เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 30 กันยายน 2024 at 19:43.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    18,798
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,465
    ค่าพลัง:
    +26,291
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    18,798
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,465
    ค่าพลัง:
    +26,291
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ระยะนี้งานในส่วนที่เร่งรัดของพวกเราก็คือ ต้องมีการอบรมนักธรรมชั้นตรีก่อนสอบ แล้วก็ต่อด้วยการสอบ ซึ่งโดยปกตินั้นการอบรมจะจัดที่วัดเขื่อนวชิราลงกรณ แล้วการสอบจะจัดที่วัดปรังกาสี แต่ด้วยความที่หลวงพ่อพระครูกาญจนปัญญาวุฒิ รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ (๑) เจ้าอาวาสวัดเขื่อนวชิราลงกรณ ท่านยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จึงทำให้ทั้งงานอบรมและงานสอบ ต้องย้ายไปรวมกันที่วัดปรังกาสีแห่งเดียว

    เรื่องพวกนี้โดยปกติแล้วคณะสงฆ์ของเรามีการแบ่งสันปันส่วนกันอยู่ อย่างเช่นว่าถ้าเป็นการประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ (ตามมติมหาเถรสมาคม) ก็จะมาประชุมกันที่วัดท่าขนุน ส่วนงานอื่น ๆ ก็แบ่งกันไปรับผิดชอบ ในระหว่างพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอบ้าง รองเจ้าคณะอำเภอบ้าง เจ้าคณะตำบลบ้าง

    คราวนี้ในช่วงที่เร่งรัดแบบนี้ บางทีเราท่านทั้งหลายอาจจะรู้สึกเครียด โดยเฉพาะพระใหม่ที่ยังรักษากำลังใจไม่มั่นคง อาจจะสงสัยว่าจะเรียนอะไรกันหนักหนา ? แล้วทำไมถึงต้องมีการอบรมในลักษณะของการทบทวนความรู้ก่อนสอบ แล้วถึงจะสอบ ? ในส่วนนี้นั้นเกิดจากที่บรรดาพระผู้ใหญ่ท่านพิจารณาแล้วว่า การอบรมก่อนสอบนั้นมีแต่ข้อดีอย่างเดียว ก็คือทำให้พวกเราเคยชินกับสนามสอบ เนื่องเพราะว่าในแต่ละวันเมื่อทบทวนความรู้แล้ว ก็จะมีการนำข้อสอบเก่ามาให้พวกเราได้ทดลองทำกัน

    แล้วในเรื่องของข้อสอบนั้น ส่วนที่สำคัญต่อพระใหม่ก็มักจะซ้ำ ๆ กัน ดังนั้น..บางปีข้อสอบที่ออก ๑๐ ข้อ ไปตรงกับที่พวกเราทบทวนทำถึง ๗ ข้อ ๘ ข้อก็มี โอกาสที่เราสอบผ่านก็จะสูงมาก และโดยเฉพาะจะต้องสอบครบทั้ง ๔ วิชา ถ้าขาดวิชาใดวิชาหนึ่งไป ต่อให้คะแนนของเราได้ถึง ๒๐๐ คะแนน เขาก็ปรับตก..!

    คราวนี้ในส่วนที่เรียนทั้ง ๔ วิชานั้น วิชาแรกก็คือ เรียงความแก้กระทู้ธรรม เป็นการตั้งหัวข้อบาลีขึ้นมาแล้วให้เราอธิบายขยายความ ก็คือการเทศน์บนหน้ากระดาษนั่นเอง ซึ่งจะมีรูปแบบที่แน่นอนอยู่แล้วว่าจะขึ้นต้นอย่างไร ? อธิบายขยายความอย่างไร ? โยงเนื้อหาเข้ากับบาลีที่เราเตรียมไว้อย่างไร ? แล้วอธิบายเนื้อหาทั้ง ๒ ส่วนให้ผสมกลมกลืนกัน จากนั้นค่อยสรุปจบ

