หลักสูตรการเป็นพระอรหันต์โดยพิจารณาธรรมสุดยอดอันนี้

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย lotte, 1 กุมภาพันธ์ 2006.

  1. lotte

    lotte เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    725
    ค่าพลัง:
    +4,545
    การปฏิบัติอยู่ในมรรคสัจ คือ

    ท่านต้องมีศีล
    ท่านต้องมีสมาธิ
    ท่านต้องมีปัญญา อย่างนี้ในมรรค 8 ก็รวมกันแล้วเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค 8 คือปฏิปทาให้เข้าถึงความดับทุกข์ คือเข้าถึงนิโรธ นิโรธสัจก็เหมือนกัน เป็นตัวผลนะขอรับ หมายความว่าคนกินข้าวอิ่มแล้วจะมาพูดกันเรื่องกินอะไรกันอีก มันกินอิ่มแล้วไม่ต้องพูดกัน นิโรธไม่มีอาการเป็นอย่างอื่น มันตัดเสียแล้ว กิเลสหมดแล้วก็หมดกันไป ว่าที่เราปฏิบัตินี่เพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่อนิพพานกัน ไม่ใช่ทำเพียงอุปนิสัย อย่าคิดว่าพอบวชเข้ามาแล้ว ก็ทำเสียหน่อยหนึ่ง หรือบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทประกาศตัวเป็นพุทธสาวกเสียแล้ว ก็ทำเสียนิดหนึ่ง ไม่ถึงความดีอะไร เราจะไปพระนิพพาน กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดที่ทำให้คนเข้าถึงนิพพานไม่ได้มันมีอยู่ 10 อย่าง นี่เราปฏิบัติกันยังก็ตามนะครับ ถ้าไม่รู้ไอ้สิบตัวนี้แล้วเข้านิพพานไม่ได้ เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ก็เป็นไม่ได้สักอย่าง นั่นก็คือสังโยชน์ 10
    การเจริญมหาสติปัฏฐานต้องทบทวนตลอดเวลา แล้วก็ใช้อารมณ์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เวลาไหนควรใช้อานาปานสติ เวลาไหนควรใช้อิริยาบถ เวลาไหนควรใช้สัมปชัญญะ เวลาไหนควรใช้ปฏิกูลสัญญาธาตุ 4 นวสี 9 หรือว่าเวทนา จิตตา ธรรมา ส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นกิจประจำวันไป หมายความว่า ทำเป็นกิจประจำวันนะครับ วันหนึ่งจงอย่าว่าง ใช้อารมณ์ตามสมควร ถ้าความรักความเมามันเกิดขึ้นมาก็ใช้ปฏิกูลสัญญาบ้าง ธาตุ 4 บ้าง นวสี 9 บ้าง แล้วก็ดู ถ้ามันเกิดความกลุ้มขึ้นมา เกิดความดีใจขึ้นมา ก็ดูจิต ดูจิตนะขอรับ แล้วก็ดูเวทนา แล้วก็ละนิวรณ์ พิจารณาขันธ์ 5 แล้วก็ทรงโพชฌงค์ 7 ตลอดเวลานะขอรับ แล้วก็มาว่าอริยสัจนี่ก็ควรจะทรงตลอดเวลาเหมือนกัน
    ทีนี้ มาจับจุดกัน ทำให้คล่องนะครับ นึกให้คล่อง ทำให้คล่องให้เป็นปกติ ต้องคล่องเสียก่อนนะครับ แค่จบยังไม่ได้อะไร ตอนนี้ก็มาจับจุดกันว่าสังโยชน์ 10 กิเลสเครื่องร้อยรัด ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันมีอะไรบ้าง จับตัวมันให้ได้
    ตัวที่ 1 ก็สักกายทิฏฐิ เป็นกิเลสตัวที่ 1 ที่เมามันเห็นว่าอัตภาพร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา เมาชีวิตคิดว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขาตัวหนึ่งละครับ
    ตัวที่ 2 สงสัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างบรรดานักปราชญ์ทั้งหลายสงสัยพระสูตร และชาดกสมัยนี้
    ประการที่ 3 สีลัพตปรามาส โกหกศีล โกหกพระ ไปรับศีลมาแล้วไม่ปฏิบัติเห็นศีลเป็นเครื่องเล่นไป ว่าส่งเดช
    ประการที่ 4 เมาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เรียกว่ากามคุณนะขอรับ กามฉันทะ
    ประการที่ 5 เมาในความโกรธ ความพยาบาท อยากจะเป็นคนเด่นในด้านความโกรธ ความพยาบาท อยากจะเป็นคนเก่ง
    ประการที่ 6 รูปราคะ เมาในรูปฌาน
    ข้อที่ 7 อรูปราคะ เมาในอรูปฌาน
