ่นดินนี้

    :- https://visalo.org/article/PosttoDay255001.htm
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เหนือโลก พ้นสมมุติ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อขึ้นไปบนที่สูง นอกจากจะได้ความรู้สึกโปร่งโล่งเบาสบายแล้ว ทัศนียภาพหรือมุมมองต่อโลกก็จะเปลี่ยนไปด้วย เวลาเราอยู่บนยอดเขาเราจะเห็นคนที่อยู่ข้างล่าง แต่มองไม่ออกเลยว่าใครเป็นคนรวย ใครเป็นคนจน ใครจบปริญญาเอก ใครจบประถม ใครเป็นชาวพุทธ ใครเป็นชาวคริสต์ ใครเป็นคนไทย ใครเป็นคนพม่า เรียกว่าสมมติที่ติดมากับผู้คนละลายหายไปเลย รู้เพียงแต่ว่าจุดเล็กๆ ข้างล่างเป็นคนเท่านั้นเอง ความเป็นพุทธ เป็นไทย เป็นฝรั่งไม่มีความหมายอีกต่อไป และถ้าอยู่สูงขึ้นไปอีกก็แยกไม่ออกแม้กระทั่งว่าเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ด้วยซ้ำ ยิ่งอยู่สูงขึ้นไป เส้นแบ่งประเทศเราก็จะมองไม่เห็นว่าตรงไหนไทย ตรงไหนพม่า เราจะเห็นผืนแผ่นดินทั่วโลกเป็นผืนเดียวกัน มองไม่เห็นแม้กระทั่งเส้นแบ่งว่าตรงไหนเอเชีย ตรงไหนยุโรป เส้นแบ่งพวกนี้ไม่มีความหมายอีกต่อไป ถึงตรงนั้นเราจะเห็นชัดว่ามันเป็นแค่เส้นสมมุติที่ไม่มีอยู่จริง

    เมื่อเราขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราเห็นก็คือความจริงที่หลุดจากสมมติทีละชั้น ๆ จนสมมติเหล่านี้ไร้ความหมายไป ยิ่งถ้าอยู่สูงขึ้นไปจนถึงชั้นบรรยากาศ อย่างนักบินอวกาศ ก็จะพบว่าแท้จริงนั้นโลกทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีเส้นแบ่ง ไม่มีพรมแดน สิ่งสมมติที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน แบ่งแยกประเทศออกจากกันนั้นเลือนหายไปหมด

    ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากว่าจิตของเราเข้าถึงภาวะที่เป็นโลกุตระ เราก็จะไปพ้นสมมติที่เหนือกว่านั้นขึ้นไปอีก ทุกวันนี้คนเราติดสมมติมาก ไม่ใช่ติดแค่ว่าเป็นพุทธ คริสต์ มุสลิม เป็นไทย พม่า หากยังติดสมมติเรื่องความเป็นคนรวย คนจน คนมีการศึกษา คนไม่มีการศึกษา เกิดการแบ่งชั้นวรรณะ ดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน รวมทั้งการให้ค่ากับสิ่งของต่างๆ เช่นถ้าเป็นเงินทองก็มีค่า ถ้าเป็นก้อนหินก็ไม่มีค่า มนุษย์เราหลงสมมติมาก จนกระทั่งคิดว่าสมมติคือความจริง แต่ถ้าเรายกจิตขึ้นสูง จิตที่เป็นโลกุตระก็จะรู้ว่าสมมตินั้นไม่ใช่ความจริงแท้ มันเป็นแค่สิ่งที่กำหนดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในบางแง่บางด้านเท่านั้น

    การอยู่เหนือโลกยังหมายถึงการอยู่เหนือโลกธรรม สิ่งที่เรียกว่าโลกธรรมก็คือ ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความมียศ ความเสื่อมยศ เหล่านี้เป็นสมมติของโลก คนที่ไม่รู้ก็ถูกสมมติเข้าครอบงำ สุขหรือทุกข์ไปตามอำนาจของโลกธรรม มีลาภ มียศก็ดีใจ พอเสื่อมลาภ เสื่อมยศก็เสียใจ ผู้คนหนีความทุกข์ไม่พ้นเพราะยังติดอยู่ในโลกธรรม ยังติดอยู่ในสมมติ เพราะไปให้ค่ากับมันมาก แต่ถ้าหากว่าเราสามารถยกจิตขึ้นสูง จนกระทั่งเห็นว่าสมมตินั้นเป็นแค่สิ่งที่ใช้เรียกขานกัน เป็นชื่อที่ใช้เรียกหน่วยรวมของสิ่งต่างๆ เป็นตัวตนสมมติที่จิตปรุงแต่งซ้อนทับความเป็นจริง เราก็จะไม่หลงยึดกับสมมตินั้น

    สมมติที่มีอิทธิพลต่อคนเรามากที่สุดก็คือความเป็นตัวเราของเรา เป็นตัวตนที่สร้างขึ้นมาและปล่อยให้มันครอบงำจิตใจเรา คงจะไม่มีสมมติอะไรที่จะมีอิทธิพลผลักไสคนให้ทุกข์ หรือหลงวนอยู่ในวัฏสงสารมากเท่ากับสมมติเรื่องตัวตน เรื่องตัวเราของเรา

    ไม่มีอะไรที่จะมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนเรามากไปกว่าความรู้สึกที่เรียกว่า “ตัวกูของกู” เวลาเพื่อนเงินหาย โทรศัพท์หาย เราไม่รู้สึกอะไร เราอาจจะแนะนำเขาด้วยซ้ำว่ามันเป็นของนอกกาย แต่ถ้าเป็นเงินหรือโทรศัพท์ของเรา มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที คนอื่นเขาจะเจ็บป่วยอย่างไร เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรเลย แต่เพียงแค่เราปวดฟันปวดหัวเท่านั้นก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาเลย ไม่ใช่แค่ตัวเราเท่านั้น อาจจะเป็นลูกหลานของเรา เพียงแค่ประทับตราว่าเป็นของเราเท่านั้น หากอะไรเกิดขึ้นกับเขา ก็สะเทือนไปถึงจิตใจของเราทันที
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)
    มีพยาบาลคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๔๐ เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ราชบุรี รถโดยสารชนกับรถไฟกลางเมือง ตายไปยี่สิบกว่าคน ตอนที่ได้ข่าวนั้นประมาณสี่โมงเย็น เธอนึกในใจด้วยซ้ำว่า ดีเหมือนกัน คนล้นประเทศแล้วตายไปบ้างก็ดี แต่หนึ่งชั่วโมงถัดมา พอรู้ว่าหนึ่งในยี่สิบคนที่ตายนั้นคือหลายชายของเธอ เธอถึงกับเข่าทรุดเลย ทั้งเสียใจทั้งรู้สึกผิดที่ไปคิดอกุศลอย่างนั้น ทำไมตอนที่ได้ฟังครั้งแรกเธอไม่รู้สึกอะไร ก็เพราะเธอคิดว่าคนที่ตายไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ไม่ใช่ลูกของเรา ไม่ใช่เพื่อนของเรา แต่พอพบว่าหนึ่งในนั้นเป็นลูกหลานของเรา มันก็ทำให้ทุกข์มาก เห็นไหมว่าความแตกต่างระหว่างความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นของเรา กับไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรานั้นมีมากทีเดียว

