วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย MBNY, 16 พฤศจิกายน 2005.

  1. MBNY

    MBNY Administrator ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2003
    โพสต์:
    6,864
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +22,510
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=5 width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top>
    [​IMG]


    บทความเรื่องนี้ที่ใช้ชื่อว่าวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ ก็เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยมีพื้นที่ซึ่งเรียกว่า "ท้องถิ่น" เป็นบริบท จึงมีลักษณะทั้งเป็นการต้านกระแสการศึกษาที่ใช้ "ชุมชน" เป็นบริบท และสนับสนุนการศึกษาชุมชนไปในเวลาเดียวกัน
    ที่ว่าเป็นการต้านกระแสในเรื่องชุมชนนั้น ก็เพราะเบื่อและเอียนกับคำว่า "ชุมชน" เต็มประดา
    อะไรก็ดูเป็นเรื่องของชุมชนไปหมด จนแทบไม่รู้ว่าชุมชนคืออะไรกันแล้วในตอนนี้
    แต่ที่แน่ๆ ก็คือข้าราชการและนักวิชาการในภาครัฐส่วนใหญ่เข้าใจว่า หน่วยการบริหารที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าชุมชน
    การแบ่งเป็นหน่วยเล็กใหญ่ดังกล่าวนี้ ใช้จำนวนคนและครัวเรือนเป็นตัวกำหนด ซึ่งต่างกันกับชุมชนธรรมชาติที่เรียกว่า "บ้าน" และ "เมือง" ที่ใช้ความสัมพันธ์ทางสังคมและพื้นที่ทางวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด
    ส่วนที่ว่าเป็นการสนับสนุนการศึกษาชุมชนนั้น ก็เพราะการดำรงอยู่ของชุมชนธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือเมือง ล้วนมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ทางธรรมชาติ ที่ผู้คนในหลายๆ ชุมชนอยู่ร่วมกัน มีประวัติความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐาน และการปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมเหมือนกัน จนทำให้พื้นที่ซึ่งแต่ละชุมชน ดำรงอยู่ร่วมกันกลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งในที่นี้เรียกว่า "ท้องถิ่น"

    </TD></TR><TR><TD vAlign=top>[​IMG] เพราะฉะนั้น การศึกษาใดๆ ที่เน้นแต่เพียงเรื่องของชุมชนที่เป็นเชิงเดี่ยว ก็จะทำให้เกิดความคับแคบ และขาดบริบทของความเป็นจริงได้
    ดังนั้น ในการศึกษาชุมชนของข้าพเจ้าในทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมนั้น จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะเนื้อหา และเรื่องราวในชุมชนหนึ่งชุมชนใดเท่านั้น หากแต่จะให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของหลายๆ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน
    คำว่า "วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้" ในที่นี้จึงหมายถึงการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนในหลายๆ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ หรือท้องถิ่นที่เรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้เดียวกัน
    เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจว่า ทำไมคำว่ากุลาร้องไห้จึงกลายเป็นชื่อของท้องถิ่นไป
    เบื้องแรกนั้นมาจากมีการเล่าขานมาว่า พื้นที่ทุ่งราบแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด มีความแห้งแล้งและทุรกันดารเสียจนพวกพ่อค้าจากถิ่นอื่นที่เรียกว่า "พวกกุลา" ต้องร้องไห้ในยามที่เดินทางผ่านทุ่งนี้เลยทีเดียว
    สำหรับบุคคลทั่วไป บริเวณที่เรียกว่าทุ่งกุลามีความกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แทบไม่มีต้นไม้ร่มไม้ให้อาศัยพักพิงเลย จึงกลายเป็นที่โจษขานกันเรื่อยมา แต่คำเล่าลือเล่าขานจนเป็นตำนานนี้ คือสิ่งที่เชื่อกันอยู่เฉพาะบรรดาผู้คนที่อยู่ภายนอกทุ่งกุลาเท่านั้น จนอาจสร้างภาพได้ว่าเป็นทุ่งร้างโหดที่ไม่มีผู้คนอยู่ก็เป็นได้
    แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทุ่งกุลามีผู้คนอยู่กันอย่างเป็นชุมชน กระจายอยู่ห่างๆ กัน แต่ค่อนข้างโดดเดี่ยว ห่างไกลความเจริญจากภายนอก อันเนื่องมาจากไม่มีถนน และเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบาย การที่คนภายนอกจะเดินทางเข้าไปจึงยากลำบากและต้องใช้เวลามาก