    ข้อที่ 8 มานะถือตัวถือตนว่า เราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา
    ข้อที่ 9 มีอารมณ์ฟุ้งซ่านนอกรีดนอกรอย
    ข้อที่ 10 ความรู้ไม่ครบ คือรู้ผิด รู้นอกลูกนอกทาง อวิชชานี้ไม่ใช่ไม่รู้นา คนและสัตว์ที่เกิดมาแล้วนี้รู้หมด ต่างคนต่างมีความรู้ ต่างคนต่างมีความคิด แต่ว่าจะรู้ตรงรู้ถูกตามที่พระพุทธเจ้าประสงค์หรือเปล่านั้นอีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่ารู้ไม่ตรงความประสงค์ของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่ารู้ผิด ผิดจากอะไร ผิดจากทางพระนิพพาน
    นี่เป็น 10 ประการด้วยกันนะขอรับ ทีนี้ เราเป็นนักปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน จะเข้าถึงมรรคถึงผลก็อย่ากระโจนกลาง อย่ากินช้างทั้งตัว จงอย่าคิดว่าเราจะเอาอรหัตผลภายในวันนี้ ปฏิบัติทีเดียวจะเข้าถึงอหัตผล จงอย่าคิดอย่างนั้นนะขอรับ คิดอย่างนั้น มันกินช้างคำเดียวหมดตัว มันใช้ไม่ได้ แต่บังเอิญถ้าเราจะได้ละก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ท่านทำกันก็ได้อรหันต์เลย เรียกว่าผ่านโสดา สกิทาคา อนาคา เพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วได้อรหันต์เลยก็มีถมเถไป แต่ว่าท่านก็เริ่มต้นน้อยอย่างนี้เหมือนกัน ถ้าอารมณ์เข้มข้นอารมณ์เข้มข้นมันก็ได้ของมันเอง แล้วก็การบรรลุอรหัตผลก็มีตั้งหลายแบบหลายแผนนะขอรับ ไม่ใช่ว่าต้องเฉพาะมหาสติปัฏฐาน 4 เสมอไป แบบแผนที่เขาได้อริยมรรค แต่ว่านี่เราว่ากันเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรนี่ขอรับ
    ขั้นแรก เราก็จับสังโยชน์สามก่อน เพื่อความเป็นพระโสดาและสกิทาคา สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส อันนี้ถ้าได้อย่างหยาบ เป็นพระโสดาบัน ถ้าได้อย่างละเอียดลงไป เป็นพระสกิทาคามี หนึ่งสักกายทิฏฐิ ความเมาในชีวิตเราก็ตัดเสีย ว่าอัตภาพร่างกายนี่มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของเรา ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ ฟันหรือเป็นของเรา หรือว่าตาเป็นของเรา เนื้อหรือว่ากระดูก เส้นเอ็นเป็นของเรา เป็นจริงหรือขอรับ เวลาฟันมันจะปวด ห้ามปวดได้หรือเปล่า เวลาฟันมันจะหัก ห้ามหักได้หรือเปล่า เวลาผิวมันจะคล้ำ ห้ามคล้ำได้หรือเปล่า เวลาความแก่มันเกิดขึ้น จะห้ามแก่ได้ไหม อารมณ์ของเราเวลาจะกลุ้ม ห้ามกลุ้มได้หรือเปล่า ผมเวลาจะหงอก ห้ามหงอกได้หรือเปล่า อะไรก็ตาม ผลที่สุดมันจะป่วยไข้ไม่สบาย ห้ามได้หรือเปล่า พระคุณเจ้าที่กำลังนั่งฟัง ใครห้ามได้บ้างขอรับ คนที่ฟังอยู่นี่ทั้งพระทั้งฆราวาสที่ฟันหลอ ๆ มีตั้งเยอะนั่นท่านเต็มใจให้มันหลุดไป หรือว่ามันหลุดของมันเองขอรับ หรือท่านที่กำลังผมหงอกก็มีเยอะ หรือหัวล้านอย่างผมนี่ก็มี คนผมหงอกคนหัวล้านน่ะ อยากให้มันหงอกอยากให้มันล้านหรือเปล่าขอรับ เปล่า ไม่มีใครอยากให้เป็นอย่างนั้น ในเมื่อไม่อยากให้เป็น มันก็เป็นของมันเอง แล้วมันจะเป็นของเราได้ยังไง ห้ามปรามมันไม่ได้ หากกฎอนิจจังไม่เที่ยงทุกขัง ในเมื่อผลมันเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้าเราฝืนมันก็เป็นทุกข์ อนัตตา ในที่สุดเราก็ห้ามมันไม่ได้ ปลงใจเสีย นึกว่าอย่างน้อยที่สุดมันเป็นอย่างนี้ อย่างมากที่สุดมันต้องตาย แล้วอัตภาพร่างกายเราเป็นอย่างนี้ ทรงอย่างนี้มาทุกชาติทุกภพ ร่างกายแต่ละชาติ ๆ ที่มันมาเกิดนี่ มันไม่ตามเรามา แล้วยังจะคิดว่ามันเป็นพวกของเราอยู่หรือขอรับ ไม่ต้องทิ้งมันหรอก