เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 17 พฤษภาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,352
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,523
    ค่าพลัง:
    +26,358
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔


     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,352
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,523
    ค่าพลัง:
    +26,358
    วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ช่วงนี้ในกลุ่มไลน์พระสังฆาธิการ มีสิ่งที่ในโซเชียลเขาเรียกว่า "ดราม่า" เกิดขึ้น ก็คือมีการสอบถามกันว่า พระภิกษุฟ้องร้องกับฆราวาสต้องอาบัติปาราชิกจริงหรือ ?

    ความจริงเรื่องนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ "พุทธอิสระ" มีเรื่องฟ้องร้องกัน ก็มีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาว่ากล่าว ตอนนี้ที่เรื่องกลับมาดังใหม่ ก็เพราะว่ามีพระรูปหนึ่งที่เขาเรียกกันว่า "หลวงพี่กาโตะ" จะฟ้องร้องญาติโยม จึงมีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันอีก ซึ่งผมเองก็แปลกใจมากว่า ทำไมไม่มีใครออกมาอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจน ? และโดยเฉพาะแต่ละวัดในประเทศไทย สามหมื่นกว่าวัด (เอาแค่มหานิกาย) ผมมั่นใจว่ามีพระไตรปิฎกอยู่ทุกวัด และบางวัดก็มีมาก อย่างของวัดท่าขนุนก็มีตั้ง ๗ - ๘ ชุด ทำไมไม่มีใครไปเปิดพระไตรปิฎกดูบ้าง ว่าความจริงเป็นอย่างไร ?

    ยังโชคดีที่ผมได้ทำตามที่หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านบอกไว้ คือ ท่านบอกว่า "ถ้าเป็นไปได้ให้อ่านพระไตรปิฎกสักปีละหนึ่งจบ" แต่ผมทำไม่ได้อย่างที่ครูบาอาจารย์สั่ง เพราะว่าบวชมาจนถึงป่านนี้ ๓๕ พรรษา ผมอ่านไปได้แค่ ๗-๘ จบ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ถ้าส่วนไหนเข้าใจยาก ผมจะไม่ปล่อยให้ผ่านไป แล้วในส่วนของพระอภิธรรมนั้นก็เป็นกระดูกล้วน ๆ แทะไม่เข้า..! จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ ดู ดังนั้น...กว่าจะได้แต่ละจบจึงนานมาก..แต่ก็ยังได้อ่าน

    เนื้อหานี้จะว่าไปแล้วก็เจอง่ายที่สุด เพราะว่าอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑ เลย ซึ่งก็คือพระวินัยปิฎกเล่ม ๑ ในมหาวรรค ภาค ๑ ผมบอกรายละเอียดได้ขนาดนี้ คุณไม่ต้องแปลกใจ ลองอ่านหลาย ๆ รอบเดี๋ยวก็จะจำได้แบบผมเอง

    ในมหาวรรคภาค ๑ ข้อที่ ๙๙ ภิกษุไปตู่เอาที่สวนของชาวบ้าน ในเมื่อชาวบ้านเขาไม่ยินยอม ก็มีการฟ้องร้องกันขึ้นมา

    ในข้อที่ ๑๐๐ นั้นหนักกว่าอีก ภิกษุไปตู่เอาที่วัด พูดง่าย ๆ ก็คือที่ของชาวบ้าน ที่ของวัด แต่บอกว่าเป็นของตัวเอง เมื่อโดนเจ้าของคัดค้านก็ไปฟ้องร้องกับตุลาการ ซึ่งสมัยนี้ก็คือผู้พิพากษา

    ในข้อที่ ๑๐๑ ภิกษุตู่เอาที่นาของชาวบ้าน

    ข้อที่ ๙๙ ตู่เอาที่สวน ข้อที่ ๑๐๐ ตู่เอาที่วัด ข้อที่ ๑๐๑ ตู่เอาที่นา

    ข้อต่อไป ข้อที่ ๑๐๒ ภิกษุไปล้อมเอาที่คนอื่น ถ้าสมัยนี้ก็คงประมาณปักรั้วกั้นเขตอะไรทำนองนั้น