    ข้าพเจ้าเกิดความสนใจทุ่งกุลา จากทั้งคำเล่าลือถึงความแห้งแล้ง และจากคำบอกเล่าของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ที่เคยทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่แถบนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๐๓ ท่านเล่าว่า เดินทางโดยรถจิ๊บขนาดกลางเข้าไปได้เพียงวันละ ๕ กิโลเมตร บางแห่งต้องลุยพื้นที่เป็นทรายเข้าไป ต้องกางเต๊นท์นอนตามแหล่งใกล้น้ำที่พอจะหุงต้มอาหารได้ แต่ก็มีอะไรหลายอย่างทางธรรมชาติที่น่าสนใจมาก
    </TD></TR><TR><TD vAlign=top>[​IMG] ข้าพเจ้าไปอีสานบ่อยๆ แต่ก็เลาะอยู่ชายขอบทุ่งกุลา โดยเฉพาะบริเวณลำน้ำเสียว ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ ไม่ได้เข้าไปที่กลางทุ่งสักที จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๖ จึงมีโอกาส เพราะมีหน้าที่จะต้องสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล - ชีตอนล่างให้กับโครงการแม่น้ำโขงขององค์การสหประชาชาติ และต่อมาก็ทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีทั้งในแอ่งสกลนคร และลุ่มน้ำมูล - ชีตอนบนจนเกือบทั่วภาคอีสานเลยก็ว่าได้
    ผลจากการสำรวจแหล่งโบราณคดีดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความเป็นท้องถิ่นขึ้นมาไม่น้อย นั่นก็คือได้เห็นร่องรอยของชุมชนโบราณที่พัฒนาขึ้นตามลำน้ำลำห้วย ในอาณาบริเวณหนึ่งที่ผู้คนในชุมชนเหล่านี้ ปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ จนทำให้เกิดรูปแบบในการดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกัน
    รูปแบบดังกล่าวนี้ก็คือลักษณะของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั่นเอง
    ความเป็นท้องถิ่นของทุ่งกุลานั้น เห็นได้จากการเป็นบริเวณท้องทุ่งราบที่มีน้ำท่วมถึงในฤดูฝน แต่กลับแห้งแล้งเต็มไปด้วยทุ่งหญ้าและทรายในฤดูแล้ง ลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนมนุษย์ในบริเวณนี้ ก็ไม่ใช่ลำน้ำมูลและลำน้ำชี หากเป็นลำน้ำลำห้วยสายเล็กๆ ที่ไหลมาจากที่สูงทางฝั่งใต้ของลำน้ำชี ผ่านท้องทุ่งกุลาไปรวมกับลำน้ำมูลทางด้านตะวันออกเฉียงใต้
    ลำน้ำสายสำคัญที่ว่านี้ได้แก่ลำพลับพลา ลำเตา ลำเสียวใหญ่ และลำเสียวน้อย
    ลำพลับพลานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเส้นชีวิตของทุ่งกุลาทีเดียว เพราะไหลผ่ากลางบริเวณทุ่ง ตามสองฝั่งลำน้ำรวมทั้งลำห้วยที่เป็นสาขา จะมีร่องรอยชุมชนโบราณกระจายไปทั่ว ที่รู้ว่าเป็นชุมชนโบราณก็เพราะมีลักษณะเป็นโคกเนิน ทั้งที่มีคูน้ำล้อมรอบและไม่มี แต่ทั้งสองแบบนี้มีลักษณะร่วมกันคือ มีเศษภาชนะดินเผามากมายหลายรูปแบบกระจายกันอยู่ตามผิวดิน ภาชนะดินเผาจำนวนมากเป็นหม้อไหที่ใช้ใส่กระดูกคนตาย ซึ่งสามารถแลเห็นได้ชัดตามชั้นดิน ของเนินดินที่ถูกตัดจากการทำถนนในชุมชน ทำให้เห็นได้ว่า ทุกเนินดินจะมีแหล่งฝังศพทุกแห่ง
    แหล่งฝังศพดังกล่าวนี้ ก็คือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชุมชน นั่นก็คือผู้คนที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันในชุมชน ต่างนำศพผู้ตายมาประกอบพิธีกรรมในพื้นที่เดียวกัน มีรูปแบบของพิธีกรรมในการทำศพเหมือนกัน
    สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือรูปแบบของภาชนะดินเผาที่บรรจุกระดูกคนตายนั่นเอง
    </TD></TR><TR><TD vAlign=top>[​IMG] นอกจากนี้ เนินดินที่เป็นแหล่งฝังศพยังแสดงให้เห็นถึงมิติทางเวลาของชุมชนด้วย นั่นก็คือแสดงให้เห็นได้จากชั้นดินล่าง - บนที่สัมพันธ์กับหม้อกระดูกในช่วงเวลาก่อน - หลังที่ต่างกัน ดังเช่นชั้นล่างพบรูปแบบหม้อกระดูกที่แตกต่างไปจากชั้นบน เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่ารูปแบบของหม้อกระดูกจะต่างกันตามชั้นดินก็ตาม แต่สิ่งที่เหมือนกันของความเป็นชุมชนก็คือ แต่ละเนินดินที่เป็นชุมชนนั้น มีประเพณีการฝังกระดูกคนตายในภาชนะดินเผา ที่สัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของผู้คน เหมือนกันอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าสองหรือสามชั้นดิน
    ดังนั้นจึงสรุปได้ในชั้นนี้ว่า ร่องรอยชุมชนมนุษย์ในทุ่งกุลานั้นเห็นได้จากเนินเดินอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยร่วมกันของผู้คน ที่มีทั้งการขุดคูน้ำล้อมรอบชุมชนและที่ไม่มี แต่ต่างก็มีแหล่งฝังศพด้วยหม้อกระดูกที่ต่อเนื่องกันมาหลายยุคสมัยเหมือนกัน
