อานุภาพพระรัตนตรัย

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 22 มกราคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,877
    <CENTER>[​IMG]
    </CENTER>
    <!--images-->
    อานุภาพพระรัตนตรัย


    "รัตนะ" แปลว่า "แก้ว" เป็นวัตถุที่มีค่า ราคามาก จำแนกประเภทได้หลายอย่าง เช่น เพชร มรกต ทับทิม บุษราคัม อีกประการหนึ่ง หมายถึงของดีและคนดีของพระเจ้าจักรพรรดิ เรียกว่าแก้ว 7 ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว

    รัตนะในที่นี้หมายถึงแก้วอันประเสริฐสุด สิ่งล้ำค่าสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะเป็นสิ่งที่หาสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบมิได้ เป็นชื่อของพระรัตนตรัย 3 ประการ คือ

    1. ท่านผู้สอนให้ประชาชนประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ชื่อ พระพุทธเจ้า

    2. พระธรรมวินัย ที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อ พระธรรม

    3. หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อ พระสงฆ์

    พระพุทธเจ้า พระนามเดิมคือ เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา พระองค์ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ ในสำนักของครูวิศวามิตร ซึ่งมีชื่อเสียงในสมัยนั้น พระองค์ทรงตั้งใจเรียน เชื่อฟังคำสอนของครูอาจารย์ สามารถเรียนจบหลักสูตรของสำนักเรียนนั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในวิชาการ 18 สาขา

    ต่อจากนั้น เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา และมีพระโอรสนามว่า ราหุล เสวยสุขสำราญอยู่ที่ปราสาท 3 ฤดู ดุจเสวยทิพยสมบัติ เมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา จึงมีพระทัยน้อมไปในการบรรพชา แสวงหาสัจธรรมอันเป็นเหตุแห่งการพ้นทุกข์ ทรงเลือกวิธีการออกบวช เพื่อบำเพ็ญเพียรให้บรรลุจุดหมายสูงสุด ในที่สุดสามารถบรรลุจุดหมายสูงสุดตามที่มุ่งหวัง ค้นพบสัจธรรมทางแห่งความพ้นทุกข์ ด้วยพระองค์เองแล้วสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามและรู้ตาม

    พระพุทธเจ้า เป็นแก้วอันประเสริฐสุด เป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก เพราะประกอบด้วยคุณธรรมหลายประการ กล่าวโดยย่อมี 3 คือ

    1. พระปัญญาคุณ ทรงมีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง สามารถในการเทศนาสั่งสอนประชาชน ให้เหมาะสมตามพื้นฐานความรู้ของผู้ฟัง ด้วยเนื้อหาสาระที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สุข และหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

    2. พระบริสุทธิคุณ ทรงมีความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่กระทำความชั่วทั้งทางกาย วาจา และทางใจ ทรงสอนชาวโลกด้วยมุ่งหวังประโยชน์แก่ผู้ฟังเท่านั้น ไม่มุ่งหวังถึงประโยชน์ส่วนพระองค์เอง

    3. พระมหากรุณาธิคุณ ทรงเป็นผู้อนุเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลและสั่งสอนชาวโลกที่เป็นหมู่คณะและรายบุคคล โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก



    หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ผู้มีพระอัธยาศัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาคุณ ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกทั้งหลาย ให้บรรลุธรรม สัมผัสความสุข พ้นความทุกข์ ไม่ว่าจะประทับอยู่ ณ ที่ใด พระองค์มิได้ทรงละเว้นกิจ 5 ประการ คือ

    1. เวลาเช้า เสด็จบิณฑบาต

    2. เวลาบ่าย ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน

    3. เวลาค่ำ ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุ

    4. เวลาเที่ยงคืน ทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา

    5. เวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่สามารถและไม่สามารถบรรลุธรรม

    เวลาเช้า พระพุทธองค์ ทรงตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ หลังจากปฏิบัติพระสรีระแล้ว เสด็จดำเนินไปบิณฑบาตยังคามนิคม บางครั้งเสด็จไปเพียงพระองค์เดียว บางครั้งมีภิกษุสาวกตามเสด็จ รับอาหารบิณฑบาตและฉันภัตตาหารแล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน บางพวกศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย บางพวกได้บรรลุธรรมมีโสดาปัตติผล เป็นต้น

    เวลาบ่าย พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน ที่ศรัทธาเลื่อมใสพากันถือดอกไม้และของหอม เป็นต้น มากราบไหว้บูชา เข้ามาประชุมกันในพระวิหารอาจมีภิกษุสงฆ์มาร่วมฟังธรรมอยู่ด้วย เมื่อพุทธบริษัทพร้อมแล้ว เสด็จมาประทับนั่ง ที่บวรพุทธอาสน์ แสดงธรรมอันควรแก่อัธยาศัย มีใจความเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