    คำว่า ตู่ ในที่นี่ ก็คือโกงของคนอื่นเป็นของตัวเองแบบหน้าด้าน ๆ ถ้าหากว่าท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฟังอยู่ด้วย ก็กรุณาอย่าเพิ่ง "หัวร้อน" เพราะว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับท่าน..! สำนวนในพระไตรปิฎกกล่าวไว้อย่างนั้นเอง

    แล้วก็ขยับไปที่ข้อ ๑๐๙ ครับ ภิกษุรับฝากของ เมื่อเจ้าของมาขอคืน ก็บอกว่าไม่ได้รับฝากไว้ เจ้าของก็ต้องฟ้องร้อง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,352
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,523
    ค่าพลัง:
    +26,358
    ดังนั้น...ไม่ว่าการที่ไปตู่เอาที่สวน ตู่เอาที่วัด ตู่เอาที่นาหรือล้อมเอาที่คนอื่น ตลอดจนกระทั่งรับฝากของแล้วบอกว่าไม่ได้รับไว้ เมื่อเกิดการฟ้องร้องขึ้น ถ้าหากว่าพระภิกษุนั้นชนะ ต้องอาบัติปาราชิกครับ เพราะว่าไปเอาทรัพย์คนอื่นที่ราคาเกิน ๕ มาสกมาเป็นของตนเอง ๕ มาสกนี่คนไทยเราตีความว่า ๑ บาท

    เพราะฉะนั้น...ไม่ว่าจะเป็นที่สวน ที่วัด ที่นา หรือไปล้อมเอาที่คนอื่น ตลอดจนกระทั่งของมีค่าที่ชาวบ้านเขาฝากเอาไว้ ก็เชื่อว่าราคาเกิน ๑ บาทอย่างแน่นอน..!

    ดังนั้น..การเอาทรัพย์ของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนมาเป็นของตัวเอง พระพุทธเจ้าถึงได้ตัดสินอย่างชัดเจนว่าต้องอาบัติปาราชิก ถ้าหากว่าแพ้ ปรับอาบัติถุลลัจจัยครับ ฟ้องชนะก็โดน ฟ้องแล้วแพ้ก็โดน


    คราวนี้ในการที่โดนอาบัตินั้น เราก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่า หมายโกงเอาทรัพย์ของคนอื่นเป็นของตนเอง แต่คราวนี้ในปัจจุบันที่ "ดราม่า" กันอยู่นั้น เขาตัดมาแค่ข้อความว่า "ภิกษุฟ้องร้องชนะ ต้องอาบัติปาราชิก ฟ้องร้องแล้วแพ้ต้องอาบัติถุลลัจจัย" ก็แทบจะทำเอาพระเราประสาทกลับกันทั้งประเทศ..! แต่ก็แปลก...ไม่มีใครไปเปิดตำราดู ทั้ง ๆ ที่พระไตรปิฎกจะท่วมวัดตาย..!

    ยุคนี้สมัยนี้เป็นเรื่องของสงครามสื่อครับ ในเมื่อทำสงครามกัน ก็ต้องเอาเฉพาะในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองขึ้นมาพูด แต่ไม่ได้เอาความจริงมาพูดทั้งหมดว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้ตัดสินเช่นนั้น ?

    ถ้าเป็นเช่นนี้นานไป จะสร้างความเสียหายให้กับพระศาสนาอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะว่าเท่ากับไปบัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ ไปเพิ่มเติมในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้เพิ่มเติม จะไปอ้างว่ายกของเก่ามาไม่ได้ครับ เพราะว่าท่านยกมาแบบมีเลศ คำว่า "เลศ" ในที่นี้ก็คือเจตนาที่จะหลอกลวงคนอื่น

    แล้วคราวนี้การฟ้องร้องระหว่างพระภิกษุกับฆราวาส ถ้าหากว่าในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ย่อว่า ป.พ.พ. นั้น มีอยู่ข้อหนึ่งที่ระบุชัดเจนที่สุด ศาลฎีกาตัดสินไปหลายคดีแล้ว ก็คือภิกษุุฟ้องร้องเพื่อมรดก..แพ้ทุกรายครับ..! เพราะศาลฎีกาตัดสินว่า ภิกษุเมื่อบวชแล้วแสดงว่าตั้งใจละกิเลส แล้วยังจะไปโลภมากอยากได้มรดกอีกทำไม ? จึงตัดสินให้แพ้ทุกคดี