    บรรดาชุมชนที่เกิดขึ้นตามลำน้ำลำห้วยเหล่านี้ ไม่มีที่ไหนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว หากมีความสัมพันธ์กันทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งก็เห็นได้จากการมีรูปแบบในการฝังกระดูกคนตาย ในภาชนะดินเผาเหมือนกัน แต่ละชุมชนอาจมีรูปแบบรูปทรงของภาชนะดินเผาไม่เหมือนกัน แต่ก็จะมีลักษณะอะไรที่คล้ายคลึงกัน เช่นมีลักษณะการทำลายประดับ หรือการเขียนสีเขียนเส้นบนภาชนะเหมือนกัน โดยเฉพาะบรรดาเนินดินที่มีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก
    ในความรู้สึกของข้าพเจ้า ไม่อยากเรียกว่าคูน้ำด้วยซ้ำไป เพราะคำว่า "คู" นั้นเหมาะกับลำน้ำแคบๆ และไปสอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่าคูเมืองที่พบตามชุมชนที่เป็นเมือง แต่อยากเรียกว่าหนอง หรือสระล้อมรอบมากกว่า
    คำว่าสระล้อมอาจจะดีกว่าหนอง เพราะหนองดูเป็นเรื่องของธรรมชาติไป ในขณะที่สระอาจหมายถึงสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นได้
    ความเป็นสระน้ำล้อมรอบชุมชนโบราณที่พบที่ทุ่งกุลานี้ เป็นสิ่งที่จะอาศัยเพียงกำลังของผู้คนภายในชุมชนเพียงแห่งเดียว คงไม่อาจขุดขึ้นได้ เพราะพื้นที่ที่เป็นน้ำนั้นบางทีเมื่อรวมกันแล้ว มากกว่าพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนด้วยซ้ำ ดังนั้นน่าจะเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของผู้คนจากหลายๆ ชุมชนที่อยู่ในย่านเดียวกันหรือท้องถิ่นเดียวกันมากกว่า ซึ่งถ้าหากจะมาร่วมช่วยกันได้นั้น ก็จะต้องมีการจัดการในระดับที่เป็นองค์กรทางสังคม และการเมืองอย่างแน่นอน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นจากรูปแบบของชุมชนที่คล้ายคลึงกันกระจายไปทั่วอาณาบริเวณ
    ยิ่งกว่านั้น ในพื้นที่บางแห่ง ชุมชนที่มีสระน้ำล้อมรอบเหล่านี้มีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก อีกทั้งมีแนวคันดินและแนวทางน้ำเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในลักษณะเป็นกลุ่ม ดูเป็นลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่เป็นศูนย์กลาง และบริวารอย่างชัดเจน
    [​IMG] ข้าพเจ้าคิดว่าโครงสร้างทางกายภาพของชุมชนที่มีสระน้ำล้อมรอบ และเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างกันดังกล่าวคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในทุ่งกุลาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มนั้น หาใช่การเริ่มต้นจากเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เข้ามาหักร้างถางพงตั้งถิ่นฐาน แล้วค่อยๆ ขยายตัวใหญ่โตขึ้นตามกาลเวลาไม่ หากเป็นการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนจำนวนมาก ที่มีประเพณีวัฒนธรรมในการทำศพครั้งที่สอง ที่บรรจุกระดูกคนตายในภาชนะดินเผาเหมือนกัน จึงมีความรู้ในทางเทคโนโลยี และกำลังพอที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง และกันดารในฤดูแล้งเช่นทุ่งกุลาได้
    "น้ำ" คือปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน การจัดการให้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีจึงเป็นสิ่งที่มาก่อนอื่น
    การร่วมกันจัดการขุดสระน้ำล้อมบริเวณที่เป็นชุมชน เพื่อที่จะมีน้ำใช้ตลอดฤดูกาล ก็คือสิ่งที่สะท้อนให้แลเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้
    ดังนั้น ภาพที่ข้าพเจ้าเข้าใจและพยายามสร้างขึ้นเพื่ออธิบายในที่นี้ก็คือ แต่เดิม พื้นที่ทุ่งกุลาแทบไม่มีผู้คนอยู่ หากต่อมามีกลุ่มคนที่มีประเพณีฝังศพครั้งที่สองจากที่อื่น เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันตามลำน้ำเล็กๆ ที่เป็นสาขาของลำน้ำมูล - ชี ลำน้ำเหล่านี้อาจแห้งขอดได้ในฤดูแล้ง จึงต้องร่วมกันขุดสระน้ำไว้รอบชุมชนเพื่อการใช้น้ำตลอดฤดูกาล
    คำถามที่ตามมาจึงเกิดขึ้นว่า คนที่มีประเพณีการฝังในหม้อกระดูกเหล่านี้มาจากไหน เมื่อใด และทำไมถึงเลือกพื้นที่ทุ่งกุลาเป็นถิ่นฐาน
    จากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้นพบและขุดค้นกันในขณะนี้ ทำให้ไม่ยากแก่การสันนิษฐานและอธิบายนัก
    การจะรู้ว่ากลุ่มคนที่นิยมประเพณีทำศพครั้งที่สองมาจากไหนนั้น อาจอธิบายได้โดยอาศัยการเปรียบเทียบกับผู้คนในท้องถิ่นอื่นในบริเวณลุ่มน้ำมูล - ชีด้วยกัน