    เวลาค่ำ ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุ ที่พากันมาเฝ้า เพื่อทูลถามปัญหา หรือมาขอเรียนพระกรรมฐาน ขอฟังธรรม ทรงอนุเคราะห์ภิกษุทั้งหลายให้สำเร็จกิจตามที่ประสงค์ แล้วจึงกราบทูลลา

    เวลาเที่ยงคืน เหล่าเทวดา ได้โอกาสพากันเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ต่างทูลถามปัญหาที่สงสัย ทรงอนุเคราะห์เทวดาทั้งหลาย ให้รู้ธรรมจำนวนมาก

    เวลาใกล้รุ่ง พระพุทธองค์ ทรงแผ่ขยายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ผู้ที่ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ ในบางครั้งเป็นบรรพชิต ในบางครั้งเป็นคฤหัสถ์ จะเป็นรายบุคคลหรือเป็นหมู่คณะก็ตาม เสด็จไปแสดงธรรมโปรด ให้เขาเหล่านั้นได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ หรือนิพพานสมบัติ ตามบุญของแต่ละคน โดยมิได้คำนึงถึงหนทางจะไกลหรือใกล้เพียงใด จะยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยเพียงใด ไม่ทรงย่อท้อ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอันเป็นประโยชน์แก่ญาติ และมหาชนด้วยพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่


    [​IMG]



    พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ชื่อว่า พระธรรม พระธรรมนั้นมีความหมายหลายอย่าง คือ สภาพที่ทรงไว้ รักษาไว้ ธรรมดา ธรรมชาติ สภาวธรรม สัจธรรม ความจริง เหตุ ผล คุณธรรม ความดี ความถูกต้อง ความประพฤติชอบ หลักการ แบบแผน ธรรมเนียม หน้าที่ ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม

    "ธรรม" ในที่นี้หมายถึง คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เรียกว่า พุทธธรรม หรือเรียกว่า พระสัทธรรม หมายถึงธรรมของสัตบุรุษ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า จำแนกเป็น 3 ประการ คือ

    "ปริยัติสัทธรรม" คือคำสอนที่แสดงถึงหลักสำหรับศึกษาเล่าเรียน ทรงจำ ได้แก่ พระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก คาถา ชาดก เป็นต้น

    "ปฏิบัติสัทธรรม" คือคำสอนที่แสดงถึงหลักปฏิบัติตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา แสดงถึงวิธีการปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ เช่น ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

    "ปฏิเวธสัทธรรม" คือคำสอนที่แสดงถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน ซึ่งเรียกว่า โลกุตรธรรม

    พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมได้รับแต่ความสุขความเจริญโดยสมควรแก่การปฏิบัติโดยส่วนบุคคลบางคนประพฤติธรรมอยู่ แต่ต้องประสบภัยความเสียหายต่างๆ เช่น ราชภัย อัคคีภัย วาตภัย หรือโจรภัย เป็นต้น นั่นอาจเป็นเพราะอกุศลกรรมเก่าที่ได้กระทำไว้ในชาติปางก่อนตามให้ผลทันในชาติปัจจุบัน หรืออาจเป็นเพราะได้กระทำความเสียหายร้ายแรงไว้ จึงได้รับโทษตกไปในที่ชั่ว 2 ประเภท คือ

    1. สถานที่ชั่วในปัจจุบันนี้ ได้แก่ ความทุกข์ยากต่างๆ ถูกลงโทษตามกฎหมาย เช่น ถูกจองจำในที่คุมขัง ได้รับภัยต่างๆ มีราชภัย อัคคีภัย และโจรภัย เป็นต้น

    2. สถานที่ชั่วในภพหน้า ได้แก่ หลังจากเสียชีวิตแล้วไปเกิดในอบายภูมิ 4 ซึ่งเป็นสภานที่หาความเจริญมิได้ มีแต่ความเสื่อมเท่านั้น คือ นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย การรักษาผู้ปฏิบัติมิให้ตกไปในที่ชั่ว จึงนับเป็นคุณที่เด่นชัดของพระธรรม

    คุณของพระธรรม เมื่อจำแนกตามบทสวดคือเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว จำแนกธรรมที่เป็นกุศล อำนวยผลแก่ผู้ประพฤติให้เกิดความสุขในระดับต่างๆ ธรรมอันเป็นอกุศล มีเป็นผลเป็นความทุกข์แก่ผู้ปฏิบัติในระดับต่างๆ