    ดังนั้น...ถ้าหากว่าใครมีปัญหาเรื่องมรดกกับญาติพี่น้องของตน ต้องสึกหาลาเพศออกไป ถึงจะฟ้องแล้วมีโอกาสชนะครับ ถ้าหากว่าไปฟ้องทั้งผ้าเหลืองนี่ แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง ในเมื่อเป็นพระภิกษุสามเณรก็แพ้ตั้งแต่ในกลด..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,352
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,523
    ค่าพลัง:
    +26,358
    คราวนี้เมื่อกฎหมายก็ชัดเจน พระวินัยก็ชัดเจน แล้วเราควรที่จะมีข้อปฏิบัติอย่างไร ? นี่ผมวินิจฉัยเองนะครับ อันนี้ถือเป็นอัตโนมติ ไม่ใช่บรรทัดฐาน ผมมีความเห็นว่า ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรของเรา ไม่ควรที่จะมีเรื่องฟ้องร้องกับญาติโยม เพราะว่าทุกท่านบวชมาก็ต้องกล่าวคำว่า นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา ข้าพเจ้ารับผ้ากาสาวพัสตร์นี้มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คนจะไปพระนิพพานได้ต้อง "ลด" รัก โลภ โกรธ หลง "ละ" รัก โลภ โกรธ หลง และท้ายสุดก็ "เลิก" รัก โลภ โกรธ หลง ให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไปพระนิพพานไม่ได้

    พระภิกษุสามเณรจึงไม่ควรที่จะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งฟ้องร้องกับญาติโยม เพราะว่านั่นเป็นเรื่องของบุคคลที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส แต่ถ้าหากว่าท่านจะทำ ถ้านอกเหนือจากที่บัญญัติเอาไว้ในพระวินัย ก็คือไปโกงคนอื่นเขาแล้วฟ้องจนชนะ โดนอาบัติขาดความเป็นพระ หรือฟ้องแล้วแพ้ โดนอาบัติหนัก ต้องแสดงคืนท่ามกลางคณะสงฆ์ ถ้าท่านตั้งใจจะฟ้อง ผมก็ไม่สามารถที่จะห้ามได้ แต่อยากจะบอกว่า พระภิกษุสามเณรของเราควรจะอยู่ด้วยพระธรรมวินัยเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงเป็นกฎหมายบ้านเมือง แล้วค่อยเป็นจารีตประเพณี

    ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เรายังไปเสียเวลาไปฟ้องร้องกับญาติโยม เพื่อสร้างกิเลสให้เกิดขึ้นกับใจตนเอง ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็บอกว่าน่าเสียดายมาก คือในสิ่งที่ตนเองมีโอกาสที่จะลด จะละ จะเลิกได้ แต่กลับไปพอกพูนกิเลสทั้งหลายเหล่านั้นขึ้นมาในใจของตน ซึ่งมีแต่จะถ่วงเราให้ลงสู่ภพภูมิที่ต่ำลงไปเรื่อย ๆ


    ดังนั้น..ในส่วนนี้ที่ผมต้องออกมากล่าว ก็เพราะว่ายังไม่เห็นใครมาบอกกล่าวให้ชัดเจนว่า ความเป็นจริงในเรื่อง "ดราม่า" นี้เกิดจากอะไร ? พระพุทธเจ้าขาดความยุติธรรมขนาดนั้นเลยหรือ ? พระเณรฟ้องร้องกับชาวบ้าน ก็ปรับขาดความเป็นพระเป็นเณรไปเลย..!

    เมื่อพวกท่านทั้งหลายชัดเจนแล้ว จดจำไว้ด้วยนะครับ มีโอกาสไปเปิดพระไตรปิฎกอ่านบ้าง ไม่เช่นนั้นแล้ว ถึงเวลาญาติโยมเขาสอบถามมา เราไม่สามารถที่จะชี้แจงให้ชัดเจนได้ ก็เสียทีที่บวชมาในพระพุทธศาสนาครับ บวชมาแล้วเราต้องปฏิบัติในไตรสิกขา คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา จนสามารถเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนาได้ จึงกล่าวว่าการบวชนั้นมีประโยชน์อย่างแท้จริง

    ก็ขอฝากข้อคิดไว้แต่เพียงแค่นี้ ขอบคุณทุกท่านครับ

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...