    จากการสำรวจและศึกษาของข้าพเจ้าพบว่า ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีตอนบน เช่น ที่ทุ่งสำริดในเขตอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และโนนชัยในเขตจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งบรรดาผู้ที่อยู่ในแอ่งสกลนคร เช่นพวกบ้านเชียงนั้นไม่มีประเพณีการฝังศพครั้งที่สอง เช่นพวกที่อยู่ในทุ่งกุลา หากแต่นิยมฝังศพครั้งเดียว คือขุดหลุมฝังศพทั้งเรือนร่าง แต่จะมีประเพณีเอาศพเด็กใส่หม้อหรือไหคล้ายๆ กันกับการฝังศพครั้งที่สอง จนทำให้บางคนยกมาอ้างอิงโต้แย้งบ่อยๆ
    [​IMG] ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่อธิบายว่า ศพเด็กที่พบในหม้อหรือไหนั้น ก็เป็นการฝังศพครั้งที่หนึ่งเหมือนกัน เพราะเอาทั้งร่างใส่ลงในภาชนะเช่นเดียวกับที่ใส่ในโลงศพ หาใช่เป็นการรอให้ศพเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก แล้วนำมาใส่ภาชนะไม่
    ประเพณีเอาศพเด็กใส่ภาชนะนี้ ก็พบในกลุ่มชนที่มีประเพณีฝังศพครั้งที่สองในทุ่งกุลา และที่อื่นเหมือนกัน แต่บรรดาชุมชนที่มีประเพณีฝังศพครั้งที่สองนี้ จะกระจายกันอยู่ทั่วไปในบริเวณลุ่มน้ำมูล - ชีตอนล่าง ตั้งแต่เขตจังหวัดมหาสารคาม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร ลงไปจนถึงอุบลราชธานี ทำให้แลเห็นทิศทางของการเคลื่อนไหว และการเคลื่อนย้ายที่มาจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากเขตประเทศลาวและเวียดนามเข้ามา
    เท่าที่ทราบกันในขณะนี้ ประเพณีฝังศพครั้งที่สองนี้เห็นได้จากทุ่งไหหิน ในเขตเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว เพราะสิ่งที่เรียกว่าไหหินนั้น แท้จริงคือภาชนะหินขนาดใหญ่ ที่ใส่อัฐิและกระดูกคนตายรวมไปกับบรรดาสิ่งของที่เป็นเครื่องใช้ และเครื่องประดับสำริด เหล็ก แก้ว และหินมีราคา ผู้รู้ให้ความเห็นว่า เป็นประเพณีเดียวกันกับกลุ่มคนบางเผ่าพันธุ์ ที่อยู่ทางชายทะเลในเขตประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะพวกดองเซินและซาหวิ่น พวกนี้มีชาติพันธุ์ใกล้เคียงกันกับพวกจาม ซึ่งมีอารยธรรมร่วมสมัยกับพวกฟูนันและเจนละ
    ข้าพเจ้าเองก็เคยได้เห็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ใส่กระดูกของพวกซาหวิ่นในพิพิธภัณฑ์ในเวียดนามมาแล้วด้วย
    จากหลักฐานและทิศทางดังกล่าวนี้ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า กลุ่มชนที่นิยมฝังศพครั้งที่สองในทุ่งกุลา คือพวกที่เคลื่อนย้ายมาจากบ้านเมืองทางชายทะเลในเขตประเทศเวียดนาม ข้ามเทือกเขา ผ่านแม่น้ำโขงเข้ามาในเขตจังหวัดยโสธรและอุบลราชธานี แล้วแพร่กระจายไปทั้งลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่าง เพราะอาณาบริเวณจังหวัดยโสธรและอุบลราชธานีนั้น มักพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณวัตถุ ที่มาจากทางเขตประเทศเวียดนามอย่างชัดเจน ซึ่งก็ล้วนเป็นหลักฐานที่มีอยู่ในสมัยยุคเหล็กราว ๒,๕๐๐ ปีลงมาทั้งสิ้น
    [​IMG] ยกตัวอย่างเช่นที่บ้านก้านเหลือง ในเขตอำเภอเมือง อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเนินดินที่ตั้งของชุมชนโบราณขนาดใหญ่ ก็พบแหล่งฝังศพที่เป็นหม้อดินรูปกลมลายเชือกทาบขนาดใหญ่ มีลายนูนประดับตรงไหล่หม้อ ภายในบรรจุเครื่องมือเครื่องประดับสำริด ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว และหม้อขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นการอุทิศให้คนตาย แต่พบกระดูกน้อย บางใบแทบไม่มีเลย ลักษณะเช่นนี้ดูคล้ายคลึงกันกับของที่พบในไหหินที่ทุ่งไหหินของลาว รวมทั้งที่พบตามแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมดองเซินด้วย
    รูปแบบของวัตถุสำริดที่พบที่บ้านก้านเหลืองนั้น มีความสัมพันธ์กับของที่พบทางจีนตอนใต้และเวียดนามอย่างชัดเจน ซึ่งล้วนเป็นของในสมัยยุคเหล็กลงมาทั้งสิ้น
    หม้อดินเผาขนาดใหญ่ที่บ้านก้านเหลืองนี้ แม้จะไม่พบกระดูกคนตายมากอย่างที่พบในที่อื่น โดยเฉพาะในบริเวณทุ่งกุลา แต่ก็นับได้ว่าเป็นของที่ใช้ในประเพณีพิธีกรรมอย่างเดียวกัน คือการฝังศพครั้งที่สอง นั่นก็คือบางแห่งอาจจะนำเอากระดูกส่วนใหญ่มาฝังไว้ภายในหม้อเดียวกัน หรือแยกฝังไว้ในหลายๆ หม้อ หรือนำเอาบางส่วนมาบรรจุไว้รวมกับสิ่งของที่เป็นสมบัติของคนตาย หรือในบางแห่งอาจจะนำศพไปเผาแล้วจึงนำเอาอัฐิมาบรรจุไว้ อย่างเช่นที่พบที่ทุ่งไหหินก็ได้