มันก็ทิ้งเราเอง ไม่ต้องฆ่ามัน มันก็ตายของมันเอง ไม่ต้องประทุษร้ายมัน มันก็เจ็บมันก็ปวดของมันเอง ไม่ต้องทรมานมันมันก็แก่ของมันเอง เห็นไหมขอรับ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น มันก็จะเป็น แล้วมันจะเป็นเราเป็นของเราได้ยังไง จะมัวเมาไปถึงไหนล่ะขอรับ ถ้าปลดความเมามัวตัวนี้เสียได้อย่างเบาๆ คิดว่าเรามันต้องตายแน่ อัตภาพร่างกายนี้เราไม่ห้าม ความเศร้าโศกเสียใจ ความเหือดแห้งใจย่อมไม่ใคร่จะมี มีเหมือนกัน ไม่ใคร่จะมีกับสังขาร และในเมื่อเราไม่เมาในสังขาร เชื่อพระพุทธเจ้าในข้อนี้แล้ว
    ก็เชื่อว่าสังโยชน์ข้อที่ 2 ได้ด้วย เรียกว่าไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะเห็นคล้อยตามแล้วสังโยชน์ตัวที่สองไม่ต้องหายไปไหน ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าเราจะตาย จะตายแล้วก็จิตกับว่างจะจากกัน ไอ้ความดีความชั่วเท่านั้นที่จะนำไป เมื่อเห็นสังโยชน์ตัวที่ 1 แล้ว สังโยชน์ตัวที่ 3 ก็พลอยได้ด้วย ในเมื่อเราจะตายแล้วจิตจะนำความดีหรือความชั่วไปด้วย เมื่อนำความชั่วไปก็มีแต่ความทุกข์ระทม เมื่อนำความดีไปมันก็มีแต่ความสุข เมื่อเชื่อตัวต้นแล้วตัวที่ 3 ก็เชื่อด้วย เพื่อพระพุทธเจ้าว่าการรักษาศีลเป็นของดี ก็เลยทรงอยู่ในศีลในธรรม ศีล 5 ประการ สำหรับฆราวาส ศีล 227 สำหรับพระ ศีล 10 สำหรับเณรเป็นของง่าย ก็เลยไม่อยากให้ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย นี่ถ้าเชื่อจริง ๆ นะ เป็นได้ขนาดนี้ มันได้ไปในตัว ได้สักกายทิฏฐิตัวเดียวก็ได้ พอเชื่อจริง ๆ ความมั่นปรากฏเห็นอัตภาพร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้แล้ว ความมั่นใจในการปฏิบัติก็ปรากฏ ความเยือกเย็นใจก็ปรากฏ อย่างนี้แล้วอารมณ์ก็จะเข้าถึงพระนิพพาน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องธรรมดาไปหมด ความแก่ก็ธรรมดา ความเจ็บไข้ไม่สบายก็ธรรมดา ความพลัดพรากจากของรักก็เป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ค่อยสะเทือน มันสะเทือนเหมือนกันแต่ก็สะเทือนน้อย เวลาร่างจะตายจริง ๆ ก็รู้สึกว่าเป็นธรรมดา ถูกชาวบ้านด่าก็นึก เออ เป็นธรรมดาของคนในโลก นัตถิ โลเก อนินทิโต คนที่เกิดมาในโลกแล้วไม่มีใครนินทา ไม่มีใครด่า ไม่มีใครว่าร้ายไม่มี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังถูกเขาด่า เป็นยังงั้น ตัวธรรมดาก็เข้ามาถึงแล้ว มีจิตใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ คิดว่านี่เราจะอยู่ เราจะเวียนว่ายตายเกิดไปในวัฏฏสงสารเพื่ออะไร ไม่เกิดประโยชน์ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความเดือดร้อน ไปพระนิพพานดีกว่า พระนิพพานเป็น เอกันตะ บรมสุข ตอนนี้ ท่านเรียกกันว่าโครตภูญาณ ชื่อว่าจิตอยู่ในระหว่างโลกีย์กับโลกุตตระ จะเข้าถึงความเป็นพระแล้วพระโสดากำลังมา นี่เรียกว่าแขนขวายึดพระโสดาไว้ แขนซ้ายยึดกฎของโลกไว้ อารมณ์ของโลกไว้ เมื่อทำไป ๆ ปลงจิตสักกายทิฏฐิตัวเดียวแหละ ในที่สุดมันก็ปล่อยมือไปกอดพระโสดาบันเข้าไว้ เราจะรู้ได้มันเป็นของไม่ยาก ที่เรียกกันว่าศีลห้าของเราไม่บกพร่อง เราไม่มีเจตนาจะฆ่าสัตว์ จะลักทรัพย์ จะประพฤติผิดในกาม จะกล่าวมุสาวาท จะดื่มสุราเมรัย ความมั่นคงปรากฏ อารมณ์ ถือมงคลตื่นข่าวไม่มี ใครเขาว่าดีที่นั่น ใครเขาว่าดีที่นี่ เที่ยวฮือไปที่นั่น ฮือมาที่นี่ไม่มี เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแล้ว เกาะพระพุทธเจ้าก็ได้ เกาะพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้ เกาะพระอริยเจ้าก็ได้ ทีนี้เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบันแล้วก็พิจารณาสักกายทิฏฐินั่นแหละขอรับ ให้หนักขึ้น ให้อารมณ์ปลงมากขึ้น ปลงจนเห็นโทษจากกามคุณนะ เห็นโทษจากความโกรธ ความพยาบาท เห็นโทษจากการยึดมากขึ้น อารมณ์ก็จะเบาลง เบาลงจนกระทั่งความรู้สึกในกามเกือบจะไม่มี ผมใช้คำว่าเกือบจะไม่มีนะขอรับความจริงมันมีแต่มันก็เล็กนิดเดียว บางมาก เบามาก ถ้าจัดเป็นไม้ก็จัดว่าเป็นเยื่อไม้ ปกติที่เห็นวัตถุ เห็นคน เห็นสัตว์ ไม่เกิดความรัก ไม่เกิดความปรารถนา แต่ว่าเวลาจิตสงัดบางครั้งมันมีความปรารถนา อย่างนี้เรียกว่ากามารมณ์เป็นเพียงแค่อนุสัยนะขอรับ นิดหนึ่งเกิดขึ้นบางขณะก็เชื่อว่ายังมี ทีนี้ความโกรธความพยาบาทก็เหมือนกัน มันยังไม่สิ้นไป แต่มันเบาเกือบจะไม่มีอาการกระทบกระทั่งปรากฏ ไม่ชอบใจปรากฏ แต่ก็หายไปเอง ส่วนโมหะก็เหมือนกัน ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู มันเบาลง เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องจากกันทั้งนั้น มันต้องสลายตัวทั้งนั้น แต่ความรักในวัตถุยังมีอยู่ แต่ไม่ถึงกับอาลัยหมายความว่ามันหมดไปก็หมดไปไม่เดือดร้อน มันมีอยู่ก็ใช้มันไป รักษามันไป จนกระทั่งเป็นเครื่องสังเกต ในด้านกามฉันทะสังเกตง่าย บางคราวจนเกือบจะคิดว่าเรานี่เป็นพระอนาคามี ความรู้สึกทางเพศมันไม่มี แต่บางมีพอเผลอ ๆ มันโผล่หน้า นาน ๆ มาที อาการอย่างนี้เป็นพระสกิทาคามีนะขอรับ ละสังโยชน์ได้สาม อันนี้ถ้าตายแล้วเกิดเป็นเทวดาก็นิพพานในเทวดา สำหรับพระโสดาบัน ถ้าอย่างอ่อนที่เรียกว่า สัตตะขัตตุง ก็ต้องเกิดอีก 7 ชาติเป็นอรหันต์ ถ้าอย่างกลางเป็น โกลังโกละ 3 ชาติเป็นอรหันต์ ถ้าอย่างเก่งก็เป็นเอกะพีซี เกิดอีกชาติเดียวเป็นอรหันต์ เกิดเป็นมนุษย์นะขอรับ แต่ว่าสำหรับพระสกิทาคมี ถ้าตายแล้วเป็นเทวดาก็ดี เป็นพระพรหมก็ดี ก็นิพพานบนโน้นเลยขอรับ ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานอีก พระโสดาก็เหมือนกัน ตั้งแต่โสดาบันขึ้นมาย่อมปิดอบายภูมิคือไม่เกิดในนรก ไม่เกิดเป็นเปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน นี่เป็นยังงี้นะขอรับ ไม่ยากนะขอรับ เวลาพิจารณาสักกายทิฏฐิก็อย่าลืมทุกข์ข้อในมหาสติปัฏฐานสูตร เอามาเป็นเครื่องประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพชฌงค์ 7 อย่าทิ้งนะขอรับ ถ้าทิ้งแล้วก็เสียท่า ทีนี้มาตอนเป็นพระอนาคามีทำยังไง กามฉันทะมันเหือดไปแล้วนี่ขอรับ ก็มาทำลายกามฉันทะด้วยการพิจารณาร่างกาย คือสักกายทิฏฐิว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราแล้ว ร่างกายคนอื่นทำไมจะมาถือว่าเป็นของเราอีก จะไปนิยมชมชอบอะไร หันไปพิจารณาในปฏิกูลบรรพและอสุภกรรมฐาน นวสี 9 นะขอรับ จะเห็นว่าภายในมันเละไปหมด พอตายแล้วก็เละใหญ่มันน่ารักน่าชมตรงไหน ในที่สุดจิตก็จะวางเสียได้เลย เพราะได้สกิทาคามีแล้วมันเหือดไปมากแล้วกระทบอีกนิดเดียวก็หมดไป ส่วนโทสะก็เหมือนกัน เพราะตอนอนาคามีมันเลาแล้วจับเมตตาบารมีขึ้นตั้งนะขอรับ จับเมตตาขึ้นตั้งไว้ความดีความชั่วที่เขาทำก็เพราะเขาปรารถนาดี ที่ทำไปไม่ถูกต้องก็เพราะการหลงผิด กิเลสเข้ามาสิงใจ จิตคิดเป็นอภัยทาน เพียงเท่านี้ก็ได้พระอนาคามี แต่ยึดสักกายทิฏฐินั่นแหละ เราจะตายอยู่แล้ว เราป่วยอยู่แล้ว เราเจ็บอยู่แล้ว เราทรุดโทรมอยู่แล้ว หัวล้านแล้ว หัวหงอกแล้ว ฟันหักแล้ว มันเป็นของมันเอง