    คนทุกวันนี้เป็นทุกข์เพราะความสำคัญมั่นหมายนี้มาก นี่ขนาดเกิดขึ้นกับคนอื่น ยังทุกข์ถึงเพียงนี้ ถ้าเกิดขึ้นกับตัวเอง ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเราเป็นของเราจะทำให้ทุกข์สักเพียงใด อย่างเช่นเวลาเจ็บป่วย แทนที่จะเห็นว่าแค่กายเท่านั้นที่ป่วย คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าฉันป่วย ผลก็คือไม่ใช่กายเท่านั้นที่ป่วย ใจก็ป่วยด้วย การไม่เห็นความจริงที่ว่ามันไม่มีตัวเรา มันมีแต่กายกับใจนั้น ทำให้คนทุกข์มาก ทุกข์ในที่นี้หมายถึงทุกข์ใจ ไม่ได้ป่วยแค่กายแต่ป่วยไปถึงใจด้วย แต่เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่ามีเพียงแค่กายเท่านั้นที่ป่วย ถ้าเห็นอย่างนี้ ใจก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร

    อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม เคยเล่าให้ฟังว่าตอนที่พิการใหม่ๆ ทุกข์มาก พิการเมื่ออายุยี่สิบสี่ปี ตอนนั้นเป็นครูพละ สอนนักเรียนว่ายน้ำ กระโดดน้ำผิดท่าหัวไปกระแทกกับพื้นสระ ทำให้พิการตั้งแต่คอลงมา ชีวิตหมดอนาคตไปเลย รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ตอนนี้อาจารย์กำพลกำลังเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ เพื่อนอาตมาไปสัมภาษณ์แล้วมาเขียน คิดว่าคงจะออกในเร็วๆ นี้ เป็นหนังสือที่น่าสนใจ อาตมาอ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมานของอาจารย์กำพลช่วงที่พิการใหม่ ๆ แม้พยายามดิ้นรนหาหมอทุกประเภทก็ไม่ดีขึ้น ทุกข์ทั้งกายและใจ จนกระทั่งรู้แน่ชัดว่ารักษาไม่หายก็ยิ่งทุกข์ขึ้นไปใหญ่ ชีวิตเหมือนกับรอวันตาย เพราะพึ่งพาตัวเองไม่ค่อยได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ป้อนข้าว พาเข้าห้องน้ำ ทำอะไรให้ทุกอย่างสารพัด

    หลังจากผ่านไปนานนับสิบปีก็เริ่มหันมาสนใจธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะมากขึ้น อ่านแล้วก็สบายใจ แต่พอเลิกอ่านก็ทุกข์อีก ก็เลยสนใจจะปฏิบัติธรรม พอทราบว่ามีแนวปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน ก็เขียนจดหมายไปปรึกษาหลวงพ่อคำเขียน เพราะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อเทียน ขอคำแนะนำว่าตนเองร่างกายพิการจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร หลวงพ่อคำเขียนก็เขียนจดหมายตอบกลับไปว่า ถ้าเดินจงกรม นั่งสร้างจังหวะไม่ได้ ให้พลิกมือไปมาก็แล้วกัน พลิกมือก็ให้รู้ว่าพลิก ถ้าใจมันคิดก็ให้รู้ทัน ให้รู้ว่าที่พลิกนั้นเป็นรูป ที่คิดนั้นเป็นนาม ปฏิบัติให้เห็นรูปกับนาม การเจริญสติเป็นการถลุงให้เหลือแต่รูปกับนาม หลวงพ่อท่านใช้คำว่า ถลุง คือแยกย่อยจนเหลือแต่รูปกับนาม

    อาจารย์กำพลก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงพ่อคำเขียน อยู่บนเตียงก็พลิกมือไปมา จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งก็เห็นชัดเลยว่า ที่พลิกไปมาคือรูป ที่คิดนั้นคือนาม เห็นชัดเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นแค่รูปกับนาม พอเห็นปุ๊ปจิตสว่างวาบเลย เห็นชัดเลยว่าที่พิการนั้น มีเพียงกายแต่ใจไม่ได้พิการ หลงคิดอยู่ตั้งนานว่าฉันพิการ พอคิดแบบนี้ก็ท้อ จิตใจก็แย่ รู้สึกทุกข์ แต่พอเห็นความจริงซึ่งแสนจะธรรมดาสามัญว่า จริงๆ แล้วที่พิการคือกายพิการ แต่ใจไม่ได้พิการด้วย อาจารย์กำพลบอกว่าจิตก็ลาออกจากความทุกข์คือลาออกจากความพิการเลย กายยังพิการอยู่ แต่ใจไม่พิการแล้ว ใจสบายและเป็นอิสระ เพราะเห็นความจริงว่า ที่จริงแล้วไม่ใช่ตัวฉันที่พิการ เป็นเพียงกายที่พิการ เป็นเพียงรูปที่พิการ

    การเห็นความจริงว่ามันไม่มีตัวเรา มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจนี้สำคัญมาก มันเป็นการทะลุทะลวงสมมติที่ทำให้เห็นความจริง และทำให้เป็นอิสระจากความทุกข์ที่เกิดกับกาย หากสามารถอยู่เหนือสมมติเรื่องตัวตนได้ ก็ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก มีอานิสงส์มาก มันสามารถทำให้เราเจอทุกข์ โดยที่ใจไม่ทุกข์ได้

    มีเรื่องเล่าว่า หลวงปู่บุดดาสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่บุดดาท่านมรณภาพไป ๒๐ ปีแล้ว ตอนที่มรณภาพอายุ ๑๐๑ ปี ตอนนั้นท่านก็คงประมาณ ๘๐-๙๐ ปี ท่านและหมู่คณะได้รับนิมนต์ไปฉันอาหาร ปรากฏว่าอาหารมีพิษ อาเจียนกันทั้งคณะ อาเจียนกันอย่างรุนแรงมาก พระหนุ่มที่ไปด้วยก็อาเจียนจนหมดแรง นอนหมดสภาพ แต่หลวงปู่บุดดายังสามารถนั่งคุยกับโยมได้ คุยสักพักก็อาเจียนใส่กระโถน แล้วก็นั่งคุยต่อ ท่านบอกว่าอยากจะให้กำลังใจโยม เพราะโยมเสียกำลังใจมาก ตั้งใจจะทำบุญ แต่กลับจะได้บาป ก็พูดให้กำลังใจโยม โยมก็แปลกใจว่าพระหนุ่มๆ อาเจียนจนนอนหมดแรง แต่หลวงปู่บุดดายังคุยกับโยมได้ จึงสงสัยว่าหลวงปู่บุดดาไม่เป็นอะไรหรือ ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า “ร่างกายเรานี้มันสักแต่ว่าเท่านั้น ธาตุ ๔ มันถูกยาเมา ยาเบื่อ มันก็แสดงอาการต่าง ๆ นานา ส่วนจิตใจมันไม่ได้ถูก ก็เลยไม่เป็นอะไร เหตุเพราะกายกับใจมันคนละเรื่อง รวมกันไม่ได้” ท่านแสดงให้เห็นชัดเลยว่าที่ทุกข์นั้นกายทุกข์ แต่ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย

    อีกคราวหนึ่งท่านไปผ่าตัดนิ่ว ผ่าเสร็จพักใหญ่ท่านก็บอกว่า “ค่อยยังชั่วแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว” หมอและพยาบาลก็แปลกใจเพราะท่านเพิ่งผ่าตัดเสร็จเมื่อสักครู่นี้เอง คนอื่นผ่าตัดน้อยกว่าท่าน ยังแสดงความเจ็บปวดมากกว่า หลวงปู่ทำอย่างไรถึงไม่เจ็บ หลวงปู่บุดดาตอบว่า “ร่างกายของหลวงปู่ก็เหมือนกัน ทำไมมันจะไม่เจ็บ แต่จิตใจต่างหากที่ไม่ได้เจ็บป่วยไปกับร่างกายด้วย” ที่ท่านพูดอย่างนี้ได้เพราะท่านเห็นความจริงว่า มันมีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ ท่านไม่ได้ไปสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวเรา มีของเรา คนธรรมดาซึ่งยังหลงอยู่ในสมมติ ก็ยึดมั่นว่ามีตัวกูของกู เวลาปวดจึงรู้สึกว่าฉันปวดๆ ไม่สามารถที่จะแยกออกไปได้ว่าที่ปวดจริงๆ คือกายไม่ใช่ใจ

    หลวงปู่บุดดาเป็นตัวอย่างของคนที่เห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ คือจิตของท่านอยู่เหนือสมมติแล้ว โดยเฉพาะสมมติเรื่องตัวตน ท่านรู้ความจริงระดับปรมัตถ์สภาวะว่า แท้จริงแล้วมีแต่รูปกับนามเท่านั้น การที่เราเห็นความจริงอย่างนี้ ถึงแม้เป็นความจริงขั้นพื้นฐาน แต่ก็สำคัญมากที่จะทำให้อยู่เหนือทุกข์ได้ จิตใจก็จะโปร่งโล่งเบาสบาย มีอะไรเกิดขึ้นอันเป็นธรรมดาของสังขาร ไม่ว่าจะเป็นความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพราก แต่ใจก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนไปด้วย มีแต่ความสงบเย็นเป็นปกติ
    :- https://visalo.org/article/suksala25.html
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    รู้ทันเจ้าตัวร้าย
    พระไพศาล วิสาโล

    คนไทยเราคุ้นกับกิเลส ๓ ตัว คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะได้ยินบ่อย ที่จริงยังมีกิเลสอีกชุดหนึ่ง ๓ ตัวเหมือนกัน คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่กิเลสชุดนี้คนไทยรู้จักน้อยกว่า โดยเฉพาะคำว่ามานะ คนไทยเรามักเข้าใจว่าเป็นของดีจนถึงกับตั้งชื่อลูกว่ามานะ บางคนก็เปลี่ยนชื่อตัวเองจากที่พ่อแม่ตั้งให้เป็นมานะ เพราะเราเข้าใจว่ามานะคือ “พยายาม” ที่จริงแล้วมานะไม่ได้แปลว่าพยายาม แต่มานะอาจทำให้เกิดพยายามได้ เพราะว่าคนเราโดยเฉพาะคนไทยนั้นจะพากเพียรพยายามได้ก็เพราะกลัวเสียหน้าหรือไม่อยากแพ้คนอื่น เห็นคนอื่นเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ มีคำว่าขัตติยะมานะ ซึ่งหมายถึง มานะของกษัตริย์ จะแพ้ใครไม่ได้ เสียเกียรติยศไม่ได้ หรือจะให้ใครมาหยามน้ำหน้าไม่ได้ แต่ไม่ใช่กษัตริย์เท่านั้นที่มีมานะ ปุถุชนทั่วไปก็มีกันทั้งนั้น แม้แต่พระอริยะเจ้าระดับต้น ๆ ก็ยังมีอยู่ แต่ว่าเบาบางมาก


    มานะแปลว่าความถือตัว ความสำคัญตัวว่าสูง หรือความอยากใหญ่ อยากเด่น อยากดัง เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ส่วนตัณหาคือความอยากมีอยากได้ เช่น อยากรวย แต่ถ้าอยากใหญ่ อยากดัง อยากเด่น หรือสำคัญว่าฉันเหนือกว่า ฉันดีกว่า อันนี้เราเรียกว่ามานะ ส่วนทิฐิหมายถึงความยึดติดถือมั่นในความคิด เราคงเคยได้ยินคำว่า “ตัวกูของกู” ความยึดติดว่า “ของกู” หรืออยากได้มาเป็น “ของกู” นี้คือตัณหา ส่วนความยึดติดว่ามี “ตัวกู” หรือหลงยึดมั่นว่า กายและใจนี้คือ “ตัวกู” อันนี้คือทิฏฐิ ถ้าพูดให้เต็มก็คือ สักกายทิฏฐิ แต่มีอีกตัวหนึ่งซึ่งท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์บัญญัติขึ้นมาให้ล้อกับคำว่า ตัวกูของกูก็คือ “นี่กูนะ” อันหลังนี้แหละคือมานะ

    นี่กูนะ แสดงอาการหลายอย่างเช่น พูดใส่หน้าคนอื่นว่า รู้ไหมว่ากูเป็นใคร รู้ไหมว่ากูเป็นลูกใคร อันนี้มาจากกิเลสตัวที่ชื่อว่ามานะ เพราะฉะนั้นถ้าพูดตามหลักแล้ว มีกิเลส ๓ ตัว คือ ตัวกู ของกู และนี่กูนะ หรือ ทิฏฐิ ตัณหา และมานะ บางทีก็เรียกว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย

    การแสดงออกของมานะ
    มานะนั้นแสดงอาการได้หลายอย่าง อย่างหยาบๆ ก็คือ เย่อหยิ่ง จองหอง ถือตัว ดูถูกคนอื่น รวมทั้ง อวดเก่ง อวดเบ่ง อวดดี อวดฉลาด ขี้โม้ อวดรวย อวดสวย อวดหล่อ อาการอวดเหล่านี้ใช่มานะทั้งนั้น ลักษณะที่เราอวดรวยเช่น ใช้นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือขับรถเบนซ์ หรือรถสปอร์ตราคาแพง ใช้กระเป๋าหลุยส์วิตตอง เป็นต้น คำว่าอวดแทบทุกตัวมันมาจากกิเลสคือมานะ มีทั้งการแสดงออกแบบดิบๆ โฉ่งฉ่าง หรือเนียนๆ ถ้าแบบเนียนๆ ก็เช่น นักปฏิบัติธรรมบางคนชอบสร้างภาพว่าฉันสงบ สมถะ เรียบร้อย อันนี้เน้นเรื่องการสร้างภาพ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าฉันเหนือกว่าเธอ ฉันดีกว่าเธอ เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าฉันไม่อวดเบ่งแล้วฉันปลอดภัยจากกรงเล็บของมานะ นั่นไม่ใช่

    นอกจากความเย่อหยิ่ง จองหอง ดูถูก อวดเก่ง สร้างภาพแล้ว มานะยังแสดงอาการอย่างอื่นได้อีกเช่น ความภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจในตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันวิเศษ จนถึงขั้นหลงตัวลืมตน ที่จริงความภาคภูมิใจก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่มีโทษอย่างเดียว เช่น ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่ว่าไร้ค่า แต่มันก็ยังเป็นกิเสลอยู่นั่นเอง

    นอกจากนี้มานะยังทำให้เราไม่อยากฟังคำแนะนำจากใคร ไม่ชอบเวลามีใครตักเตือนหรือวิจารณ์ อาการแบบนี้ใกล้เคียงกับกิเลสที่ชื่อทิฏฐิ ทิฏฐิคือความใจแคบ ความยึดมั่นว่าความคิดของฉันนั้นถูก ความคิดของฉันนั้นดี ดังนั้นคนไทยจึงมักเรียก ทิฏฐิมานะ คู่กัน ก็เพราะว่าทั้งทิฏฐิและมานะ ทำให้เราดื้อดึง ไม่ฟังใคร อย่างไรก็ตาม ทิฏฐิกับมานะต่างกัน ตรงที่ทิฏฐิเป็นความยึดมั่นในความเชื่อของตน ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง ส่วนมานะนั้นเป็นความยึดมั่นในอัตตาตัวตน คือยึดมั่นว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันถูก ก็เลยไม่ยอมฟังคำวิจารณ์