    อีกส่วนหนึ่ง เป็นธรรมกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้งดงามในเบื้องต้นด้วยศีล งดงามในท่ามกลางด้วยสมาธิ งดงามในที่สุดด้วยปัญญา เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง สามารถให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา เป็นธรรมที่ควรบอกกล่าวผู้อื่นให้มาพิสูจน์ ทดลองปฏิบัติ เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน พระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติ ให้ร่มเย็นเป็นสุข เหมือนร่มป้องกันไม่ให้ร้อนและเปียกฝน




    หมู่ชนที่เข้ามาบวชเชื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อว่า พระสงฆ์ พระสงฆ์นั้นที่รวมกลุ่มกัน ด้วยหลักความคิดเห็นและหลักความประพฤติปฏิบัติที่เสมอกันตามพระธรรมวินัย เรียกว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้า

    พระสงฆ์ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้คือ มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลาง ไม่หย่อนหรือตึงเกินไป ปฏิบัติเพื่อความสามัคคีแห่งหมู่คณะ จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ

    1. อริยสงฆ์ พระสงฆ์ผู้เป็นพระอริยบุคคล หมายถึง หมู่พระสาวกที่ประเสริฐเพราะได้บรรลุโลกุตตรธรรมตามระดับแล้ว เรียกว่า พระอริยบุคคล 4 ประเภท

    2. สมมติสงฆ์ พระสงฆ์โดยสมมุติ หมายถึงหมู่สงฆ์มีจำนวนตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย อาจเป็นได้ทั้งผู้บรรลุธรรมแล้วและยังเป็นปุถุชน คำว่า พระสงฆ์ ในรตนะนี้ หมายถึง พระอริยสงฆ์

    พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ เป็นองค์ประกอบหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า รตนะ เพราะมีคุณค่าประเสริฐกว่าบรรดารัตนชาติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ทั้งยังเป็นธรรมชาติที่ก่อความยินดีให้เกิดแก่มนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เป็นเหตุให้สำเร็จความประสงค์คือให้เกิดความสุขอยู่เสมอ เป็นประตูสู่เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ มรรค ผล นิพพาน และเป็นที่พึ่งสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยและความสะดุ้งกลัวให้พินาศไป แห่งผู้นับถือพระพุทธศาสนาทุกคน ที่นับถือยึดเหนี่ยวจิตใจตลอดชีวิต

    พระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นสรณะ เพราะทรงขจัดภัยแก่สรรพสัตว์ด้วยการให้ตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และป้องกันมิให้ตกอยู่ในสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์

    พระธรรมชื่อว่าเป็นสรณะ เพราะนำผู้ปฏิบัติให้ข้ามพ้นทุกข์กันดารในภพและให้ประสบความแช่มชื่นใจอันเกิดจากการปฏิบัติ

    พระสงฆ์ ชื่อว่าเป็นสรณะ เพราะเป็นเนื้อนาบุญสามารถทำให้ผู้อุปถัมภ์บำรุงให้ได้ประสบสุขอันไพบูลย์

    แก้วมณีโชติรสสามารถส่องแสงสว่างไปในที่มืดทำให้แลเห็นวัตถุตามต้องการได้จริง แต่ส่องไปได้ในสถานที่อันจำกัดเท่านั้น ไม่สามารถส่องแสงสว่างไปถึงทิศคือพระนิพพานได้

    ผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิตย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงทั้งยังเป็นเหตุให้ได้สมบัติอย่างยิ่งคือพระนิพพานอีกด้วย พระรัตนตรัยต่างอาศัยกันและกัน

    กล่าวคือ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม ในขณะที่พระธรรมเป็นคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ส่วนพระสงฆ์เป็นพระสาวกผู้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วศึกษาทรงจำและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ



    .........................................................................

    คัดลอกมาจาก

    หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31 คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
     
  2. เมตตาวิหารี

    เมตตาวิหารี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    671
    ค่าพลัง:
    +437
    เป็นข้อความ ที่จรรโลงจิตให้แช่มชื่นเป็นที่สุด ขออนุโมทนา สาธุการครับ
     
  3. ทดแทน

    ทดแทน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    580
    ค่าพลัง:
    +116
    อนุโมทนาครับ จะเทิดทูนคุณพระศรีรัตนะตรัยเหนือเศียรเกล้าครับ
     
  4. Nutuk

    Nutuk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    805
    ค่าพลัง:
    +347
    อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ

    --------------------------------------
    <!-- / message -->
    <!-- / message -->รักษาศีลให้ได้ มีสุคติเป็นที่ไปแน่นอน
    รักษาศีลให้ได้ มีโภคทรัพย์แน่นอน
    รักษาศีลให้ได้ มีนิพพานเป็นที่ไป และเข้าถึงแน่นอน
    ;aa13<!-- / message -->
    <!-- / message -->
    <!-- / message -->
    <!-- / message -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...