วัฒนธรรมอาหารไทย ความเหมือนที่แตกต่าง

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 30 ธันวาคม 2005.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    อาหาร นอกจากจะเป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกชนชาติแล้ว วัฒนธรรมอาหาร ยังเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของอุปนิสัย ภูมิปัญญา วิถีชีวิต เฉพาะตัวของแต่ละชนชาติอีกด้วย

    อาจารย์หทัยชนก นาจพินิจ จากโปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า อาหารไทยดั้งเดิม และ อาหารไทยปัจจุบัน นับเป็น ความเหมือนที่แตกต่าง ขณะที่เรากินอาหารอย่างเช่น แกงเขียวหวาน ซึ่งมีขั้นตอนการปรุงและรสชาติที่คล้ายกันจนเกือบแยกไม่ออก แต่สิ่งที่ทำให้อาหารชนิดนี้มีความต่างกัน ก็คือ ในอดีตจะเตรียมวัตถุดิบด้วยตนเอง ทั้งการใช้ครกกับสากตำเครื่องแกง ขูดมะพร้าว คั้นกะทิเอง แต่ปัจจุบันบางบ้านอาจจะใช้วัตถุดิบ กะทิ หรือเครื่องแกงสำเร็จรูป หรือบางบ้านอาจซื้ออาหารถุงแทน

    สิ่งที่หายไปในการปรุงอาหารไทยทุกวันนี้ คงไม่ใช่แค่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นกระจกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูก รวมทั้งการที่ ครอบครัวขยาย แปรสภาพเป็น ครอบครัวเดี่ยว ทำให้ศักยภาพของสถาบันครอบครัวในการขัดเกลา อบรม ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ ตลอดจนความเป็นไทยลดลง จนส่งผลให้เกิดการขาดช่วงของการถ่ายทอดวัฒนธรรม

    แต่เดิมนั้นอาหารไทยจะถ่ายทอดผ่านแม่สู่ลูกอย่างพิถีพิถัน ไม่จำเป็นต้องมีสูตร ก็รักษาความอร่อย เป็นมาตรฐานได้ เพราะทำอยู่ทุกวัน รับรสอยู่ทุกมื้อ ดังนั้น ลิ้น และ จมูก นั่นเอง คือตัวบ่งชี้ความอร่อย ถ้าพูดถึงความพิถีพิถันในการทำอาหารไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารไทยตำรับชาววังเท่านั้น อาหารชาวบ้านเองก็ต้องปรุงอย่างละเอียดลออ

    การทำเครื่องแกง ถือเป็น หัวใจของอาหารไทย ครก และสาก ก็นับเป็นอุปกรณ์ประจำครัวไทยที่ขาดไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ขณะที่คนไทยใช้เครื่องปั่น-บดอาหาร ในทางกลับกันครัวของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปกับหันมาใช้ครก และสากมากขึ้น เพราะเครื่องปั่นนอกจากจะไม่ให้ความละเอียดแล้ว น้ำมันหอมระเหยใดๆ ก็ไม่ออกมาสู่ส่วนผสมของเครื่องแกง โดยเฉพาะหากใช้เครื่องแกงสำเร็จรูปที่ผลิตโดยเครื่องจักร ก็จะยิ่งไม่รู้รส รู้กลิ่นของสมุนไพร และเครื่องเทศเลย เพราะความเค็มจากเกลือที่ใส่เพื่อถนอมเครื่องแกงให้เก็บไว้ได้นานขึ้น จะกลบรสและกลิ่นอื่นจนเกือบหมด

    อาจารย์หทัยชนก เล่าต่อไปว่า สวนดุสิตได้ตระหนักถึงปัญหาทางวัฒนธรรมดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับโรงแรมสวนดุสิต เพลส ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจวิชาการของมหาวิทยาลัยในการอนุรักษ์ และเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารให้นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้รู้จัก โดยเมื่อไม่นานมานี้ทางโรงแรมได้มีโอกาสรับจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่ โดยงานดังกล่าวนอกจากจะนำอาหารไทยดั้งเดิม ได้แก่ น้ำมะตูม ยำส้มโอทรงเครื่อง แกงจืดลูกรอก ข้าวผัดสมุนไพรปลาสลิด ฉู่ฉี่กุ้งแม่น้ำ ไข่สอดไส้กุ้ง และลอดช่องน้ำกะทิมาให้บริการแล้ว ยังให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์นอกตำรา ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปรุง จัด และเสิร์ฟอาหารอีกด้วย

    วัฒนธรรมอาหารไทย ถือเป็นวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงอัตตะเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ การกินอาหารร่วมสำรับ เป็นการสะท้อนลักษณะของสังคมที่มีน้ำใจ ช่วยเหลือ เกื้อกูล แบ่งปันกัน การปรุงอาหารที่ใช้เวลาควบคู่กับความประณีต ก็เป็นการสะท้อนอุปนิสัยใจเย็น ละเอียดอ่อนของคนไทย นอกจากนั้นอาหารไทยยังเป็นอาหารตา ใจ ปาก และร่างกาย อาหารแต่ละคำที่คนไทยกิน จะเป็นการเสพรูป รส กลิ่น สัมผัส และประโยชน์จากสารอาหารที่ครบถ้วน โดยการนำเครื่องเทศจากอินเดีย มาผสมผสานกับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค ย่อมส่งผลให้อาหารไทย เป็นมากกว่าอาหารที่ทานเพื่ออิ่มท้อง อาจารย์หทัยชนกกล่าวปิดท้าย

    โลกยุคโลกาภิวัตน์อาจทำให้กระแสวัฒนธรรมจากนานาประเทศถาโถมเข้าสู่สังคมไทยได้ง่าย จนอาจทำให้คนไทยบางส่วนหลงใหลได้ปลื้ม พลั้งเผลอ ตกหลุมอากาศ ของวัฒนธรรมอาหาร และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แฝงมากับภาพยนตร์ หรือละคร จนแห่กันไปท่องเที่ยว กินอาหารของชาตินั้นไปบ้าง...

    แต่ก็อย่าลืมว่า เราคือคนไทย..!!

    อาหาร ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมไทย ถ้าสายเลือดไทยไม่เห็นคุณค่า ไม่ถ่ายทอด และถนอมรักษา แล้วจะให้ใครเห็นคุณค่า..!!??
     

แชร์หน้านี้

Loading...