    ความรู้สึกอิจฉาเมื่อเห็นเขาดีกว่า เก่งกว่า สวยกว่า เคร่งกว่า ปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเรา อันนี้ก็มาจากตัวมานะ เพราะมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่า ฉันต่ำกว่าเขาไม่ได้ แม้เสมอเขายังไม่ได้เลย ฉันต้องสูงกว่าเขา คำว่าสูงนั้น แต่ละคนให้ความหมายไม่เหมือนกัน บางคนหมายความถึงการมีอำนาจ ความรู้ ความสวย ความเด่นดังมากกว่า หรือมีสถานภาพสูงกว่า ความรู้สึกยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันต้องสูงกว่า ฉันด้อยกว่าไม่ได้ อันนี้เกิดจากกิเลสที่ชื่อมานะ

    มานะยังหมายถึงการกลัวเสียหน้า เวลาโต้แย้งกับใคร หรือว่าทำอะไรผิด ทั้ง ๆ ที่ก็รู้นะว่าเราผิดพลาดไป แต่เราก็ไม่กล้ายอมรับผิด หรือไม่กล้าขอโทษ โดยเฉพาะถ้าอีกฝ่ายนั้นมีสถานะต่ำกว่าเรา เช่น เราคิดว่าลูกโกหก ก็เลยต่อว่าลูก ภายหลังมารู้ว่าลูกไม่ได้โกหก เราเข้าใจผิดไปเอง แต่เราดุลูกไปแล้ว เราเคยมีความรู้สึกอยากจะขอโทษไหม แล้วขอโทษหรือเปล่า หรือบางครั้งเราต่อว่าลูกน้องอย่างรุนแรง ภายหลังรู้ว่าเราด่าผิดคน เรารู้สึกผิด อยากจะขอโทษ แล้วเรากล้าขอโทษเขาหรือเปล่า บางครั้งเรารู้ว่าผิดแต่ไม่กล้าขอโทษ ความไม่กล้านั้นก็มาจากความกลัวเสียหน้า จริงอยู่เราอาจมีเหตุผลว่า ถ้าเราขอโทษแล้วลูกน้องจะเหลิง ได้ใจ ทำให้เราปกครองลูกน้องได้ยาก ก็เลยคิดว่าอย่าขอโทษเลย แต่นั่นเป็นเหตุผลลวง เหตุผลที่แท้จริงคือเรากลัวเสียหน้า

    เราเห็นกิเลสตัวนี้ไหม หลายคนไม่เห็นเพราะถูกบดบังด้วยเหตุผลที่ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อทำให้เรารู้สึกว่า การขอโทษนั้นไม่ดี ทำให้เราเป็นผู้นำที่อ่อนแอ เป็นการเปิดช่องให้คนอื่นเล่นงานเรา แต่ที่จริงแล้วมันมาจากกิเลสส่วนลึก นั่นคือมานะ คือความกลัวเสียหน้า อย่าว่าแต่คนรับใช้หรือลูกน้องเลย แม้กระทั่งกับพ่อแม่ บางทีเราก็กลัวเสียหน้า ไม่กล้าขอโทษเมื่อทำผิดกับท่าน อาตมาเคยทะเลาะกับพ่อตอนที่เป็นฆราวาส ต่อมารู้สึกว่าตัวเองผิด แต่ไม่กล้าขอโทษ อันนี้เกิดจากมานะ ต้องรวบรวมความกล้าอยู่นาน จึงจะกล้าไปขอโทษพ่อได้ จะเห็นว่ามานะนั้นแทรกซึมอยู่ในพฤติกรรมทั่วๆ ไป แสดงอาการออกมาหลายรูปแบบ ทั้งแบบดิบ แบบเนียน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

    ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการปูพื้นเพื่อให้เข้าใจว่า มานะหรือ “นี่กูนะ” มันเป็นกิเลสที่แสดงอาการออกมาอย่างไรบ้าง ทีนี้จะพูดถึงโทษของมัน ถ้าเราไม่รู้ว่ามันมีโทษอย่างไร เราก็จะไม่รู้ว่าจะไปลดมันเพื่ออะไร หรือไปจัดการกับมันอย่างไร เหมือนกับที่ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า Greed is good แปลว่า ความโลภนี้ดี ถ้ามันดีแล้วจะไปลดหรือจัดการมันทำไม ควรแต่จะเพิ่มพูนให้มากขึ้น ฝรั่งเขาเชื่อว่าความโลภนี้ดี เพราะทำให้เกิดการผลักดัน เกิดความขยัน เกิดความอุตสาหะ


     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)

    มานะก็เช่นเดียวกัน บางคนเห็นว่าดีเพราะทำให้เราเกิดความพยายาม จึงมีสำนวนว่า “มานะพยายาม” บางคนมองว่ามันทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ เคยได้ยินไหมที่บอกว่า ศิลปินต้องมีอีโก้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะผลักดันผลงานไม่ได้ เขาต้องสร้างผลงานที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพยายามสร้างหรือบ่มเพาะตัวนี้ตั้งแต่แรก หรือบางครั้งพ่อแม่ก็จะสอนว่า อย่าไปยอมแพ้เขานะลูก ถ้าลูกแพ้ ก็จะถูกพ่อแม่ต่อว่าแกแพ้เขาได้อย่างไร แกก็มีมือมีเท้าเหมือนเขา นั่นเป็นการสร้างมานะให้แก่ลูก


    มีเรื่องขำขันเรื่องหนึ่งเล่าว่า เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว พ่อคนหนึ่งเฝ้าสอนลูกว่าแพ้ไม่ได้ แล้ววันหนึ่งแม่ป่วย พ่อให้ลูกไปเอายาจากหมอ ลูกไปตั้งแต่เช้า บ่ายลูกก็ยังไม่มาทั้งๆ ที่แม่มีอาการหนักแล้ว พ่อแปลกใจว่าลูกหายไปไหน รู้สึกไม่พอใจขึ้นมา จึงไปตามหาลูก ปรากฏว่าไปเจอลูกอยู่บนสะพานแคบๆ ยืนประจันหน้ากับผู้ชายคนหนึ่ง ไม่ขยับเขยื้อนเลย พ่อจึงถามลูกว่า ทำไมไม่รีบไปเอายา ลูกตอบว่าไปเอาไม่ได้เพราะผู้ชายคนนี้ขวางเอาไว้ เขาจะให้ผมหลีกทางก่อนแต่ผมไม่ยอม ส่วนเขาก็ไม่ยอมหลีกทางให้ผม ก็เลยยืนประจันหน้ากันอยู่บนสะพาน ๓ ชั่วโมงแล้ว พอพ่อได้ยินเช่นนี้ ก็บอกว่า ดีแล้ว ลูกรีบไปเอายาเร็ว ส่วนพ่อจะยืนตรงนี้แทนลูกเอง

    พ่อแทนที่จะต่อว่าลูกว่าไปยืนตรงนั้นทำไมตั้ง ๓ ชั่วโมง กลับดีใจที่ลูกไม่ยอมแพ้ใคร ทั้ง ๆ ที่แม่กำลังจะแย่อยู่แล้ว แถมยังยอมเสียเวลายืนแทนลูกให้ เพื่อจะได้ไม่เป็นฝ่ายยอมเขาก่อน นี้คือฤทธิ์ของมานะที่ทำให้คนเรากลายเป็นคนโง่ขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว

    มานะมีข้อดีตรงที่ทำให้ใจเราฟูขึ้น ถ้าไปไหนเราสะพายกระเป๋าหลุยส์วิตตอง ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ขับรถเบนซ์เราก็ยืดอกได้ เราจะไม่กลัวตำรวจ แต่ข้อเสียของมันก็คือ เมื่อฟูแล้วก็เหมือนกับลูกโป่งที่ยิ่งพองโตเท่าไหร่ ก็ยิ่งแตกง่ายเท่านั้น ลูกโป่งนี้กลัวแม้กระทั่งฟางเส้นเล็กๆ แค่ถูกฟางทิ่มเอาก็แตกแล้ว คนที่มีมานะ อัตตาใหญ่แค่ถูกกระทบนิดหน่อยก็ระเบิดแล้ว เช่น เป็นนายพลไปรับประทานอาหารที่ร้านแล้วเขาเสิร์ฟช้าก็ทุกข์แล้ว เป็นดาราเวลาไปที่ไหนไม่มีใครทักก็เป็นทุกข์แล้ว หรือคนสวยเวลาเดินไปไหนแต่ไม่มีใครมอง ก็อาจจะรู้สึกไม่สบายใจ คนที่เป็นดาราจะหวั่นไหวกับเรตติ้งมาก ถ้าเรตติ้งลดลงก็จะทุกข์มากเลย

    โทษของการมีมานะนั่นคือโกรธง่าย ทุกข์ง่าย ไม่ยอมแพ้ และความไม่ยอมแพ้บางทีก็สร้างปัญหาให้กับเรา เช่นเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะยอมไม่ได้ที่ถูกขับรถปาดหน้า เมื่อมีรถปาดหน้าแล้วต้องปาดหน้ากลับ บางรายถึงกับเสียชีวิตเพราะถูกอีกฝ่ายลงจากรถลงมายิงด้วยความแค้น

    เมื่อสองสามปีก่อน ที่โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งชานกรุงเทพฯ ตอนเย็นจะมีรถของผู้ปกครองมารับนักเรียน ปัญหาคือโรงเรียนมีที่จอดรถน้อยมาก รถจึงติดยาวเป็นแพ จึงมีการออกกฎให้ขับรถทางเดียว มีผู้ชายคนหนึ่งรีบไปรับลูกจึงแหกกฎเข้าทางประตูออก และได้ที่จอดรถซึ่งเหลือเพียงที่เดียว คนที่ขับรถตามกฎแต่ถูกตัดหน้าไปจึงไม่พอใจ ลงจากรถมาต่อว่าชายผู้นั้นโดยไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นนายพล นายพลคนนั้นไม่พอใจ ลงจากรถแล้วถามว่า “รู้ไหมว่าผมเป็นใคร” เขาตอบว่า “ผมไม่สนหรอกว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำผิดกฎ ทำอย่างนี้ไม่ถูก” พูดแล้วก็เดินกลับไปที่รถ นายพลคนนั้นโกรธมากเดินกลับไปที่รถ คว้าปืนแล้วเดินตามชายคนนั้น หมายจะยิงให้หายแค้น ลองนึกภาพต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะมีคนถูกยิงตาย ส่วนคนที่ยิงติดคุก ถ้าไม่ติดคุกเพราะใช้เส้นสายจนหลุดได้แต่ก็คงเดือดร้อน ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง นี่คือโทษของมานะทำให้คนเราโกรธเพราะเสียหน้าจนลืมตัว มันทำให้เราไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับคำวิจารณ์ แตะต้องไม่ได้และบางทีทำให้เรากลายเป็นคนสร้างภาพโดยไม่รู้ตัว

    ที่ประเทศจีน เมื่อหลายร้อยปีก่อนมีสำนักแห่งหนึ่ง ขณะที่อาจารย์กำลังนั่งกินอาหารอยู่ก็เกิดแผ่นดินไหว ลูกศิษย์ตื่นตกใจ วิ่งโกลาหล แต่ว่าอาจารย์นั่งนิ่งดูสงบ หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเรียบร้อยโดยไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้น ตอนค่ำก็มีการแสดงธรรม อาจารย์พูดเรื่องสติ ลูกศิษย์ถามว่า “สติคืออะไรครับ” อาจารย์บอกว่า “สติคือการที่จิตสามารถอยู่นิ่งเป็นปกติได้ แม้แต่เวลาเกิดเหตุร้าย ก็ไม่ตื่นตระหนก อย่างอาจารย์เมื่อตอนกลางวันนี้ พวกเธอเห็นไหม ขณะที่พวกเธอวิ่งแตกตื่นกันหมด แต่อาจารย์กลับนั่งนิ่ง จิบน้ำชา” พูดจบก็มีเสียงแทรกขึ้นมาว่า “ไม่ใช่ครับ.... ที่อาจารย์ดื่มนั้นไม่ใช่น้ำชาครับ แต่เป็นซีอิ๊วครับ”

    อาจารย์ก็ไม่รู้ตัวว่าดื่มน้ำซีอิ๊ว ยังคิดว่าดื่มชา แสดงว่าจริงๆ แล้วอาจารย์ก็กลัวเหมือนกันแต่กำลังสร้างภาพว่า เราเป็นอาจารย์ ต้องสงบ อยู่นิ่ง ๆ จะทำให้คนอื่นเห็นว่าเรากลัวหรือตื่นตกใจไม่ได้ นี่คืออาการของมานะเช่นกัน เป็นการสร้างภาพให้ดูดี ซึ่งถ้าเราไม่รู้เท่าทันมัน ก็จะถูกมันหลอกได้โดยไม่รู้ตัว

    คนดีหรือนักปฏิบัติธรรมถ้าไม่รู้ตัว ก็โดนมานะเล่นงานได้ เช่นเห็นคนอื่นทำความดีมากกว่าเรา ปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเรา รักษาศีลได้มากกว่าเรา ก็ไม่พอใจ รู้สึกเขม่นเขาขึ้นมา คนดีถ้ายึดติดกับภาพลักษณ์ตัวเอง อยากให้ตัวเองดูดี คนอื่นชื่นชมสรรเสริญ ก็จะมีปัญหาแบบนี้ คือเขม่นคนที่ดีกว่า นักปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนี้ไม่น้อย เช่น สำคัญตนว่าฉันดีกว่าเธอเพราะฉันถือศีลแปดเธอ เธอถือศีลห้า ฉะนั้นเธออย่ามาเถียงฉัน นี่เป็นมานะแบบหนึ่ง แทนที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกันด้วยเหตุผล ก็เอาความดีมาข่ม พอเหตุผลของเราสู้เขาไม่ได้ก็เอาเรื่องศีลมาข่มด้วยความรู้สึกว่าฉันดีกว่า ฉันสูงกว่า เธออย่ามาเถียงฉัน กิเลสตัวนี้ถ้าเราไม่รู้ทัน เราก็จะกลายเป็นคนน่าระอา บางทีคนดีที่เคร่งศีลหรือติดดีก็น่าระอาเพราะความถือตัวนี่แหละ
    :- https://visalo.org/article/suksala13.htm