ไม่ใช่เขาด่า เขาว่า เขากระทบกระทั่ง เห็นแล้วไม่น่าจะโกรธเขา เขาจะโกรธเราขนาดไหนก็ตาม เขาจะว่าเราขนาดไหนก็ตาม เขาก็เหมือนเรา ในที่สุดเขาก็ตาย เขาก็ถูกทรมานจิตใจของเขาเอง เราจะไปยุ่งอะไร จิตมันก็วางได้ วางได้ขนาดนี้ก็เป็นพระอนาคามี พอถึงอนาคามีแล้ว ความเมาในรูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี มันก็น้อยลง เราก็เห็นแล้วว่าพระนิพพานมีความสำคัญ จิตมันก็ข้ามไปแล้ว มันไม่เมาแล้วนะขอรับ ที่นี้เหลือตัวถือตัวถือตน คือมานะที่คิดว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา มันยังมีอยู่บ้าง เราก็ตัดลงไปเสียว่ามันแค่ตายเหมือนกัน ไม่มีอะไร แค่ตายเหมือนกัน ใครแค่ไหนก็ตาม ไม่ดีไม่เลวกว่ากัน ต่างคนต่างตาย มันเป็นกฎของกรรม ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว เรื่องของกรรมไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัด มานะแล้วก็มาอุทธัจจะ คนที่คิดเป็นกุศลตอนนี้กุศลไม่มี แต่ว่ามันนอกทางพระนิพพานไป ก็หวนกลับเข้ามาจับสักกายทิฏฐิตามเดิม พอตัดตัวอุทธัจจะเสียได้แล้วอวิชชาไม่ต้องตัดนะขอรับ มันมีปัญญาขึ้นมาเอง ปัญญามันมีขึ้นตามลำดับแล้ว พอตัดอุทธัจจะได้หมดแล้ว ตัวปัญญาเต็มที่ก็ปรากฏ อวิชชาก็หายไป อย่างนี้ก็เป็นพระอรหัตผล

    สมุทัย คือเหตุให้เกิดความทุกข์ คำว่าเหตุให้เกิดความทุกข์หรือสมุทัย เป็นประเภทได้ 3 ประเภท

    กามตัณหา
    ภวตัณหา
    วิภวตัณหา

    คำว่า กาม แปลว่าความใคร่ หรือความต้องการ นี่ไม่ใช่หมายถึงกามารมณ์ คือว่าต้องการในเรื่องระหว่างเพศเสมอไปนะขอรับ ถ้าเราไปพูดกันว่าเจ้านี่บ้ากาม ก็จะมาโกรธหาว่าเป็นคนมักมากในกามารมณ์ อย่างนี้ไม่ใช่นะขอรับ ขึ้นชื่อว่าความใคร่ ความปรารถนา ความอยากได้ทั้งหมดจัดเป็นกาม เราอยากกินน้ำแข็ง เราอยากกินก๋วยเตี๋ยว เราอยากมีบ้านสวย ๆ เราอยากมีเสื้อมีกางเกงงาม ๆ นี่มันก็กามเหมือนกัน เราอยากจะไปเที่ยวก็กาม ความใคร่ ความอยาก อยากจะเที่ยว อยากจะกิน ก็เรียกว่าเรามีกาม
    ความใคร่ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มีอยู่ 3 ขั้น คือ

    กามตัณหา อยากได้ของหรือวัตถุ หรือบุคคล หรืออารมณ์ ที่ยังไม่ปรากฏให้มีขึ้น
    ภวตัณหา สิ่งที่มีอยู่แล้ว อยากให้ตั้งอยู่ตามรูปนั้น ไม่ให้เคลื่อนอย่างคนที่รักอยู่แล้วก็อยากจะให้รักตลอดกาล ของที่มีอยู่แล้วสวยสดงดงาม มันเป็นของใหม่ ก็ไม่อยากให้เก่า ไม่อยากให้พัง
    วิภวตัณหา อาการดิ้นรนอาการคัดค้าน แต่สิ่งเหล่านั้นมันจะหายไป มันจะเก่าไปมันจะพังไป มันจะเศร้าหมองไปซึ่งไม่ตรงกับอัธยาศัยที่เราต้องการ เพราะเราต้องการให้มันทรงสภาพก็หาทางต้านทาน เช่น คนจะตายก็ให้ไปหาหมอมาเป่าหู หาฤาษีมาชุบ หาใครต่อใครมาต่ออายุ ไม่อยากให้ตาย หรือว่าหาหมอมาสะเดาะเคราะห์อย่างนี้หมอรวยไปหลายรายแล้ว หรือเราจะแค่ไม่อยากแก่ หาทางป้องกันความแก่เราเป็นคนไม่อยากป่วย หาทางป้องกันความป่วย มันก็ยังป่วย พอป่วยแล้วก็ดิ้นรน นี่เป็นวิภวตัณหา หรือว่าบ้านจะพังเราก็ไม่อยากให้มันพัง ไม้มันเก่าแล้วเราอยากให้มันเป็นไหม้ใหม่ อย่างนี้เป็นอาการของวิภวตัณหา