    ทิศทางการเคลื่อนไหวและเคลื่อนย้ายของกลุ่มชน จากทางฝั่งทะเลในเขตจีนตอนใต้ และเวียดนามนี้ ยังมีหลักฐานที่เป็นกลองสำริด ในวัฒนธรรมดองเซินสนับสนุนด้วย นั่นก็คือได้มีการพบที่บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ตอนปลายสุดของทุ่งกุลา (ซึ่งข้าพเจ้าวิเคราะห์แยกออกเป็น "ทุ่งราษีไศล") เป็นชุมชนโบราณที่พบประเพณีการฝังหม้อกระดูกเหมือนกัน และอีกแห่งหนึ่งคือริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งก็มีแหล่งชุมชนโบราณเช่นเดียวกัน
    [​IMG] การพบกลองสำริดจากแหล่งชุมชนโบราณทั้งสองแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางการติดต่อจากบ้านเมืองทางชายฝั่งทะเลตั้งแต่เวียดนาม ข้ามช่องเขาและแม่น้ำโขงเข้ามาในเขตจังหวัดยโสธรและอุบลราชธานีอย่างชัดเจน การติดต่อเกี่ยวข้องกันนี้คงมีมาอย่างสืบเนื่องตั้งแต่ยุคเหล็กจนถึงยุคหลังๆ ลงมา เช่นสมัยฟูนันและทวารวดี เพราะโบราณวัตถุที่พบในชุมชนโบราณในบริเวณนี้ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการสืบเนื่อง และการมีพัฒนาการเป็นเมืองเป็นรัฐอย่างชัดเจน ซึ่งข้าพเจ้าได้เขียนไว้แล้วในที่อื่นๆ
    ข้าพเจ้าเชื่อว่าในยุคเหล็กตั้งแต่ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้วเป็นต้นมา บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งแอ่งสกลนครและแอ่งโคราชในบริเวณลุ่มน้ำมูล - ชีตอนล่าง คือดินแดน "ภายใน" ของผู้คนที่อยู่ทางชายฝั่งทะเลในประเทศเวียดนามจนถึงปากแม่น้ำโขง มีผู้คนกระจายและเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอยู่เนืองๆ เพราะบริเวณดินแดนประเทศไทยส่วนนี้ มีทั้งที่ราบลุ่มที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่ทำเกษตรกรรมปลูกข้าวเป็นพื้นฐาน และที่สำคัญคือมีแร่ธาตุอันเป็นที่ต้องการของผู้คนทั่วไปในยุคนั้น นั่นก็คือเกลือและเหล็ก
    ดังนั้น การเคลื่อนย้ายเข้ามาจึงไม่ใช่เป็นการมาทีละน้อย หากมากันหลายหมู่เหล่าและเผ่าพันธุ์ทีเดียว ซึ่งอาจแลเห็นได้จากความเหมือนกันและคล้ายกันในทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ นั่นก็คือถึงแม้ว่าจะมีประเพณีการฝังศพครั้งที่สองเหมือนกัน แต่ว่าแต่ละกลุ่มก็มีรูปแบบในพิธีกรรม เช่น รูปแบบของภาชนะที่ใช้บรรจุกระดูก และปริมาณการฝังกระดูกที่มากน้อยต่างกันไป แต่ที่แตกต่างกันอย่างสำคัญก็คือกลุ่มคนทั้งหลายที่เข้ามาในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล - ชีตอนล่างนี้ มีพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไม่เท่ากัน อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน
    ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่วิเคราะห์ออกเป็น ๒ บริเวณ
    แห่งแรก คือบริเวณทุ่งกุลา ที่มีลำพลับพลา ลำเตา ลำเสียวน้อย ลำเสียวใหญ่ ไหลผ่านเขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด
    [​IMG] แห่งที่สอง คือบริเวณทุ่งราษีไศล และชายขอบในเขตจังหวัดยโสธร อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
    บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้คือชายขอบของการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่มีวัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่สอง ในขณะที่บริเวณทุ่งราษีไศลและบริเวณที่ต่อเนื่องในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและยโสธร คือบริเวณที่เป็นศูนย์กลาง อันเนื่องจากการอยู่ในชัยภูมิที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ใกล้เส้นทางคมนาคม ทั้งจากทางชายฝั่งทะเลในเขตประเทศเวียดนามและทางปากแม่น้ำโขง บริเวณนี้จึงแลเห็นการเกิดบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐเจนละ ในสมัยยุคต้นประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน
    แต่ความเป็นชายขอบของทุ่งกุลาร้องไห้ก็หาได้เป็นชายขอบของผู้คนจากทางฝั่งทะเลในประเทศเวียดนาม และปากแม่น้ำโขงเท่านั้นไม่ หากยังเป็นชายขอบของกลุ่มคนทางลุ่มน้ำมูล - ชีตอนบนอีกด้วย นั่นก็คือลุ่มน้ำมูล - ชีตอนบนคือดินแดนภายใน (hinterland) ของผู้คนที่อยู่ชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย หรืออีกนัยหนึ่งคือของผู้คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง ของประเทศไทยก็ว่าได้
    หลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะยุคโลหะ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนใกล้ทะเลในเขตลุ่มน้ำบางปะกง เช่น โคกพนมดี มาจนถึงบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี - ป่าสัก ผ่านขึ้นมาบนที่ราบสูงโคราช ทั้งบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ว่ามีประเพณีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะประเพณีการฝังศพครั้งที่หนึ่ง รวมทั้งรูปแบบและลวดลายของภาชนะดินเผาที่ใช้ในการเซ่นศพ
    [​IMG] บริเวณลำน้ำมูลตอนบนที่สัมพันธ์กับทุ่งกุลาร้องไห้ และทำให้ทุ่งกุลากลายเป็นชายขอบ ก็คือบริเวณทุ่งสำริด อันเป็นบริเวณทุ่งราบ มีลำน้ำเล็กๆ หลายสาขา เช่น ลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำบริบูรณ์ ลำจักราช ลำปราสาทไหลผ่าน ทำให้มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาก่อนพวกที่อยู่ในทุ่งกุลา
    บริเวณนี้มีพัฒนาการเป็นรัฐและเป็นเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพิมาย รวมทั้งมีหลักฐานในศิลาจารึกและตำนานที่เรียกว่ามูลเทศะ ภีมะปุระ และพิมายตามลำดับ
    ความแตกต่างกันระหว่างทุ่งสำริดและทุ่งกุลาร้องไห้นั้น ไม่ได้มีเพียงแต่เฉพาะเรื่องทางวัฒนธรรม คือระหว่างประเพณีฝังศพครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องของลักษณะพื้นดินด้วย
    ดินทางทุ่งสำริดมีสีดำ และหลายแห่งมีความเค็มจัด จนมีแหล่งทำเกลือมากมายมาแต่โบราณ แต่ดินของทุ่งกุลาร้องไห้มักเป็นสีขาวนวล และสีค่อนข้างเหลือง ดูเหมือนดินเค็ม แต่ก็ไม่เค็มพอจะทำเกลือได้อย่างเช่นทางทุ่งสำริด
    ส่วนบริเวณดินเค็มที่พอจะทำเกลือได้นั้นอยู่แถบต้นลำน้ำเตาและลำน้ำเสียว ที่ไหลผ่านขอบทุ่งกุลาตอนบนไปยังทุ่งราษีไศล ซึ่งเป็นที่ดินเค็ม มีการทำเกลือมาแต่โบราณ การเกิดของบ้านเมืองที่สัมพันธ์กับอารยธรรมยุคประวัติศาสตร์ จึงพบตามบริเวณที่มีการนำเกลือดังกล่าวนี้
    ดังนั้น ตามที่กล่าววิเคราะห์มาแล้วก็จะเห็นได้ว่าบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้จริงๆ นั้น คือบริเวณทุ่งราบที่มีลำพลับพลาไหลผ่าน เป็นบริเวณที่แห้งแล้ง และล้าหลังทางวัฒนธรรมกว่าบริเวณทุ่งสำริดและทุ่งราษีไศล
    จากการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตทุ่งกุลา เช่น ที่โนนยาง บ้านยะวึก ในเขตอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และบ้านดงพลอง ในเขตอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ โดย ดร.พรชัย สุจิตต์ และศาสตราจารย์เออิจิ นิตต้า ชาวญี่ปุ่น กับการขุดค้นที่บ้านเมืองบัวและบริเวณใกล้เคียง โดยสุกัญญา เบาเนิด จากกรมศิลปากร แสดงให้เห็นว่าในระยะแรก ทุ่งกุลามีผู้คนอาศัยอยู่ประปรายในบางแห่ง เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีประเพณีฝังศพครั้งแรก แต่ต่อมามีผู้คนที่มีประเพณีฝังศพครั้งที่สองแผ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และเกิดมีเครือข่ายขยายไปทั่ว คนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับการถลุงเหล็กอย่างชัดเจน เพราะแทบทุกชุมชนจะพบร่องรองของการถลุงเหล็ก และบางชุมชน เช่นที่บ้านดงพลอง บ้านยะวึก และบ้านทุ่งวังนั้น อาจกล่าวได้ว่าถลุงเหล็กกันทั้งชุมชนเลยก็ว่าได้ และในหลายๆ แห่ง ก็ฝังหม้อบรรจุกระดูกในชั้นดินเดียวกันกับการถลุงเหล็ก ท่ามกลางซากตะกรันเหล็กทีเดียว
    การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเมืองบัวของสุกัญญา เบาเนิด นับได้ว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะได้พบหลักฐานข้อมูลใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นความล้าหลังทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงของทุ่งกุลาร้องไห้ได้ดียิ่ง
    เมืองบัวอยู่ทางตอนบนของทุ่งกุลา ใกล้กับลำเตาที่ไหลมาจากเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นชุมชนโบราณที่มีสระน้ำขนาดใหญ่ที่คนโบราณขุดล้อมรอบเพื่อกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ในขณะที่การขุดค้นซึ่งลึกลงไปกว่าห้าเมตร ทำให้แลเห็นชั้นดินทางวัฒนธรรมที่ต่ำลงไปจากหน้าดินสองชั้นใหญ่ๆ ด้วยกัน
    [​IMG] ชั้นดินทั้งสองชั้นนี้สัมพันธ์กับประเพณีฝังศพครั้งที่สองเหมือนกัน โดยมีความแตกต่างอยู่ที่รูปแบบของภาชนะดินเผา
    ชั้นแรก เป็นภาชนะรูปทรงกลมลายเชือกทาบ และมีลายนูนคล้ายเส้นเชือกรัดขอบหม้อเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางใบที่เป็นทรงสี่เหลี่ยม
    ชั้นที่สอง อยู่เหนือขึ้นมา มีลักษณะรูปกลมรีคล้ายแคปซูลขนาดใหญ่ ที่สามารถใส่โครงกระดูกได้ทั้งโครงทีเดียว มีหลายขนาดแตกต่างกันไปและฝังรวมกันเป็นกลุ่ม