     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เกื้อกูลกันฉันมือขวาและมือซ้าย
    พระไพศาล วิสาโล
    ผู้หญิงคนหนึ่งร่างกายซีกซ้ายไม่มีความรู้สึก เพราะสมองบางส่วนตายไปเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก หมอพยายามทดสอบว่าร่างกายซีกซ้ายมีความรู้สึกแค่ไหน ด้วยการนำสิ่งต่างๆ มาสัมผัสที่ร่างกายซีกซ้าย ปรากฏว่าคนไข้ไม่รู้สึกอะไรเลย ระหว่างนั้นหมอสังเกตเห็นว่า คนไข้เอามือขวาลูบแขนซ้ายอยู่หลายครั้ง หมอแปลกใจว่าคนไข้ทำเช่นนั้นทำไมในเมื่อแขนซ้ายไม่สามารถรับความรู้สึกได้ เมื่อสอบถามคนไข้ ก็ได้คำตอบว่า เวลาเธอเอามือขวาสัมผัสร่างกายซีกซ้าย เธอสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ หมอแปลกใจมากว่าซีกซ้ายของเธอรับรู้สัมผัสจากมือขวาได้ แต่กลับไม่สามารถรับรู้เวลาหมอเอาสิ่งต่าง ๆ มาสัมผัส

    เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างมือซ้ายกับมือขวา หรือแขนซ้ายกับแขนขวา

    เวลามือซ้ายเจ็บปวด เช่น โดนตะปูตี โดนค้อนทุบ ปฏิกิริยาแรกของเราคือ มือขวาจะรีบไปกุมมือซ้ายที่เจ็บปวดทันที มันไม่ใช่เแค่ปฏิกิริยาอัตโนมัติธรรมดา เพราะมีการทดลองมานานแล้วว่า เวลามือซ้ายปวดแล้วมือขวาไม่ได้ไปทำอะไรกับมือซ้าย ความปวดจะมากขึ้น แต่ทันทีที่มือขวาไปสัมผัสหรือกุมมือซ้ายไว้ จะช่วยลดความปวดลงได้

    ท่านติช นัท ฮันห์ ได้บรรยายเรื่องนี้ไว้เป็นคติสอนธรรมได้ดีว่า

    เมื่อมือซ้ายได้รับความเจ็บปวดขึ้นมาโดยฉับพลัน มือขวาจะรีบไปช่วยเหลือมือซ้ายทันที โดยที่ไม่ถามว่าทำแล้วจะได้อะไร ไม่ถามว่ามือซ้ายเป็นใคร ไม่มีความรังเกียจหรืออิจฉามือซ้ายว่าเวลามีงานอะไร มือซ้ายไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย มีแต่มือขวาที่ถูกใช้งาน มือขวาช่วยมือซ้ายโดยไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าฉันถูกเอาเปรียบ ฉันทำงานหนักกว่าเธอ มือซ้ายก็เช่นเดียวกันเวลาเห็นมือขวาปวดก็ไม่ได้คิดตั้งแง่ว่า เจ้านายรักมือขวามากกว่า มีอะไรก็ใช้แต่มือขวา ไม่สนใจมือซ้าย เวลาจะใช้งานฉันก็ใช้ในทางที่ไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่ เวลาจะล้างก้นก็ใช้แต่มือซ้าย มือซ้ายไม่เคยคิดแบบนั้น ทันทีที่รู้ว่ามือขวาปวดก็รีบเข้าไปช่วยทันทีเป็นการช่วยแบบไม่มีเงื่อนไข

    ท่านเปรียบเทียบให้เห็นความสัมพันธ์ของมือซ้ายและมือขวา เพื่อที่จะโยงไปถึงความเมตตากรุณาที่มนุษย์พึงมีต่อกัน

    คนเราควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ คือเข้าไปช่วยเหลือกันทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการตั้งข้อรังเกียจใดๆ ทั้งสิ้น มองให้ดีนี้คือความสัมพันธ์แบบ “ไม่มีตัวกูของกู” นั่นเอง

    ถ้ามือซ้ายและมือขวามีความรู้สึกว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร แล้วเธอเป็นใคร ความคิดแบบนี้เป็นอาการของการยึดติดในตัวกูของกู ทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา

    ท่านยังสอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันว่า ไม่ควรจะมีความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเรา หรือทำไปด้วยความรู้สึกติดยึดในตัวกูของกู จิตใจเช่นนี้จะเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา อยากช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยไม่มีเงื่อนไข ตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ความเมตตาที่ไม่มีประมาณเกิดจากการมีปัญญาอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งเห็นว่าตัวกูนั้นไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีความเห็นแก่ตัวแม้แต่น้อย
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)
    ปัญญาและเมตตากรุณามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ปัญญา คือสิ่งที่ช่วยขจัดมายาภาพหรือความหลงเกี่ยวกับตัวกูของกู คือทำให้เห็นว่าตัวกูของกูนั้นไม่มีอยู่จริง เมื่อมีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งเช่นนี้ ความยึดติดในตัวกูของกู หรืออัตตวานุปาทานก็หมดไป ไม่มีความเห็นแก่ตัวอีกต่อไป จึงเกิดเมตตากรุณาอย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นเราเป็นเขา เห็นมนุษย์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เหมือนกันหมด นี้เป็นอุดมคติของชาวพุทธ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทรงมีเมตตาต่อพระราหุลอย่างไร ก็ทรงมีเมตตาต่อพระเทวทัตอย่างนั้น

    คนเรานั้นมีจิตใจ ที่สามารถสัมผัสหรือเข้าถึงความรู้สึกของกันและกันได้โดยเฉพาะเมื่อมีความผูกพันกันประหนึ่งมีใจดวงเดียวกัน ดังเช่นมือซ้ายของผู้หญิงคนนี้สามารถรับรู้ได้เมื่อมีมือขวามาสัมผัส ความรับรู้นี้เกิดขึ้นได้เพราะมือขวากับมือซ้ายนั้นผูกพันกันมาก ในทำนองเดียวกันคนที่ผูกพันกันก็สามารถรับรู้ทุกความรู้สึกที่อยู่ในใจของอีกฝ่ายได้ไม่ว่าสุขและทุกข์ อันนี้เป็นผลจากเมตตากรุณาที่มี่ต่อกันจนรู้สึกเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่คนอื่นอาจจะไม่สามารถหยั่งเข้าไปถึงได้

    มือขวากับมือซ้ายก็เป็นเช่นนั้น เพียงแค่มือขวาสัมผัสมือซ้าย ไม่ต้องให้ใครสัมผัส ก็ทำให้ความปวดทุเลาเบาบางได้ เรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาที่มีมานาน และนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็รับรอง หลังจากทำการทดลองแล้วพบว่า ถ้ามือขวาไม่สัมผัสกับมือซ้าย มือซ้ายจะปวดมากขึ้นกว่าเดิม แต่พอได้สัมผัสแล้วความปวดลดลง แต่ไม่ได้เป็นเฉพาะมือขวาและมือซ้ายของตัวเองเท่านั้น การให้มือขวาของคนอื่นมาสัมผัสก็ช่วยได้ ดังนั้นประโยชน์ของการสัมผัสคือ ถ้ามีคนป่วยแล้วมีอีกคนมาสัมผัสด้วยความเมตตากรุณาก็จะช่วยบรรเทาความปวดได้