    ถ้าคิดอยากจะสร้างตึกก็ลองนึกดูก็แล้วกัน ว่าอะไรบ้างมันจะติดมามา ค่าปูน ค่าเหล็ก ค่าทราย ค่าไม้ ค่าแรงงาน ค่าสี ราคามันเท่าไรขอรับ ทีนี้ถ้าเราอยากจะสร้าง ยังไม่ทันจะสร้างความทุกข์มันก็เกิด ทุกข์ว่าทำยังไงเราจึงจะได้ตึกสวย ๆ อยู่สักหลังนะขอรับ นี่ทุกข์ ความปรารถนามันเกิดแล้ว นี่นะ มันเป็นเหตุของความทุกข์จริงๆ ไอ้ตัวอยากนี่ นี่ไปอยากมีตึกมันเข้ามันก็ทุกข์ ทุกข์ว่าเมื่อไหร่จะมีตึกสักหลังหนึ่ง พอมีช่องทางมีคนรับจะช่วยเหลือ ว่าไปหาเงินที่โน่นดี ไปหาเงินที่นี่ดีความทุกข์ก็ปรากฏอีก ออกเดินทางไปหาสตางค์ ก็ไอ้เงินทองของเหล่านี้มันไม่ได้เรี่ยราดอยู่กลางหนทาง มันอยู่ในกระเป๋าของชาวบ้าน ทีนี้เวลาไปเอาสตางค์เดขามาน่ะมันง่ายเมื่อไหร่ขอรับ ต้องไปนอนตั้งท่าคิดว่าเราจะพูดยังไง เราจะไปแบบไหน แล้วไอ้ทุนที่จะไปมันก็ต้องหา ต้องใช้เงินใช้ทองเหมือนกัน แล้วคนที่จะไปก็เหมือนกัน ต้องเลือกคนต้องเอาใจคน แล้วไปเอาใจเจ้าของเงินอีกว่าจะได้มา นี่มันก็เป็นอาการของความทุกข์นะขอรับ นี่ ตัณหามีขึ้นอย่างเดียวมันสร้างความลำบาก ทีนี่เวลาเดินทางของเงินเขาน่ะดีไม่ดีก็เป็นอันตรายระหว่างทาง ทีนี้ เอาตอนได้มาแล้วต้องหาช่างต้องหาวัตถุเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการก่อสร้าง การคุมคนไม่ใช่ของง่ายนะขอรับ ดีไม่ดีช่างก็เกเอา บรรดาช่างทั้งหลายสมัยนี้ เป็นช่างเถอะเสียก็เยอะ เผลอไม่ได้ เผลอเป็นเอาเปรียบเจ้าของงาน นี้เป็นยังงี้นะขอรับ กว่าจะสร้างตึกได้สักหลังก็เหนื่อยแสนเหนื่อย ใช้เวลามากบางท่านสร้างยังไม่เสร็จก็พอดีตาย ทีนี้พอเสร็จขึ้นมาแล้วนะขอรับ เอาละไอ้ทุกข์ตอนนั้นก็หมดไป มาทุกข์ตอนบำรุงรักษาตึกอีก เอาเข้าอีก มันก็ใช้แรงงาน ใช้สมองเหมือนกัน เราคนเดียวทำความสะอาดไม่ไหว เราคนเดียวดูแลไม่ไหว เราคนเดียวทะนะบำรุงไม่ไหว ความรู้สึกยังงี้เกิดขึ้นมาก็เป็นความทุกข์ ทีนี้ตัวอยากมันก็โผล่ อยากจะได้คนมาช่วยดูแลทำนะบำรุงสักคนหนึ่งหรือสองคน แล้วต้องนั่งคิดนอนคิดว่าจะได้ใครเป็นที่ถูกใจเราแล้วก็สนใจในงาน นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์นะขอรับ เอากันอย่างย่อๆ นะเท่านี้ก็พอ เพราะมันยังมีอีก 2 เหตุ นี่กามตัณหาท่านกล่าวว่าเป็นเหตุของความทุกข์มันอย่างนี้ เราว่ากันถึงว่าเราเป็นนักปฏิบัตินี่ เรามารู้กันถึงทุกข์เฉพาะหน้า เหตุเฉพาะหน้า นี่ว่ากันถึงเรื่องตึกอย่างเดียวนะอยากอย่างนี้อย่างเดียวนะ ไอ้ตัวอยากอย่างอื่นมันก็เหมือนกัน อยากได้คนเขามาเป็นคู่ครอง นี่ร้ายใหญ่ วัตถุถ้าเราอยากได้ เราแบกได้ เราหามได้ ถ้าเรามีสตางค์ซื้อก็ยังพอทำเนา เอามาได้สบาย แต่ว่าอยากได้คนเขามาเป็นคู่ครองนี่ซีขอรับ คนนี่ไม่ใช่ตุ๊กตา คนไม่ใช่ท่อนไม้ เรามีเงินมีทองมีเฒ่าแก่แล้ว แต่ว่าเจ้าตัวเขาไม่เห็นชอบด้วย มันก็สร้างความเดือดร้อน ทีนี้ ถ้าเขาเห็นชอบด้วย ถ้าเราได้มาแล้วความทุกข์มันก็ยังไม่สิ้น ต้องมานั่งเอาใจกันอีก ต้องมานั่งปฐมพยาบาลเอาอกเอาใจซึ่งกันและกัน แล้วก็คนมีใจ เป็นอันว่าเป็นเหตุของความทุกข์อีก เมื่อยังไม่ได้มา คิดอยากจะได้ก็ทุกข์ว่าทำยังไงถึงจะได้ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องเป็นทุกข์เอาใจกัน ปรนนิบัติซึ่งกันและกัน เห็นทุกข์หรือยังล่ะขอรับ ในที่สุดต่างคนต่างตายจากกันไป ไม่เห็นมีอะไร เจ๊งกันไปตามๆ กัน นี่ทุกข์เปล่าๆ ไม่มีประโยชน์หรือว่าผมมันหัวล้านนอกครูก็ไม่รู้ขอรับ ชาวบ้านชาวเมืองเขาว่าดีกัน จะเป็นผมคนเดียวหรือไงที่ว่าไม่ดี แต่ว่าไม่ใช่ผมคนเดียวนะขอรับ พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าไม่ดี พระอริยสงฆ์ทั้งหลายท่านก็ว่าไม่ดี ท่านจึงตัดเฉพาะตัวของท่าน ที่เรียกว่า เอกายโน อยํ ภิกขเว เอกาแปลว่าหนึ่งเท่านั้น อยู่คนเดียวสบาย ไม่มีใครกวนใจอยู่สองครองทุกข์แสนสนุกแต่ไม่สบาย ไม่เป็นเรื่อง อันนี้เรียกว่ากามตัณหา เป็นเหตุของความทุกข์