    แต่คราวนี้พระใหม่ต้องระมัดระวัง เพราะว่าบางท่านศึกษาปฏิบัติธรรมมานานแล้วถึงจะบวช เราต้องระวังว่าอย่าเขียนเกิน ๓ หน้ากระดาษ (เว้นบรรทัด) เนื่องเพราะมีตัวอย่างมาแล้วว่า เป็นพระใหม่แล้วเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมไป ๗ หน้ากระดาษ โดนปรับตก ข้อหาเกินภูมิรู้ของตนเอง..! พูดง่าย ๆ ว่าเพิ่งจะบวช เขาไม่เชื่อว่าเราจะมีความรู้ในระดับนั้นแล้ว
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    18,798
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,465
    ค่าพลัง:
    +26,291
    แบบเดียวกับมีพระภิกษุรูปหนึ่งของทางจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งท่านสอบบาลีแล้วทำถูกชนิดที่คะแนนเต็ม ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ แล้วไปปรับท่านตก ทำให้ท่านคิดมาก ตอนหลังก็เลยกลายเป็นโรคจิตเภทไปเลย ถ้ากระผม/อาตมภาพเป็นกรรมการ ก็จะทำแบบที่สอบพระอุปัชฌาย์ ก็คือมีผู้เข้าสอบรูปหนึ่ง ท่านเขียนคำสวดอนุสาวนาไม่ผิดเลย ถูกต้องตามหลักบาลี และเว้นวรรคได้ถูกต้อง จะเว้นยาวเว้นสั้นอย่างไร ท่านใส่เครื่องหมายได้ถูกต้องทั้งหมด

    กระผม/อาตมภาพดูตั้งแต่ต้นจนปลายแล้ว ก็ปรึกษาท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิวงศ์ (สุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู ป.ธ. ๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ซึ่งร่วมเป็นกรรมการตรวจอยู่ด้วยกันว่า ขอให้เขามาเขียนให้ดูใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็เรียกผู้เข้าสอบมาเขียนให้ดูใหม่ เขาเขียนได้ถูกทั้งหมดจริง ๆ เราต้องยอมรับว่าคนเก่งจริงนั้นมีอยู่ แต่คราวนี้ในเมื่อเห็นว่าเขาเก่งจริงแล้วไม่ทดสอบ ก็เลยทำให้เขาเสียโอกาส แล้วท้ายที่สุดก็คิดมากจนเครียด ต้องเข้าโรงพยาบาลไปเลย..!

    ต้องบอกว่าความผิดอยู่ที่กรรมการและก็ตัวท่านด้วย เพราะถ้ากระผม/อาตมภาพเองเป็นผู้เข้าสอบ จะบอกให้กรรมการไปหาข้อสอบใหม่มาเลย ผมจะทำให้ดูตรงนี้ แต่ด้วยความที่พระใหม่ท่านไม่มีความกล้าขนาดนั้น ท่านก็เลยไปนั่งคิดนั่งเครียดอยู่คนเดียวว่า "ทำถูกทั้งหมด ไม่โดนเก็บแม้แต่คะแนนเดียวแล้วทำไมถึงสอบตก ?"

    วิชาที่สองก็คือ ธรรมวิภาค ความจริงเป็นวิชาที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับพวกเราทั้งหมด และถ้าเป็นกระผม/อาตมภาพจะว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ยากที่สุด เพราะว่าเป็นการสรุปหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาเป็นหมวด ๆ ไล่ตั้งแต่ทุกกะ หมวด ๒ ก็คืออย่างหัวข้อธรรมที่มี ๒ ข้อ อย่างเช่นโลกบาลธรรม คือ หิริ (ความละอายแก่ใจไม่กล้าทำชั่ว) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะส่งผลให้เดือดร้อน)

    หรือว่าธรรมที่ทำให้งาม อย่างเช่นว่า ขันติ (ความอดทน) โสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) ไล่ขึ้นไปจนถึงโสฬสกะ ก็คือหมวดหัวข้อธรรมที่มี ๑๖ ข้อ ก็คือ มละ หรือมลทินทั้ง ๑๖ แต่มาถึงรุ่นของพวกท่านแล้ว เท่าที่สังเกตดูข้อสอบออกไม่เกิดหมวดที่ ๕ เนื่องเพราะกลัวว่าจะจำกันไม่ได้