    ความเมตตากรุณาของคนภายนอกนั้น เป็นสิ่งที่ต้องแสดงออกมาให้เห็นก่อนที่จะสัมผัส หรือในระหว่างที่สัมผัส เช่น ความอ่อนโยน นุ่มนวล ทางสีหน้าหรือน้ำเสียง เพื่อคนที่เจ็บปวดจะรับรู้ถึงเมตตาและทำให้ความเจ็บปวดนั้นทุเลาได้ แต่มือขวาไม่ต้องแสดงอาการอย่างนั้นกับมือซ้ายก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น มือซ้ายก็สบาย รู้สึกดีขึ้นเพราะรู้ว่าเมีความปรารถนาดี มันเป็นความเชื่อมโยงที่สัมผัสกันได้ สามารถเกิดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

    เป็นเรื่องที่ดีมากหากเราปฏิบัติต่อกันเหมือนมือขวาและมือซ้ายได้ โดยเริ่มต้นที่คนใกล้ชิดก่อน คือเพื่อนกับเพื่อน พี่กับน้อง สามีกับภรรยา แล้วขยายไปถึงเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เพื่อนที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน หรือเพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ขยายออกไปแม้กระทั่งกับคนที่ไม่ใช่เพื่อนหรือเป็นเพียงแค่เพื่อนมนุษย์ก็สัมพันธ์ในลักษณะนั้นได้ แม้เป็นเรื่องยากแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะนี่ก็เป็นอุดมคติของมนุษย์ที่ควรทำต่อกัน เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้แสดงเป็นแบบอย่างแก่เรา

    อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อย่างมือซ้ายและมือขวานี้ควรเกิดขึ้นระหว่างกายกับใจเราด้วย ถ้ากายกับใจอยู่ใกล้ชิดกัน มีความสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว เราจะทุกข์น้อยลงมาก แต่อย่างที่เรารู้กัน กายกับใจบางครั้งก็ไม่ได้ใกล้ชิดกันหรือช่วยเหลือกันเท่าไหร่ เวลากายปวด บ่อยครั้งใจกลับซ้ำเติม ทำให้กายแย่ลง เช่น พอรู้ว่าร่างกายมีก้อนมะเร็ง ใจก็ซึมเศร้า ทำให้หมดเรี่ยวแรงไปเลย หรือพอวิตกกังวลว่า “ฉันจะตายแล้วหรือนี่” กายก็ทรุดหนักลงหรือตายเร็วขึ้น เช่น คุณป้าคนหนึ่งไปหาหมอหลายครั้งโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร กระทั่งวันหนึ่งหมอบอกว่า “ป้าเป็นมะเร็งตับนะ อยู่ได้ไม่เกินสามเดือน” ปรากฏว่าป้าตกใจมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ วิตกกังวลสารพัด สุดท้ายอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย

    อย่างนี้เรียกว่าใจไปซ้ำเติมกาย แทนที่จะช่วยพยุงให้กายให้ดีขึ้น กลับฉุดให้ย่ำแย่ลง บางคนร่างกายปกติดี แต่ใจเต็มไปด้วยความโกรธเกลียด เคียดแค้นพยาบาท ร่างกายก็เลยป่วย ความดันสูง ปวดหัว ปวดท้องเรื้อรัง รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย เพราะหมอหาสาเหตุทางกายก็ไม่พบ ได้แต่รักษาตามอาการ นี่เรียกว่าใจไปซ้ำเติมกาย หรือทำร้ายร่างกาย

    หน้าที่ที่ใจควรมีต่อกาย คือช่วยให้ดีขึ้น ไม่ใช่ซ้ำเติมให้แย่ลง หากใจเป็นมิตรกับกาย ใจจะไม่ทำอย่างนั้น พอกายแย่ ใจจะช่วยให้กำลังใจ มองแง่บวก นึกถึงสิ่งดี ๆ ที่เป็นกุศล หรือมีสมาธิ ร่างกายก็จะหายไวขึ้น เจ็บปวดน้อยลง อันที่จริงเพียงแค่ทำใจให้เป็นปกติ ไม่ตีโพยตีพาย ก็ช่วยความเจ็บปวดของกายทุเลาลงได้

    ถ้ากายกับใจเกื้อกูลกันเหมือนกับมือซ้ายและมือขวา เราจะมีความสุขได้ง่ายมาก ความทุกข์จะลดลงไปเยอะ เช่นเมื่อทำอะไร ใจก็รู้ มีสติ รู้ตัว ความรู้ตัวจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อน เวลาขับรถ ก็ถึงที่หมายโดยปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุ ควบคุมเครื่องจักร ก็ไม่เผลอจนเกิดความผิดพลาด ถึงกับเสียมือเสียขาไป เวลาพักผ่อน ใจก็ไม่คิดฟุ้งซ่าน ทำให้หลับได้ง่าย ร่างกายก็มีสุขภาพดี

    ที่พูดมาเป็นเรื่องใจช่วยกาย ที่จริงกายก็ช่วยใจได้มากมาย ก่อนอาตมาบวชมีช่วงหนึ่งที่เซ็งสุดๆ ไม่มีความกระตือรือร้น ตื่นก็สาย แม้กระนั้นก็ซึมเซาทั้งวัน เรียกว่าถีนมิทธะครอบงำ เวลาประชุมก็จะง่วงนอนไม่มีส่วนร่วมกับวงประชุมเลย ทั้งๆ ที่อายุเพียง ๒๔ ปีเท่านั้น ทีแรกก็คิดว่าเป็นเพราะเหนื่อยอ่อน จึงพักผ่อนให้มากขึ้น แต่กลับเฉื่อยชายิ่งกว่าเดิม ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่หาย จนได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง ก็เกิดกำลังใจ พยายามเคี่ยวเข็ญให้ตัวเองตื่นแต่เช้า ไปวิ่งจ๊อกกิ้งออกกำลังกาย ทีแรกก็ลำบากมากเพราะไม่อยากตื่นเช้า แต่ผ่านไปไม่กี่วันก็รู้สึกดีขึ้น เกิดความกระฉับกระเฉงขึ้นมาก อันนี้เป็นเพราะเมื่อร่างกายแข็งแรงตื่นตัว ก็ช่วยกดใจให้หายเบื่อหายเซ็ง

    เราจะสังเกตเห็นเรื่องทำนองนี้ได้จากชีวิตประจำวัน เช่น เวลารู้สึกท้อแท้เพราะเจออุปสรรคมากมาย หรือเหนื่อยอ่อนเพราะทำงานมาทั้งวัน แต่พอได้นอนเต็มที่ ตื่นขึ้นมาความรู้สึกจะเปลี่ยนไป มีกำลังใจมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ยังเหมือนเดิม แต่รู้สึกมีเรี่ยวแรงขึ้นมา ไม่ใช่ที่กายแต่ที่ใจ ดังนั้นเวลาใจมีปัญหา กายต้องช่วยด้วย ดูแลกายให้ดีเพื่อฉุดใจขึ้นมา ไม่ใช่ไปซ้ำเติม เช่น พอจิตใจท้อแท้ห่อเหี่ยว ก็ไปเที่ยวกลางคืน กินเหล้า เพราะหวังว่าจะทำให้ลืมความทุกข์ หายเศร้า กลับทำให้แย่กว่าเดิม เพราะการใช้ชีวิตแบบนั้นทำให้ร่างกายเหนื่อยอ่อนมากขึ้น จิตใจเลยแย่ลง นี่เรียกว่าฉุดกันลง ไม่ได้ช่วยกันฉุดขึ้นมา

    เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเราไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากใครเลยก็ได้ เพียงแค่กายกับใจช่วยกัน อยู่เคียงคู่กัน กายอยู่ไหน ใจอยู่นั่น มีสติตื่นรู้ อันตรายที่เกิดขึ้นกับกายกับใจก็น้อยลง
    :- https://visalo.org/article/suksala20.htm