    ภาวตัณหา คือสิ่งที่ได้มาแล้ว ต้องการให้คงที่ อย่างเราได้สามีภรรยามาแล้ว ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวสวยสดงดงามร่างกายสมบูรณ์ เราก็ไม่ต้องการให้ร่างกายของบุคคลนั้นที่เราได้มาแล้วเปลี่ยนแปลง หรือว่าร่างกายของเราก็เหมือนกัน เมื่อยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก เราก็ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง มันสวยยังไงก็ต้องให้มันสวยอยู่ยังงั้น มันหนุ่มมันสาวยังไงก็ต้องการความเป็นหนุ่มเป็นสาวยังงั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มาวันแรก มีสภาพเป็นยังไงเราไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลง นี่เป็นอาการของภวตัณหานะขอรับ ทีนี้ มาวัตถุก็เหมือนกัน มาด้านวัตถุ จะเป็นวัตถุอะไรก็ตามเถอะขอรับ เป็นวัตถุธรรมดาที่เขาทำมาเป็นธรรมชาติ คือปรากฏเป็นธรรมชาติ หรือว่าดัดแปลงแล้วก็ตาม ที่ประดิษฐ์ขึ้น ถ้าเราได้มาแล้วเราไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการให้มันทรงอยู่ และถึงแม้ว่าคนก็เหมือนกัน อารมณ์ของเราและอารมณ์ของเขา ที่เราคบค้าสมาคมซึ่งกันและกัน เราต้องการอารมณ์เดียว คืออารมณ์ดี มีความเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ความต้องการอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นเหตุของความทุกข์ เพราะว่าท่านทรงตรัสไว้แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นอนิจจัง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง คือมันไม่ทรงสภาพคำว่าไม่ทรงสภาพอย่างนี้ แปลว่า มันไม่ทรงสภาพตามความคิด ตามความนึก ตามความต้องการของเรา มันไม่ทรงอยู่ตามความต้องการของเราเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นไปตามปกติขอมัน ธรรมดาของมันจะต้องเป็นอย่างนั้นนะขอรับ ธรรมดาของมัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีความเปลี่ยนแปลง แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย วัตถุทั้งหลายก็เหมือนกัน ใหม่แล้วก็เริ่มเก่า เก่าแล้วก็เริ่มผุ ผุแล้วก็เริ่มพัง พังแล้วก็สลายตัวไป นี่ธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้นะขอรับ แต่ว่าอารมณ์ของภวตัณหานี่มันฝืนธรรมดา คล้าย ๆ จะบังคับพระอาทิตย์และพระจันทร์ขึ้นมาแล้ว จงอย่าลับไป จงมีแต่ความสว่าง จงอย่ามีความมืด หรือจงมีแต่ความมืด อย่ามีความสว่าง อารมณ์อย่างนี้เขาเรียกว่าบ้าตัณหา คือบ้าการคัดค้าน ไม่มีเหตุไม่มีผล คนก็ดี สัตว์ก็ดี ที่มีอารมณ์อย่างนี้ เป็นอารมณ์บ้า การที่พระพุทธเจ้าเอาธรรมะมาสอนพุทธบริษัทก็เพื่อจะแก้บ้า บ้าอยากได้ บ้าอยากให้ทรงอยู่ นี่ ไอ้การฝืนอย่างนี้ในเมื่ออารมณ์มันเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอนิจจัง คือความเคลื่อนไปย่อมมี เราไม่ยอมรับนับถือมันเสียนี่ มันก็เสร็จกัน มันก็กลุ้มซีขอรับ ก็มีแต่ความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า อกขาตาโร ตถาคตา ตถาคตมีหน้าที่บอก ไม่มีหน้าที่บังคับให้ใครเชื่อ อาตมาก็เหมือนกัน กระผมก็เหมือนกันนะขอรับ มีหน้าที่บอก แต่ไม่มีหน้าที่บังคับให้บรรดาพระคุณเจ้าและญาติดยมพุทธบริษัทที่กำลังนั่งฟังอยู่นี่เชื่อ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็จงใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน
    วิภวตัณหา ค้าน ต้านทานคือว่าอะไรก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ดึงกลับ แก่แล้วก็ดึงให้มันหนุ่มกลับ กลับเป็นหนุ่มเป็นสาว ของมันเก่าแล้วก็กลับดึงเข้ามาใหม่ กลับเป็นของใหม่ตามเดิม แล้วอะไรก็ตาม ถ้ามันพังแล้วก็จะดึงให้มันกลับฟื้นคืนสภาพ คนแก่แล้วผมขาวแล้ว จะทำให้ผมดำตามเดิมมันไม่ได้ เอาอะไรไปย้อม ประเดี๋ยวมันกลาย กลับขาวตามเดิม แล้วไอ้คนตายแล้วจะดึงมายังไง ไอ้คนแก่แล้วจะดึงมาให้หนุ่มให้สาวได้ยังไง วัตถุที่ทรุดโทรมไปแล้วจะดึงให้เป็นของใหม่ได้ยังไง มันอยากได้ตัวเดียวนั่น ก็คืออยากทุกข์ ถ้าเราไม่อยากเสียอย่างเดียวมันก็ไม่มีอะไรจะทุกข์นะครับ เป็นอันว่าทั้งสามตัวนี้ เป็นเหตุของความทุกข์ ถ้าจะว่ากันจริง ๆ ก็คือตัวอยาก อยากทุกข์ ถ้าเราไม่อยากเสียอย่างเดียวมันก็ไม่มีอะไรจะทุกข์นะครับ เวลานี้กำลังพูดอยู่ พระคุณเจ้าอยากก๋วยเตี๋ยวไหม อยากกาแฟไหม อยากดูดบุหรี่ไหม ถ้าลงมันอยากขึ้น แล้วยังไม่ได้สมหวัง ความทุกข์ใจมันก็เกิดนะขอรับ พอเริ่มอยากก็เริ่มทุกข์ ว่าทำไมจะได้กินก๋วยเตี๋ยว ทำไมจะได้กินกาแฟ ทำยังไงจะได้สูบบุหรี่นี่มันสร้างความทุกข์ขึ้นมาทันที
    ทีนี้ตัณหา 3 ประการนี้ องค์สมเด็จพระพิชิตมาร บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ละด้วยอะไร ท่านก็กล่าวว่าเหตุของความทุกข์นี่จะตัดด้วยมรรค 8 ประการ แต่มรรค 8 ประการนี่ย่อเข้ามาจริง ๆ เหลือแค่ ศีล สมาธิ ปัญญา เอาศีล ทำศีลของตนให้บริสุทธิ์ ทำสมาธิให้ตั้งมั่น ใช้ปัญญาให้รู้ว่า ไอ้ทุกข์มันเกิดเพราะอะไรกันแน่ แล้วเราก็ทำลายความอยากตัวนั้นเสีย ถ้าเราไม่อยากอย่างเดียว อย่างอื่นก็หมดไป ความทุกข์ใด ๆ ก็ไม่ปรากฏ อุปทานขันธ์ 5 มันก็ไม่มี ขึ้นชื่ออวิชชามันก็สิ้นไป ถ้าเราไม่อยาก แต่วิธีจะละความอยาก ทำอย่างไรล่ะ ตั้งแต่อานาปานสติกรรมฐาน เก็บมาเลยนะขอรับ เก็บมาให้หมด มันมีเท่าไรเก็บมาให้หมด หมดมาถึงยันอริยสัจ พอมาถึงตอนนี้แล้วทวนหน้าทวนหลังจนคล่องแล้ว ถ้าทำมาถึงตอนนี้นะขอรับถึงอริยสัจ นี่ผมจะไม่พูดมรรคสัจกับนิโรธสัจ เพราะนักปฏิบัติไม่มีหรอกครับ เหลือแต่ 2 อริยสัจเท่านั้น เราปฏิบัติมาตั้งแต่ตอนต้นจนถึงป่านนี้ ต้องมีทั้งศีล ทั้งสมาธิทั้งปัญญา เราใช้มาแล้วนะขอรับ ไม่ต้องไปหาใหม่ แต่วางอารมณ์ให้มันถูกเท่านั้น นักปฏิบัติเรารู้กันแค่ 2 อริยสัจนี้ก็เข้าถึงอริยมรรคแล้วขอรับ แต่ว่าต้องทำให้คล่องจริง ๆ นะขอรับ ให้ขึ้นใจ ให้จับใจ เป็นเอกัคคตารมณ์ อันนี้ชื่อจบมหาสติปัฏฐานสูตร เราปฏิบัติจนคล่อง แล้วองค์สมเด็จพระประทีปแล้วกล่าวว่า ถ้าปฏิบัติอย่างดี ภายใน 7 วัน จะได้พระอรหัตผล แล้วอย่างกลางภายใน 7 เดือนจะได้อรหัตผล ถ้าอย่างเลวก็ภายใน 7 ปีจะได้อรหัตผล


    เมื่อครั้งที่มีการทำปฐมสังคายนากันครั้งแรกมีพระมหากัสสปเป็นประธาน แล้วก็มีพระอานนท์เป็นผู้ว่าการฝ่ายพระสูตรและพระอภิธรรม พระอานนท์ท่านได้กล่าวไว้ว่า
    ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ ได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมของชาวกุรุ ซึ่งมีชื่อว่ากัมมาสกัมมะนิคม ในแคว้นกุรุ ในที่นั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตักเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แล้วภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับคำว่า พระเจ้าข้า่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้โปรดประทานพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
     

แชร์หน้านี้

Loading...