    รุ่นของกระผม/อาตมภาพเขาใช้คำว่า "บังคับให้ท่องแบบ" ก็คือคุณต้องท่องให้ได้ทั้งหมด เท่ากับว่าเขาจะออกหมวดไหน เราก็จะตอบได้ แต่มาถึงรุ่นหลัง ๆ นี่มักจะนิยมในการเก็งข้อสอบ ทำให้ส่วนหนึ่งดูหนังสือไม่ครบ รู้ไม่ครบถ้วน แล้วก็มักจะรู้แค่ส่วนล่าง ๆ เท่านั้น เพราะว่าข้างบนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นว่าธุดงควัตร ๑๓ ก็อยู่ในเตรสกะ ก็คือหมวดที่ ๑๓ เขากลัวว่าเราจะจำกันได้ไม่หมด ก็เลยไม่นำมาออกสอบ
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    18,798
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,465
    ค่าพลัง:
    +26,291
    หลักธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ส่วนสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องทำความเข้าใจและนำไปใช้งานได้จริงด้วย แล้วส่วนหนึ่งที่กระผม/อาตมภาพเคยย้ำกับครูผู้สอนบ่อย ๆ ก็คือ ให้สังเกตว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกหมวดไม่มีขัดกันเลย สามารถที่จะเชื่อมโยงเข้าหากันได้ทั้งหมด

    อย่างเช่นถ้าหากว่าเป็นโลกบาลธรรมก็คือ หิริ โอตตัปปะ เป็นธรรมที่รักษาโลก แล้วไปเกี่ยวข้องอะไรกับขันติ โสรัจจะ ความอดทนและความเสงี่ยมเจียมตน ? ก็อย่างเช่นว่าใจเราอยากจะทำชั่ว แต่เราพยายามอดทนอดกลั้นเอาไว้ ควบคุมกาย วาจา ใจ ของเราให้สงบระงับ ก็กลายเป็นโสรัจจะ คือความเสงี่ยมเจียมตน

    หัวข้อธรรมทุกข้อสามารถที่จะอธิบายเชื่อมโยงเข้าหากันได้ทั้งหมด แต่ว่าอาจารย์รุ่นหลัง ๆ ไม่มีใครสอนแบบนี้ พวกเราก็เลยรู้แค่ที่เรียน แล้วถ้าหากว่าคิดต่อเองไม่เป็นก็จะรู้แค่นั้น

    วิชาที่ ๓ ก็คือ พุทธประวัติและศาสนพิธี เขาให้เราศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่า ที่มาที่ไปของศาสดาของเรามีความเป็นมาอย่างไร ถ้าเป็นสมัยโบราณก็เรียนตั้งแต่ต้นตระกูลโคตรเหง้าศักราชลงมาเลย..! กี่แสนกี่ล้านชาติเขาไล่ลงมา จนกระทั่งถึงพระเจ้าสีหหนุกับพระนางกัญจนา ก็คือปู่ย่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโน่น เขาจะระบุมาชัดเจนว่าระยะเวลาผ่านไปกี่หมื่นกี่แสนปี

    ระยะหลังนี่โดนตัดเข้าเนื้อหาเลย ไม่มีอธิบายแม้แต่สภาพภูมิศาสตร์ของชมพูทวีปในยุคนั้นว่า ลักษณะเหมือนดอกบัวตูมที่ทิ่มหัวลงไปในทะเล ก็คือแผ่นดินอินเดีย หรืออนุทวีปอินเดีย แล้วก็มีผีเสื้อ หรือแมลงภู่ แมลงผึ้ง ตัวหนึ่งบินตอมดอกบัวนั้นอยู่ ก็คือเกาะลังกา

    ต้องบอกว่ารุ่นของพวกท่านทั้งหลาย โอกาสที่จะเรียนครบถ้วนมีน้อยมาก จึงเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก อย่างรุ่นกระผม/อาตมภาพก็ต้องมานั่งท่องกันว่า มหาชนบท ๑๖ แคว้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ ฯลฯ ไล่ไปเรื่อย จนกระทั่งถึงอัสสกะ อวันตี รุ่นของพวกท่านจำหลัก ๆ แค่ว่า มคธ โกศล กาสี วัชชี จึงเป็นเรื่องที่บอกว่ายิ่งเรียนเราก็ยิ่งรู้น้อยลง

    แบบเดียวกับการเรียนธรรมศึกษา ก่อนหน้านั้นชั้นตรีก็คือเหมาทั้งหมด ชั้นโทก็เหมาทั้งหมด ชั้นเอกก็เหมาทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้เขาจะมีตรีอุดมศึกษา ตรีมัธยมศึกษา ตรีประถมศึกษา ชั้นโทและชั้นเอกก็แบบเดียวกัน ก็คือแยกออกเป็น ๓ ส่วน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาเท่าเดิม คนที่เรียนรุ่นเก่าจึงมีความรู้มากกว่าพวกเราเยอะ
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    18,798
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,465
    ค่าพลัง:
    +26,291
    ในส่วนของศาสนพิธีนั้น เรียนเพื่อให้เรารู้ว่าจะต้องทำอะไรให้ถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างไร อย่างเช่นว่างานอวมงคล จะไม่มีการตั้งขันน้ำมนต์วงสายสิญจน์ ถามว่างานงานอวมงคลคืออะไร ? ส่วนใหญ่ก็คืองานที่เกี่ยวข้องกับงานศพ