     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,813
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ทุกข์ทุกทีเมื่อมีมานะ
    พระไพศาล วิสาโล
    ใคร ๆ ก็อยากให้ตัวเองดูดี เด่นกว่าคนอื่น ความอยากดังกล่าวทำให้เราปรารถนาความสำเร็จ อยากได้คำชม ซึ่งทำให้เราเกิดความวิตกกังวลตามมา เช่น เวลาจะทำอะไร ก็กลัวว่าทำออกมาไม่ดี กลัวล้มเหลว กังวลว่าคนอื่นจะมองฉันอย่างไร เกิดความประหม่า อันนี้บางคนก็เรียกว่าเป็นเรื่องอีโก้ ส่วนทางพุทธศาสนาเรียกว่ามานะ หลายคนทำงานแล้วไม่มีความสุขเพราะกลัวถูกต่อว่า กลัวถูกตำหนิ ความกลัวนี่แหละทำให้ทำงานไม่มีความสุข หรือบางทีก็ไม่กล้าจะทำอะไรเลย และนอกจากจะไม่มีความสุขแล้ว บางครั้งทำให้งานออกมาไม่ดีด้วย

    ในประเทศญี่ปุ่น มีเจ้าอาวาสวัดรูปหนึ่งในเกียวโตมีฝีมือมากในด้านการเขียนอักษรด้วยพู่กันที่เรียกว่า สุมิเย วัดนี้มีจุดเด่นอยู่ตรงซุ้มประตูเพราะมีคติธรรมที่เกิดจากฝีแปรงของเจ้าอาวาสท่านนี้ เป็นที่ยกย่องว่าสวยงามมาก คติธรรมนี้มีตัวอักษรเพียงแค่ไม่กี่ตัวเท่านั้น มีตำนานเล่าว่าตอนที่ท่านเขียนคติธรรมนี้ด้วยพู่กันขนาดใหญ่ มีลูกศิษย์คนหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ คอยทำน้ำหมึกให้ท่าน ลูกศิษย์คนนี้เป็นคนที่ตาเฉียบคมและพูดตรง พออาจารย์ตวัดพู่กันเสร็จ ลูกศิษย์ก็พูดขึ้นมาว่า ยังไม่สวย อาจารย์ไม่ว่าอะไร ก็ตวัดอีกครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ว่าแย่กว่าเดิม อาจารย์จึงเขียนใหม่ แต่ลูกศิษย์ก็ยังเห็นข้อตำหนิ วันนั้นอาจารย์เขียนถึง ๘๐ ครั้งลูกศิษย์ก็ยังว่าไม่สวย จนอาจารย์เริ่มท้อแล้ว เผอิญลูกศิษย์มีธุระออกไปข้างนอก ในช่วงที่ลูกศิษย์ไม่อยู่นี้เอง อาจารย์เห็นเป็นโอกาสดี เพราะไม่ต้องห่วงว่าใครจะมองอย่างไร จึงตวัดพู่กันเดี๋ยวนั้นเลย พอลูกศิษย์กลับมาเห็นก็ตะลึง ชมว่าสวยมาก กลายเป็นผลงานที่ยืนยงมาจนทุกวันนี้


    นี่เป็นที่มาของศิลปะบนซุ้มประตูของวัดโอบากุ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การทำงานนั้นจะได้ผลดีเมื่อเรารู้สึกว่าเราได้ทำอย่างอิสระ โปร่งโล่ง ไม่ต้องคำนึงหรือกังวลกับสายตาของใคร ผลงาน ๘๐ ชิ้นแรกของอาจารย์นั้นออกมาไม่ดีเพราะอาจารย์กังวลสายตาของลูกศิษย์ แต่พอลูกศิษย์ไม่อยู่ อาจารย์ก็ไม่มีความกังวลแล้ว จึงแสดงความสามารถออกมาสุดฝีมือ ผลงานออกมาอย่างเป็นธรรมชาติโดยที่ไม่มีความประหม่า ไม่มีความวิตกกังวล ตรงกันข้ามเมื่อใดก็ตามที่เรากังวลกับสายตาของคนอื่น จะเกิดตัวกูขึ้นมาอย่างชัดเจน คือเป็นห่วงว่าคนอื่นเขาจะมองฉันอย่างไร ถ้างานออกมาไม่ดี ฉันจะถูกต่อว่า ความรู้สึกว่ามีตัวกูแบบนี้แหละที่ทำให้งานนั้นออกมาไม่ดี คนที่มีตัวตนสูง หรือมีมานะมาก มักจะคาดหวังให้คนชม อยากให้คนสรรเสริญ ทำให้เกิดความกังวลขึ้นมา ไม่เป็นอิสระ เพราะเมื่ออยากให้คนชมก็ย่อมเกิดความกลัวว่าเขาจะตำหนิ ความกลัวนี้เองทำให้ผลงานออกมาได้ไม่เต็มที่ ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นอิสระ

    พวกเราที่ดูบอลโลก เคยสงสัยไหมว่า นักฟุตบอลระดับโลกหลายคนเตะบอลทำไมจึงเตะลูกตรงจุดโทษไม่เข้า ทั้งๆ ที่เป็นจุดที่สามารถเตะบอลเข้าประตูได้ง่ายที่สุด ไม่ใช่เพราะคนเฝ้าประตูเก่ง บ่อยครั้งคนเฝ้าประตูไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะอีกฝ่ายเตะลูกออกนอกกรอบ ไม่ว่าจะเป็นโรนัลโด้ โรนัลดินโญ่ เบ็คแฮม หรือเมสซี่ ล้วนมีประสบการณ์แบบนี้ทั้งนั้น ส่วนใหญ่มักจะเตะพลาดในนัดสำคัญคือนัดตัดเชือก หรือนัดชิงชนะเลิศ ถ้าเป็นการซ้อมในสนามธรรมดาหรือนัดไม่สำคัญ นักฟุตบอลเก่ง ๆ มักจะเตะเข้า แต่ถ้าเป็นนัดชี้ขาดโดยเฉพาะหากทีมของตัวเองเป็นฝ่ายตามหลังเขา ถ้าเตะเข้าก็จะเสมอหรืออาจจะได้เข้ารอบ แต่หลายคนเตะไม่เข้าทั้งๆ ที่มันง่ายที่สุด นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความกดดัน เพราะวิตกกังวลว่าถ้าเตะไม่เข้านอกจากจะแพ้แล้ว ตัวเองยังจะถูกโห่ถูกต่อว่า ว่าลูกง่ายๆ ทำไมเตะไม่เข้า คือถ้าลูกยากๆ เตะไม่เข้าก็ไม่มีใครว่าเพราะเป็นธรรมดา แต่ถ้าลูกง่ายๆ แล้วเตะไม่เข้า คนเตะก็เสียคนได้ พอมีความกังวลแบบนี้ก็เลยเครียด เกร็ง ทำให้เตะไม่เข้าจริง ๆ อันนี้เป็นเพราะมีตัวกูอยู่ มีความรู้สึกว่ากูอาจจะถูกด่า ความรู้สึกแบบนี้ให้เกิดความเครียด เพราะฉะนั้นเวลาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หลายคนไม่อยากเตะนะ จอห์น เทอรี่ เคยเตะลูกโทษนัดชิงชนะเลิศแล้วไม่เข้า ก็เลยเลิกเตะลูกโทษเป็นปี เพราะเข็ดขยาดหรือขาดความมั่นใจ

     

แชร์หน้านี้

Loading...