เรื่องเด่น เข้าวัด ทำบุญ ไล่ยุงวิถีพุทธ สร้างบุญป้องกันโรคจากยุงลาย ลุย 3.6 หมื่นวัด ช่วงเข้าพรรษา

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 26 กรกฎาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข พร้อมด้วยพระมหาสมควร สุทสฺสโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบัวขวัญ นายณรงค์ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบัวขวัญ (มีทับราษฎร์บำรุง) ร่วมเปิดโครงการรณรงค์ “เข้าวัด ทำบุญ ไล่ยุงวิถีพุทธ”



    b894-e0b897e0b8b3e0b89ae0b8b8e0b88d-e0b984e0b8a5e0b988e0b8a2e0b8b8e0b887e0b8a7e0b8b4e0b896e0b8b5.jpg

    โดยชวนพุทธศาสนิกชนสร้างบุญป้องกันโรคติดต่อจากยุงลายด้วย 5 วิธี หลังผลสำรวจชี้! ศาสนสถานเป็นแหล่งที่พบลูกน้ำยุงลายมากที่สุด ถึงร้อยละ 58 ของจำนวนศาสนสถานที่สำรวจทั้งหมด

    นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงของเทศกาลเข้าพรรษา ประชาชนและพุทธศาสนิกชนต่างพากันเข้าวัดทำบุญ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน จึงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

    หลายพื้นที่มีน้ำขังจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ส่งผลให้ช่วงนี้มีผู้ป่วยจากโรคที่มียุงเป็นพาหะเพิ่มขึ้น ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะ

    ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 17 กรกฎาคม 2560 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 22,356 ราย เสียชีวิต 31 ราย จากข้อมูลพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด พบว่าเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

    แสดงว่าโรคไข้เลือดออกไม่ได้เป็นเฉพาะในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยคาดว่าตลอดปี 2560 ไทยจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 75,00080,000 ราย

    การหาวิธีการและแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องติดตามและเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดและร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง

    ขณะที่ “วัด” ถือเป็นศาสนสถานที่มีผู้มาทำบุญและปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยมีวัดจำนวนกว่า 36,000 วัด พระสงฆ์ พุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไปที่มาร่วมทำบุญ ประกอบกิจกรรมทางศาสนาในวัด

    จึงเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด จากข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลายของกรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง

    ล่าสุดเดือนเมษายน 2560 พบว่าศาสนสถานเป็นแหล่งที่พบลูกน้ำยุงลายมากที่สุดคือ ร้อยละ 58 ของจำนวนศาสนสถานที่สำรวจทั้งหมด รองลงมา คือ โรงงาน โรงเรียน และโรงแรม ร้อยละ 39 ร้อยละ 31 และ ร้อยละ 13 ตามลำดับ

    นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สนับสนุนการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมสุขภาพดี ยึดหลัก บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน เป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

    โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างวัดบัวขัวญ โรงเรียนวัดบัวขวัญ (มีทับราษฎร์บำรุง) และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานที่ส่วนเกี่ยวข้อง จัดโครงการรณรงค์”เข้าวัด ทำบุญ ไล่ยุงวิถีพุทธ” ขึ้น

    เพื่อให้วัดบัวขวัญเป็นวัดนำร่องตัวอย่างในการป้องกันโรคที่มาจากยุงและเพื่อเป็นการจุดประกายให้วัดอื่นๆ ทั่วประเทศที่มีกว่า 36,000 แห่ง เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมดังกล่าวในวัด และเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป หันมาสนใจร่วมกันสร้างบุญป้องกันโรคติดต่อจากยุงลายด้วย 5 วิธี ซึ่งประกอบด้วย

    1.เก็บขยะ ปัดกวาดลานวัดเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

    2.ปิดหรือเปลี่ยนน้ำในภาชนะเก็บน้ำทั่วไปและในห้องน้ำ

    3.เลี้ยงปลาในอ่างบัวหรือบริเวณปลูกพืชน้ำ

    4.ดูแลภูมิทัศน์รอบบริเวณวัด โดยปลูกสมุนไพรกันยุง และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านสกัดสมุนไพรกันยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น

    5.นั่งสมาธิสบายไร้ยุงกัด โดยทายากันยุงทุกครั้งก่อนนั่งสมาธิ ซึ่งข้อปฏิบัติเหล่านี้สามารถทำได้ทั้งที่วัด และนำกลับไปปฏิบัติด้วยตัวเองที่บ้าน

    เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ รวมทั้งส่วนราชการ ชุมชน และภาคประชาชน หันมาตระหนักถึงปัญหาของโรคที่มียุงเป็นพาหะที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน และช่วยกันร่วมมือป้องกันโรคเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งพระสงฆ์ ผู้มาปฏิบัติธรรม และประชาชนทั่วไป

    อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าโรคจากยุงลายเป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวเรา จึงขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังอาการของโรค เช่น หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง ควรไปพบแพทย์โดยเร็วเมื่อป่วย เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย

    และช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก เช่น กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา ปวดท้องชายโครงด้านขวา มือเท้าเย็น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422

    ที่มา
    http://www.nationtv.tv/main/content/social/378558428/
     

แชร์หน้านี้

Loading...