    ไปวิชาสุดท้ายเลยก็คือ พระวินัยบัญญัติ ซึ่งกระผม/อาตมภาพมักจะให้พวกเราเรียนเป็นวิชาแรก เพราะว่าเกี่ยวกับพระวินัยก็คือศีลพระ เราจะได้รู้ว่าต้องระมัดระวังตรงไหนบ้าง จะว่าไปแล้วก็เริ่มต้นว่าอาบัติว่าโดยชื่อมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? ไล่ไปเรื่อย ถ้าเป็นรุ่นเก่า ๆ ก็โน่น พระวินัยเปรียบเหมือนอะไร ? มีคุณประโยชน์อย่างไร ? ทำไมเราถึงต้องศึกษา ? ข้อหนึ่งอธิบายไป ๓ หน้ากระดาษก็มี

    คราวนี้ทั้ง ๔ วิชาที่ว่านี้ ปัจจุบันนี้จะออกวิชาละ ๑๐ ข้อ ยกเว้นในเรื่องของเรียงความแก้กระทู้ธรรม ซึ่งก็คือออกมาหัวข้อเดียว แต่ว่าเราต้องเตรียมหัวข้อไปรับ ๒ หัวข้อ ก็คือถ้าหากว่าหัวข้อที่เราเตรียมไว้ไปตรงกับกระทู้ตั้ง ๑ หัวข้อ เราจะได้ใช้อีกหัวข้อหนึ่งไปรับได้ มีเคล็ดลับง่าย ๆ ก็คือถ้าหากว่านึกไม่ออกว่าที่มามาจากไหน ให้ลงไปเลยว่าขุททกนิกาย ธรรมบท เนื่องเพราะว่าขุททกนิกายก็คือนิกายที่รวมหลักธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เอาไว้มากมายมหาศาล ในเมื่อเป็นเช่นนั้นเราอ้างส่งเดชไป บางทีครูที่ตรวจเขาขี้เกียจตามไปเช็คดู เพราะท่านก็คงจำได้ไม่หมดเหมือนกระผม/อาตมภาพ ท่านก็ปล่อยผ่านไปเลย

    ส่วนที่สำคัญก็คือส่งข้อสอบเมื่อไร ต้องตรวจสอบว่าเราส่งครบทุกแผ่น ถ้าหากว่าเย็บเป็นชุดได้ยิ่งดี พร้อมกับเซ็นส่งด้วย การเซ็นส่งก็คือพระอะไร อย่างเช่นว่าพระกฤตณัฐ หรือว่าสามเณรรักเรียน ไม่ใช่พระกิตฺติคุโณ จะโดนบ้องหูร่วงอยู่ตรงนั้น..! พยายามเขียนตัวบรรจงให้อ่านออก อย่าไปเซ็นเป็นลายเซ็น

    เรื่องพวกนี้จะทำให้เรามีประสบการณ์ ถึงเวลาไปสอบของจริงก็จะได้ไม่พลาดอีก โดยเฉพาะในส่วนของบาลีง่าย ๆ ขนาดพระเถระก็ตกมาแล้ว อย่างเช่นมีอยู่ครั้งหนึ่งออกว่า "จงเขียนคำ ยถาฯ สัพพีฯ มาให้ดู" ทุกคนท่องได้หมด แต่ตอนเขียนเว้นวรรคไม่ถูก เป็นต้น

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็ต้องพยายามที่จะดูทุกอย่างให้ครบถ้วน ออกอะไรมาเราจะได้ทำได้ถูกเช่นกัน กระผม/อาตมภาพเอง
    ถ้ามีเวลา ก็คงจะต้องตามไปดูพวกเราอยู่ทุกวัน ยกเว้นว่าไปตรงกับงานสำคัญอย่างอื่น ก็อาจจะแวะไปหลังจากที่เสร็จงานแล้ว หรือถ้าไม่ทัน วันนั้นก็คงต้องทิ้งไปเลย

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...