    ภาชนะใส่กระดูกทั้งสองชั้นดินดังกล่าวนี้ล้วนมีฝาปิดเหมือนกัน
    ข้าพเจ้าเคยสำรวจพบภาชนะทรงกลมแบบที่พบในชั้นดินชั้นล่างในที่อื่นๆ มาก่อน แต่เนื่องจากการพบครั้งนั้นยังไม่ทราบชั้นดินแน่นอน การขุดค้นครั้งนี้จึงทำให้แลเห็นว่าภาชนะทรงกลมของชั้นแรกนี้น่าจะเป็นของที่พบทั่วไปตามแหล่งชุมชนโบราณหลายแห่งในทุ่งกุลา อีกทั้งดูมีอะไรที่คล้ายคลึงกันกับภาชนะดินเผาที่พบที่บ้านก้านเหลืองในเขตเมืองอุบลราชธานีไม่ใช่น้อย
    ส่วนชั้นดินตอนบนขึ้นมาที่พบหม้อกระดูกทรงแคปซูลนั้น อาจกล่าวได้ว่าพบเพียงที่เมืองบัวและแหล่งใกล้เคียงไม่กี่แห่ง เป็นภาชนะที่มีขนาดใหญ่มาก ต่างกันกับในที่อื่นๆ ที่แม้จะมีทรวดทรงยาวเป็นแคปซูลเหมือนกัน แต่ก็มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งมีหลายขนาดด้วย
    นักโบราณคดีกรมศิลปากรผู้ทำการขุดค้นได้แสดงความคิดเห็นว่า ภาชนะดินเผาทรงแคปซูล ที่พบในชั้นดินชั้นบนนั้น น่าจะสัมพันธ์กับการฝังศพครั้งที่หนึ่ง คือนำศพไปใส่ไว้โดยไม่ต้องรอให้เหลือแต่กระดูกเสียก่อนก็ได้ เพราะตรงก้นภาชนะมีรูเจาะไว้เพื่อให้น้ำเหลืองไหล
    เรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะขนาดภาชนะดูไม่ใหญ่พอจะรับการพองตัวของศพคนในเวลาขึ้นอืดได้ ส่วนที่ว่ามีรูเจาะที่ก้นนั้น ก็ดูเป็นธรรมดาของหม้อกระดูกที่พบในหลายๆ แห่ง
    ถ้าหากมองจากการขุดค้นชั้นดินทางโบราณคดีที่บ้านเมืองบัวนี้อย่างเผินๆ ก็จะแลเห็นชั้นดินทางวัฒนธรรมเพียง ๒ ชั้นใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ถ้ามองให้ละเอียดก็จะพบว่าจากชั้นดินชั้นบนที่พบภาชนะใส่กระดูกที่เป็นรูปแคปซูลนั้น มีการต่อเนื่องของประเพณีฝังศพครั้งที่สอง เข้าสู่ชั้นดินทางวัฒนธรรมในสมัยทวารวดีและลพบุรี เพราะนอกจากพบลักษณะหม้อกระดูกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังพบเศษภาชนะดินเผาในสมัยทวารวดีและลพบุรีด้วย
    แต่สิ่งที่โดดเด่นสำหรับหม้อกระดูกในสมัยหลังนี้ก็คือเป็นหม้อขนาดเล็กกว่าแบบแคปซูล ผิวบาง และมีลายเชือกทาบ มีทั้งที่มีเนื้อสีขาว ทาสีดำ และชุบน้ำโคลนสีแดง
    หม้อกระดูกดังกล่าวนี้มีการแพร่กระจายไปในที่อื่นๆ นอกเขตทุ่งกุลาร้องไห้ เช่น ขึ้นไปทางลุ่มน้ำชี ในเขตจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ไปจนถึงเขตอำเภอบ้านไผ่ และอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งเขตอำเภอประทาย และอำเภอบัวใหญ่ที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน ในจังหวัดนครราชสีมาด้วย
    </TD></TR><TR><TD vAlign=top>[​IMG] สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับประเพณีฝังศพครั้งที่สองในยุคนี้ก็คือ เป็นสิ่งที่เข้ากันได้ดีกับบรรดาหม้อหรือไหที่บรรจุอัฐิคนตาย (หลังจากการเผาศพแล้ว) ของผู้คนที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ในสมัยทวารวดีและลพบุรี หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ประเพณีการฝังอัฐิในหม้อ ไห รวมทั้งตามสถูปธาตุนั้นก็คือประเพณีฝังศพครั้งที่สองเช่นเดียวกัน
    เมืองสำคัญในสมัยทวารวดีและเจนละหลายแห่งที่อยู่บริเวณตอนบนของทุ่งกุลาร้องไห้ นับตั้งแต่เมืองจำปาขัณฑ์ ในเขตบ้านตาเณร อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และเมืองโบราณที่บ้านบึงแก บ้านดงเมืองเตย และบ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และบ้านเมืองเพีย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ล้วนเป็นชุมชนเมืองที่มีพัฒนาการมาจากชั้นดินทางวัฒนธรรม ในยุคเหล็กตอนปลายที่สัมพันธ์กับประเพณีฝังศพครั้งที่สองที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น
    ยิ่งกว่านั้น การเติบโตของบรรดาเมืองตั้งแต่สมัยทวารวดี เจนละ และลพบุรีเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่สัมพันธ์กับการผลิตเกลือ และเหล็กอย่างชัดเจน อย่างเช่นเมืองที่ดงเมืองเตย นอกจากมีฐานปราสาทสมัยเจนละ และศิลาจารึกที่กล่าวถึงกษัตริย์ในตระกูลเสนะแล้ว ยังเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนแหล่งถลุงเหล็กอีกด้วย หรือเมืองนครจำปาขัณฑ์ที่อำเภอสุวรรณภูมิก็ตั้งอยู่ท่ามกลางแหล่งผลิตเกลือ ที่มีการส่งผ่านไปตามเส้นทางคมนาคม ผ่านกู่พระโกนาและทุ่งกุลาร้องไห้เข้าสู่เขตจังหวัดสุรินทร์ ผ่านช่องเขาไปเขตเขมรต่ำในประเทศกัมพูชา
    ในขณะที่เมืองนครจำปาศรีที่อำเภอนาดูนตั้งอยู่บนเส้นทางที่แยกจากกู่พระโกนาไปทางตะวันตก ไปตามลำเตา ผ่านกู่กาสิงห์ เมืองบัว ขึ้นไปจนถึงนครจำปาศรี ซึ่งมีกู่น้อยและกู่สันตรัตน์ที่เป็นศาสนสถานแบบขอมตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และต่อจากนครจำปาศรีก็มีเส้นทางขึ้นไปยังลุ่มน้ำชีในเขตจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี
    ตามเส้นทางดังกล่าวนี้ มีร่อยรอยปราสาทขอมเป็นระยะๆ ไป
    </TD></TR><TR><TD vAlign=top>[​IMG] บรรดาชุมชนใหญ่น้อยตามเส้นทางนี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับการถลุงเหล็กและทำเกลือด้วยกันทั้งนั้น และหลายๆ แห่งที่พัฒนาขึ้นตามเส้นทางนี้ก็มีความสัมพันธ์กับการฝังศพครั้งที่สอง เช่นที่พบในเขตทุ่งกุลาในชั้นดินทางวัฒนธรรมชั้นบนๆ
    บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้แม้ว่าจะเป็นชายขอบทางวัฒนธรรมของบรรดารัฐ และบ้านเมืองที่อยู่โดยรอบ แต่ก็มีความเจริญเป็นบ้านเป็นเมืองร่วมสมัย ที่มีฐานความเจริญมาจากการผลิตเกลือและเหล็ก อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยยุคเหล็กลงมาจนถึงสมัยลพบุรี หลังจากนั้นแล้วบ้านเมืองก็ซบเซาลง น่าจะมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนลงไปสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและบริเวณทะเลสาบเขมรในประเทศกัมพูชา ความเป็นบ้านเมืองที่มีชุมชนกระจายอยู่มากอย่างแต่ก่อนก็ลดน้อยลง เกิดบ้านเมืองร้างหลายแห่ง ในขณะที่หลายๆ แห่งก็มีการอยู่อาศัยอย่างสืบเนื่อง อันเนื่องจากมีคนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่ก็มักจะสร้างบ้านเรือนทับบนชุมชนเก่าๆ โดยอาศัยความเหมาะสมของถิ่นฐานที่อยู่ที่ทำกิน รวมทั้งแหล่งน้ำและการชลประทานที่เคยมีมาแต่เดิมเป็นพื้นฐาน
    ทุกวันนี้ ผู้คนที่อยู่ในทุ่งกุลาคือกลุ่มชนที่มีการผสมผสานของกลุ่มชาติพันธ์กุย (หรือที่เรียกว่าพวกส่วย) เขมร และลาว ดูเหมือนพวกกุยหรือส่วยน่าจะเป็นพวกเดิมๆ ที่อาจเข้ามาตั้งถิ่นฐานช้านานกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็ได้ เพราะเห็นได้จากเรื่องราวในตำนานที่เกี่ยวกับผู้นำทางวัฒนธรรม และประเพณีพิธีกรรมในระบบความเชื่อ ที่กลายเป็นของส่วนรวมในท้องถิ่น อย่างเช่นเชียงศรี ซึ่งเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของคนส่วยนั้นก็ได้ถูกยกย่องเป็นเจ้าศรีนครเตา ที่พวกลาวเคารพกราบไหว้ และสร้างตำนานและประเพณีพิธีกรรมให้บรรดาลูกหลานได้กระทำในฤดูเทศกาล
    </TD></TR><TR><TD vAlign=top>[​IMG] ในบรรดาคนทุ่งกุลาในปัจจุบัน สิ่งที่ทำให้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนได้เสมอมา ก็คือการตั้งถิ่นฐานบนแหล่งชุมชนเดิม และพัฒนาการจัดการในเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือการสร้างทำนบน้ำเพื่อการแบ่งน้ำ กักน้ำในการเพาะปลูก ที่ล้วนต่อยอดมาจากระบบที่เคยมีมาแต่โบราณทั้งสิ้น
    การอยู่รอดของชุมชนทุ่งกุลาก็คือการจัดการในเรื่องน้ำ ทั้งอุปโภคบริโภคและเพื่อการเพาะปลูก ในลักษณะที่เป็นชลประทานราษฎร์ คือบรรดาชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ ของท้องถิ่นต้องร่วมแรงกันดูแลและรักษา ทำนองเดียวกันกับบรรดาชาวบ้านในเขตแคว้นล้านนา กระทำต่อระบบเหมืองฝายนั่นเอง
    มาบัดนี้ ทุ่งกุลาร้องไห้หาได้โดดเดี่ยวและล้าหลังเหมือนเดิมไม่ หากได้กลายเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทุ่งนา ข้าวหอมมะลิ ที่มีชุมชนหนาแน่นและเพิ่มขยายขึ้นตามที่ต่างๆ อันเนื่องมาจากพื้นดินสีเหลืองหรือขาวนวลที่เป็นดินปนทรายและมีความเค็มนั้น เกิดเป็นที่เหมาะสมกับการเติบโตของพันธุ์ข้าวหอมมะลิขึ้นมา
    พัฒนาการทางเกษตรกรรมและสังคมดังกล่าวนี้คือสิ่งที่ทำให้ความเป็นทุ่งกุลาร้องไห้หมดไปอย่างสิ้นเชิง ระบบชลประทานราษฎร์แบบเก่าถูกแทนที่ด้วยชลประทานหลวง และการทำนาแบบเดิมก็ถูกแทนด้วยการใช้เครื่องจักรยนต์ เช่น แทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าว และเครื่องนวดข้าว แทนแรงงานคนและสัตว์
    ทุกวันนี้ แม้ทุ่งกุลาเหลืองอร่ามด้วยนาข้าวหอมมะลิ แต่ก็แซมสลับอยู่ด้วยบรรดาต้นไม้มหาภัย คือยูคาลิปตัส ซึ่งถูกระดมปลูกแทนที่ต้นไม้เดิมที่เคยมีมาตามธรรมชาติ
    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    ที่มา : วารสารเมืองโบราณ
     

แชร์หน้านี้

Loading...